xs
xsm
sm
md
lg

‘ไทย’ ผู้นำการแพทย์ดั้งเดิมอาเซียน มิติใหม่ทางการแพทย์ทางเลือกระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความป่วยไข้ เป็นสิ่งที่ไม่มีมนุษย์คนไหนปรารถนา กระนั้นก็ยังไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้พ้น ดังนั้นเมื่อความป่วยไข้เกิดขึ้น ก็ย่อมต้องมีการรักษาเยียวยาตามมา ถ้าเป็นในสมัยปัจจุบันถ้าใครสักคนป่วย สิ่งแรกที่ทำก็คือการไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อทำการตรวจรักษาตามวิถีของการแพทย์แผนตะวันตกอันทันสมัย

แต่ในสมัยโบราณครั้งที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังเข้ามาไม่ถึงประเทศไทยเวลาที่เกิดความป่วยไข้ขึ้น คนในบ้านเราก็มีวิธีการรักษาเยียวยาอาการเหล่านั้นอยู่เหมือนกัน บ้างก็รักษาด้วยยาสมุนไพร บ้างก็รักษาด้วยพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อของคนในสังคม

ซึ่งภูมิปัญญาในการรักษาโรคเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็ได้ตกทอดมาสู่ปัจจุบันและถูกเรียกรวมๆว่า 'แพทย์แผนโบราณ' และในบางครั้งก็เรียกกันว่า ‘แพทย์แผนไทย’ หรือไม่ก็ ‘แพทย์แผนดั้งเดิม’แม้ว่าในปัจจุบันการแพทย์แผนโบราณจะอยู่ในสถานะของ 'ทางเลือก' แต่ก็นับว่ามีความก้าวหน้าไปจากเดิมมากเพราะในช่วง 20 กว่าปีผ่านมา ประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยได้มีการจัดตั้งศูนย์การประสานงานการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2532

และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีแผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ‘ผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมในภูมิภาคอาเซียน’ ทั้งนี้เพื่อตอบรับกับนโยบายการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่จะมาถึงในปี 2558

แพทย์แผนไทยจะก้าวไปเป็นผู้นำอาเซียน
 
แม้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนจะมีการแพทย์ดั้งเดิมของตนเองอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศหนุนไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมนั้น ก็เนื่องมาจากไทยเป็นหนึ่งประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรสมุนไพรและมีความพร้อมที่จะเดินหน้าเรื่องการแพทย์ดั้งเดิมได้อย่างเต็มสูบ ซึ่งในประเด็นนี้ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ความเห็นว่า

“การแพทย์แผนไทยของเราก็ได้รับการยอมรับมาก อย่างฝรั่งมังค่าเขาก็บินมาเรียนการนวดแผนไทยเป็นเครดิตส่วนหนึ่งของการเรียนสาขาแพทยศาสตร์ พยาบาล แล้วก็กายภาพบำบัด ซึ่งเขาถือเป็นเครดิตประกอบกับการได้วุฒิของเขา สะท้อนว่าเขาให้ความเชื่อถือ ส่วนทางด้านสมุนไพรนั้น เราสามารถก้าวสู่ระดับอาเซียนได้ เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านสมุนไพรและมีความก้าวหน้าในเชิงอุตสาหกรรมยา ที่สำคัญคือเรามีองค์ความรู้ที่เชื่อมต่อทั้งตัวบุคคลและความสนับสนุนจากเครือข่ายภาครัฐ”

พญ.วิลาวัณย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ขั้นตอนต่อไปก็คือการวิจัยให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน อธิบายได้ว่าสรรพคุณนั้นเป็นจริงอย่างไร มีการพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจังหวะก้าวตรงนี้ จะเกี่ยวพันกับหลายๆ ฝ่าย

“กระบวนการทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่เฉพาะกรมพัฒนาแพทย์แผนไทย แต่รวมไปถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การอาหารและยา หรือว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในคณะแพทยศาสตร์ ในคณะเภสัชศาสตร์ จะเชื่อมโยงกันหมด จนถึงกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ส่วนเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเรื่องการแพทย์ดั้งเดิมของอาเซียนนั้น พญ.วิลาวัณย์ กล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นในประเทศเราเองเสียก่อน ประกอบกับสร้างองค์ความรู้ให้พัฒนาไปตามลำดับ เมื่อถึงจุดที่พร้อมแล้วนานาประเทศก็จะเล็งเห็นและเข้ามาเชื่อมต่อพร้อมทั้งเรียนรู้จากเมืองไทยเอง ซึ่งจะสร้างให้เป็นผู้นำขึ้นมาโดยปริยาย

ข้างนอกสุกใสแต่ข้างในอาจเป็นโพรง

ถ้าความเป็นผู้นำ หมายถึง การมีดีมากกว่า, พัฒนาไปได้ไกลกว่า ก็คงต้องย้อนมาดูกันว่าวงการแพทย์แผนไทยของเราเข้าสู่เกณฑ์ที่ว่านั้นหรือยัง

“ถ้ามองแพทย์พื้นบ้านอย่างของเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ พวกนี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเท่ากับของไทย ซึ่งตอนนี้เราก็มีความพร้อมมากขึ้น มีระบบการเรียนการสอนที่จัดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ตอนนี้ก็มีร่วม 20 แห่งได้ ความรู้พื้นฐานการแพทย์แผนไทยเรามีเยอะพอสมควรนะ”

นพ.ลือชา วนรัตน์ คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าการแพทย์แผนไทยนั้นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนามากว่า 30 ปีแล้ว ทั้งยังมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ฉะนั้นการที่จะบอกว่าแพทย์แผนไทยเป็นผู้นำของศาสตร์แพทย์พื้นบ้านในแถบอาเซียนก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปนัก

แต่ในมุมมองของ นพ.สมหมาย ทองประเสิรฐ แพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร กลับมองว่า แม้สังคมภายนอกไม่ว่าจะในวงวิชาการไทย หรือในระดับอาเซียนจะมีการยอมรับเรื่องของการแพทย์แผนไทยหรือแผนดั้งเดิมมากขึ้น แต่ในหมู่แพทย์แผนปัจจุบันตามโรงพยาบาลนั้น ก็ยังคงปฏิเสธการรักษาแบบแผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

“ชาวบ้านเขาสนใจเพิ่มขึ้นกันเยอะ แต่หมอตามโรงพยาบาลบ้านเรายังต่อต้านกันอยู่ ถ้าลองไปหาหมอตามโรงพยาบาลแล้วถามว่า กินยาสมุนไพรได้ไหม เขาจะด่าเอาเลย หลายรายมารักษามะเร็งเต้านมกับผม แล้วกลับไปที่โรงพยาบาลหมอไม่ยอมอัลตราซาวนด์ให้ เพราะมารักษากับหมอแผนไทย อย่างนี้มันเป็นการต่อต้านกันน่าดูเลย”

ซึ่งในความเห็นของ นพ.สมหมาย การที่การแพทย์แผนไทยหรือยาสมุนไพรจะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้นั้น มันน่าจะเริ่มจากการที่แพทย์แผนปัจจุบันในไทยยอมรับและเชื่อถือเองเสียก่อน เพราะถึงแม้ภาพลักษณ์จะดูดีในสายตาเพื่อนบ้านมากแค่ไหนแต่ถ้าข้างในยังคงเละเทะ มันก็คงไม่สามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้อย่างมั่นคง

“มียุคหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขมีการสั่งให้ทุกโรงพยาบาลปลูกพืชสมุนไพร เดี๋ยวนี้แปลงสมุนไพรพวกนั้นหายไปหมดแล้ว ปลูกไปก็เท่านั้นเพราะหมอในโรงพยาบาลเขาไม่ใช้”

คนไทยเองก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง...

ไม่ใช่แต่บรรดาหมอๆ เท่านั้นที่มีความเห็นไม่ตรงกัน คนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ก็มีความเห็นแตกเป็นสองฝ่ายเช่นกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งนั้นเชื่อมั่นเต็มที่ว่าแพทย์แผนดั้งเดิมของไทยนั้นเจ๋งสุดยอด แต่ในขณะที่อีกฝ่ายก็มีความเห็นไปในทำนองแบ่งรับแบ่งสู้

แต่กับ ชุติมา ผลาจันทร์ พนักงานออฟฟิศแห่งหนึ่ง เธอเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยและเรื่องสมุนไพรต่างๆ เป็นอย่างดี

“ไทยเป็นผู้นำอาเซียนได้ เพราะไทยมีสมุนไพรเป็นของไทยเองเยอะ หากส่งเสริมและให้ความสำคัญมากๆ กว่านี้ ก็จะสามารถผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านยาสมุนไพรได้ไม่ยากเพราะยาพวกนี้มันดีจริงๆ และคนต่างจังหวัดก็นิยมที่จะกินหรือใช้เพื่อรักษากันมาก”

นอกจากนั้นชุติมา ก็ยังเห็นว่ายาสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณมีความจำเป็นสำหรับคนไทย ซึ่งที่บ้านของตนก็มียายที่ทำยาสมุนไพรขายและใช้เอง ซึ่งตนก็เคยรักษาหรือใช้ยาสมุนไพรเหล่านี้ของยายมาแล้ว

“ยายตำยาสมุนไพรขายและกินเองด้วย ยายไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ แม้ตอนนี้ยายจะแก่มากแต่ความดันและทุกอย่างก็เป็นปกติ เพราะกินยาสมุนไพรตำเองทั้งสิ้น ส่วนเราก็เคยกินมาแล้ว เคยกินสมุนไพรตำของยายแก้เมารถ และเมื่อตอนเอารถไปล้มเป็นแผลก็ได้ยาของยายรักษาแผลให้หาย ตอนนี้คนมาซื้อกันเยอะแยะเลยที่บ้านยาย เราจึงอยากให้มีการส่งเสริมเพื่อให้คนหันมาใช้สมุนไพรไทยเยอะๆ และควรนำมาใช้ในโรงพยาบาลด้วย แต่ก็นะ คนไทยเองยังไม่ค่อยเชื่อในของอะไรที่ไทยทำเองไม่มั่นใจ ถ้าไทยไม่เชื่ออย่างนี้จะไปให้ใครเชื่อได้ยังไง ยังไงคนไทยก็คงต้องพึ่งสมุนไพรไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว”

ส่วน ลัดดาวัลย์ ศรีเจริญ ล่ามสาว มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกว่า มันต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน ไม่เหมือนกับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันที่ค่อนข้างจะเห็นผลได้รวดเร็ว

..........

คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย ที่จะมีการรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายของการแพทย์ดั้งเดิมของทั้งภูมิภาคอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน และจะดีกว่านั้นถ้าประเทศไทยอยู่ในฐานะของตัวตั้งตัวตี
และถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาวางเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมของกลุ่มประเทศอาเซียนในปี พ.ศ.2558 แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาข้างต้น ทำให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ดั้งเดิม และมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเหนือกว่าใคร แต่วงการแพทย์ในบ้านเราทั้งแผนปัจจุบันและแผนดั้งเดิม ยังคงขาดซึ่งความเป็นเอกภาพ และมีการขัดแข้งขัดขากันเองอยู่ไม่ใช่น้อย
ดังนั้น ถ้าการแพทย์แผนดั้งเดิมของไทยจะเดินไปไม่ถึงจุดที่เรียกว่าผู้นำก็คงไม่ใช่จากปัจจัยอะไร นอกเสียจากปัจจัยที่เป็นอุปสรรคภายในประเทศของเราเอง.
 

>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพCLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น