เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในสังคมไทยนั้น มีวัฒนธรรมของการรักนวลสงวนตัว มีจารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณีถือปฏิบัติที่ค่อนข้างเข้มงวดมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แต่ในความเป็นจริงที่สังคมแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ค่านิยมหลายสิ่งหลายอย่างสวนทางและขัดแย้งกับกรอบวัฒนธรรมที่เป็นอยู่
ค่านิยมชายไทยอย่างการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงยิ่งมากยิ่งดี ถือว่าเก่งกาจนั้น แม้จะมีกันมาอย่างช้านานแล้ว แต่ต่อมาก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมที่เกิดขึ้น ‘ผัวเดียวเมียเดียว’กลายเป็นสิ่งที่สังคมถือปฏิบัติแทน ทว่ามาถึงปัจจุบันนี้ จากผลการสำรวจของบริษัทผลิตถุงยางอนามัยยี่ห้อดัง เผยว่า ชายไทยติดอันดับผู้ชายที่นอกใจมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
สิ่งนี้คงไม่น่าแปลกนักจากค่านิยมที่เป็นกันอยู่ หากแต่อีกสิ่งหนึ่งที่แปรเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดจากผลสำรวจเดียวกันคือ หญิงไทยก็ไม่แพ้กัน ติดอันดับนอกใจเป็นอันดับ 2 ของโลก!
ยิ่งน่าตกใจเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะชายไทยยอมรับว่านอกใจคนรักถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หญิงไทยอยู่ที่ 59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าผู้ชายเสียอีก
นิยาม ‘นอกใจ’ หรือทางเลือกของชีวิต
การแต่งงานสำหรับคนสมัยโบราณนั้น ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตอง หลับนอนกันถือว่าเป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว หากแต่ในปัจจุบันนั้น นิยามของการแต่งงาน หากตีตามตัวบทกฎหมายก็คงจะอยู่ที่ใบทะเบียนสมรส ฉะนั้นการมีอะไรกันในยุคปัจจุบันก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นผัวเป็นเมีย ดังนั้นแล้ว เมื่อพูดถึงนิยามของการนอกใจที่เปรียบเสมือนข้อห้าม ก็ยิ่งจะมีนิยามที่สลับซับซ้อนเข้าไปใหญ่ซึ่งก็เป็นไปตามมุมมองของแต่ละคน
และนี่คือบางนิยามในมุมมองต่างๆ ของคำว่า ‘นอกใจ’
ชัชชัย จิตตนุปัสน์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง
"นอกใจ ก็แอบคิดถึงคนอื่น แอบมีใจให้ หาเรื่องอยากไปเจอ ไปนู่นไปนี่ด้วยกัน รู้สึกดีกว่าอยู่กับแฟนของตัวเอง แต่ถ้านอกกายก็คือไม่ได้คิดอะไร แค่ขำๆ นอกกายอย่างการไปเที่ยวอ่าง จบก็จบกันแค่นั้น ไม่ต้องมานั่งคิดถึง เว้าวอน ไม่ได้คิดอะไร ก็ไม่ถือว่าเป็นนอกใจนะ"
ดิถีเทพ เมฆาวรรณ ช่างเทคนิควิศวกรรมอากาศยาน ของสายการบินแห่งหนึ่ง
"นอกใจ คือ แฟนไปมีชู้ แค่หันไปมอง หรือสนใจคนอื่นก็เรียกว่านอกใจแล้ว แต่ถ้านอกกายนะ อย่าง เมียหลับ ขับรถมาลงอ่าง ก็แค่นอกกาย จริงๆ รักเมียจะตาย พอดีเมียเพลีย กล่อมเมียให้หลับค่อยสตาร์ทรถ นอกกายมันก็เป็นเรื่องของกาย ไม่ใช่ใจซักหน่อย"
จันตรี สุวรรณปติกร พนักงานรัฐวิสาหกิจ
“เรื่องนอกใจนี่ แค่คิดก็ผิดแล้วเป็นเรื่องของจิตใจ คิดว่าคือการที่คนรักของเราไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ว่าจะแค่คิดมีใจ หรือไปมีสัมพันธ์อื่นลึกซึ้ง ซึ่งเราเห็นว่าปัจจุบันข่าวอะไรต่างๆ นานา เรื่องการนอกใจ มีชู้เยอะมาก เพราะคนไม่มีความมั่นคง อยากลองเปลี่ยนคู่ เปลี่ยนรสชาติ ไม่คิดอยากจะประคับประคองชีวิตคู่อีกต่อไป”
อย่างไรก็ตามคำว่า ‘นอกใจ’ มีอีกหลายแง่มุมให้พิจารณา ในมุมของพุทธศาสตร์ พระศรีวิสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม สะท้อนหลักธรรมทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในศีล 5 ข้อ 3 กล่าวถึงเรื่องการผิดลูกเมียผู้อื่น อธิบายว่าเป็นการประพฤติผิดในกาม คือไม่ซื่อสัตย์กับคู่ของตนเอง
“ผิดศีลหรือไม่นั้น วัดกันที่กายกับวาจา หรือเพียงภายนอก ซึ่งวัดไม่ได้ถึงในใจ ศีลเป็นความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่แก่นของพุทธศาสนาจะมองเรื่องทางใจเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด หากทางกาย ทางวาจาเกิดนั้นก็จะเริ่มจากใจคิด แม้ทางกายกับวาจาจะไม่ค่อยเสียหายอะไรมาก แต่หากใจคิดแล้ว นั่นแหละจะทำให้เกิดเหตุแห่งทุกข์ และใจที่เกิดความไม่เคารพต่อคู่ของตน”
ซึ่งท่านบอกว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติของความต้องการทั้งในการหลับนอน การสืบพันธุ์ แต่หากไม่เรียนรู้ข้อจำกัด หรือรู้เท่าทันข้อเสียหายก็จะเกิดปัญหาขึ้น ทั้งนี้ ในทางพุทธศาสนา การผิดศิลข้อ 3 ถือเป็นเรื่องหนักมาก หนักกว่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเมื่อตายไปก็ต้องไปชดใช้กรรม ซึ่งภพภูมิที่จะลงไปอยู่นั้น มันขึ้นอยู่ที่สภาวะจิต
ในส่วนมุมมองทางด้านจิตวิทยา ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดัง ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงนิยามของคำว่า ‘นอกใจ’ นั้น แบ่งนอกกายกับนอกใจที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
“มีอยู่สองประเภท หนึ่งนอกใจแต่ไม่นอกกาย สองนอกกายแต่ไม่นอกใจ นอกใจก็คือว่าไปมีอารมณ์ความรู้สึกอื่นโดยที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ส่วนนอกกายก็คือไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นแต่ไม่คิดจะเลี้ยงดูด้วย”
โดยในแง่ของจิตวิทยานั้น พฤติกรรมการนอกใจ ถือว่าไม่ผิด ซึ่งจะผิดก็เป็นในแง่ของหลักศีลธรรมเท่านั้น
“เรื่องจิตวิทยาทางเพศมันเปลี่ยนแปลงมาก เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชน เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ถ้าทั้งสองฝ่ายพอใจกันทั้งคู่ก็ไม่เสียหาย นี่คือความผิดเพี้ยนของหลักจิตเวชสากลที่อิงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน กลายเป็นว่าถ้าผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีคู่อยู่แล้ว แต่ไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอีกโดยทั้งคู่เต็มใจถือว่าไม่ผิด แต่จะผิดในเรื่องของศีลธรรม”
ในส่วนของสถิติการนอกใจของผู้หญิงไทยที่ขึ้นครองอับดับ 2 ของโลก ดร.วัลลภ ได้แสดงความคิดเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวของกลุ่มผู้หญิงไทยบางส่วนนั้น เสมือนเป็นการต่อสู้ทางเพศโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ผนวกกับหลักสิทธิมนุษยชนก็เปิดอิสระให้ชายหญิงมีความเท่าเทียม ฉะนั้นจึงกลายเป็นความคิดที่ว่าฝ่ายชายมีผู้หญิงอื่นได้ ฝ่ายหญิงก็มีผู้ชายอื่นได้อย่างไม่ผิดแปลก
ขณะที่ในมุมมองของ ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า นิยามของคำว่า ‘นอกใจ’ ค่อนข้างจะมีความหมายในเชิงลบ ซึ่งลักษณะของการมีความสัมพันธ์ซ้อนในเวลาเดียวกันนั้น เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ซึ่งการจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการด้านความสัมพันธ์ของคนนั้นมากกว่า
“คำว่า นอกใจ นิยามของมันกับสังคมไทยอาจจะดูแรงเกินไป และขึ้นอยู่กับมุมมอง คนที่นอกใจอาจไม่ได้คิดว่าตัวเองทำแบบนั้นอยู่ เพราะส่วนมากแล้วคนที่จะใช้คำว่านอกใจนั้น จะเป็นผู้ที่ถูกอีกฝ่ายนอกใจ หรือสังคมทำการตัดสินคนนั้นมากกว่า”
ในส่วนประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซึ่งสะท้อนมาจากผลสำรวจของหญิงไทยนั้น ผศ.ดร.สุชาดาคิดว่า สังคมไทยอาจเกิดการพูดถึงในเชิงลบต่อผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลง
“พอเป็นอย่างนี้สังคมจะมองว่าหญิงไทยใจง่าย ศีลธรรมเสื่อมถอย เป็นเสรีกันมากจนไม่มีจริยธรรม ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว เรื่องนี้สามารถมองได้ว่าผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงไป สังคมเปิดขึ้น ผู้หญิงมีสิทธิ เสรีภาพในการเลือกมากขึ้นก็ได้”
สะท้อนค่านิยมที่แปรเปลี่ยน
ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ระบบความคิดประเภท 'ผัวเดียวหลายเมีย' นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง หรือประชาชนธรรมดาทั่วไป โดยค่านิยมนี้สะท้อนผ่านเนื้องานของสื่อในยุคนั้น วรรณคดีไทยจำนวนไม่น้อยที่พระเอกมีภรรยาเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็ลักลอบได้เสียกันแบบไม่เปิดเผย บางครั้งก็ถึงกับหนีเมียเก่าไปหาเมียใหม่
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด คือวรณคดีเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ซึ่งตัวเอกอย่างขุนแผนนั้นได้ชื่อว่า เจ้าชู้ เพราะนอกจากนางพิมพิลาไลย ซึ่งเป็นเมียเอกแล้ว ขุนแผนมีเมียอีกเต็มไปหมด ปีนหน้าต่างเข้ามาบ้าง แอบไปได้เสียแล้วพากลับมาที่บ้านก็มีเยอะ อีกตัวอย่างงานในยุคนั้นที่เห็นได้ชัดคือ 'พระอภัยมณี' ซึ่งมีเมียอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นนางผีเสื้อสมุทร นางเงือก นางสุวรรณมาลี นางละเวง ฯลฯ
เพียงแค่นี้ก็สะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมในอดีตได้แล้วว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมโบราณที่ผู้ชายนั้น มีสิทธิในเรื่องการมีคู่สมรสพร้อมกันมากกว่าผู้หญิง และหากลักลอบได้เสีย หรือเป็นชู้ (ในกรณีที่ผู้หญิงนั้นไม่ได้เป็นเมียของคนอื่น) ก็ไม่ใช่ความเสียหายอะไร
ทว่าเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ทัศนคติแบบนี้ก็เริ่มหมดไป ดังเช่นถ้อยคำในงานวิจัยของ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในเรื่อง ‘สาเหตุการเป็นภรรยาน้อย’ ในปี 2537 ที่ระบุว่า ในยุคปัจจุบันค่านิยมในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมตะวันตก คือ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนของชายไทย
อย่างไรก็ดีแม้สังคมจะมีความคิดที่เปลี่ยนไป แต่การมองเรื่องนี้ต่อสังคมของสื่อมวลชนก็ยังไม่เปลี่ยนไปนัก สะท้อนผ่านเนื้องานของสื่อในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ละคร ข่าว หรือโฆษณา ทำให้เห็นถึงบทบาทความสัมพันธ์แบบค่านิยม ‘หนึ่งชาย หลายหญิง’ ยังคงอยู่
ซิตคอมยอดนิยมเรื่องหนึ่งของเมืองไทย เป็นเรื่องกลุ่มพนักงานบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเล่าถึงชีวิตช่วงเที่ยวกลางคืน โดยมีพระเอกของเรื่องเป็นคนมีเสน่ห์ที่สาวๆ มากมายต่างหมายปอง และมักจะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ พร้อมกันนั้นภาพยนตร์รักวัยรุ่นเรื่องหนึ่งที่โกยรายได้เป็นหลักร้อยล้านก็ยังคงสะท้อนความเป็นไปตรงนี้ ขณะที่ในสื่อโฆษณาต่างๆ ก็เช่นกัน เห็นได้ชัดจากผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นชายหลายๆ ยี่ห้อ หลังจากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ก็มักลงเอยด้วยการมีผู้หญิงมากมายมารุมล้อมหน้าล้อมหลัง
ในส่วนของข่าวสาร ก็มีข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนดัง อย่างดารานักแสดง ไฮโซ หรือนักการเมือง ซึ่งบางครั้งก็มีลักษณะความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน แน่นอนบางครั้ง ความสัมพันธ์เชิงซ้อนเหล่านี้ก็ถูกปล่อยผ่านและได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นเรื่องปกติ เหล่านี้เองที่สะท้อนว่า แม้สังคมจะไม่ยอมรับค่านิยมนี้ แต่รากทางด้านวัฒนธรรมที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจยังไม่ไปหายไหน เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนจะยอมรับเรื่องการนอกใจ โดยเฉพาะกรณีชายไทยจึงเป็นเรื่องปกติ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ปฏิสัมพันธ์ของสื่อไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร โฆษณา กระทั่งข่าวสารต่อผู้บริโภคนั้นไม่ได้เป็นไปในแบบฝ่ายหนึ่งชักนำอีกฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นผลสะท้อนซึ่งกันและกัน แม้ในเบื้องต้นผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดเนื้องาน แต่ในมุมกลับ เนื้องานก็ส่งผลกระทบผู้บริโภคเช่นกัน ดังนั้นบอกได้ว่าเนื้องานของสื่อเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นไปของค่านิยมทางสังคมของแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง จากผลการสำรวจที่ว่า ผู้หญิงไทยมีอันดับการนอกใจเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงกว่าผู้ชาย ข้อเท็จจริงนี้อาจไม่น่าเชื่อถือหากว่าสังคมไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เห็นได้ชัดเจนซึ่งสะท้อนผ่านเนื้องานของสื่อในยุคปัจจุบันเช่นกัน
ละครเรื่อง ‘ดอกส้มสีทอง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้เป็นที่พูดถึงมากมายในสังคม มีนางเอกที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน และเป็นความสัมพันธ์ซ้อนในช่วงเวลาเดียวกัน ในโฆษณาของกาแฟลดน้ำหนักที่ทำออกมาติดต่อกันหลายต่อหลายตัว ก็มีพล็อตเรื่องที่ผู้ชายเป็นฝ่ายทำทุกอย่างที่ผู้หญิงต้อง หรือจะเป็นโฆษณาโรลออนสำหรับวัยรุ่นหลายยี่ห้อที่เมื่อใช้แล้วผู้ชายมากมายจะต้องเหลียวมอง หรือวิ่งเข้าหา
เหล่านี้ แม้ไม่ได้สะท้อนความคิดในเรื่องนอกใจอย่างชัดเจน หากแต่ก็เป็นสัญญาณบอกว่า สังคมไทยเริ่มยอมรับว่าบางครั้งผู้หญิงก็อาจเป็นฝ่ายเลือกบ้าง
..........
เพราะคำว่า นอกใจ นั้นมีความหมายที่ติดลบอยู่แล้ว หากแต่ว่าเมื่อพิจารณาจากสภาวะที่เป็นอยู่ ในนิยามของการมีความสัมพันธ์สองคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ มองในแง่นี้การนอกใจอาจไม่ได้ส่งผลเสีย ส่งที่สำคัญคือการจัดการกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า
ค่านิยมที่แปรเปลี่ยนไปของสังคมนั้น แน่นอนว่าหลายครั้งขัดต่อกรอบขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สืบต่อกันมา ดังนั้นการจัดการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิดเป็นปัญหาตามมา ไม่ว่าในเชิงของความรู้สึกของสังคมที่คาดหวังต่อบุคคล หรือในเชิงของบทบาทหน้าที่ และในเชิงของความสัมพันธ์ เหล่านี้คงจะเป็นเรื่องที่สังคมหันมาเรียนรู้ พิจารณาผลที่ตามมาของความสัมพันธ์แบบนอกใจ เพื่อรู้ให้เท่าทันผลที่ตามมาอย่างรอบด้าน
เพราะไม่ว่าความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นในลักษณะใด ผัวเดียวเมียเดียว ,หนึ่งชายหลายหญิง ,หนึ่งหญิงหลายชาย หรือใดๆก็ตาม แน่นอนว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคนที่จะจัดการความสัมพันธ์นั้น หากทว่าสิ่งสำคัญคือการรับผิดชอบต่อบทบาท หน้าที่ และกรอบของสังคมซึ่งมีตัวแปรของการต่อรอง และอื่นๆอีกมากมายที่จะนำไปสู่ทางออกของในการจัดการหาทางออกความสัมพันธ์ที่ดี
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK