xs
xsm
sm
md
lg

รอคอย ‘น้ำแห้ง’ คนไทยไม่แล้งน้ำใจ ฟื้นฟูบ้านซ่อมแซมเมือง เพื่อเดินหน้าประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสน้ำที่ไม่แสดงทีท่าว่าจะทุเลาลงในเร็ววันนี้ ครั้งนี้เรียกว่า กวาดตั้งแต่เหนือลงมาล่างอย่างไม่ปรานีใคร แต่เหนือสิ่งใด เท่าที่เห็นในกระแสข่าวคือ ธารน้ำใจของคนไทยที่ยังหลั่งไหลไม่หยุดหย่อนเช่นกัน จากภาพข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมนอกจากธารน้ำเกี้ยวกราดแล้ว ภาพพี่น้องชาวไทยหลายๆ กลุ่มเข้าไปช่วยตามความสามารถที่ตนเองถนัด ทั้งแรงกาย แรงใจกันอย่างขะมักเขม้น

แม้ความปรารถนาดีจะช่วยปลอบประโลมผู้ประสบภัยได้บ้าง แต่ในห้วงลึกของผู้สูญเสียยังคงตระหนักถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น เมื่อน้ำลดตอจะผุดปัญหาอะไรขึ้นมาบ้าง บ้านเรือนที่เคยนอนหลับอย่างอุ่นกายอุ่นใจ บัดนี้ไม่เหลือแม้แต่เครื่องคลายหนาว หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกในบ้านเลยที่เดียว ลำพังที่บ้านที่อาศัยยังต้องซ่อมแซมกันชุดใหญ่ ยังไม่ต้องพูดถึงเรือกสวนไร่นาที่เสียหายไปจะเอาแรงที่ไหนไปไถแปรพลิกดินกลับขึ้นมาเพาะปลูกอีกได้

จะหันไปพึ่งเงินที่ได้รับเพียงครอบครัวละไม่กี่บาทจากรัฐบาลเอง ก็คงไม่พอบรรเทาหนักอันใหญ่หลวงครั้งนี้ หากแม้จะมีใครช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก็คงหนี้ไม่พ้นน้ำใจคนไทยที่เคยหลั่งไหลแข่งกับกระแสน้ำที่เคยท่วม หากมันยังคงช่วยค่อยๆ ประคองให้ไปถึงฝั่ง ไม่ต้องถึงกับแข็งแรง แต่พอมีแรงยื่นเองได้ก็ยังดี

ความหวังบนธารน้ำใจ หลังภัยน้ำลด

ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความช่วยเหลือที่ประดังประเดเข้ามาจากหลายๆ ฝ่าย ยิ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แล้วด้วย ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจและการช่วยเหลือที่มากขึ้นไปด้วย แต่หลังจากเหตุการณ์เหล่านั้นเลิกเป็นกระแสสังคมไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คงมีแต่ซากปรักหักพังทั้งจากภายนอกและภายในจิตใจของผู้ประสบเหตุด้วย ดังนั้นความสำคัญของความช่วยเหลือทั้งขณะและหลังจากเหตุการณ์สงบลงมีความสำคัญที่ไม่แพ้กันเลย

แต่เท่าที่ผ่านมา มักไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะถูกเพิกเฉยไปตามกระแสสังคมที่ลดระดับความสำคัญ

พัชรินทร์ บุญกิติ ชาวอำเภอเมืองอ่างทองที่มักจะได้รับมือกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำฉายภาพให้เห็นปัญหาในครั้งนี้ว่า ถึงแม้น้ำท่วมใหญ่ๆ จะไม่ได้เกิดขึ้นถี่ๆ กันในทุกๆ ปีเหมือนในครั้งนี้ แต่ก็สร้างความเสียหายแก่ผู้ประสบเหตุอย่างมาก เหนือสิ่งที่เธอต้องการรับในขณะที่ประสบเหตุนั่นก็คือ การช่วยเหลือหลังเหตุการณ์สงบ ที่มักไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจะเป็นนัก

"ในปี 2549 ที่ท่วมหนักคราวก่อน ตอนนั้นภาคเอกชนเองก็ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากขนาดนี้ ส่วนใหญ่ก็ต้องคอยของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวเองอยู่ในเมืองก็ได้เปรียบกว่าคนที่อยู่ไกลๆ หน่อย แต่ที่ลำบากมากก็ตอนหลังจากนั้น เพราะบ้านเราพัง แต่ปัญหาคือเราเช่าบ้านเขาอยู่ รัฐก็ให้เงินมานะ บ้านละสี่ถึงห้าพันบาท แต่เราไม่ได้ เขาเอาเงินไปให้เจ้าของบ้าน ทั้งๆ ที่เราซ่อมบ้านเอง หมดค่าซ่อมไปหลายบาทแต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แม้จะมีสัญญาเช่าเป็นปี

“ไม่ค่อยมีคนเข้ามาช่วยเต็มที่ เพราะเท่าที่มอง ชาวบ้านเขาก็บ่นๆ กัน ส่วนอื่นเราไม่รู้นะ บางครั้งของที่เอามาให้ก็จะเป็นของเก่าบ้าง เส้นหมี่แห้ง หมดอายุสีเหลืองๆ มาให้ก็มี ดีและไม่ดีปะปนไป แต่การช่วยเหลืองานแบบช่วยซ่อม เราไม่แน่ใจ หลังจากน้ำลดช่วยเหลือตัวเองกันเป็นส่วนใหญ่"

ไม่ต่างจาก นวพรรณ อินทรเกษม ครูโรงเรียนบ้านกุดปราขาว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโรงเรียนมักได้รับความเสียหายจากลำน้ำมูลที่เอ่อล้นเข้ามาเกือบทุกปี แต่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล เพราะเป็นโรงเรียนเล็กๆ จึงต้องตั้งคณะกรรมการจากผู้ปกครองเข้ามาช่วยเหลือกันเอง เพราะขาดการให้ความสำคัญจากภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลแทบไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนเลย

“เราเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาก แต่ก็ต้องการการช่วยเพราะอุปกรณ์บางส่วนก็เสียหายไป ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หนังสือ และสิ่งสำคัญคือโครงสร้างของตึกที่สร้างมานาน ระเบียงก็หักและโทรมไปมาก ยิ่งถูกกระแสน้ำเข้ามาช่วยเร่งแล้วด้วย ยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น ที่ทางก็เละไปหมด ต้องการความช่วยเหลือให้เข้ามาเกลี่ยพื้นที่ก็ยังดี เท่าที่ผ่านมาจะขอกำลังผู้ปกครองมาช่วยเหลือตามอัตภาพอยู่เสมอ"

นวพรรณยังบอกอีกว่า เท่าที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับผู้ปกครองนักเรียนที่อยู่รอบๆ โรงเรียนและได้รับความเสียหายนั้น ทุกคนต้องการอุปกรณ์ในการสร้างบ้าน จำพวกไม้ ปูนซีเมนต์ สังกะสี เพราะบ้านเกิดความเสียหายอย่างมาก เพราะทุกอย่างก็ปลิวไปพร้อมกับกระแส ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีฐานะที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก แม้ไม่ได้มาลงมือช่วยซ่อมแซมแต่สนับสนุนเป็นอุปกรณ์เหล่านี้ก็ถือว่าช่วยได้มากเช่นกัน

เทศกาลเยียวยา และเม็ดเงินซื้อวัคซีน (กันท่วมซ้ำ)

ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่เอาการของรัฐบาลที่ต้องเร่งช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะเท่าที่ผ่านมาภาคเอกชนเอง ทำคะแนนแซงทั้งเรื่องความว่องไวและทั่วถึงกว่าไปหลายขุมนัก งานนี้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเร่งกู้หน้าโดยสั่งการผ่านรองนายกฯ ซึ่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้จัดเตรียมพิจารณากรอบแนวทางการออกกฎหมายในการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทั้งระบบ เป็นเงินหลายแสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติครั้งนี้และวางแผนเพื่ออนาคตด้วย แต่กว่าจะอนุมัติก็ทันแผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วมพอดี ก็ต้องจับดูกันอีกที่ว่า ปฏิบัติการหลังน้ำท่วม โดยฝีมือรัฐบาลภายใต้เม็ดเงินก้อนใหญ่จะเป็นอย่างไร

ซึ่งหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวถึงมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีในช่วงหลังน้ำลดครั้งนี้ว่า นอกจากการช่วยเหลือเป็นตัวเงินแล้ว การช่วยเหลือเชิงนโยบายก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะอุทกภัยครั้งนี้กินวงกว้างกว่าที่ผ่านๆมา ไม่ใช่เพียงภาคการเกษตร แต่รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองของหลายจังหวัดด้วย ซึ่งทางรัฐมีมาตรการชดเชยหลังน้ำลดอยู่แล้ว แต่อาจต้องมีการปรับให้มากขึ้น เพราะสร้างความเสียหายมากกว่าปกติ โดยจะต้องไม่ใช่การชดเชยที่ทำให้อยู่รอดได้ แต่ต้องชดเชยเพื่อให้ผู้เดือดร้อนสามารถลงทุนกิจการได้ใหม่

"ในกรณีของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมก็ต้องมีการช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน และนอกเหนือไปจากเงินชดเชยแล้วก็ควรจะมีมาตรการอื่นๆ มาเสริมในภาคธุรกิจนั้น รัฐอาจจะมีการช่วยด้านการลดหย่อนภาษี หรือเรื่องการผ่อนผันการชำระหนี้อยู่แล้ว แต่ในครั้งนี้มันมีผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้ใช้แรงงานด้วย ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล

"ผลกระทบทางอ้อมเหล่านี้ รัฐต้องหามาตรการมารองรับ เพื่อให้กลไกอื่นๆ เดินหน้าต่อไปได้ และมาตรการมันไม่ใช่มาตรการใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเรื่องของการผ่อนผันการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ เงินผ่อนบ้านของชาวบ้านเขาจะได้มีเวลาหาเงินมาได้ทัน เพราะถ้าน้ำลดก็ต้องมีการซ่อมแซมบ้านกันก่อน มันเป็นการลดภาระให้ประชาชน เพราะในการแก้ปัญหาในส่วนของภาครัฐที่สำคัญนั้นก็คือการเข้าไปเป็นตัวกลางในการประสานงานในเรื่องเหล่านี้”

ในส่วนของภาคประชาชนและเอกชนนั้น หาญณรงค์มองว่า ก็จะยังคงมีการช่วยเหลือต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่มากเหมือนช่วงที่น้ำท่วมหนักก็ตาม

"อย่างแรกต้องยอมรับกันก่อนว่า การช่วยเหลือหรือบริจาคของนั้น ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของสถานการณ์ และแต่ละกลุ่มก็มีการช่วยเหลือต่างกันไป บางกลุ่มเขาทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนบางกลุ่มเขาก็ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือเฉพาะกิจ ซึ่งความเข้มแข็งในการช่วยเหลือนั้นต่างกัน ความต่อเนื่องก็มีไม่เท่ากัน หลังจากน้ำลดสิ่งที่ต้องคิดกัน เพราะหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องของการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประสบภัยช่วยเหลือตนเองได้เร็วที่สุด"

หวังร่วมแรง (อีกครั้ง) ในระยะฟื้นฟู

หากสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ น้ำท่วมครั้งนี้ก็ได้สร้างฮีโร่ขึ้นในใจคนทุกข์อย่างมากมาย เพราะภาคสังคม ทั้งนักศึกษา ประชาชนทั่วไปนี้เอง เป็นส่วนสำคัญมาก ทำให้ปัญหาใหญ่ค่อยๆ คลี่คลายลงได้ จะเป็นเพราะการจัดการที่ดีหรือ ไฟแรงก็ตาม แต่ภาคเอกชนหลายๆ กลุ่มก็มีแผนเพื่อการช่วยเหลือหลังน้ำลดไว้แล้วด้วย อาทิ กลุ่มเพจบนสังคมเครือข่ายออนไลน์อย่าง 'พระจอมเกล้าลาดกระบัง ปันน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม' สถาบันพระจอมเกล้าลาดกระบังเอง สายชล ศรีเอม ตัวแทนองค์การนักศึกษาที่เข้ามาทำงานอาสาสมัครในครั้งนี้ เผยถึงมาตรการในการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติว่า ในกลุ่มนี้จะมีการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับกระทบภายหลังน้ำลดอย่างแน่นอน

"ตอนนี้เรามีแผนการลงฟื้นฟูในพื้นที่จังหวัดลพบุรีที่น้ำเริ่มลดลงแล้ว โดยวางไว้ว่าน่าจะเป็นช่วยเดือนพฤศจิกายน ก็จะลงไปช่วยเหลือโดยจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา ในการช่วยเหลือตามความสามารถของแต่ละคณะ อย่างคณะวิศวกรรมที่มีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็จะลงไปช่วยเหลือซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ หรือคณะสถาปัตยกรรมก็จะลงไปซ่อมแซมบ้านเรือน ตามแต่ความถนัด กระแสที่มาเป็นอาสาสมัครตอนนี้ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ผมว่ามันคงจะไม่น้อยลง จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ซึ่งจะมีแกนกลางเป็นองค์การนักศึกษาของลาดกระบังในจุดนี้เองจะคอยเป็นตัวประสานงานกลาง"

ซึ่งสอดประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีโครงการให้นักศึกษาลงไปฟื้นฟูบ้านเรือนและสภาพจิตใจผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จากการเปิดเผยกับสื่อมวลชนของ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา บอกว่า ได้ขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมหารือกับผู้นำนิสิตนักศึกษาแต่ละคณะเพื่อร่วมมือกันจัดค่ายอาสาภายหลังน้ำลด ซึ่งต้องเตรียมพร้อมทำความเข้าใจล่วงหน้า เพราะหลังน้ำลดยังมีปัญหาตามมาอีกมาก ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และสาธารณสุข ก็จะเตรียมทีมแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพชาวบ้าน

นอกจากนี้ยังมีการช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน การพื้นฟูบ้านเรือนและสภาพจิตใจ รวมไปถึงการจัดเตรียมพันธุ์พืชทางการเกษตร พันธุ์สัตว์ ทดแทนส่วนที่เสียหาย โดย สกอ.ได้ตั้งศูนย์อุดมศึกษาช่วยภัยน้ำท่วม เพื่อรับข้อมูลความเสียหายของมหาวิทยาลัย รวมทั้งข้อมูลการออกช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่ของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและไม่ซ้ำซ้อน สำหรับความเดือดร้อนของนิสิตนักศึกษานั้น สกอ.ได้ขอให้มหาวิทยาลัยรวบรวมและจะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อจัดหางบฯช่วยเหลือต่อไป

เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในด้านอุปกรณ์สร้างบ้านถือเป็นปัจจัยหลักในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย ม.ล.จิระเดช กมลาศน์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซนเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีแผนการการช่วยเหลือชุมชนของโฮมโปรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะแบ่งงานเป็น 3 ส่วน คือ การช่วยเหลือเร่งด่วน การฟื้นฟูชั่วคราว และการฟื้นฟูถาวร

"ระยะแรกดูจากความเร่งด่วน อาจจะช่วยเป็นเรื่องๆ ไป แต่ในระยะของการฟื้นฟูชั่วคราวนั้น เราก็จะช่วยเข้าไปบูรณะในเขตเมือง โดยร่วมมือกับบริษัทจัดจ้างของเรา เพราะเรามีความชำนาญของเราในเรื่องนี้ ส่วนในระยะยาวหรือระยะถาวรนั้น ก็อาจจะเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐ เดิมทีเรามีโครงการห้องน้ำของหนูที่ไปทำห้องน้ำให้โรงเรียนอยู่แล้ว เราก็จะไปดูโรงเรียนที่อยู่ในโครงการที่เราเคยทำก่อนว่าหลังจากน้ำท่วมผ่านพ้นไปแล้วเขาได้รับผลกระทบและต้องการอะไรบ้างเป็นตน"

ไม่ต่างจากผู้ผลิตวัสดุรายใหญ่ของประเทศอย่าง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ที่มีการเตรียมแผนบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัย พร้อมฟื้นฟูหลังน้ำลดเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้ วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่าที่ผ่านมาได้มอบกระสอบกั้นน้ำจำนวน 2,000,000 กระสอบ ให้รัฐบาลและกทม. สำหรับจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งเร่งบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการมอบถุงยังชีพ สุขากระดาษซึ่งมีความแข็งแรง สุขาลอยน้ำซึ่งมีระบบบำบัดของเสียที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ นอกจากนี้ ยังมอบเรือ ถังเก็บน้ำ เสื้อชูชีพ และอาหารกล่อง ให้แก่ผู้ประสบภัย

พร้อมกันนี้ได้เตรียมงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูไว้แล้ว โดยเริ่มแรกจะทำการเตรียมกำจัดถุงทรายและนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน พร้อมให้คำแนะนำในการซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งฟื้นฟูโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เพื่อคืนแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในอนาคต ด้วยการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยหากเกิดอุทกภัยในอนาคตอีกด้วย

………

แม้ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไดเตรียมพิจารณาพระราชกำหนดกู้เงินฟื้นฟูน้ำท่วม ที่จะมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงระบบชลประทานครั้งใหญ่ ทั้งการสร้างเขื่อนและการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนที่ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ ตลอดจนให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อฟื้นฟูกิจการ โดยจะตั้งเป็นกองทุนบูรณาการเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ แต่นั่นเป็นเพียงระดับนโยบายในการฟื้นฟูประเทศของทุกส่วน ซึ่งคงไม่สามารถลงมาถึงระดับปัจเจกและในระดับครัวเรือนอย่างเร่งด่วนเป็นรูปธรรมได้

เพราะฉะนั้น หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว น้ำลดและอุทกภัยผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่รอคอยคือ คนไทยจะไม่ทิ้งกัน ทุกภาคส่วนจะช่วยเหลือและเยียวยากันอย่างเข้มแข็งเหมือนช่วงภัยน้ำท่วมที่กำลังโหมกระหน่ำ ร่วมมือรวมน้ำใจฟื้นฟูทั้งบ้านเรือนและจิตใจ ไม่ว่าด้วยทุนทรัพย์และสิ่งของผ่านการบริจาค หรือการลงแรงลงใจลงภาคสนามไปช่วยเก็บเศษซากปรักหักพัง และซ่อมแซมความเสียหายต่างๆ หรือแม้แต่จากการไถ่ถามหรือเข้าไปช่วยเหลือตามแรงกำลังของตนเอง ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ที่มอบให้กันอย่างไม่เหือดหายของคนในชาติ ที่จะทำให้เมืองไทยเดินหน้าต่อไปหลังภัยพิบัติจากมหาอุทกภัย

>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK






กำลังโหลดความคิดเห็น