xs
xsm
sm
md
lg

“หมอณิโคล" สัตวแพทย์อาสาฯ กู้วิกฤตสัตว์เลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




แอบสะดุดตากับความน่ารักของคุณหมอสัตว์เลี้ยงคนหนึ่งที่ศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงชั่วคราวแม้นศรี ซึ่งเปิดเป็นสถานที่พักพิงสำหรับสัตว์เลี้ยงในช่วงวิกฤตน้ำท่วมมาได้เกือบ 1 เดือนแล้ว บรรดาคนรักสัตว์ที่มาที่นี่บ่อยๆ อาจจะคุ้นตา และชินกับภาพคุณหมอลูกครึ่งไทย-อเมริกันหน้าตาน่ารัก "สพ.ญ. ณิโคล ศิริโศภิษฐ์ เมห์ล" หรือ “หมอณิโคล” สัตวแพทย์อาสาฯ ใจดี มักจะเห็นเธอหยิบนู่น จับนี่ ง่วนอยู่กับการทำงานทุกอย่างที่เธอสามารถทำได้ ทั้งคอยต้อนรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง คอยรับโทรศัพท์ของผู้ที่โทรมาขอความช่วยเหลือ และเป็นทั้งคุณหมอ ทั้งทำหน้าที่บริหารงานจัดการระบบงานต่างๆ ของศูนย์ฯ แห่งนี้

เมื่อไปถึงการประปาเก่าตรงแยกแม้นศรี สภาพภายในเปลี่ยนจากตึกร้างกลายเป็นเหมือนโรงพยาบาล และสถานที่พักพิงสำหรับสัตว์เลี้ยงซึ่งเจ้าของไม่สามารถดูแลเองได้ และนำมาฝากไว้ที่ศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงชั่วคราวแห่งนี้ คุณหมอณิโคลเดินเข้ามาต้อนรับด้วยรอยยิ้มน่ารักๆ และพาเดินดูรอบๆ สถานที่ ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วน แบ่งเป็นห้องหมา และห้องแมว เพื่อลดความเครียดของสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของนำมาฝากเอาไว้ ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนกว่า 300 ตัว ส่วนตัวคุณหมอก็ประจำอยู่ห้องรักษาสัตว์เลี้ยงชั้นล่างทุกวันจันทร์ ตั้งเช้าถึงเย็น ส่วนวันอื่นถ้าทางเครือข่ายสัตวแพทย์อาสาฯ ออกหน่วยไปช่วยเหลือสัตว์ที่ไหน เธอก็จะตามไปลงพื้นที่ด้วยตลอด 

โลกใหม่ของน้องหมา-แมว
เหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมช่วงที่ผ่านมานี้ก็ส่งผลต่อทั้งคน และสัตว์เองก็มีความลำบากไม่แพ้กัน ต้องจากบ้าน จากเจ้าของที่รัก จากที่ที่คุ้นเคยมาอยู่ในกรงเล็กๆ ร่วมกับเพื่อนแปลกหน้า และยิ่งบางตัวเจ้าของไม่ค่อยได้มาเยี่ยมก็เริ่มเกิดความเครียด ปรับตัวไม่ค่อยได้ ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วย การรักษาและเยียวยาสัตว์เหล่านี้ก็ตกเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์อาสาสมัครที่ร่วมมือกันมาช่วยเหลือ และดูแลทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และการรักษาโรค
 
"เริ่มจากมีข่าวน้ำท่วมออกมามาก ทางเครือข่ายสัตวแพทย์ก็เห็นสำคัญของตรงนี้ ประกอบกับคุณเจ(วรกร จาติกวณิช) ซึ่งเป็นคนรักสัตว์เป็นผู้ช่วยติดต่อสถานที่ให้ ก็เลยได้สถานที่เป็นการประปาเก่า สาขาแม้นศรี ซึ่งเป็นที่ที่เหมาะสม มีพื้นที่สำหรับคนที่อพยพเข้ามาที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ ก็นำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ที่นี่ได้
 
หมอมาช่วยอยู่ที่นี่ได้ประมาณเกือบ 1 เดือนแล้วค่ะ หน้าที่หลักๆ ก็จะทำทุกอย่าง เรียกว่าเป็น Manager ที่นี่ก็จะมีสัตวแพทย์ประจำแต่ละวัน ของหมอก็จะเป็นวันจันทร์ค่ะ เริ่มตั้งแต่เข้ามาทำความสะอาดสถานที่ ประชุมว่าศูนย์จะเปิดวันแรกวันไหน มีหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อเข้ามาช่วยเซ็ตระบบด้วย ก็ทำให้ทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น แล้วก็มีน้องๆ คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ มาเป็นอาสาสมัคร ช่วยรับลงทะเบียนหมา-แมว ช่วง 2-3 วันแรกจะยุ่งมาก เรื่องลงทะเบียนสัตว์เข้าห้องแต่ละห้อง 
 
วันแรกๆ ก็ค่อนข้างเหนื่อยค่ะ เพราะทุกอย่างยังไม่เป็นระบบดี พอตอนหลังมีสมาคมผู้บำบัดโรคสัตว์ VPAT ก็เข้ามาช่วยเซ็ตระบบ มีอาจารย์ที่คณะฯ มาช่วยจัดการ ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น พอทุกอย่างลงตัวก็เริ่มหายเหนื่อย สิ่งที่เราได้คือความสุขใจ พอเห็นหมาเริ่มมีอาการดีขึ้น เป็นอยู่ดีขึ้น มันหายเครียด เราก็ยิ่งหายเหนื่อย บางทีเห็นน้องๆ ที่มาช่วย เขาเหนื่อยกว่าเราอีก ก็เหมือนมีกำลังใจในการทำงานเยอะ

ที่นี่จะเป็นระบบอาสาสมัครที่เข้ามาทำ จะแบ่งเป็นอาสาสมัครที่เป็นคนทั่วไป ก็จะช่วยล้างกรง ให้อาหารหมา-แมว พาจูงเดิน กับอาสาสมัครที่เป็นนิสิตสัตวแพทย์ ก็จะช่วยได้มากขึ้นมานิดหนึ่ง เขาจะสังเกตได้ว่าตัวไหนเริ่มป่วยแล้ว ตัวไหนเริ่มมีอาการผิดปกติ ก็จะมาบอกกับพวกพี่หมอได้ อาจจะมีช่วยทำแผล ช่วยป้อนยาภายใต้ความดูแลของสัตวแพทย์ได้ แล้วก็มีอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นสัตวแพทย์ที่จบแล้ว ก็จะแบ่งการรักษาเป็นห้องหมา และห้องแมว คอยดูแลสัตว์ที่ป่วยในแต่ละวัน”

เรียนสัตวแพทย์ 11 ปี 
ด้วยความที่เป็นคนเรียนเก่ง และมีความสนใจเกี่ยวกับการแพทย์มาตั้งแต่เด็ก บวกกับเป็นคนรักสัตว์เป็นทุนเดิม เธอจึงรู้ตัวว่าอยากเรียนสัตวแพทย์ตั้งแต่ ม. 4 หลังจากนั้นเธอก็ตั้งใจเรียน ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจเพิ่มเติมอยู่ตลอด

“เพิ่งเรียนจบสัตวแพทย์ จุฬาฯ ปีที่แล้ว เรียนปริญญาตรี 6 ปี เรียนสัตวแพทย์ต้องรู้เรื่องของสัตว์หลายชนิดมากค่ะ ต้องเรียนเยอะมากขึ้น การรักษาของสัตว์แต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันออกไป ตอนเรียนก็จะแบ่งออกเป็นสัตว์เล็กที่เลี้ยงในบ้าน แล้วก็สัตว์เศรษฐกิจพวก หมู ไก่ วัว สองอย่างนี้การจัดการก็จะแตกต่างกันไป ถ้าถามว่าอนาคตอยากทำอะไร ตอนนี้จะสนใจเรื่องงานวิจัย ก็ต้องดูอีกทีว่าเรียนจบแล้วจะมีตรงไหนให้ทำบ้าง จริงๆ ถ้าจบออกไปเป็นอาจารย์ได้ก็อยากจะเป็นค่ะ" หมอสาวกล่าวยิ้มๆ

"ตอนนี้กำลังเรียนต่อปริญญาเอกที่คณะเดิม เลือกเรียนต่อภาควิชาสูติศาสตร์ใช้หน่วยกิตสอบข้ามมาก็เรียนต่อปริญญาเอกอีกประมาณ 5 ปี รวมๆ แล้วประมาณ 10 กว่าปีค่ะ (หัวเราะ) ตอนนี้ก็เพิ่งเริ่มเรียนไปได้เทอมเดียว แล้วก็ฝึกงานที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่เรียนต่อด้วย”

ปัจจุบันคุณหมอคนเก่งเธอกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดยใช้เกรดเฉลี่ยสอบเข้ามา ซึ่งรวมๆ แล้วเธอต้องใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนนานถึง 11 ปี และสิ่งที่เธอสนใจเพิ่มขึ้นมาคือเรื่องเกี่ยวสูติศาสตร์ เพราะเห็นความสำคัญในรื่องของระบบสืบพันธุ์

“ส่วนตัวหมอจะสนใจด้านสัตว์เลี้ยง หมา-แมวเป็นหลัก ตอนนี้ก็สนใจไปด้านสูติศาสตร์เวชวิทยา เรามองว่าวิชาชีพนี้ วิทยาการสืบพันธุ์สัตว์มันได้ใช้มาก ยิ่งตอนนี้สัตว์เลี้ยงมีความผูกพันกับคนมากขึ้น เขาก็ต้องการให้สัตว์เลี้ยงที่เขารักเนี่ยมีลูกมีหลานสืบต่อไป มันเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสังคมเราค่ะ ส่วนด้านสัตว์ใหญ่ก็จะมีผลในด้านเศรษฐกิจของแต่ละฟาร์ม ก็มองว่าเรื่องสูติ มันค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในวงการฯ ถ้ามีการจัดการที่ดี มันก็ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ใช่แค่การจัดการเรื่องการสืบพันธุ์อย่างเดียว มันจะมีโรคต่างๆ มากมายเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ที่เห็นบ่อยๆ ก็จะเป็นมดลูกอักเสบ มะเร็งเต้านม คนไม่รู้ก็จะชอบฉีดยาคุมให้สัตว์ ก็ทำให้เป็นปัญหาได้ คลอดไม่ออก ลูกตายในท้อง”

หมอณิโคลเล่าย้อนว่าวัยเด็กว่าเธอเป็นเด็กที่รักสัตว์ และสนใจเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สนุก มีอะไรให้ค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอด

“พอขึ้น ม.ปลายก็เลือกเรียนสายวิทย์ฯ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าชอบเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ตัดสินใจว่าอยากเรียนไปด้านนี้ ก็เลือกดูว่าอะไรที่น่าสนใจ แล้วก็มาลงที่คณะสัตวแพทย์ เพราะคิดว่าน่าสนุก เรียนแล้วมีอะไรให้ค้นคว้า ให้ศึกษาเยอะ ก็เลยอยากเรียนด้านสัตวแพทย์มาตั้งแต่ ม. 4ค่ะ

การที่เราเป็นคนรักสัตว์อยู่แล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้าเรียนสัตวแพทย์ ยิ่งได้มาทำงานกับสัตว์ อย่างทำงานที่ศูนย์ฯ นี้ ได้เจอสัตว์ทุกวัน ก็ผูกพันน่ะค่ะ ก็รัก ที่บ้านก็เลี้ยงสุนัขตัวหนึ่ง เป็นสุนัขที่เราใช้เขาตอนเรียนคณะสัตวแพทย์ รักมากตัวนั้น เป็นสุนัขพันธุ์ทาง ที่เราใช้เรียน ใช้ผ่าตัด พอเรียนจบก็มีการถามคนในกลุ่มว่าใครอยากเอากลับไปเลี้ยง เราก็เลยเอากลับมาเลี้ยง ก็รักมาก เหมือนมันเป็นครูที่สอนเราด้วย เป็นสัตว์เลี้ยงของเราด้วย ตอนนั้นมันก็โดนเราผ่า โดนหมดทุกอย่าง ตอนนี้ก็อยากเลี้ยงให้มันมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นหมาหน้ายาวๆ มีเพื่อนในกลุ่มบอกว่าหน้ามันเหมือนเป็ด ก็เลยตั้งชื่อว่าเป็ด เลี้ยงมาประมาณ 4 ปีค่ะ รักเหมือนลูกเลย แต่พยายามเลี้ยงให้มันเป็นสุนขปกติ ไม่ได้ไปตามใจมากจนไม่เหมือนสุนัข ตอนนี้ก็แข็งแรงดี”

เห็นเธอเป็นคนรักสัตว์ขนาดนี้ เวลาที่เห็นสัตว์เจ็บป่วยมากๆ หรือเสียชีวิต เธอน่าจะเป็นคนที่รับความรู้สึกนั้นได้มากกว่าปกติ ซึ่งเธอก็บอกว่าเป็นธรรมดาที่ต้องเจอเรื่องเสียใจอยู่บ่อยๆ แต่ตอนเรียนก็มีการสอนในเรื่องของการทำใจรับสำหรับเรื่องอย่างนี้อยู่แล้ว เธอจึงไม่เคยแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น

“ช่วงที่เรียน ทำงาน ก็เจอมาหมดทุกอย่าง ตอนนี้ก็ชินแล้ว แต่เวลาที่เรารักษา แล้วมันอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง บางตัวตาย ก็ต้องเสียใจอยู่แล้ว คือตอนที่เราเรียนอาจารย์ก็จะสอนว่าเราเป็นสัตวแพทย์เราก็ต้องทำใจให้ได้ ไม่ใช่ไปฟูมฟายต่อหน้าเจ้าของ แต่ในใจเราก็มีบ้างที่รู้สึก เคยผ่าตัดตัวหนึ่งแล้วมันไม่รอด เราก็รู้สึกแย่มาก รีบไปทำบุญเย็นนั้นเลย”

สัตว์เลี้ยงก็มีหัวใจ
โรคเครียดในช่วงสภาวะน้ำท่วม ไม่ได้เกิดขึ้นคนเท่านั้น บรรดาสัตว์ก็เครียดเหมือนกัน เพียงแต่พูดไม่ได้ แต่อาจจะมีการแสดงออกแตกต่างกันไป สังเกตได้จากอาการเจ็บป่วย ท้องเสีย ฉี่ไม่ออก ไม่ยอมกินอาหาร ดุร้ายขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ต้องพลัดพรากที่ถิ่นที่อยู่ คิดถึงเจ้าของ สำหรับที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ก็มีคนทั่วไปเป็นอาสาฯ พาสุนัขไปเดินเล่น เพื่อเป็นการผ่อนคลาย แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยเยียวยาสัตว์เลี้ยงได้ดีที่สุด ก็คือเจ้าของต้องหมั่นมาดูแลด้วยตนเอง

"สุนัขที่นี่มีประมาณ 250 ตัว แมว 100 กว่าตัว จะมีการแบ่งสัดส่วน เป็นสุนัขขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และแม่ลูกอ่อน เพื่อความไม่เครียดของสัตว์ เพราะจะให้หมาตัวเล็กไปอยู่กับหมาตัวใหญ่มันก็เครียด แล้วก็แยกห้องแมวให้เป็นสัดเป็นส่วน เพราะแมวได้ยินเสียงหมาก็เครียด แมวได้ยินเสียงหมา 2-3 วันก็เริ่มฉี่ไม่ออกแล้ว

ปัญหาหลักๆ ก็คือ สัตว์พวกนี้จะคิดถึงเจ้าของ บางตัวไม่เคยถูกขังในกรง บางตัวเจ้าของไม่ค่อยมาหา มันก็เครียด ไม่กินอาหาร ท้องเสีย ตัวที่เครียดที่เห็นชัดๆ จะมีตัวหนึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ชื่อแจ็กกี้ เป็นสุนัขที่หน้าตาหล่อมาก คนก็จะชอบเข้าไปเล่นด้วย วันแรกๆ มันก็น่ารัก ขี้เล่น แต่อยู่ไปสัก2สัปดาห์เริ่มเครียด เริ่มกัดคนที่ไปจับแล้ว เพราะว่ามันคิดถึงเจ้าของ บวกกับอากาศร้อนด้วย เราก็ให้คนช่วยเดินจูง พาไปเล่นน้ำ ก็มีอาการดีขึ้นมาหน่อย ส่วนเรื่องอาหารของที่นี่ก็มีให้เลือกไม่มาก ก็ต้องให้อาหารเหมือนๆ กันหมด บางตัวก็มีอาการท้องเสีย

รักงานอาสาฯ 
ช่วงที่ประเทศเกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ ก็จะเห็นคนดีมีน้ำใจ มีจิตอาสาออกมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันมากมาย หมอณิโคลก็เป็นคนหนึ่งซึ่งชอบการทำงานอาสาฯ มาตั้งแต่สมัยเรียน เธอจะเข้าร่วมออกค่ายอาสาสมัครทุกปิดเทอม เรียกว่ามีใจรัก และอยากทำเพื่อเพื่อนร่วมโลกอย่างจริงใจ

“โดยส่วนตัวเป็นคนชอบทำงานอาสาฯ อยู่แล้ว จะไปค่ายสัตวแพทย์อาสาฯ ตั้งแต่ตอนเรียน ไปทุกเทอมเลย ก็เลยเหมือนเป็นการปลูกฝังมาให้เราชอบทำงานอาสาฯ นอกจากจะได้ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงแล้ว เรายังได้ประสบการณ์ด้วย เราได้ฝึกทักษะของเรา และยังได้รู้จักเพื่อนๆ อาสาสมัครเหมือนกัน คือคนเหล่านี้ก็จะเป็นคนที่จิตใจดี ก็ได้รู้จักกับคนดีๆ เพิ่มมากขึ้น

พอน้ำท่วม เหมือนทุกอย่างหยุดหมด ไม่รู้จะทำอะไรกัน อยู่บ้านดูข่าวก็เครียดอย่างเดียว ก็เลยคิดว่าออกมาช่วยเขาดีกว่าอยู่เฉยๆ ถ้าทางเครือข่ายวิชาชีพของทางคณะสัตวแพทย์ ออกไปที่ไหน เราก็จะไปกับเขาด้วย ก็จะไปทุกที่เลย มีไปลพบุรี สระบุรี อยุธยา การไปออกหน่วยก็ค่อนข้างแตกต่างจากที่ศูนย์ คือที่ศูนย์นี้จะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของพามา ก็ค่อนข้างอยู่ดีกินดี มีเจ้าของเข้ามาดูแลเป็นระยะ แต่ตอนที่เราออกหน่วยก็จะเจอสัตว์ที่โดนทิ้งบ้าง ติดเกาะอยู่บ้าง ไม่มีอะไรกิน พอเราเอาอาหารเม็ดไปให้มันกรูกันเข้ามากินเลย ระยะนี้จะเป็นเฟสแรกของเครือข่าย ก็จะเป็นการนำอาหารเข้าไปให้สัตว์ก่อน ทำให้มันสามารถอยู่ได้ในช่วงที่น้ำท่วมก่อน พอน้ำลดแล้วเราก็มีการวางแผนเป็นเฟสที่สองคือเข้าไปรักษา พัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์ให้ดีขึ้น ในที่ที่มันอยู่”

สุดท้ายนี้คุณหมอณิโคลอยากฝากถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่าถึงจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็อยากให้คิดถึงจิตใจของสัตว์เลี้ยงที่มันรักและอยากอยู่กับเจ้าของ อย่าไปทิ้งขว้าง เพราะสัตว์เลี้ยงก็มีหัวใจเหมือนกัน

“สิ่งที่จำเป็นมากๆ เลยตอนนี้คือการให้ความรู้กับคนเลี้ยงสัตว์ ให้รู้ว่าควรเลี้ยงสัตว์อย่างให้ ให้มันสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ เรามองว่าน่าจะเป็นบทบาทของสัตวแพทย์ที่ควรให้ความรู้เวลาเจ้าของสัตว์เลี้ยงมาหา หรือจะสามารถหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตก็ได้ แต่ก็ต้องดูว่าข้อมูลที่ได้มันมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ก็ค่อนข้างสำคัญ เพราะในอินเทอร์เน็ตมันสามารถนำข้อมูลมาใส่ได้โดยไม่มีการตรวจว่าถูกต้องหรือเปล่า ถ้าบางคนเอาข้อมูลที่ผิดๆ มาใส่ แล้วคนที่เลี้ยงสัตว์ทั่วไปไม่ทราบ แล้วเอาไปทำตาม ก็อาจจะผิดได้ อย่างเรื่องทำคลอดเอง ถ้าคนที่เลี้ยงสัตว์มานาน แล้วเคยเห็น เคยช่วยดึง ก็สามารถทำเองได้
 
สัตว์บางตัวที่อยู่ในถิ่นเดิม มีคนเข้าไปให้อาหารได้ตลอด ถ้ามันอยู่นั่นก็จะดีที่สุด ดีกว่าย้ายออกมา พอน้ำลดแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ในสภาวะน้ำท่วม โดยทั่วไปสัตว์พวกนี้จะสามารถเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว ว่ายน้ำไปหาที่เกาะได้ แต่ในบางที่ที่หนักหนาสาหัสมากจริงๆ มันก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ถ้ามีคนเข้าไปช่วยเหลือได้ก็จะดีมาก สิ่งที่น่าห่วงก็คือเรื่องขาดอาหาร อีกอย่างก็คือสัตว์ที่คนเลี้ยง อยากให้เจ้าของรับผิดชอบต่อชีวิตมันด้วย ถึงจะมีอะไรเกิดขึ้นแต่สัตว์เลี้ยงมันก็รักเจ้าของมาก บางตัวถูกทิ้ง ก็รู้สึกสงสารน่ะค่ะ

อยากฝากเจ้าของสัตว์เลี้ยงว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าไปทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงเลย นำไปฝากที่ศูนย์พักพิงสัตว์ก็ได้ เจ้าของที่นำสุนัขมาฝาก ก็อยากให้เข้ามาเยี่ยมสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ มันคิดถึงเจ้าของ ส่วนคนทั่วไปที่อยากช่วยเหลือสัตว์ ถ้ามีกำลังพอที่จะออกไปข้างนอกได้ ก็สามารถติดต่อขอรับอาหารจากทางเครือข่ายสัตวแพทย์ จุฬาฯ ได้ หรือต้องการความช่วยเหลืออะไรก็ติดต่อเข้ามาได้”




ศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงชั่วคราวแม้นศรี เกิดขึ้นจากการประชุมสัตวแพทย์ทุกสถาบันการศึกษา กรมปศุสัตว์ สภาและสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่มองเห็นปัญหาสัตว์เลี้ยงที่ต้องอพยพตามเจ้าของเพื่อหนีภัยน้ำท่วม
 

สำหรับผู้ที่อยากบริจาคสิ่งของช่วยเหลือสัตว์ติดต่อได้ที่ ศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงชั่วคราว สี่แยกแม้นศรี อาคารการประปานครหลวง เวลา 8.30-16.30 น. เบอร์ติดต่อ 08-7031-0583 หรือบริจาคที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถ. อังรีดูนังต์  ส่วนเงินบริจาคสามารถโอนเข้าบัญชี เครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ช่วยน้ำท่วม หมายเลขบัญชี 152-4-72740-9 ธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ และธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ หมายเลขบัญชี 026-2-25004-2โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ"เครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ช่วยน้ำท่วม" ได้ทาง http://www.facebook.com/pages/เครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ช่วยน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังมี"ศูนย์ช่วยเหลือ-ติดตามสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัยน้ำท่วม" ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและผู้ที่พบเจอสัตว์พลัดหลงกับเจ้าของจากภัยพิบัติน้ำท่วม เพื่อตามหาเจ้าของ และเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยเจ้าของสามารถลงข้อมูลสัตว์เลี้ยงทั้งหมดใน http://www.facebook.com/PetInFlood ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะนำไปสร้างเป็นเว็บไซต์ถาวร เพื่อความสะดวกและเป็นฐานข้อมูลในการตามหาสัตว์เลี้ยงที่พลัดหลงกับเจ้าของอีกทางหนึ่ง




ชื่อ-สกุล : สพ.ญ. ณิโคล ศิริโศภิษฐ์ เมห์ล
ชื่อเล่น : ลิลลี่
วัน/เดือน/ปี : 25 ธันวาคม 2529
ประวัติการศึกษา : ปริญญาตรี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาสูติศาสตร์เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์สัตว์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

 
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์

ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์



















กำลังโหลดความคิดเห็น