ถ้าพูดถึงวงการการศึกษาไทยในช่วงนี้ ก็คงไม่มีข่าวอะไรเป็นทีเด็ดสร้างกระแสร้อนไปกว่า เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คิดนอกกรอบออกมาดังๆ ในการดึงแปะเจี๊ยะขึ้นมาไว้บนโต๊ะเสียเลย เพราะยอมรับว่าถึงอย่างไร ศธ.เองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้จริง แล้วจะเป็นอะไร หากผู้ปกครองที่มีฐานะดี จะอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดังได้โดยกระบวนการยัดเงิน หรือจะเรียกให้เพราะว่าอะไร ก็ตามแต่ที่จะสรรหา ซึ่งภายหลังก็บ่ายเบี่ยงเนื่องจากกระแสสังคมรับไม่ได้และกดดันอย่างหนาหู
‘แปะเจี๊ยะ’ และ ‘เก๋าเจี๊ยะ’ เป็นคำพูดสำเนียงจีนที่มักได้ยินคู่กันมาเสมอ และเป็นคำที่มีความหมายไม่ผิดแผกกันมากนัก ซึ่งต่างก็ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่อความสะดวกสบายในการทำการค้าในสมัยก่อน คำว่า แปะเจ๊ยะ กับ เก๋าเจี๊ยะ เดินทางข้ามทะเลมาพร้อมกับชาวจีน การจ่ายแปะเจี๊ยะ หรือเงินกินเปล่า ในสมัยก่อนชาวจีนมักจะจ่ายให้เจ้าหน้าที่ตามท่าเรือเพื่อความคล่องตัวในการนำสินค้าขึ้นมาขาย ส่วนเก๋าเจี๊ยะ ถือเป็นเงินที่จ่ายสำหรับค่าคุ้มครองก็ว่าได้ เพราะเป็นส่วนที่พ่อค้าแม่ค้าต้องตระเตรียมไว้ให้เจ้าหน้าที่ที่มักมารีดไถ เพื่อตัดปัญหารบกวนการทำมาหากิน แบบว่าปนรำคาญเล็กๆ ประมาณว่า เงินให้สุนัขมันรับประทานจะได้ไม่ต้องมายุ่งกับตูอีก ทำนองนั้นไป
กลายเป็นว่าดีเอ็นเอตัวร้ายดังกล่าวได้ฝังรากลึกในนิสัยคนไทย ยิ่งมารวมกับระบบอุปถัมภ์ของเจ้าขุนมูลนายด้วยแล้วก็ทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นจนถอนรากดึงโคนไม่ออกสักที จนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นเรื่องของ ครู กับลูกศิษย์ได้ จริงอยู่ที่ว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนเล็กๆ เพราะตัวเองก็ไม่สามารถยืดอกได้เต็มที่เมื่อคุยกันในกลุ่มก๊วน แต่ปัญหาอีกอย่างที่ต้องคิดหนักคงหนีไม่พ้นมาตรฐานการศึกษาไทยเสียมากกว่า
สมาคม ‘แปะเจี๊ยะ’ เปิดทำการในโรงเรียนอย่างไร
เงินแปะเจี๊ยะมีชื่อเรียกให้สวยหรูอยู่หลายชื่อ ตามแต่โรงเรียนจะสรรหาคำให้ไพเราะเสนาะหูแต่ขบวนการเรียกรับเงินนั้นไม่ได้มีหลายรูปแบบตามไปด้วยกัน โดยประเภทแรกที่รู้จักกันดีก็คือ ‘เงินบนโต๊ะ’ หรือ ‘เงินอุดหนุนการศึกษา’ หรือจะเรียกว่าเงินสำหรับผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียนก็ได้ ซึ่งเงินที่ได้นี้ถือว่าเป็นเงินสะอาดและถูกกฎหมาย ในสมัยก่อนสมาคมศิษย์เก่าจะเป็นผู้ออกใบเสร็จ เงินในลักษณะนี้หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะเข้ามาเป็นเงินของโรงเรียน โดยเรียกว่า ‘เงินนอกงบประมาณ’ แต่หากเงินไม่เข้ากับทางโรงเรียนจริงๆ ก็จะเข้าไปอยู่ในกระเป๋าผู้บริหาร เราจึงเห็นได้ว่าในโรงเรียนใหญ่ๆ จะมีการวิ่งเต้นเพื่อเข้าเป็นผู้อำนวยการกัน
โดยทั่วไปแล้ว บรรดาผู้ปกครองและเด็กๆ จะรู้จักวิธีข้างต้นเป็นอย่างดี เพราะระบบนี้ทางโรงเรียนมักจะแจ้งไว้แล้ว เช่น 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กที่มีบ้านใกล้โรงเรียนไม่เกิน 500 เมตร 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กที่อยู่ไกลออกไป แต่อยู่ในพื้นที่บริการ ซึ่งต้องจับสลากเข้า อีก 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กที่ต้องการสอบเข้า และอีก 5 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี กีฬา ส่วนที่เหลืออีก 5 เปอร์เซ็นต์นั้น บรรดาโรงเรียนรัฐทั้งหลายก็มักมีไว้เพื่อเปิดช่องให้เศรษฐีใจบุญได้สร้างกุศลต่อโรงเรียน ด้วยการบริจาคเงินเข้ามา ซึ่งจะอัตราเท่าใดก็แล้วแต่ทางโรงเรียนจะกำหนด
แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า เด็กที่เข้าไปในรูปแบบหลังนี้โดยเฉพาะกับโรงเรียนใหญ่ๆ ที่มีการแข่งขันกันสูง ในช่วงแรกบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านการเรียนบ้าง ฉะนั้นบางโรงก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเปิดเป็นห้องพิเศษสำหรับรองรับเด็กๆ เหล่านี้เป็นการเฉพาะเลยก็ยังมี ซึ่งประเด็นนี้ รัตนะ บัวสนธ์ ประธานหลักสูตรปริญญาเอก วิจัยและประเมินผล มหาวิทยาลัยนเรศวร ฐานะผู้คร่ำหวอดการทำวิจัยเรื่องคคอร์รัปชันได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า บางแห่งเด็กที่อยู่ในห้อง1-2 นั้นอาจจะไม่ใช่เด็กเรียนเก่งห้องคิงหรือควีนก็เป็นได้ แต่อาจจะเป็นห้องเด็กฝาก ส่วนห้องเด็กเก่งอาจโดยร่นไปอยู่ห้อง 7-8 แทนเพื่อลดการถูกเพ่งเล็ง
อีกรูปแบบหนึ่งที่ถือว่าฮือฮาไม่แพ้กัน ก็คือ ‘เงินใต้โต๊ะ’ ซึ่งแบบนี้ส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในสารบบของเกณฑ์รับการศึกษา ไม่มีการออกใบเสร็จรับเงิน เรียกกันได้ตามแต่ที่ใจของผู้รับและผู้ให้จะพึงพอใจกัน โดยวิธีนี้จะเกิดขึ้นแก่โรงเรียนเอกชนดังๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนการรับนักเรียนเหมือนกับโรงเรียนรัฐ โดยรูปแบบที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คือผู้ปกครองพุ่งเป้าไปที่คนใดคนหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลพอจะผลักดันให้ลูกหลานตัวเองได้เข้าโรงเรียน หรือไม่ก็เป็นบุคลากรอาจารย์อาวุโส โดยฝ่ายผู้รับจะเป็นผู้กำหนดตัวเลขว่าอยากได้สักเท่าไหร่ ซึ่งจำนวนก็มีตั้งแต่หลักหมื่น หลักแสน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นผลที่ตามมาก็อาจจะมีทั้งสำเร็จ คือเด็กได้เข้าเรียนตามที่ประสงค์เอาไว้ หรือไม่ก็ผิดหวัง เพราะอาจจะต้องตกเป็นเหยื่อของบรรดามิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้
5 ลักษณะโรงเรียนฮิตติดโผ ‘แปะเจี๊ยะ’ แพง
โรงเรียนแบบไหนกันหนอ ที่จะล่อตาล่อใจบรรดาผู้ปกครองจนต้องควักกระเป๋าหนักๆ เพื่อให้ลูกบังเกิดเกล้าได้เข้าเรียน หลักๆ เลยก็ต้องมีชื่อเสียงโด่งดัง มีนักเรียนเรียนเยอะ มีแต่คนเก่งๆ แย่งกันเข้าเรียน และ (คิดว่า) ต้องมีอาจารย์เก่งๆ เข้ามาสอนเต็มไปหมด ซึ่งหากจะบ่งชี้ออกมาเป็นประเภทๆ ก็คงจะสรุปได้ดังนี้
1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะเป็นโรงเรียนที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ก็ถูกเรียกตัวมาจากคณะต่างๆ เช่น ครุศาสตร์ หรือไม่ก็ศึกษาศาสตร์ ดังนั้นคุณวุฒิของผู้สอนก็จะมีทั้งรองศาสตราจารย์ หรือไม่ก็ปริญญาเอกจากเมืองนอกก็มี และที่เห็นเด่นชัดก็เรื่องหลักสูตรเพราะโรงเรียนสาธิตนั้นเปรียบเสมือนหนทดลองของคณะดังกล่าว ก่อนที่จะผลิตบุคลากรเก่งๆ ออกสู่สังคม จึงมักจะมีเนื้อหาล้ำหน้ากว่าที่อื่นเป็นไหนๆ และเมื่อพิจารณาในเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการศึกษาก็ถือว่าครบครันมาก เอาง่ายๆ อย่างเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็มีข่าวมีคราวว่าโรงเรียนสาธิตบางแห่งเรียกค่าแปะเจี๊ยะมากถึง 100,000-400,000 บาท หรือบางที่แย่งกันเข้า ก็ถือโอกาสเรียกเงินกันถึงหลักล้านทีเดียว
2. โรงเรียนรัฐขนาด 'บิ๊กเนม' เชื่อเถอะว่า หากพูดถึงชื่อโรงเรียนในเมืองไทย มีไม่กี่ตัวเลือกที่เด็กไทย (โดยเฉพาะที่อยู่ในเมือง) จะนึกออกเป็นลำดับแรกๆ เท่าที่เห็นก็อย่างเตรียมอุดมศึกษา บดินทรเดชา สวนกุหลาบวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งบรรดาผู้ปกครองแต่ละคนก็หมายมั่นให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนพวกนี้กันได้ เพราะนอกจากสายสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องจะแน่นปึ้ก (เห็นได้จากงานเลี้ยงโรงเรียนที่ถูกพูดถึงบ่อย) ผู้ปกครองโดยมากยังเชื่อว่า คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนพวกนี้ยังโดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะรวมครูเก่งๆ ไว้มากมาย จนบางโรงเรียนต้องผลิตหนังสือเรียนเป็นของตัวเองแล้ว เด็กๆ ที่เข้าเรียนยังจัดเป็นหัวกะทิ
ฉะนั้นจึงเป็นเครื่องรับประกันได้อย่างดีเยี่ยมว่า หากจบการศึกษาจากที่นี้ได้ อนาคตจะต้องสดใสอย่างแน่นอน แต่ของแบบนี้บางครั้งเมื่อเข้าด้วยโชควาสนาหรือความสามารถไม่ได้ ก็ต้องใช้เงินนี่แหละเป็นใบเบิกทาง (ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ได้หมายความถึง 4-5 โรงเรียนที่เอ่ยไว้ข้างต้น) โดยจากข่าวคราวที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนพวกนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าโรงเรียนสาธิตนิดหนึ่ง หรือประมาณ 500,000-600,000 บาทเท่านั้น
3. โรงเรียนเอกชนชื่อดังมากๆ ซึ่งส่วนมากโรงเรียนพวกนี้จะเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่และเติบโตมาจากทางศาสนาคริสต์ หรือไม่ก็เป็นโรงเรียนที่คนใหญ่คนโตของบ้านเมืองเคยสร้างเคยอุปถัมภ์ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่พอช่วงเปลี่ยนผ่านแล้วกลับไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนพวกนี้ก็จะถือว่าภาพลักษณ์ไม่แตกต่างจากโรงเรียนบิ๊กเนมเท่าใดนัก แต่ความต่างที่เห็นได้ชัดอยู่อย่างก็คือส่วนใหญ่จะไม่ได้เปิดสอนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาอย่างโรงเรียนรัฐ แต่จะสอนตั้งแต่ประถมศึกษามาเลย เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มองการณ์ไกล ก็อาจจะคิดว่าส่งลูกเรียนตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นดีกว่าเป็นไหนๆ แถมเมื่อโตขึ้นก็ไม่ต้องคิดจะย้ายไปไหน เพราะที่เรียนอยู่นั้นก็ดีทั้งชื่อเสียงโรงเรียน และดีทั้งคุณภาพชีวิต แต่อย่างว่าโรงเรียนพวกนี้มักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก ปีหนึ่งๆจ่ายกันเป็นแสนเลยก็มี ส่วนค่าแปะเจี๊ยะนั้น ก็สนนราคาเลาๆ กับแบบที่ 2 นั่นเอง
4. โรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงรองลงมา การจ่ายแปะเจี๊ยะให้โรงเรียนแบบนี้ก็ถือว่าได้รับความนิยมไม่แพ้กันเลย เพราะแม้จะไม่ต้องเรียนโรงเรียนใหญ่แบบมโหฬาร แต่พอคนฟังชื่อโรงเรียนแล้วต้องรู้สึกไม่ขี้เหร่อย่างแน่นอน แถมบางครั้งโรงเรียนพวกนี้ยังมีขนาดจำนวนนักเรียนเยอะกว่าโรงเรียนชื่อดังสุดๆ เสียอีก ซึ่งถ้าตีเป็นเกรด แบบชื่อดังๆ อาจจะได้เกรด A ส่วนโรงเรียนแบบนี้ก็คงเป็น B+ ดังนั้นแม้เรื่องคุณภาพการศึกษาจะไม่ขึ้นชื่อ แต่ก็อยู่ในระดับที่วางใจได้ เรื่องเงินอุดหนุนนั้นก็ถือว่าลดหลั่นลงมา ซึ่งว่ากันว่า จ่ายแค่หลักหมื่นปลายๆ - แสนต้นๆ ก็ไม่มีปัญหาแล้ว
5. โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนแบบนี้ถือว่าเป็นขวัญใจชาวภูธรเลยทีเดียว ถึงแม้คุณภาพการศึกษาจะไม่เท่าใน กทม. แต่ถ้าเทียบกับโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดแล้วถือว่ากินขาด ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองในต่างจังหวัดถึงอยากจะผลักดันบุตรหลานให้เข้าเรียนที่โรงเรียนเหล่านี้ให้จงได้ เพราะโอกาสที่จะเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็จะมีมากกว่า ด้วยเหตุนี้เอง ในแต่ละปีจึงมีเด็กนับหมื่นในจังหวัดต่อคิวหรือยื่นสอบโรงเรียนประเภทนี้กันอย่างจ้าละหวั่น ส่วนที่พลาดหวัง ทำไม่ได้ก็อาจจะใช้ตัวช่วยด้วยการควักเงินสัก 20,000-50,000 บาทจ่ายให้ไป แค่นี้ก็ถือว่าต่อยอดได้มากแล้ว
2 สปอนเซอร์ใหญ่ ในมุมที่ต่าง
คงต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องแปะเจี๊ยะที่เกิดขึ้น มาจากความหวังดีของผู้ปกครองเป็นส่วนใหญ่ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ทุกคนล้วนต้องการเลือกสรรสิ่งดีๆ ให้ลูก เช่นเดียวกับ พรเทพ (ขอสงวนนามสกุล) เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งย่านตลิ่งชัน ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนราชินีบน โรงเรียนหญิงล้วนชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยว่า ต้องการให้ลูกสาวได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมีสภาวะแวดล้อมที่ดี ขณะเดียวกันโรงเรียนราชินีบนก็เป็นโรงเรียนหนึ่งที่สั่งสมชื่อเสียงมายาวนาน เมื่อพิจารณาถี่ถ้วนแล้วจึงส่งลูกเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถม รวมถึงยินดีบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษากว่าแสนบาทเพื่อเป็นใบเบิกทาง
“เราเห็นเด็กนักเรียนโรงเรียนที่นี่ดี มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เมื่อลูกเราเข้าไปสัมผัสแล้วชอบ และความที่เรามีลูกสาว ก็คิดว่าน่าจะเป็นสังคมที่ดีกับตัวเขา พออยากให้ลูกเรียนที่นี่ก็เลยไปถามคนที่มีลูกเรียนอยู่ว่าต้องทำอย่างไรกันบ้าง ซึ่งนอกจากการสอบเข้าแล้วดูเหมือนว่าการบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษาแก่ทางโรงเรียนจะเป็นช่องทางพิเศษที่ได้รับความนิยม”
“มันเหมือนเป็นธรรมเนียมที่ทำสืบต่อกันมา เราต้องทำจดหมายของเราเองอย่างเป็นทางการเลยว่า ข้าพเจ้าผู้ปกครองของเด็กคนนี้มีความประสงค์จะบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษาเป็นเงินจำนวนเงินเท่าไหร่ หากบุตรได้รับการคัดเลือกเข้าเรียน แล้วก็ใส่ซองไปยื่น คือตรงนี้เขาไม่ได้บอกกัน แต่เราอยากให้ลูกเข้าเรียนก็ต้องถามเอา ตอนนั้นลูกผมเข้าเรียน ป.1 (ปีการศึกษา 2546) เขารับแค่ 30 คนเอง ผมจ่ายไป 150,000 บาท มันเป็นเรื่องศักยภาพความพร้อมในการดูแลลูกเรา”
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนก็จะออกเกียรติบัตรแสดงความขอบคุณในการบริจาคทรัพย์สนับสนุนการศึกษา พรเทพทิ้งท้ายว่า การที่รัฐจะผลักดัน แปะเจี๊ยะ ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและถูกต้อง นั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะน่าจะเกิดความโปร่งใสกับเงินจำนวนนั้นๆ ยิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน หนึ่งในผู้ปกครองที่ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนชื่อดังใน กทม.ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนที่อาจต้องอาศัยเงินแปะเจี๊ยะอุดหนุนโรงเรียนแต่กลับส่งเข้าเรียนโรงเรียนในจังหวัดแทนอย่าง ดรุณี เทพบำรุง ได้ให้เหตุผลว่า สาเหตุนั้นเป็นเพราะหนึ่งคืออยู่ต่างจังหวัด การที่จะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในขณะที่ยังเด็กอยู่นั้น ลูกเองยังอาจมีวุฒิภาวะไม่พอที่จะใช้ชีวิตลำพัง อีกทั้งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งลูกให้เข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ ที่มีเพียงไม่กี่แห่งเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวกันอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพราะยังต้องเสียสุขภาพกับมลพิษในเมืองอีกด้วย
“เราก็ไม่อยากไปส่งเสริมค่านิยมของการให้แปะเจี๊ยะ น่าจะมีการจัดการกับเรื่องนี้ได้แล้ว โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนต่างจังหวัดให้เท่าเทียมกันให้หมด”
ทั้งนี้ ดรุณีก็เชื่อมั่นว่าโรงเรียนประจำจังหวัดที่ส่งให้ลูกเรียนนั้นมีคุณภาพการเรียนการสอนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรงเรียนดังในกรุงเทพมหานคร และสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคมได้เช่นกัน
“คือรู้ว่าการเรียนการสอนมันอาจจะดี แต่โรงเรียนในต่างจังหวัดก็สามารถสอนให้คนเก่งได้ อีกอย่างเราไม่ได้ต้องการลูกที่เก่งที่สุด เราต้องการลูกที่เป็นคนดีมากกว่า”
ทางเลือกที่ไม่รอด หรือทางรอดแต่ไม่เลือก
เมื่อแปะเจี๊ยะสามารถเข้ากันได้ดีกับระบบอุปถัมภ์ของเมืองไทย ทำให้เกิดปัญหาการติดสินบนอยู่ในทุกหัวระแหงของเมืองไทย ลามมาถึงระบบการศึกษา กลายเป็นว่าถ้าคุณมีลูกและอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง คุณก็ต้องยอมจ่ายเงินให้แก่โรงเรียน เพราะฉะนั้นในฐานะผู้เชี่ยวชาญ รัตนะจึงเสนอทางแก้ไว้ว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถกำจัดปัญหาแปะเจี๊ยะออกไปได้ ก็ต้องทำระบบโควตาให้ชัดเจนว่าโรงเรียนต้องการเด็กเก่งจำนวนเท่านี้ เด็กอุปถัมภ์เท่านี้ มีการบริหารการเงินอย่างชัดเจน โปร่งใส แต่สิ่งที่เร่งด่วนเหนือเรื่องอื่นๆ เลยก็คือ ต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
“โรงเรียนที่ไม่ดัง เรื่องแปะเจี๊ยะไม่มี แต่จะมีปัญหาเรื่องเด็กขาด เด็กไม่พอเรียน กลายเป็นปัญหา ว่าไปกระจุกกันอยู่ที่โรงเรียนใหญ่ๆ วัฒนธรรมแปะเจี๊ยะมันยังคงอยู่ ไม่มีวันหมด และอยู่ในวงการราชการ เป็นช่องทางที่นำไปสู่การทุจริตเรื่องใหญ่ๆ ตามมา หมายความว่าหากคุณกล้าคอร์รัปชั่นในเรื่องเล็กๆ นี้ได้ เรื่องใหญ่ๆ ต่อไปคุณก็กล้า หากเด็กรับรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ มันบ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง
ประเด็นปัญหาที่รุนแรงจริงๆ อยู่ที่ทางโรงเรียนเมื่อรับเงินมาแล้ว เอาเงินไปทำอะไร ตรงนี้ถ้ามีการบริหารอย่างโปร่งใส มันก็จะมีประโยชน์มากกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าควรสนับสนุน
อยากฝากถึงผู้ปกครองว่า ความสำเร็จในชีวิตของคน ไม่ได้อยู่ที่การเข้าโรงเรียนดังๆ เพียงอย่างเดียว เด็กเก่งไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เราจะพบว่าเด็กเก่งๆ เหล่านี้อยู่ในสังคมอย่างลำบาก สังคมที่มุ่งแต่ความเป็นเลิศของชนชั้นนำ ทำให้เอาเปรียบสังคมที่ด้อยโอกาสกว่า ค่านิยมตรงนี้ เราต้องรณรงค์กันอย่างจริงจัง”
กลายเป็นคำถามที่ว่า ตกลงจะยอมให้การติดสินบนกลายเป็นเรื่องปกติของชนชาติเราแล้วใช่หรือไม่ ข้อสรุปอาจไม่ได้มาจากใครผู้ใดผู้หนึ่ง แต่กลับเป็นที่ตัวเราทุกคนนั่นเองว่าจะยอมรับกันแล้วหรือ ที่ยอมให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่นับถือคนจากจำนวนเงินที่มี ไม่ใช่เรื่องของความดีที่กระทำ...
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK