xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมสัตว์ ยามวิกฤตน้ำท่วมกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
สุนัขถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ในบ้าน แต่ก็ไม่มีอาหารประทังชีวิต หรือบางตัวต้องว่ายลอยคออยู่ในน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ภาพเหล่านี้สร้างความหดหู่ใจให้กับคนรักสัตว์เป็นอย่างมาก เมื่อคนไทยต้องประสบกับภาวะวิกฤติน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนไม่ได้เตรียมตัวพร้อมอพยพเสียด้วยซ้ำ คนยังหนีเอาตัวรอดกันแทบไม่ทัน สัตว์เลี้ยงเพื่อนยากอย่างสุนัขจึงต้องถูกทิ้งไว้ให้เผชิญชะตากรรมกันต่อไป

ใครก็รักตัวเอง แม้แต่หมาก็เถอะ! ศูนย์อพยพสัตว์เลี้ยงจึงเป็นที่พักพิงสำหรับสัตว์ ขอเพียงความเมตตาจากคนหยิบยื่นโอกาสให้มันมีชีวิตรอดได้บ้าง...

การเตรียมพร้อมช่วยเหลือสัตว์
คงไม่มีใครใจร้ายปล่อยให้เพื่อนรักที่ซื่อสัตย์ตายต่อหน้าต่อตา ศูนย์อพยพสัตว์จึงทำหน้าที่คอยช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งแต่ละแห่งก็มีการรองรับสัตว์จำนวนมากน้อยต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานที่และความพร้อมในการรับฝาก

ผศ.ดร.พรชัย สัญฐิติเสรี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เล่าถึงวิธีการให้ความช่วยเหลือภายในศูนย์อพยพสัตว์ชั่วคราวแห่งนี้ ซึ่งถือว่ามีการรองรับสัตว์เป็นจำนวนมากอีกแห่งหนึ่ง

“ตอนนี้ได้ใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เป็นสถานที่พักพิงทั้งสุนัขและแมว ประมาณ 1,000 กว่าตัวแล้ว ตอนนี้คิดว่าน่าจะเยอะที่สุดของศูนย์ฯ ทั้งหมดที่มีการฝากเลี้ยง แต่ละที่ขึ้นอยู่กับกรมปศุสัตว์ว่าเขาจะส่งมาจำนวนเท่าไหร่ เพราะสัตว์บางส่วนก็ส่งมาจากกรมปศุสัตว์”

ทางโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับดูแลสัตว์ที่ส่งมาจากกรมปศุสัตว์ เสมือนเป็นองค์กรที่ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งตอนนี้ด้วยจำนวนสัตว์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสุนัขและแมว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงไม่ได้รับฝากจากเจ้าของแล้ว จึงมีแค่สัตว์จากกรมปศุสัตว์ที่จะส่งมาเท่านั้น

“ส่วนเรื่องการรองรับตอนแรกที่คิดไว้เรารับโดยไม่คิดค่าฝากก็ใช้เงินจากยอดเงินบริจาคที่เคยทำเรื่องขอไว้ เงินที่ได้รับบริจาคมาก็แบ่งออกเป็น 5 ศูนย์ ตามความจำเป็น ก็จะเป็นการช่วยศูนย์ที่ธรรมศาสตร์ แจ้งวัฒนะ ดอนเมือง อยุธยา และเราก็เป็นศูนย์ที่ 5 แล้วจำนวนที่เราพอรับได้ด้วยเงินที่มีเบื้องต้นน่าจะสักประมาณ 200 ตัว ปรากฏว่าจำนวนมันเกิน แต่ก็ยังมีส่วนที่คนช่วยบริจาค มีเงินบริจาค และบริจาคกรงพร้อมอาหารมาด้วย ทีมงานที่อยู่โรงพยาบาลสัตว์พอได้คุยกันแล้วก็บอกว่าไหว เมื่อไหวก็ยังทำกันต่อ”

ที่ผ่านมาความไม่พร้อมของสถานที่ ทำให้ศูนย์อพยพสัตว์หลายแห่งทยอยปิดตัวลง ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากน้ำได้เข้าท่วมถึงอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อพยพสัตว์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พักพิงสัตว์ดอนเมือง และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ จึงทำให้แต่ละศูนย์ฯ ต้องขนย้ายสัตว์มายังสถานที่ที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ก็กำลังจะเปิดศูนย์อพยพอื่นๆ เพื่อกระจายความช่วยเหลือต่อไปอีก

นายนิรันดร เอื้องตระกูลสุข รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวถึงการขยายศูนย์ความช่วยเหลือสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับไปยังสถานที่อื่นได้บ้าง ไม่เพียงแค่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนเท่านั้น

“กรมปศุสัตว์ก็จะกระจายสัตว์ไปในศูนย์อพยพต่างๆ หลักๆ ที่รองรับอยู่ คือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และได้ส่งไปที่อำเภอแปดริ้ว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งตอนนี้ก็มีจำนวนมากเช่นกัน เมื่อประชาชนนำมาฝากเราก็จะนำไปให้เพิ่มเติมอีก ถ้าตรงนี้เต็มเราก็จะขยับขยายไปในส่วนของด้านกักกันสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว เราก็จะต้องเตรียมสถานที่รองรับไว้ นั่นจึงเป็นขั้นตอนคร่าวๆ”

เปิดพื้นที่พักพิงแก่สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงพิเศษ
นอกจากสุนัขและแมว ก็ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่คนนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็น นก กระต่าย กระรอก หนูแฮมสเตอร์ ฯลฯ ล้วนแล้วเป็นสัตว์เลี้ยงพิเศษ ซึ่งคนไทยกำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงไม่แพ้สุนัขและแมว เมื่อเกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัยให้แก่พวกมันด้วยเช่นกัน

น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ หัวหน้าหน่วยสัตว์ป่าและคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เล่าถึงการช่วยเหลือและดูแลสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยงพิเศษ จำพวก นก ลิง หมูป่า ฯลฯ ที่อพยพเข้ามายังศูนย์พักพิงแห่งนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนด้วยกัน

“ส่วนใหญ่จะเป็นกระต่ายและกวาง ที่ประชาชนได้เลี้ยงเป็นฟาร์ม ปกติถ้าเป็นสัตว์เล็กอย่างกระต่าย จะถูกส่งมาที่โรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์พักพิงผู้อพยพ บางส่วนกรมปศุสัตว์ได้นำกระต่ายเข้ามาฝากด้วย บางส่วนก็มีคนนำมาฝากเลี้ยงเอง ส่วนกวาง เราต้องออกพื้นที่ไปเพื่อวางยาสลบ อาจเป็นสัตว์ที่ติดน้ำท่วม แช่อยู่ในน้ำแล้วช่วยกลับมาที่คอกเลี้ยงกวาง โรงพยาบาลสัตว์ ส่วนของเราเองก็ทำงานร่วมด้วยกับทางศูนย์ประสานงานช่วยเหลือสัตว์ป่า ของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ให้ความช่วยเหลืออยู่ด้วย”

“ตอนนี้ทางศูนย์อพยพสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงพิเศษ มีกวางกว่า 100 ตัว และกระต่าย ประมาณ 50 ตัว ซึ่งกระต่ายสามารถรองรับได้อีกหลายร้อยตัว รวมถึงสัตว์ที่ไม่มีความดุร้ายและไม่มีการจัดการที่ยุ่งยาก จำพวกกระรอก กระต่าย หนู ฯลฯ จึงสามารถรองรับได้อยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นกวาง ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีการอนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งจากกองทุนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะฉะนั้นคาดว่ากวางยังคงรองรับได้ประมาณ 400-500 ตัว"

ถ้าเป็นสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อย่างเช่น เสือโคร่ง ลิง หมี เป็นต้น ทางหน่วยงานได้มีเครือข่ายประสานงาน เพื่อกระจายการรองรับสัตว์ป่าในแต่ละแห่งไว้แล้ว เช่น หมี ได้มีการส่งไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี บางส่วนก็ย้ายไปที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งทุกที่จะมีพื้นที่รองรับและทำเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว

ในส่วนข้อมูลเรื่องสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงพิเศษ ให้โทร.ไปที่สายด่วน Hot line 1362 ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือสัตว์ป่า จะมีเครือข่ายช่วยเหลือในส่วนของทางราชการ ได้แก่ สถาบันที่มีการเรียนการสอนทางด้านสัตวแพทย์ หรืออาจจะเป็นเครือข่ายส่วนอื่น เช่น กรมสัตวแพทย์สัตว์ป่า และสวนสัตว์แห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็จะมีการช่วยเหลือตรงนั้นด้วยเช่นกัน

สวัสดิภาพสัตว์ภายในศูนย์อพยพ
ตอนนี้สุนัขและแมว ซึ่งอพยพมาในแต่ละแห่งก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีมากกว่า 1,000 ตัวแล้ว และอนาคตอาจมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สัตว์เลี้ยงบางส่วนเจ้าหน้าที่อาจดูแลให้ได้ไม่ทั่วถึง รวมทั้งศูนย์อพยพต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด เมื่อมีจำนวนสัตว์มากก็คงมีสภาพไม่ต่างกัน

สิ่งที่ผู้นำสัตว์เลี้ยงมาฝากต้องยอมรับ คือ 1.โอกาสที่สัตว์จะติดโรคค่อนข้างสูง เนื่องจากอาศัยอยู่กันอย่างแออัด 2.ในส่วนของการสูญหาย เพราะบางทีมีบุคลากรดูแลไม่ทั่วถึง และบางครั้งกรงสัตว์ไม่แข็งแรงเพียงพอ อาจมีสุนัขหรือแมวหลุดหายไป และ 3.สัตว์อาจเสียชีวิตได้ ซึ่งเกิดจากการกัดกันเอง หรืออาจเกิดจากความพลาดพลั้งจากการดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่เจ้าของต้องยอมรับให้ได้ก่อน

แม้ว่าเจ้าของอาจต้องทำใจกับสวัสดิภาพสัตว์อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่เรื่องความเหมาะสมของสถานที่พักพิงภายในศูนย์ใหญ่ก็เป็นที่เบาใจได้ว่าอนาคตข้างหน้า น้ำจะไม่ท่วมถึงและมีพื้นที่รองรับเพียงพอ ตามที่ ผศ.ดร.พรชัย ได้คาดการณ์ไว้

“ทั้งนี้การคาดการณ์อนาคตว่าน้ำคงไม่น่าจะท่วม เพราะที่นี่น่าจะสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 9 เมตร เนื้อที่เป็นของโรงพยาบาลสัตว์ และบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนสามารถรองรับสัตว์ได้อยู่ แต่ไม่สามารถที่จะนำสัตว์พวกนี้ออกมาจูงเดินหรือทำอะไรได้เหมือนอย่างปกติ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกรง ซึ่งกรงก็จะมีขนาดใหญ่ถ้าหากเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่างร็อตไวเลอร์, เซนต์เบอร์นาร์ด”

ในขณะที่สังคมยังประโคมข่าวเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงตามสถานที่พักพิงต่างๆ จึงทำให้ประชาชนเกิดความสงสารและอยากช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงิน และอุปกรณ์การเลี้ยง ที่ยังมีเพียงพออยู่ในตอนนี้ แต่ในอนาคตข้างหน้า เมื่อเวลาผ่านไปการกระจายข่าวเริ่มลดลง ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สัตว์ทุกตัวผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

“มีการคุยกันไว้ว่าถ้าตรงนี้เงินบริจาคหมด ทางเราก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบเรื่องค่าเลี้ยงดู ซึ่งความช่วยเหลือตอนนี้พอเป็นข่าวคนก็รู้จัก ที่ขอไปเรื่องอาหาร ผ้าขนหนู มันยังพออยู่ แต่พออีกสักเดือนหนึ่งข่าวเริ่มลบเลือนไป แล้วคนบริจาคจะยังมีอยู่หรือเปล่า ผมว่าอีกสักเดือนผมก็จะขอใหม่ ถ้าเพียงพอก็จะไม่ขอเพิ่ม”

ข้อปฏิบัติสำหรับการอพยพสัตว์
การอพยพสัตว์ไปยังสถานที่ปลอดภัยในวิกฤตการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ จึงต้องเรียนรู้ถึงข้อควรปฏิบัติในการอพยพสัตว์เลี้ยงของตนเอง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด

อย่างแรกที่ต้องพิจารณาก่อน คือ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำไปฝากบ้านของคนที่รู้จักหรือบ้านญาติก่อน เนื่องจาก ศูนย์พักพิงสัตว์อาจไม่มีความพร้อมในการดูแลได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเลี้ยง อาหาร และสถานที่ซึ่งอาจมีไม่เพียงพอ 2.หากไม่สามารถติดต่อบ้านญาติได้ หรือไม่มีสถานที่ไหนช่วยเหลือได้จริง เมื่อต้องการอพยพมายังศูนย์ฯ เพื่อฝากเลี้ยงชั่วคราว ควรนำกรงเลี้ยง ถ้วยน้ำ จานอาหารมาให้พร้อมด้วย

กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่เป็นศูนย์หลักรับแจ้งจากประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ในการอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง หรือต้องการฝากเลี้ยงสัตว์ชั่วคราว สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4926 หรือ 0-2653-4444 ต่อ 3381-5 โดยมีขั้นตอนในการทำเรื่องรับฝาก ดังนี้

1.ท่านต้องนำสัตว์เลี้ยงมาด้วยตัวเอง ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถนำออกมาได้ เนื่องจากน้ำท่วม เจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่ในพื้นที่น้ำท่วมบางจุดยากต่อการเข้าถึง จึงเกิดความยากลำบากต่อการขนย้ายมาก เช่น น้ำท่วมสูง จึงต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก หรืออาจต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัทเอกชน ในการนำรถสิบล้อเข้าถึงพื้นที่ ทำให้การทำงานค่อนข้างลำบาก ดังนั้นเจ้าของสัตว์ควรจะเข้ามาด้วยตัวเอง ก่อนที่น้ำจะท่วม

2.นอกจากสัตว์เลี้ยงของท่านแล้ว สิ่งที่ควรเตรียมมาด้วย ได้แก่ กรงเลี้ยง, ถ้วยน้ำ ถ้วยอาหาร และผ้าขนหนู เพราะภายในศูนย์อพยพอาจมีอุปกรณ์การเลี้ยงไม่เพียงพอต่อจำนวนสัตว์ที่อาศัยอยู่

3.ติดต่อทำเรื่องกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่กรมปศุสัตว์ เพื่อรับเรื่องบันทึกประวัติของเจ้าของสัตว์ ว่าชื่ออะไร อาศัยอยู่ที่ไหน รวมถึงข้อมูลของสัตว์ที่ต้องการฝาก ชื่อว่าอะไร สีอะไร มีกี่ตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบอกปลายทางที่จะนำสัตว์ไปส่งยังศูนย์พักพิงที่ใด

แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ทางเจ้าของควรมาดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเป็นระยะๆ เพราะว่า เมื่อสุนัขหรือแมวห่างเจ้าของเป็นเวลานาน ย่อมมีผลต่อจิตใจ เพราะสัตว์ก็มีความรัก ความคิดถึงเจ้าของไม่ต่างจากคน อาจเหงา เศร้าซึม ไม่ร่าเริง เบื่ออาหาร ทั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด จึงทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพ เพราะฉะนั้นหลังน้ำลด เมื่อพร้อมแล้วเจ้าของควรรีบรับสัตว์ของตนไปให้เร็วที่สุด

ขณะนี้ศูนย์พักพิงสัตว์จึงเป็นสถานที่บรรเทาทุกข์ของประชาชนชั่วคราว เพราะสัตว์เลี้ยงก็เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งที่เจ้าของต้องดูแล ไม่ควรทอดทิ้ง แม้สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจะสร้างความเดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง อย่างน้อยศูนย์พักพิงสัตว์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะให้มันมีชีวิตรอดก่อนสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้


ติดต่อ...ศูนย์พักพิงสัตว์ชั่วคราว
ในช่วงเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ผู้ใดต้องการความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงออกนอกพื้นที่ หรือหาสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว สามารถติดต่อตามศูนย์พักพิงสัตว์ต่างๆ ที่เปิดรับได้ดังนี้

@ เขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล หากต้องการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่ หรือต้องการฝากสัตว์เลี้ยง ติดต่อกรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4926 หรือ 0-2653-4444 ต่อ 3381-5 ได้ตลอด 24 ชม.
@ กทม.ศูนย์ดินแดง งานสัตวแพทย์สาธารณสุข โทร 08-6565-6806
@ องค์การสวนสัตว์ รับแจ้ง หากพบสัตว์มีพิษ สัตว์อันตรายที่อาจเป็นอันตรายกับคนและสัตว์เลี้ยง ติดต่อสายด่วน 1362
@ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดศูนย์พักพิงสัตว์ สอบถามโทร. 0-3435-5570, 0-3435-1901
@ จังหวัดกาญจนบุรี รับฝากสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์เล็ก (ควรมีกรงมาด้วย) ติดต่อคุณแอม 08-6756-7658, คุณจอย 08-1732-7115
@ เครือข่ายวิชาชีพสัตวแพทย์ช่วยน้ำท่วม ได้เปิดศูนย์พักพิงสำหรับสุนัข ที่การประปา สาขาแม้นศรี โดยเจ้าของจะต้องพาไปด้วยตนเอง ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โทร.สอบถามได้ที่ 08-7031-0583
@ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) ได้เปิดให้บริการศูนย์อพยพสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในกรณีที่ผู้อพยพมีสัตว์เลี้ยงโดยเจ้าของต้องเป็นผู้ดูแลเอง ติดต่อได้ที่ 0-2392-5951 ต่อ 1000 ได้ตลอด 24 ชม.
@ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดศูนย์อพยพรับเฉพาะสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่มากับเจ้าของเท่านั้น สอบถามโทร. 0-2329-8277, 0-2329-8288
 
 
 
 
 

 

ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์










กำลังโหลดความคิดเห็น