xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฟาร์ม "ชินชิลล่า" สัตว์เลี้ยงขนนิ่มที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ถ้าใครยังไม่เคยเห็น “ชินชิลล่า” มาก่อน อาจแปลกใจในลักษณะภายนอกของเจ้าตัวเล็กนี้ มองดูคับคล้ายคับคลาจะเป็นหนูก็ไม่ใช่ กระต่ายก็ไม่เชิง เพราะมีขนและตัวเหมือนกระต่าย ผสมหนู และมีหางเหมือนกระรอก แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือมีคนนิยมเลี้ยงมากถึงขนาดผสมพันธุ์กันไม่ทันเลยทีเดียว อะไรกันนะที่ทำให้กลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงอย่างเจ้าชินชิลล่าถึงได้หลงใหลกันนัก
 
วันนี้ทีมงาน m-pet จะพาคุณท่องอาณาจักรสัตว์เลี้ยงชินชิลล่า ไปด้วยกันกับ คุณเชอรี่ - พิชชุดา สวัสดิสุข เจ้าของฟาร์ม “แฟลี่ชิน” ที่ตั้งใจเลี้ยงอย่างทะนุถนอมด้วยความรัก ถ้าใครเตรียมตัวพร้อมแล้วก็ไปกันเลย!

เลี้ยงด้วยรัก
เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ด้วยความรักและผูกพันที่มีต่อ “ตั้งฉ่าย”  ชินชิลล่าตัวแรกที่เลี้ยงมาก จึงมีความคิดที่จะเลี้ยงชินชิลล่าตัวต่อไป จนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อเพิ่มขึ้น และได้เปิดเป็นฟาร์มขายอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะด้วยความรักและชอบชินชิลล่ามาก คุณเชอรี่จึงทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับชินชิลล่าด้วยความรัก มากกว่าที่จะคิดว่าเป็นเพียงของซื้อของขายกันเท่านั้น
 
คุณเชอรี่ พิชชุดา สวัสดิสุข เจ้าของฟาร์มแฟลี่ชิน บอกว่า แต่ก่อนนั้นเลี้ยงแฮมเตอร์ และก็ไปเจอชินชิลล่าในร้านขายอาหารสัตว์ ที่เป็นอาหารสัตว์เฉพาะ จึงถามคนขายว่าเป็นตัวอะไร เจ้าของร้านก็จับมาให้อุ้มเล่น พอสัมผัสเขา และได้อุ้มเขา ก็รู้สึกว่ารักเขาเลย เพราะเป็นสัตว์ที่ขนนิ่มที่สุดในโลก ตอนนั้นยังติดเรื่องข้อมูลที่ว่า เขาจะต้องอยู่แอร์ 24 ชั่วโมง เหมือนเลี้ยงยาก แต่เราก็ศึกษาข้อมูลเขามาเรื่อยๆ จนกระทั่ง 2 ปีหลังจากนั้นก็เริ่มเลี้ยงเขา เราศึกษาข้อมูลจนรู้ว่าเขาสามารถปรับสภาพได้ในอากาศบ้านเรา จึงเริ่มซื้อตัวแรกมาจากสวนจตุจักร และตั้งชื่อให้ว่า “ตั้งฉ่าย”

“พอเราเลี้ยงตัวแรก จึงได้เริ่มศึกษานิสัยของเขาว่ามีลักษณะยังไง พอเราหาคู่ให้เขา เขาท้อง และมีลูกออกมาก็เลี้ยงลูกเขาต่อไป ไม่ขาย แล้วก็เริ่มหาคู่ในลูกเขา จึงเริ่มจากมีตัวเดียว พอมีคู่ มีลูก ก็เริ่มขยายขึ้นเรื่อยๆแต่ตอนนั้นมีเพียงสีเดียวก่อน แต่ชินชิลล่า มีทั้งหมด 6 สี ก็อยากจะมีให้ครบทุกสี เราก็เลี้ยงของเราไปเรื่อยๆ ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำฟาร์มเลย แต่เราเลี้ยงด้วยความชอบมากกว่า พอมาตอนหลัง ด้วยความที่ชินชิลล่ามันเป็นสัตว์เลี้ยงกลุ่มเฉพาะ เวลาคนจะซื้อส่วนใหญ่เขาจะวิ่งมาหาเรา ตอนนั้นเริ่มนำเข้าชินชิลล่ามาในไทย นำเข้าจากโซนยุโรปและอเมริกา แต่การนำเข้าจะมีปัญหาเรื่องการปรับสภาพ และในขณะเดียวกันก็ปล่อยขายไปเรื่อยๆ พอนำเข้ามาช่วงหนึ่ง ลูกค้าเริ่มติด จึงตัดสินใจเปิดเป็นฟาร์ม”

รู้จักชินชิลล่าหรือยัง?
ถิ่นกำเนิดชินชิลล่าอยู่บนเทือกเขาในแถบอเมริกาใต้ ได้แก่ ประเทศอาเจนตินา โบลิเวีย ชิลี และเปรู เพราะฉะนั้นจะอาศัยอยู่ในที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและเป็นสัตว์ที่กินน้อย เนื่องจากบนเทือกเขา อาหารการกิน นั้นค่อนข้างหายาก โดยธรรมชาติ ชินชิลล่าเป็นสัตว์หากินกลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อนอนหลับ
 
“ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างซุกซน ขี้เล่น เชื่องง่าย จะไม่กัดคน ถ้าจะกัดก็น่าจะเป็นในลักษณะ เขาลองงับดูว่าเราเป็นอาหารเขารึเปล่า เพราะบางทีกลิ่นอาหารติดมือเราแล้วเขาได้กลิ่นอาหาร แต่ก็มีบ้างที่เขาหงุดหงิด แต่ไม่เป็นลักษณะที่กัด แต่เขาจะใช้มือปัดเราออกไป ดังนั้นในกรณีที่ชินชิลล่ากัดนั้น คือ 1.คนที่ไม่คุ้นเคย เมื่อเข้ามาจับเขาเลย เขาจะมีสัญชาตญาณในการป้องกันตัวโดยธรรมชาติ จึงอาจถูกกัดได้ 2.มีกลิ่นอาหารติดอยู่ที่มือ แล้วเอามือไปเล่นกับเขา เขาก็นึกว่าอาหารแต่เป็นลักษณะที่งับเบาๆไม่ถึงกับกัดเข้าเนื้อ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ชินชิล่าเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเชื่องและไม่ทำร้ายคน
 
โดยธรรมชาติ ชินชิลล่าจะอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้ ชอบอยู่กันเป็นฝูงและห่วงอาณาเขตกัน จะอยู่ในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น เพราะเขาจะรู้สึกว่าปลอดภัยกว่า ส่วนฟาร์มของเราจะเลี้ยงในกรงเป็นคู่ แต่ด้วยความที่ชินชิลล่ามีนิสัยค่อนข้างห่วงถิ่นโดยเฉพาะตัวเมีย ในกรณีที่เป็นชินชิลล่าด้วยกัน ตัวผู้จะห่วงตัวเมียมาก จึงอาจเกิดการกัดกันได้ระหว่างตัวผู้ ส่วนลักษณะทางโครงสร้างของร่างกายนั้น ตัวเมียจะมีโครงสร้างของลำตัวที่ใหญ่กว่าตัวผู้ตามแบบของพันธุกรรม”

ชนิด-สี-ราคา
แต่เดิมนั้นชินชิลล่ามี 2 ชนิดคือ Chinchilla brevicaudata และ Chinchilla lanigera โดย Chinchilla brevicaudata หูและหางจะสั้น คอและไหล่จะหนากว่า Chinchilla lanigera แต่ในปัจจุบันพบว่า Chinchilla brevicaudata ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นชินชิลล่าที่มนุษย์นำมาเลี้ยงจึงเป็นชนิด Chinchilla lanigera ซึ่งยังสามารถพบได้ในป่าจำนวนเล็กน้อย
 
ฉะนั้นที่คนนิยมเลี้ยงในตอนนี้จึงเป็นเพียงแค่ชนิดเดียว คือ Chinchilla lanigera มีสีหลักๆ ได้แก่ ชนิดสีเทา- สีสแตนดาร์ด หรือนอมอล สีขาว- สีไวท์โมเซค,ซิลเวอร์ไวท์, วิลสันไวท์, พิงค์ไวท์ ซึ่งสีไวท์โมเซค กับ ซิลเวอร์ไวท์ จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่สีไวท์โมเซค จะมีสีเทาปนมากกว่าสีขาว และซิลเวอร์ไวท์ จะมีสีขาวมากกว่าสีเทา ส่วนวิลสันไวท์จะมีสีขาวทั้งตัว แต่มีหู ตา สีดำ และพิงค์ไวท์ มีสีขาวทั้งตัว หูสีชมพู ตาสีแดง สีเบท- สีโฮโมเบท และเฮโทโรเบท จะมีตาสีแดงหมด ส่วนสีขนจะไล่ตั้งแต่สีอ่อนไข่ไก่ไปจนถึงสีเข้มเหมือนช็อกโกแลต สีไวโอเลต- สีจะคล้ายๆขี้เถา อมม่วงๆ สีแบล็กวิลเวต- สีดำ มีใต้ท้องเป็นสีขาว สีอีโบนี่- สีดำสนิททั้งตัว
 
“สีนอมอล จะขายดีที่สุด สำหรับคนที่เริ่มเลี้ยงใหม่ เพราะเนื่องจากเป็นสีที่ถูกที่สุดและลูกค้าบางรายยังไม่พร้อมเสี่ยงที่จะซื้อชินชิลล่าในราคาที่สูง เพราะต้นทุนในการซื้ออุปกรณ์เริ่มต้นในการเลี้ยงบางครั้งแพงกว่าชินชิลล่าตัวเดียวอีก ซึ่งสีนอมอล ราคาอยู่ที่ 6,000 บาท/ตัว สีพิงค์ไวท์กับสีอีโบนี่ ราคา 18,000/ตัว ส่วนสีอื่นๆนอกจากนี้จะอยู่ที่ราคา 13,000 บาท/ตัว ซึ่งจะมีราคาอยู่ 3 ระดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การเกิดในแต่ละสี จึงทำให้ราคาแตกต่างกัน อย่างเช่นสีนอมอลมีราคาถูก เนื่องจากมีเปอร์เซนต์การเกิดเยอะที่สุด เมื่อเอาสีอื่นมาผสมกัน ก็จะมีเปอร์เซนต์เกิดเป็นสีนอมอล
 
การซื้อตัวชินชิลล่า ไม่ว่าจะเป็นลูกนอกที่รับเข้ามาจากต่างประเทศ หรือลูกในที่สามารถขยายพันธุ์ได้เองในประเทศ ต่างก็มีต้นทุนเช่นเดียวกัน ลูกนอกจะเป็นต้นทุนเรื่องการซื้อ ส่วนลูกในมีต้นทุนเรื่องของเวลา ต้นทุนจึงเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นราคาพื้นฐานที่ตั้งไว้จึงอยู่ที่ระดับนี้เท่ากัน และจะไม่ต่ำไปกว่านี้แน่นอน บางที่อาจขายถูกกว่า แต่ทางแฟลี่ชิน จะเน้นทางด้านการบริการเป็นหลัก ซึ่งชินชิลล่าที่จะขายต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ลูกค้าสามารถมาดูและจองก่อนได้ แต่ยังไม่ให้นำกลับบ้านไปด้วย เพราะต้องให้เขากินนมแม่เยอะๆจะได้แข็งแรง จึงเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าที่เอาไปเลี้ยงต่อด้วย เขาจะได้ชินชิลล่าที่แข็งแรงและไม่เป็นโรค”

“ชินชิลล่า” ใครๆก็อยากเลี้ยง
ลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้จักฟาร์มแฟลี่ชินผ่านทางอินเตอร์เน็ต และจะมีบ้างที่ลูกค้าบางรายแนะนำต่อๆกันไป ฟาร์มแฟลี่ชินไม่ได้เน้นลักษณะขายเป็นแบบธุรกิจ คุณเชอรี่เริ่มเลี้ยงมาจากความรักเป็นสำคัญ ลูกค้าที่เข้ามาก็เป็นคนที่รักชินชิลล่าเช่นกัน คุณเชอรี่ย้ำบอกกับเราว่า เมื่อลูกค้าเกิดปัญหาอะไรหรือต้องการปรึกษาอะไร เรายินดีให้คำปรึกษา เราก็พร้อมให้ทุกอย่างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ได้คือการเข้ามาอยู่ในสังคมคนเลี้ยงชินชิลล่า คนส่วนใหญ่จึงรู้จักกันและกลายเป็นเพื่อนกันมากกว่า
 
“การที่ทำเป็นฟาร์มแบบนี้ ตัวชินชิลล่ายังเกิดไม่ทันต่อความต้องการเลี้ยงของลูกค้า เนื่องจากชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่ท้องนานถึง 4 เดือน หรือประมาณ 111-115 วัน ออกลูกครั้งหนึ่งประมาณ 3-6 ตัว ส่วนใหญ่ประมาณ 2 ตัว โดยเฉลี่ย 2 ปีออกลูกได้แค่ 3 ครั้ง มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปี สูงสุดได้เพียง 18 ปี หย่านมได้เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน มีน้ำหนักโตเต็มวัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500 กรัม ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดตัวใหญ่กว่าตัวผู้ และมีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์เมื่อตัวผู้อายุ 4 เดือน ตัวเมียอายุ 8 เดือนขึ้นไป และสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของชินชิลล่า คือเมื่อเวลาคลอดลูกออกมา ลูกชินชิลล่าจะมีขนพร้อม สามารถลืมตาและมองเห็นได้เลย มีความแข็งแรง สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ช่วงประมาณสัก 15 วันแรกจะกินนมแม่เป็นอาหารหลัก พอเลยช่วงนี้ไปแล้วจะสามารถกินอาหารอื่นได้
 
 
น้ำหนักที่มากเกินมีผลต่อตัวชินชิลล่า ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อตอนท้อง เนื่องจาก อย่างแรกเมื่อเขาตัวใหญ่มากจะมีผลให้ลูกที่กำลังจะเกิดในท้องตัวใหญ่เหมือนกัน จะทำให้เขาคลอดยาก และอย่างที่สองเมื่อชินชิลล่าตัวใหญ่มากจะเซ็นซิทีฟต่อความร้อน ได้เร็วกว่าตัวที่ผอม ทำให้เกิดอันตรายกับตัวชินชิลล่าเอง เพราะชินชิลล่าไม่สามารถระบายความร้อนออกจากตัวได้ จึงไม่ควรอยู่ในที่ที่อากาศร้อนอบอ้าว”

วิธีการเลี้ยง และข้อควรระวัง!
การเลือกอาหารสำหรับชินชิลล่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากชินชิลล่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารซึ่งถ้ากินอาหารที่ไม่คุ้นเคย หรืออาหารที่ไม่ได้ทำไว้เพื่อชินชิลล่าโดยเฉพาะก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตกับตัวชินชิลล่าเอง
 
“อาหารหลักของชินชิลล่าจะกินพวกหญ้าแห้ง แมลงตัวเล็กๆ ส่วนฟาร์มของเรา จะเลี้ยงโดยให้หญ้าแห้ง ซึ่งใน 1 วันจะประมาณ 1 กำมือเล็กๆ ทั้งเช้า-เย็น และอาหารเม็ด ซึ่งเป็นหญ้าอัด ให้ 1 ช้อนโต๊ะ ทั้งเช้า-เย็นเช่นกัน พร้อมทั้งขวดน้ำดื่ม 1 ขวด อาหารหลักจึงเป็นแค่ 2 ชนิดนี้ ส่วนอย่างอื่นก็จะเป็นขนมที่ผลิตมาเพื่อชินชิลล่าโดยเฉพาะ แต่ถ้าจะให้อาหารที่มีอยู่ทั่วไปหาซื้อได้ตามท้องตลาด ก็จะเป็นลูกเกดแห้ง อัลมอนด์ธรรมชาติที่ยังไม่ผ่านการปรุงแต่ง ให้เพียงแค่วันละเม็ดเท่านั้น
ข้อแตกต่างการกินกับสัตว์ทั่วไป อย่างเช่นกระต่าย จะเป็นสัตว์ที่ไม่รู้ลิมิตในการกิน ถ้าเจ้าของให้ไว้เท่าไหร่ก็กินเท่านั้น แต่ชินชิลล่าถึงจะให้เยอะ เขาก็กินเท่าที่เขากิน นอกนั้นเขาก็ไม่กิน และเป็นสัตว์ที่ไม่กินอาหารค้างคืน ถ้าโดนลม โดนความชื้นแล้วเขาจะไม่กิน”
 
ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย และเชื่องอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ต้องระวังหลักๆเลย มี 2 อย่างคือ 1.การให้อาหาร ชินชิลล่าไม่ควรกินอะไรที่แปลกๆ ที่ไม่ใช่อาหารสำหรับชินชิลล่าโดยเฉพาะ และ 2.เรื่องอากาศ ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่มีขนค่อนข้างหนามาก จึงไม่สามารถอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากๆได้ แต่เมื่อเลี้ยงได้ระยะหนึ่งชินชิลล่าจะสามารถปรับสภาพกับอากาศในไทยได้ จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องปรับอากาศตลอดเวลา เพียงแต่ต้องอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวกและก็ไม่ร้อนอบอ้าว
 
ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ควรให้ชินชิลล่าตัวเปียกน้ำ ฉะนั้นเวลาให้น้ำจึงควรให้เป็นขวดน้ำแทน ไม่ควรใส่ถาดน้ำ เนื่องจากถ้าชินชิลล่าตัวเปียกจะทำให้เกิดเชื้อราได้ เพราะเป็นสัตว์ที่มีขนหนามาก ใน 1 รูขุมขน มีขนขึ้นประมาณ 70-80 เส้น ชินชิลล่าจะทำความสะอาดตัวเองโดยการคลุกทรายละเอียดที่ขายสำหรับชินชิลล่าโดยเฉพาะ ซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป ราคาไม่แพง และใช้ได้นาน จึงถือเป็นการทำความสะอาดตัวของเขาเองและเป็นการกำจัดไขมันที่อยู่ตรงปลายขน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้ชินชิลล่าเลย
 
โรคเชื้อราจะพบบ่อยในชินชิลล่า ซึ่งจะทำให้ขนร่วง จึงต้องควบคุมความชื้นในอากาศให้ดีแต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อเห็นชินชิลล่ามีลักษณะดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์ทันที และอีกอย่างที่พบคืออาการท้องเสีย ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่เซ็นซิทีฟต่อระบบการกิน การย่อยอาหารอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการเครียดก็ทำให้ท้องเสียได้ แต่ถ้าเราควบคุมเรื่องอาหารก็จะเกิดปัญหาเรื่องนี้น้อยมาก ส่วนโรคอื่นก็จะมีบ้างแต่ไม่บ่อยมากนัก”
 
ตอนนี้ใครเกิดหลงรักเจ้าชินชิลล่าแล้วบ้าง และอยากเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่นยามว่าง สามารถขอคำปรึกษาสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยง ได้ที่ คุณเชอรี่ เจ้าของฟาร์มแฟลี่ชิน โทร.087-500 0506, 02-887 3411บอกได้เลยว่าคุณเชอรี่ยินดีตอบในทุกคำถามเกี่ยวกับชินชิลล่า สัตว์เลี้ยงแสนรักนี้ หรือสามารถติดต่อได้ที่ อีเมล : fairychin4u@gmail.com และเข้าไปดูได้ที่ www.fairychin.com



ช่วงชีวิต                   เฉลี่ย 15 -18 ปี
น้ำหนักโตเต็มวัย        500 กรัม
อุณหภูมิร่างกาย        37 - 38 องศาเซลเซียส
อัตราเต้นของหัวใจ     100 - 150 ครั้ง/นาที
วัยเจริญพันธุ์             4 - 8 เดือน
ระยะตั้งท้อง              111 - 115 วัน
ขนาดครอก              3 - 6 ตัว
อายุหย่านม              2 เดือน
 
 
 
 

ข่าวโดย M-lite / ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์  
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ
 
สีอีโบนี่-ดำล้วนทั้งตัว แพงสุดในบรรดาชินชิลล่า
ชินชิลล่าสีนอมอล ขายดีที่สุด
คุณเชอรี่ กับชินชิลล่าสีเบท




กำลังโหลดความคิดเห็น