น้ำท่วมใหญ่เมืองกรุง เมืองที่ตึกรามบ้านช่องผุดเต็มเกือบทุกอณูของพื้นที่ ทำให้เกิดซอยเล็กซอกน้อยเต็มไปหมด การเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือจึงถือเป็นเรื่องยากมากที่เดียว แต่เรื่องไม่ดีก็มักซ่อนเรื่องดีๆ อยู่ในนั้นเสมอ เพราะเหล่า ‘พระเอกเจ็ตสกีขี่ม้าไว’ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่นำยานพาหนะคู่ใจมาช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนอีกทางหนึ่ง แต่เหมือนเป็นดาบสองคม เพราะเท่าที่ผ่านๆ มามีกระแสข่าวอ่อนๆ ว่าเจ็ตสกีที่ขับเร็วๆ สร้างผลกระทบต่อประชาชนเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้มีใครหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นชัดๆ สักที เพราะก็ต่างเข้าใจว่าเขาตั้งใจมาช่วยกัน จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นข้อที่ต้องถกเถียงกันจนได้ เมื่อมีมือดีซัดหน้าคนดังอย่าง การุณ โหสกุล ส.ส.เพื่อไทย เขตดอนเมือง ระหว่างขับเจ็ตสกี ถึงขั้นเลือดตกยางออก เย็บไปหลายเข็ม
ตามข่าวนั้นเล่าว่า ระหว่างทางที่ส.ส.การุณ ขับเจ็ตสกีไปนั้น ได้สวนกับเรือของชาวบ้านที่พายออกมา แต่คลื่นจากเจ็ตสกีทำให้เรือชาวบ้านล่มลง ทุกคนที่โดยสารมากับเรือตกน้ำหมด คนในเรือพาก่นด่าสาปแช่ง จากนั้นผู้แทนราษฎรคนดังขวัญใจชาวดอนเมืองก็วกเจ็ตสกีกลับมาดูเหตุการณ์ที่ตนทำ และจากจุดนั้นก็กลายมาเป็นข่าวเมื่อ การุณ โหสกุล ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ดอนเมือง ว่าถูกทำร้ายจากเหตุการณ์ขี่เจ็ตสกีทำเรือชาวบ้านล่ม จนถูกชกหน้าทำให้ตนต้องเย็บแผลกว่า 5 เข็ม ดังนั้นจึงต้องการดำเนินคดีกับคนที่ทำร้ายตนเอง
แล้วการขับเจ็ตสกีแบบไหนที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน...
คนเดือดร้อน...ช่วยตอบที!
คงไม่ต่อความยาวสาวความยืดถึงคดีท่านผู้แทนฯ การุณ แต่เมื่อลงลึกไปฟังชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จากกรณีนี้ก็น่าเห็นใจทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะต้องยอมรับว่าใจจริงของอาสาสมัครคงไม่มีใครอยากสร้างความเดือดร้อนเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านอีก แต่ด้วยสภาพของพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะนำยานพาหนะชนิดนี้เข้ามาใช้ เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบและติดกับบ้านเรือนของคน ดังนั้นคลื่นที่เกิดจากการพุ่งตัวของเจ็ตสกีจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านทั้งในระยะสั้นและยาว อย่างที่เห็นกันชัดๆ ก็เรื่องความเร็วของเจ็ตสกีจนทำให้เรือชาวบ้านล่ม รวมไปถึงแรงกระแทกของคลื่นทำลายบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างอีกด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ ฐิติมา เสมอใจ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมบริเวณแยกศรีสมาน เขตดอนเมือง กทม. บอกว่า แม้ผลกระทบเรื่องคลื่นน้ำจากแรงขับเจ็ตสกีจะไม่ได้ส่งผลที่เห็นตำตากับบ้านเรือนละแวกตน เพราะบ้านบริเวณนี้เป็นอาคารที่สร้างจากคอนกรีตจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้มากนัก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดแจ่มแจ้ง คงเป็นเรื่องเดียวคือการเร่งความเร็วของเจ็ตสกีที่ทำให้เรือโดยสารภายในชุมชนล่มได้
“บางทีเรือแล่นมาเขาก็ไม่ค่อยหยุดหรือเบาคันเร่งให้บ้าง เขาขับแรงเกิน น้ำก็กระเซ็นเข้าเรือคนนั่งเรือเข้าก็ตะโกนด่าสิ หรือบางทีเรือรับจ้างเขาจอดรับคน น้ำก็กระเซ็นไปโดนเขา อยากให้มีใครช่วยเตือนคนขับเจ็ตสกีหน่อยที่เวลาที่ขับเข้าซอยเล็กๆ ขอให้ลดความเร็วลงนิดหนึ่ง เพราะน้ำมันกระเด็นเข้าเรือคนอื่น คลื่นก็ซัดเรือมันจะล่มเอาง่ายๆ แถวนี้ยังดีบ้านเป็นตึก ก็ไม่ค่อยเห็นว่าเป็นอะไรมากมาย เพราะมีรั้วของส่วนราชการกันให้อีกทอดหนึ่ง แต่ลึกๆ กว่านั้นที่เป็นบ้านไม้เราก็ไม่ค่อยแน่ใจนะว่าเขาโดนคลื่นซัดบ้านหรือเปล่า”
และในกรณีเดียวกันนั้นด้าน กนกวรรณ วิลัยมาตย์ ชาวบ้านผู้ประสบภัยย่านบางกรวย นนทบุรี กล่าวว่าสำหรับสายตรวจเจ็ตสกีที่เป็นของตำรวจ ช่วยทำให้ชาวบ้านที่ต้องอพยพไปพักที่อื่นรู้สึกอุ่นใจที่ทีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เข้ามาตรวจตราบ้านเรือน ซึ่งเจ็ตสกีก็สามารถซอกแซกได้คล่องตัว แถมเครื่องยังแรงไล่ล่าโจรได้ทันการณ์ แต่หากมองอีกแง่หนึ่งเจ็ตสกีนั้นเป็นพาหนะที่ต้องขับด้วยความเร็ว ฉะนั้นแรงดันน้ำก็อาจปะทะเข้ากับบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน
“จะรถ เรือติดเครื่อง หรือเจ็ตสกี ถ้าขับเร็ว แรงน้ำมันก็จะซัดเข้าไปในบ้านคนก็จะเสียหาย เจ็ตสกีถ้าเขาขับไม่แรงมากมันก็ดี มองในแง่ดีมันก็ดีนะที่เขาเข้ามาตรวจตราให้ แต่อย่างว่าแหละเจ็ตสกีเขาก็ขับกันเร็วๆ ทั้งนั้น ทีนี้มันก็เป็นดาบสองคมคือถ้าอยากปลอดโจรก็ต้องทนบ้านเสียหายบ้าง ถ้าตรวจโดยวิธีอื่นได้ก็จะดีกว่านี้เขาคงทำ”
รู้ไว้ก่อนสตาร์ท
เจ็ตสกี เป็นยานพาหนะทางน้ำที่ใช้ระบบเจ็ตในการขับเคลื่อน กล่าวคือเป็นการดูดน้ำเข้าไปและพ่นออกมาเพื่อให้เรือขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการ และในสภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมาเจ็ตสกีก็ดูจะมีบทบาทในการช่วยเหลือคนอยู่ไม่ใช่น้อย
สรรพร เชาวน์ชวานิล เจ้าของร้าน สยาม วอร์เตอร์คราฟ ดีลเลอร์ผู้นำเข้าเจ็ตสกีรายใหญ่รายหนึ่งของไทยบอกกับเราว่า ในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา ยอดขายของเจ็ตสกีเพิ่มขึ้นมากจริง จนเป็นประเด็นที่หลายๆ คนมองว่า เจ็ตสกีนั้นเป็นตัวสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเพราะมันจะเกิดคลื่นในขณะที่วิ่งนั้น สรรพรบอกว่า จริงๆ แล้ว เวลาที่เจ็ตสกีวิ่งเร็วคลื่นจะน้อย แต่ถ้าวิ่งช้าคลื่นกลับใหญ่ เพราะเมื่อเจ็ตสกีวิ่งเร็วมันจะวิ่งบนน้ำ พื้นสัมผัสของเรือและน้ำจะน้อย แต่หากวิ่งช้าจะมีส่วนที่อยู่ในน้ำเยอะ เหมือนรถที่วิ่งดันน้ำ ถ้าวิ่งเร็วอยู่ในจังหวะก่อนจะขึ้นน้ำคลื่นจะแรงที่สุด แต่ถ้าเป็นการเดินเครื่องเบาก็จะไม่มีคลื่นเช่นกัน
“เอาจริงๆ แล้วคลื่นที่เกิดจากเจ็ตสกีนั้นน้อยกว่าเรือหางยาวอีก มันขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งานมากกว่า คือเจ็ตสกีทำงานได้เร็วแต่ก็จะส่งผลกับเรือลำอื่นที่อยู่รอบๆ”
สำหรับข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเจ็ตสกีนั้นสรรพร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ขนาดเครื่องของเจ็ตสกีถ้าเป็นรุ่นเก่าๆ เริ่มต้นที่ 700 ซีซีก็มี แต่โดยมาตรฐานแล้วจะอยู่ที่ 1,500 ซีซี ระบบซูเปอร์ชาร์ต 260 แรงม้า มีทั้งเครื่อง 2 จังหวะ และ 4 จังหวะ ซึ่งรุ่นใหม่ๆ จะเป็น 4 จังหวะหมดแล้ว ส่วนการเดินเบาเครื่องนั้น ความเร็วต่ำสุดก็น่าจะสัก 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนเร็วสุดก็จะสามารถวิ่งได้ 100 กว่า
กิโลเมตรต่อชั่วโมง ราคาเครื่องใหม่ก็จะอยู่ที่ 500,000 กว่าบาทขึ้นไป สูงสุดก็จะขึ้นไปที่เจ็ดแสนกว่าบาท ส่วนพวกเครื่องที่แรงม้าไม่มากนี่ 400,000 กว่าก็มี
“ลักษณะของเจ็ตสกีนั้นก็มีหลายอย่าง ทั้งทัวร์ริ่ง ทั้งสปอร์ต แต่ที่ออกมาในช่วงน้ำท่วมนี้ ส่วนมากไม่ใช่เรือที่โมดิฟาย เป็นเรือที่ใช้ขี่เล่นกันตอนปกติมากกว่า เจ็ตสกีแข่งนั้นจะโมดิฟายเพื่อสมรรถนะมาเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่เรือที่ออกมาใช้ช่วยคนตอนนี้”
จราจรเจ็ตสกี
"เจ็ตสกีถือเป็นเรือชนิดหนึ่งที่มีกำลังสูงมาก และสามารถวิ่งได้ในระดับน้ำที่ตื้นตั้งแต่หัวเข่าจนไปถึงน้ำลึกเท่าไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นนอกจากจะเหมาะสำหรับการขี่เล่นเพื่อความบันเทิง เจ็ตสกียังเหมาะกับกู้ชีพกู้ภัยตามฝั่งทะเล และเมื่อถูกนำมากู้ภัยในเมืองแบบนี้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน หากขณะนั้นกระแสน้ำเชี่ยว มีน้ำหลาก น้ำพัด มันก็จะสามารถใช้ความแข็งแรงสู้ได้ดีกว่า เรือยนต์ติดเครื่อง"
อีกเรื่องเล่าของ เจ-เจตริน วรรธนะสิน นักร้องยอดนิยม ในฐานะหน่วยกู้ชีพที่ชื่อว่า 'Flood Fight' อีกผู้หนึ่งที่นำเจ็ตสกีเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ โดยที่ผ่านมานักร้องหนุ่มได้เข้าไปช่วยเหลือในหลายพื้นที่ที่เร่งด่วน เช่น มีผู้ป่วยหนักที่ต้องรีบนำตัวออกมานอกพื้นที่ หลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาตลอดก็คือ 'จะต้องไม่ทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน' เพราะยอมรับว่า เมื่อขี่เจ็ตสกีเข้าไปแล้ว ความแรงของเครื่องจะเข้าไปกระทบประชาชนที่อยู่ด้านข้างได้สูงมากทีเดียว
"ถ้าไปผมตามสายพุทธมณฑลหรือคลองกว้างๆ ซ้ายขวาข้างทางผมเป็นทุ่งโล่งหรือประชาชนอพยพแล้ว แบบนี้ผมสามารถขี่เร็วเต็มที่ได้เลย แต่ถ้าขี่ในเมือง บนถนน หรือซ้ายขวาที่มีชุมชนอยู่ ผมแทบจะไม่เร่งเครื่องเลย คือสตาร์ทแล้วปล่อยมันไหลเอง ฉะนั้นเวลาที่ผมลงไปในเมืองก็จะไม่โดนชาวบ้านตำหนิเลย ทุกคนจะเข้าใจและยิ้มแย้ม และผมก็จะพูดตลอดว่าเดี๋ยวเข้าไปนำคนป่วยออกก่อน ขอรีบนิดหนึ่งนะ คือเราต้องทำความเข้าใจกับเขาด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้วเจ็ตสกีมันขี่ได้ทุกที่แหละ แต่สิ่งสำคัญคือความเหมาะสมและการใช้งานมากกว่า
"อย่างทีมของผมจะมีเจ็ตสกี เรือยาง บางพื้นที่ผมเอาเจ็ตสกีลากไปด้วย แต่พอไปดูหน้างานแล้วก็จะบอกว่าไม่เอาเจ็ตสกี เอาแต่เรือลง หรือบางทีเอาแต่เจ็ตสกี ไม่เอาเรือ คือเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจน มีเป้าหมายเท่านี้ ดูตามจำนวนผู้ประสบเหตุ พูดง่ายๆ คือเราต้องประเมินสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งเราต้องทำก่อนทุกครั้ง"
ซึ่งในเรื่องนี้ ราชธรรม จิตธรรมมา ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจน้ำ พูดถึงการใช้งานเจ็ตสกีเพื่อการช่วยเหลือประชาชนช่วงน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งเขายอมรับว่า สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งสามารถฝ่าคลื่นได้ ขณะที่ข้อเสียก็มี เพราะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จึงจะใช้ยานพาหนะชนิดนี้ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดข้อเสียน้อยที่สุด ซึ่งผู้กำกับฯ แจงวิธีและระเบียบการใช้เจ็ตสกีเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นพอสังเขปได้ดังนี้
1. ผู้ขับขี่ต้องมีครูสอนเหมือนขับรถยนต์ เพราะเรือประเภทนี้ขับค่อนข้างยากและมีความเร็วสูง ต้องเรียนรู้วิธี ขับขี่และการใช้เครื่องยนต์ที่ถูกต้อง
2. ต้องใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ขับขี่
3. กุญแจสตาร์ทต้องคล้องอยู่ที่ข้อมือทุกครั้ง เผื่อเกิดความผิดพลาด อาจจะเกิดอุบัติเหตุตกลงมา กุญแจจะได้หลุดจากช่องเสียบเพื่อให้เจ็ตสกีดับเครื่อง
4. ห้ามวิ่งเกยหาดหรือริมตลิ่ง เพราะว่าเครื่องมันจะดูดโคลนดูดทรายเข้าไป อาจทำให้เครื่องดับ ติดขัดและเสียหายได้
5. การขับขี่ (กรณีในชายหาด หรือในทะเล) ต้องไม่เข้าไปในพื้นที่หวงห้าม วิ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ พื้นที่ที่หวงห้ามอาจจะเป็น พื้นที่ที่ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวไปเล่นน้ำเยอะๆ ซึ่งจะมีทุ่นลอยน้ำแสดงเป็นแนวเขตไว้ เพื่อความปลอดภัย
6. สุขภาพของผู้ขับคี่ต้องแข็งแรง เพราะการขับต้องใช้กำลังกายบังคับค่อนข้างมาก
7. การขับขี่เจ็ตสกีในภาวะน้ำท่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อผ่านคน บ้าน หรือสิ่งของที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนน้ำ หรือโดนพนังกั้นน้ำที่จะทะลายไป ก็ต้องเบาเครื่อง ลักษณะของเจ็ตสกีจะมีคลื่นค่อนข้างแรงในช่วงออกตัว กับตอนจอด
“เจ็ตสกีเร็วก็จริง แต่ก็บรรทุกคนได้น้อย อีกทั้งราคาจะค่อนข้างแพง เท่าๆ กับรถเก๋งคันหนึ่งได้ และผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นอันตรายทั้งตนเองและคนอื่นได้”
ในส่วนของความผิดจากการขับเจ็ตสกีที่อาจจะสร้างคลื่นทำให้เกิดความเสียหาย พันตำรวจเอกยอมรับว่า มีเหตุกระทบกระทั่งกันบ้าง อาจด้วยความคึกคะนอง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สร้างคลื่นรบกวนชาวบ้านคนอื่น หรือทำให้พนังกั้นน้ำเสียหาย ซึ่งมีบทลงโทษตามข้อกฎหมายจากเบาไปหาหนักตามปกติ
“หากมีการละเมิดหรือฝ่าฝืน จะมีมาตรการบทลงโทษ เริ่มจากว่ากล่าวตักเตือน หากยังไม่ให้ความร่วมมือ ก็สามารถยึดใบทะเบียนเรือ ให้ผู้มีอำนาจฝ่ายปกครองยึดใบทะเบียนเรือ แล้วนำไปเสียค่าปรับกับพนักงานสืบสวนในท้องที่ โดยอิงกับพระราชบัญญัติเดินเรือ ซึ่งเจ็ตสกีถือเป็นเรือที่ต้องจดทะเบียนมีใบอนุญาต ส่วนการทำมาใช้เพื่อประโยชน์ให้การช่วยเหลือคนอื่น ผู้ขับขี่ก็ต้องรู้จักใช้งานและคำนึงถึงผู้อื่นเป็นหลักด้วย”
.........
ต้องยอมรับว่าด้วยแรงขับเคลื่อนของเหล่าอาสาสมัครนี่เอง ที่ช่วยเหลือคนในช่วงอุทกภัยนี้ได้อย่างมาก ซึ่งชาวบ้านเองก็คงไม่ได้มองถึงข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นไปมากกว่าน้ำใจและการตั้งใจจริงที่ได้รับจากผู้ช่วยเหลือ เพียงแต่ สำหรับการทำงานทุกๆ อย่าง หากตั้งอยู่บนสติ และความพอดี ก็คงส่งผลข้อดีเสียมากกว่าที่จะกลายเป็นดาบที่มีสองคม
>>>>>>>>>>
……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK