xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มบีบอย “เต้ย-ธโนทัย” ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อเต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เต้ย-ธโนทัย
 
หนุ่มอารมณ์ดี เต้ย-ธโนทัย ผู้รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ พอว่างจากงานวีเจเมื่อไหร่ เต้ยต้องหลบไปเต้นเป็นประจำ กว่า 7 ปีแล้วที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับการเต้น..เต้น และก็เต้น M-Healthy จึงนัดหนุ่มสุขภาพดี อารมณ์ดี มาพูดคุยกัน ยิ่งพูดก็ยิ่งสนุก เต้ยบอกว่า “ผมไม่ใช่คนตลก แต่อย่างน้อยเห็นคนมีรอยยิ้มก็มีความสุขแล้ว” ใบหน้าจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข ยิ่งเมื่อพูดถึงเรื่องการเต้น B-Boy ที่เขารัก จึงเป็นโอกาสดีที่จะให้เต้ยพาไปเปิดโลกของคนรักการเต้น ให้ทุกคนได้ขยับตัวเต้นไปพร้อมๆ กัน

หนุ่มผู้รักการเต้น B-Boy
เต้ย-ธโนทัย เจ้าของฉายา Tano ซึ่งย่อมาจากคำต้นของชื่อจริง หลายคนคงเคยได้ฟังเสียงหล่อๆ ของ DJ.เต้ยผ่านคลื่นHot wave กันมาบ้างแล้ว ทั้งยังฝากใบหน้าทะเล้นกับการทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการ Five Live นอกจากนี้ภารกิจชีวิตเต้ย อีกอย่างหนึ่งก็คือการเป็นนักร้องของวง Vwiilz (วีวิลซ์) และครั้นยามว่างเมื่อใด เต้ยจะเคลียร์ตัวเองเพื่อลงแข่งขันB-Boyอยู่เป็นประจำ
 

“ผมเริ่มเต้น B-Boy ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนมาถึงตอนนี้ก็เกือบ 7 ปีแล้ว เราจำได้ว่าตอนอยู่ ม.2 ได้เห็น MV. เพลง Freestyler ของ M.C Boomfunk (ร้องเพลงให้ฟังด้วย) แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย...ร่างกายของมนุษย์เรามันสามารถทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ แต่ว่า ณ ตอนนั้นเรายังไม่มีเพื่อนเต้น จึงได้แต่ชอบ แล้วมาลองเต้นจริงๆ ก็ปี 1 โดยใช้พื้นที่ใต้อาคารก่อนทางขึ้นตึกเรียน ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถานที่ฝึกเต้นถึง 6 ปี ก่อนที่จะโดนอาจารย์ไล่และไม่ให้เต้นอีกแล้ว เพราะกลัวจะเสียงดังรบกวนคนอื่น”
 

จุดเด่นของการเต้นB-Boy อยู่ตรงที่เทคนิคของท่า ส่วนด้านความสวยงามจะให้ความสำคัญน้อยกว่า แต่การเต้นแบบอื่นเน้นที่ความสวยของสรีระและความยากของท่านั้นๆ การเต้น B-Boy นอกจากจะใช้ความแข็งแรงของร่างกายแล้วยังต้องใช้ใจเพื่อเสริมความกล้าสำหรับการเต้นในแต่ละท่าด้วย และเต้ยก็มักพูดเสมอว่า “การเต้นแต่ละท่าของ B-Boy เราแลกมาด้วยความเจ็บปวด”
 
“การเต้นทั่วไปมันเน้นในความสวยงามของท่า แต่ B-Boy มันจะเน้นหนักเรื่องความยาก อย่างท่า Thomas (Flare), Windmill Dance, Head Spin Dance ฯลฯ ตอนนี้ผมฝึกท่า Head Spin Dance อยู่ คือการปล่อยมือแล้วหมุนหัวลงกับพื้น และอย่างท่า Air Track เป็นการบิดตัวลอยกลางอากาศโดยที่ลำตัวขนานกับพื้น ตอนเริ่มทำท่านี้ใหม่ๆ มันอาจจะเคว้งหน่อย ฉะนั้นทุกท่ามันจึงต้องใช้ใจด้วย” (พูดอธิบายพร้อมกับทำท่า Air Track ให้ดู)
 
“ความยากในแต่ละท่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางท่าอาจง่ายสำหรับคนนี้ แต่กับอีกคนการทำท่านี้อาจยากสำหรับเขา ดังนั้นความยากง่ายของท่าเต้นในแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน”
 
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนเต้นB-Boy ซึ่งต้องเจ็บตัวบ้างในระหว่างการซ้อม แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของคนที่รักการเต้น B-Boy บางคนข้อศอกแตก บ้างก็นิ้วหัก จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา พวกเขามีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้ประลองฝีมือกับนักเต้นเก่งๆ ดูบ้าง และเต้ยก็ยินดีที่จะแข่งขันด้วยเช่นกัน

รางวัลจากการแข่งขัน
ชีวิตกับการเต้นของเขาเริ่มต้นจากYoutube ทั้งหมด ตั้งแต่การฝึกเต้น B-Boy ต่อมาก็เต้น HipHop และก็เป็น Popping ซึ่งวัยรุ่นนักเต้นต่างรู้จักกันดี ล้วนมาจากความพยายามในการฝึกเต้นของหนุ่มเท้าไฟผู้รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ ถ้าไม่รักและไม่ใส่ใจในการเต้นอย่างจริงจังก็คงไม่เก่งได้ถึงขนาดนี้
 

“จริงๆ แล้วในโลก B-Boy มีคนเก่งกว่าผมอีกเยอะมากเลยครับ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเต้น รักการเต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเอาชนะทุกๆ คน ขอแค่เป็นตัวเราที่ได้สนุกกับมัน เรารู้สึกยิ้มได้กับทุกคนที่ได้เล่น ได้แข่งกับคนอื่นแล้วเราสนุก แค่นี้เราก็มีความสุขแล้วล่ะครับ”
 

ถ้าใครอยู่ในวงการB-Boy คงได้เห็นเต้ยลงแข่งขันมาบ้างแล้ว จากการรวมตัวกันของกลุ่ม B-Boy ในประเทศไทย ทำให้วัยรุ่นผู้ชื่นชอบการเต้นเข้ามารวมกลุ่มเพื่อลงแข่งขันอย่างสนุกสนาน แม้ว่าผลที่ออกมาจะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ยังคงได้ยินเสียงหัวเราะของเต้ยอยู่เสมอ “จากที่เคยแข่งขันมา ส่วนใหญ่จะได้ที่ 2 และที่ 3 มาเยอะมากเลย สูงสุดที่ได้ก็เป็นที่ 2 แต่ไม่เคยได้ที่ 1 สักทีหนึ่ง (หัวเราะ)”

ประสบการณ์เฉียด...พิการ
“เมื่อวันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาแล้วไม่สามารถก้มไปแตะขาตัวเองได้” อาการนี้สืบเนื่องมาจากการทำท่ายากของการเต้น B-Boy โดยไม่ระมัดระวัง จึงทำให้เต้ยยังคงจดจำภาพเหตุการณ์นั้นอย่างชัดเจน แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 3 ปีแล้ว
 

“ผมเคยเกือบจะเดินไม่ได้เพราะการเต้น แต่ก่อนเราเคยวัดความยืดหยุ่นโดยการแตะเท้าแบบนี้แล้วได้ที่หนึ่งของชั้นเลย แขนผมเลยปลายเท้าไป 24 ซม. พอเรากลายเป็นคนที่ก้มไม่ได้ มันเหมือนทุกอย่างเราแย่หมด ยิ่งเราฝืนพยายามแตะเท้าเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเจ็บร้าวไปถึงใต้เข่าขวา ซึ่งมันไม่เหมือนเดิมที่ตอนแรกเราก็คิดว่ามันเป็นอาการที่เราใช้กล้ามเนื้อเยอะเกินไปหรือเปล่า ปรากฏว่าพอไปหาหมอ เขาจึงให้เอกซเรย์ดูก่อน ผลเอกซเรย์พบว่ามีกระดูกชิ้นหนึ่งผิดปกติไป
 
 
จากนั้นเราจึงต้องไปทำ MRI ที่โรงพยาบาลหนึ่งแถวถนนวิภาวดี เมื่อผลตรวจออกมา หมอบอกว่าเราเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการตรงจะงอยของกระดูกข้อที่ 5 ด้านขวาได้ขาดไป จึงทำให้กระดูกไม่บาลานซ์และเอียงไปทางด้านซ้ายจนเกิดไปทับเส้นประสาท ซึ่งอาการอย่างนี้เป็นอาการที่น้อยคนจะเป็นแต่โชคดีของเราก็คือว่าแทนที่มันควรจะต้องตัดขาดไปแล้ว แต่ยังเหลือช่องว่างอีก 7 มม. ก่อนที่จะตัดขาด ซึ่งถ้ามันโดนตัดไปเราก็จะเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิตเลย จึงต้องกายภาพบำบัดนาน 6 เดือน”
  

จากคำพูดประโยคเดิม “ท่ายากเหล่านี้ เราจึงต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดกับมันมาเยอะมาก” มันคงไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก ถ้าต้องเจ็บจนถึงขั้นพิการ เต้ยจึงเล่าย้อนความเพื่อย้ำเตือนตัวเองอีกครั้งว่า “ตอนนั้นเราทำท่าสะพานโค้งแต่ขาลอยไม่แตะพื้นแล้วค้างไว้แบบนั้น เรียกว่าท่า Haro Black ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบทำท่านี้ในกลุ่ม เราก็ทำได้เป็นเรื่องปกติ พอเราทำได้ กลุ่มB-Boy มันจะมีอาการอย่างหนึ่งว่า เจ็บเราไม่สน ถึงเจ็บก็ทำใหม่จนเราไม่รู้ตัวเลยว่าเราเจ็บหนักถึงขั้นอันตรายแล้วตอนนั้น”
  

หลังจากเจอเหตุการณ์นี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ความเจ็บปวดที่เขาไม่เคยลืม เพราะฉะนั้นในระหว่างการเล่น B-Boy จึงต้องเซฟตัวเองทุกครั้ง และควรเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายเพื่อยืดเส้นก่อน การระมัดระวังด้วยความไม่ประมาทก็จะสามารถลดทอนอาการบาดเจ็บซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

เต้ยชวนเต้น
ถ้าใครสนใจออกกำลังกายด้วยการเต้น B-Boy สามารถไปสมัครเป็นศิษย์ร่วมทีมเต้นกับเต้ยได้ สำหรับเด็กที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ขอบอกก่อนเลยนะว่ายากนิดหนึ่ง เพราะต้องใช้ความอดทน (เจ็บ) อย่างระมัดระวังและต้องมีใจรักมากๆ “การเต้นทุกอย่างมันมีเบสิกของมัน มันต้องใช้เวลา สำหรับการเต้น B-Boy ใครอยากเต้นก็ต้องทนเจ็บ แต่ทุกคนก็ทนเจ็บและพร้อมเริ่มใหม่เสมอ เพราะแต่ละคนก็มีใจรักการเต้น B-Boy ทั้งนั้น”
  

มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตึกที่ 28 ผมซ้อมอยู่ที่นั่นเป็นประจำ เป็นกลุ่มเพื่อนๆ สอนกันเอง การเต้นB-Boy อย่างที่บอกครับ มันไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนเป็นคลาสสอนอย่างเดียวหรอก มันคือแค่ว่าคุณอยากจะเต้นจริงหรือเปล่า ถ้าอยากเต้นจริง พอมาอยู่กับสังคมพวกนี้ มันก็จะเต้นได้เอง ดีกว่าไปเสียเงินเรียน ผมคิดว่าการเสียเงินเรียนมันเหมือนเป็นการบังคับตัวเองให้เรียนมากกว่านะ ผมว่าแค่เรามีใจและรักที่จะเต้นแค่นี้ก็พอ”
  

“ผมก็ได้สอนน้องที่ไม่เคยเต้น B-Boy มาก่อนเลยให้เต้น B-Boy เป็น หรือบางคนที่เต้น B-Boy เป็นอยู่แล้ว เราก็จะสอนเต้นท่าอื่น อย่างเช่น Popping, HipHop แบบนี้”
  

การเต้น B-Boyนอกจากจะใช้ความแข็งแรงของร่างกายแล้ว เรื่องของอายุก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเต้น B-Boyเช่นเดียวกัน เพราะยิ่งอายุมากความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวร่างกายก็ยิ่งช้าลง แต่ถ้าเด็กที่อายุน้อยเกินไปการเต้น B-Boyก็มีผลต่อส่วนสูงเหมือนกัน
  

“จริงๆ แล้วเด็กเต้นได้หมดเลย และเด็กสมัยนี้เต้นเก่งมากด้วย สำหรับการเต้น B-Boy จะมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ถ้าเด็กอยู่ในช่วงอายุที่ยังสามารถเติบโตได้อีก พอมาเต้น B-Boy ความสูงจะไม่เพิ่มขึ้น ไม่เหมือนกับการเต้นบัลเลต์ เต้นแจ๊ซ ที่ทำให้เด็กสูงขึ้นได้ ลองสังเกตคนเต้นB-Boyไม่มีใครสูงเลยนะ ผมเห็นน้องคนหนึ่งชื่อโจโจ้ เขาอยู่ทีมอันดับ 1 ของประเทศไทย เขาเจอผมตั้งแต่เขาอยู่ ม.3 ตอนนั้นสูง 160 ซม. จนถึงตอนนี้ผ่านมา 4-5 ปีแล้ว เขาสูงเท่าเดิมเลยครับแต่ช่วงล่างตันเลยนะ เด็กสุดที่เคยเต้นกับพวกเรา ก็อายุประมาณ6 ขวบ ออกแนวเด็กซ่าๆ หน่อย” 
  

“ถ้าเรียนเต้น B-Boy ที่ ม.ราชภัฏจันทรเกษม ผมไม่คิดค่าเรียนเลยด้วย ถือว่ามาเต้นด้วยกัน แต่ถ้ามาให้ผมสอนเต้นฮิปฮอป วันอาทิตย์ กับกลุ่ม Vwiilz ที่ทาวน์อินทาวน์ ค่าเรียนคิดถูกนะ ชั่วโมงละ 250 บาทเองครับ ตอนนี้มีเด็กอายุ 9-10 ขวบมาเรียนกันเยอะ”
  

ถ้าใครอยากมีสุขภาพที่ดีเหมือนเต้ยก็มาออกกำลังกายด้วยการเต้น หรือจะรวมกลุ่มมาเรียนเต้นB-Boy กับเต้ยแบบตัวต่อตัวก็มากันเลย

ข้อดี 3 อย่างของการเต้น
การเต้น B-Boy เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำในเวลาว่างและเป็นสิ่งที่เต้ยรักมาก ซึ่งเขาเคยเขียนเป็นบทความให้น้องๆแฟนคลับได้อ่าน มีประโยคหนึ่งเขียนไว้ว่า “สิ่งที่ผมรักคือการเต้น ผมไม่อยากให้ชีวิตทำงานเอาสิ่งที่ผมรักออกไปจากชีวิตผม” เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่เขาไม่เคยลืมก็คือ การเต้น งานประจำกับการทำสิ่งที่รัก เมื่อมาพร้อมกันจึงต้องพยายามแบ่งเวลาให้เท่ากัน
 

“หลายเดือนที่ผ่านมา ผมยังไม่หยุดใช้ร่างกายเลยครับ ไปเต้นทุกวัน ช่วงนี้ก็จะไปซ้อมตีลังกาที่โรงยิมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เป็นกลุ่มน้องๆ นักร้องของวง Vwiilz ด้วยกัน”
 

ข้อดีของ B-Boy มี 3 สิ่งสำคัญที่เต้ยได้รับจากการเต้น หลักๆ นอกจากจะได้ของเรื่องสุขภาพที่ดีแล้ว ยังสร้างเสริมบุคลิกภาพ และที่สำคัญไม่แพ้กันอีกอย่างหนึ่งคือ การได้มิตรภาพในกลุ่มเพื่อนผู้รักการเต้น B-Boy ด้วยกัน จึงทำให้เขายิ่งรู้สึกรักและสนุกกับการทำกิจกรรมนี้ทุกครั้ง
 

นอกจากการเต้นB-Boy แล้ว หนุ่มเต้ยยังเล่นทั้งกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล ว่ายน้ำ วิ่งมาราธอน เป็นประจำอีกด้วย โดยเฉพาะการวิ่ง เขาจะใช้เวลานี้กับคุณพ่อวิ่งด้วยกันในตอนเย็น ส่วนกีฬาอื่นๆ ก็เล่นหมุนเวียนกันไปแล้วแต่เวลาว่างที่มี ด้านกีฬามวยไทย เต้ยเคยฝึกซ้อมศิลปะมวยไชยามาก่อนกับครูมวยไชยาชื่อดัง ซึ่งคนในวงการรู้จักเขาดีในชื่อว่า “ครูเต้ มวยไชยา” 
 
“ตอนนั้นผมมีครูฝึกมวยไชยาที่สุดยอดมาก อาเต้เวลาแกเตะกระสอบทรายจะดัง... ฟึ้บ กระสอบงอตามรอยที่เตะ แต่ยังอยู่กับที่ แล้วเวลาเขาเทรนด์ผม มันจะมีท่าปัดแมลงวัน จูบศอก ทัดมาลา ทั้งหมดนี้คือท่าป้องกันลูกไม้มวยไทย เขาก็ให้เราต่อยมาเรื่อยๆ เลยนะ ผมก็ลองต่อยเบาๆ ก่อน แต่พอแกปัด เราเจ็บมาก เราจะต่อยตรงไหนแกก็ป้องกันได้หมด เราทำอะไรไม่ได้เลย และยังไม่เคยโดนเขาตอบโต้เลย เพราะแค่นี้เราก็เจ็บแล้ว เราเรียนกับเขามา 3 ปี ทุกวันต้องมีรอยช้ำที่หน้าแข้ง บางทีก็ตัวเขียวกลับบ้าน”
 

“อันนี้ก็ขอฝากไว้เลยละกัน อยากให้เด็กๆ สมัยใหม่ ได้เรียนรู้ศิลปะมวยไทยไว้ แทนที่เราจะไปเรียนคาราเต้ เทควันโด หรือยูโด เรามาเรียนมวยไทยดีกว่า เพราะมันเป็นการออกกำลังกายที่ดีมาก คนที่เรียนกีฬามวยไทยจะมีความว่องไวและหุ่นฟิตมาก ฉะนั้นความแข็งแรงของร่างกายไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวว่าจะเล็กหรือใหญ่ แต่มันขึ้นอยู่กับการฝึกฝนมากกว่า”

ความสุขที่หาได้ไม่ยาก
เต้ยเป็นคนยิ้มง่าย มองโลกในแง่ดี ใครได้อยู่ใกล้ก็จะได้ยินเสียงหัวเราะอยู่ตลอดเวลา เขาบอกว่า “เวลาเจอคนก็อยากคุยแล้ว (หัวเราะ) ผมไม่ใช่คนตลก แต่อย่างน้อยเห็นคนมีรอยยิ้มก็มีความสุขแล้ว” นี่เป็นอีกหนึ่งมุมที่สดใสบนโลกของเต้ย
 

“ผมคิดว่างานที่เราทำอยู่คือ งานด้านบันเทิง พี่เป้-วิศวะ เขาพูดประโยคนี้กับผม และผมจำได้เสมอเลย เขาบอกว่า งานที่เราทำ คืองานบันเทิง เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเครียด มันก็เครียดเกี่ยวกับเรื่องบันเทิง แล้วเราจะเครียดไปทำไม เราก็จะจำคำนี้มาใช้อยู่เสมอ”
 

บางปัญหาไม่ว่าจะเป็นทะเลาะกับเพื่อน ทะเลาะกับเจ้านาย แฟนไม่เข้าใจ รถโดนขูด เต้ยมองว่า “สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหายิบย่อยมาก มันไม่ใช่ The End of the World บางทีเราควรมองผ่านไปบ้าง อย่าใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากเกินไป บางครั้งสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราปวดหัวมากเลยนะ การคิดเล็กคิดน้อยแล้วมาผูกกันเองในหัว อย่างนี้มันไม่ดีเลย ควรมองโลกในแง่บวกดีกว่า”
 

“การมีสุขภาพที่ดี เราควรเริ่มจากตัวเราเองก่อนนะ เรื่องของการออกกำลังกายมันขึ้นอยู่กับตัวเราเองทั้งนั้น ถ้าเราอยากได้สุขภาพที่ดี หรือเราอยากจะเป็นอย่างไร What will you be? หรือถ้าหากคุณกินคุณไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลตัวเอง มันก็ทำให้เกิดโรคอ้วน You are what you eat มันก็เป็นเหตุผลง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเราเอง”


 
 
 
 
 

ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ภาพโดย อดิศร ฉาบสูงเนิน








กำลังโหลดความคิดเห็น