xs
xsm
sm
md
lg

10 ล้าน ต่อ 1 ความตาย เยียวยาม็อบเสื้อแดง…?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ส.ส.คนสุดท้องของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 อย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งควบตำแหน่งแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ประกาศศักดาในฐานะของผู้นำทันทีว่า จะขอเรียกร้องเงินเยียวยาให้ผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมที่แยกคอกวันและราชประสงค์ เมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 จำนวน 91 ศพ ศพละ 10 ล้านบาท ซึ่งงานนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างอื้ออึงจากมหาชนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็น ธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. หรือแม้แต่อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง

แถมท่านนายกฯ หญิงอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะไม่มีท่าทีตอบรับ แต่ก็ไม่มีท่าทีปฏิเสธ โดยบอกแก่ผู้สื่อข่าวว่างานนี้ต้องขอดูงบประมาณก่อนว่าจะเพียงพอหรือไม่ เจอมุกนี้เข้าไป ทำเอาชาวบ้านชาวเมืองเกิดความสงสัยกันถ้วนหน้า ถึงความเหมาะสม เพราะอย่างที่ทราบก็คือ ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังไม่มีความชัดเจน ข้อเท็จจริงใดๆ ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้กระจ่าง...
ดังนั้น การที่จะมาเร่งรัดเอาเงินเยียวยาเช่นนี้ สมควรแค่ไหน และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ก็คือเงินจะนำมาชดเชยจะมาจากที่ไหน ซึ่งคงไม่ได้มาจากกระเป๋าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยประกาศว่าหากคนเสื้อแดงตายจะให้ศพละ 1 ล้านบาทเป็นแน่แท้ แต่น่าจะมาจากเงินภาษีของราษฎรเสียมากกว่า

ด้วยความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายส่วน การพิจารณาเรื่องนี้จึงไม่ใช่ของเล่นๆ ที่ผู้มีอำนาจนึกอยากจะให้ก็ให้ นึกอยากจะจ่ายก็จ่ายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในสังคมเช่นนี้

ทฤษฎีเยียวยาและความเป็นจริง
 
แน่นอนปัจจัยสำคัญเรื่องแรกที่สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้คงต้องใจเย็นกว่านี้ ก็เป็นเพราะนับตั้งแต่เกิดเรื่องเกิดราวมา มีคนเจ็บคนตายมากมาย ก็เคยมีการเยียวยาด้วยเงินจำนวนหนึ่งไปแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือเงินที่มาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยเซ็นงบสั่งจ่ายในการเยียวยาไปแล้ว 153 ล้านบาท สำหรับผู้ได้รับผลกระทบกว่า3,061 ราย แบ่งเป็น
- ญาติประชาชนผู้เสียชีวิตได้รับเงินรายละ 400,000 บาท
- ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ 50,000 บาท
- ลูกจ้างที่ตกงานประกันสังคมจ่าย 7,500 บาท (ไม่เกิน6เดือน)
- ผู้ค้าแผงลอย-ลูกจ้างไม่มีประกัน รัฐจะเป็นผู้จ่าย รายละ7,500 บาท (ไม่เกิน6เดือน)
โดยยังไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้กระทำเลยทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อทันทีที่มีผู้ปลุกผีเรื่องนี้ให้คืนกลับมา ประเด็นร้อนๆ นี้จึงติดอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมอย่างไม่ยากนัก

อย่างการที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้อธิบายเอาไว้ว่า นี่คือครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถึงแม้ที่ผ่านมา สังคมไทยจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงกรณีต่างๆ ที่ประชาชนถูกละเมิด ทั้งกรณีกรือเซะหรือตากใบ แต่ก็แทบจะไม่มีการพูดถึงในเรื่องนี้เลย เพราะไม่เคยมีความจริงปรากฏออกมาอย่างชัดเจน และยังไม่มีคณะทำงานที่เข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง คืออาจจะมีอยู่ แต่ไม่เคยได้รับปฏิกิริยาตอบสนองจากรัฐบาล ฉะนั้นหากมองในแง่ดี นี่ก็เป็นนิมิตหมายที่สังคมจะเริ่มพูดเรื่องการชดเชยเยียวยาขึ้นมาจริงๆ จังๆ เป็นรูปธรรม

แต่ปัญหาก็คือ การจะให้เงินให้ทองแก่ผู้ได้รับผลกระทบไปเลยทันที ก็ยังกระไรอยู่ ยิ่งเป็นจำนวนมากถึง 10 ล้านก็ยิ่งน่าจะถูกถกเถียงกันในสังคมก่อน แน่นอนว่าการเยียวยาเบื้องต้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าสวัสดิการต่างๆ นั้นถือเป็นเรื่องที่รัฐสมควรทำแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น ก็คือเรื่องหลังจากนั้นอย่างการพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า ใครเป็นผู้ถูก-ผู้ผิด เพราะเมื่อมีการพิสูจน์แล้ว การเยียวยาที่เกิดขึ้นจะได้เป็นไปอย่างชอบธรรมและสมควร

"เรื่องพวกนี้ต้องมีกระบวนการทำงานเป็นขั้นตอน โดยเรามีการรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ ในเหตุการณ์ที่ได้รับความเสียหายในขณะนั้น คือต้องเอาความจริงให้ปรากฏก่อน และเมื่อได้ความจริงในเรื่องนี้ก็จะเข้าไปสู่ขั้นตอนของการชดเชยเยียวยา ซึ่งก็ต้องมีมาตรฐานและขั้นตอนของการพิจารณา"

“คือต้องดูตั้งแต่เรื่องสถานะของแต่ละกรณีว่า มีส่วนประกอบต่างๆ ที่แตกต่างกัน เพราะแม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน การกระทบต่อครอบครัวก็ต่างกัน เช่น บางคนที่เสียหายเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งบางคนก็ถึงกับสูญเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ เราก็ต้องพิจาณาในเรื่องนั้น หรือแม้แต่การฟื้นฟูการเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้หากจะทำได้ก็ต้องมีคณะทำงานที่เป็นกลางในการเอาข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการชุดแรก ซึ่งกรณีนี้ก็คือ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ) เพราะ คอป.เขาไม่มีเงินมาชดเชย แต่ต้องเป็นคณะทำงานที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเป็นคนแต่งตั้งมาดำเนินการ ซึ่งต้องสอดคล้องในแนวทางปรองดอง"

เร่งเยียวยาในเวลาที่เร็วเกินพอดี
 
พอเห็นกระบวนการการชดเชยคร่าวๆ ที่ภาครัฐพึงจะทำแล้ว เมื่อย้อนกลับมาดูถึงข้อเรียกร้องของ ฯพณฯ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูจะลัดขั้นตอนอยู่มาก ก็ทำให้ต้องนึกถึงความเหมาะสมให้เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
ในเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม อธิบายว่า การเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตก็จะต้องพิจารณาอยู่บนหลักของเหตุผลและความเหมาะสมเฉพาะบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่การเหมารวมราคาค่าชดเชยแบบสุ่มๆ คลุมทีเดียว เพราะชีวิตเป็นสิ่งมีค่าที่ประเมินราคาไม่ได้ ทั้งนี้ต้องแยกแยะภาพให้ชัดเจนว่าใครทำ ใครผิด ใครเสียหาย ใครชดใช้ ไม่ใช่เอะอะก็พูดโพล่งแบบไร้ความรับผิดชอบ

“มันต้องมองแยกเป็น 3 ส่วน หนึ่ง-ต้องดูว่าเป็นการกระทำของรัฐหรือไม่ สอง-ถ้าเป็นการกระทำของรัฐ การกระทำของรัฐนั้นมันไปก่อความเสียหายให้แก่ผู้ใดหรือเปล่า ถ้ามันไปก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ก็มาส่วนที่สาม-การเยียวยามันจะต้องเกิดแน่นอน แต่ว่าจะเยียวยาอย่างไร”

รศ.ดร.เจษฎ์ ชี้ว่า การชดเชยค่าเสียหายให้ผู้เสียหายนั้น จะต้องมองโดยละเอียด เช่น ถ้าเป็นการกระทำของรัฐก็ต้องดูว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากชอบด้วยกฎหมายรัฐก็เป็นผู้ชดเชยค่าเสียหาย แต่หากไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้กระทำการสั่งการนั้นๆ ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำดังกล่าว

นอกจากนี้ หากพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของรัฐ หากแต่เป็นของกลุ่มผู้ไม่หวังดี และสามารถระบุได้ว่าเป็นใคร ผู้นั้นก็จะต้องรับผิดชอบ ส่วนการที่รัฐจะชดเชยให้หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเรื่องนี้ถ้ามองแยกเป็น 3 ส่วนดังว่า ก็จะต้องมาถึงส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 อย่างแน่นอนเพราะมีความเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และจะต้องมีการเยียวยา โดยทั้งนี้จะต้องเน้นหลักความเสมอภาคกัน และไม่ให้ความสำคัญในการเยียวยาเฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น

“อย่างคนที่ตายที่นางเลิ้งหรือแฟลตดินแดงเมื่อปี 2552 ผมคิดว่ามันก็ต้องมาคิดในเกณฑ์เดียวกัน การเสียชีวิตที่เกิดจากเหตุชุมนุมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ต้องมาคิดในเกณฑ์เดียวกันแบบนี้แหละ ไม่ใช่จะมาคิดแค่ในส่วนของ 91 คนนี้ จริงๆ แล้วพวกที่เสียชีวิตในพฤษภาทมิฬ แม้กระทั่งย้อนหลังไปถึงผู้ที่เสียชีวิตใน 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ตากใบ หรือภาคใต้ ก็ต้องคิดในเกณฑ์แบบนี้หมด อย่าไปแยกเขาแยกเรา เกณฑ์การพิจารณาก็ต้องเหมือนกันหมด”

เรื่องนี้ก็สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้ประกอบการย่านราชประสงค์อย่าง สมบูรณ์ นำทิพย์จันทาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอซอพติก จำกัด และประธานกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพสุจริตที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ที่ยอมรับตามตรงว่าธุรกิจของตนได้รับความเสียหายจากการชุมนุมเมื่อต้นปี 2553 ไปมากถึง 33 ล้านบาท แถมยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน แต่ถึงอย่างไรก็ยังเห็นด้วยที่จะมีการชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 91 คน แต่ก็ต้องชดเชยให้ทุกครั้ง โดยไม่เลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มใดเป็นพิเศษ

“ผมเห็นด้วยที่จะมีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่เสียชีวิต โดยควรจะจ่ายหมดทุกคน ทุกสี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือว่าใครก็ตาม แต่ก็ควรจะพิจารณาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาด้วย เราต้องจ่ายเงินให้กับผู้ที่สูญเสียชีวิต อันเนื่องมาจากความวุ่นวายทางการเมือง การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ควรจะให้ทั้งหมด มันจะไปเลือกให้เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดในปี 2553 อย่างเดียวไม่ได้”

10 ล้านคุ้มหรือไม่กับ 1 ชีวิต

แม้ชีวิตของทุกคนจะมีค่า แต่การที่แกนนำ นปช.ออกมาบอกตัวเลข 10 ล้านบาท ก็สร้างความตกใจและประหลาดใจให้แก่ผู้คนอย่างมาก แน่นอนบางส่วนอาจจะรู้สึกว่า ตัวเลขนี้ถือว่าสมน้ำสมเนื้อแล้วสำหรับผู้เสียชีวิต แต่อีกไม่น้อยก็อาจจะรู้สึกว่าเยอะเกินไปหรือไม่

หากเป็นมุมของสมบูรณ์นั้นได้บอกความรู้สึกตรงๆ ว่าถือเป็นเรื่องสมควรแล้ว เพราะเลข 10 ล้านบาทนั้น ยังน้อยกว่าที่บรรดานักการเมืองไทยหลายๆ คนนำไปจากประเทศนี้อย่างมาก แต่ในทางกลับกัน เบญจรัตน์ ทองศิลา ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เฝ้ามองและรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ มาตลอดกลับรู้สึกว่า เรื่องนี้ออกจะดูเห็นแก่ตัวไปสักนิด เพราะยังไม่มีความแน่ชัด ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ และการเยียวยาก็ควรเป็นไปตามความเหมาะสม ที่สำคัญเงินที่จะนำมาชดเชยเยียวยานั้นก็คงจะต้องนำมาจากเงินภาษีประชาชนอย่างแน่นอน

“การจะได้รับเงิน 10 ล้านนี้ มันดูเห็นแก่ตัวไปหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีใครจ้างให้มาชุมนุมกัน แล้วที่ตายไปเพราะอะไรก็ยังไม่รู้แน่ชัด มันก็ยังหาคนร้ายไม่ได้ ไม่ควรที่จะนำเงินมาช่วยเหลือในลักษณะนี้ คิดว่าได้เป็นรัฐบาลแล้วคงมีอำนาจจากแต่ก่อนทำอะไรไม่ได้ มันไม่ได้หรอกควรดูความเหมาะสมด้วยว่าควรไหม”

อย่างไรก็ตาม ในมุมของ รศ.ดร.เจษฎ์แล้ว แม้ไม่ได้ชี้ไปว่า 10 ล้านบาทคือตัวเลขที่ ใช่! แต่การที่ใครคนหนึ่งจะตีค่าออกมาลอยๆ อย่างที่จตุพรทำนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างมาก เพราะก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า คุณค่าของชีวิตคนนั้นถือเป็นเรื่องที่ประเมินไม่ได้ โดยเฉพาะกับความรู้สึกของผู้ที่สูญเสีย แน่นอนว่า หลักที่น่าจะนำมาใช้คำนวณได้ ก็อาจจะพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ว่า หากคนคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปจนหมดอายุขัยจะสามารถสร้างประโยชน์ตีเป็นตัวเงินได้ประมาณเท่าใด

"ถ้าอยู่ดีๆ คุณพูดแบบนี้ว่าทุกคนควรจะได้ 10 ล้าน แปลว่าคุณตีค่าชีวิตไว้ที่ 10 ล้านเหรอ คุณเอาเกณฑ์อะไรมาวัดล่ะ ถ้าอย่างงั้นไม่ใช่คนอื่นตีค่าชีวิตนะ คุณจตุพรนั่นแหละตีค่าชีวิตคน ซึ่งมันตีค่าไม่ได้”

……….

ทุกชีวิตมีค่า และคงไม่มีใครต้องการจะเอาชีวิตไปทิ้งในที่ชุมนุม หากแต่เมื่อชีวิตได้สิ้นสุดลงแล้ว การประเมินค่าความสูญเสียก็ย่อมต้องเป็นไปอย่างเที่ยงตรง ตามมาตรฐานเดียวกันทุกๆ ฝ่าย โดยมีกระบวนการพิสูจน์ความจริงที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ถูกกระทำได้รับการเยียวยาเพียงพอที่จะชดเชยการสูญเสียสิ่งมีค่าที่สุดไปได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากข้อกังขาและคำครหาใดๆ จากสังคม.
 
..............................
การเยียวยาตามหลักพื้นฐานสากลโลก
แน่นอนว่า แม้ทุกวันนี้เมืองไทยจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานกลับไม่เคยถูกพูดถึงเลยแม้ครั้งเดียว เพราะฉะนั้น การจะยึดหลักการและวิธีในการเยียวยานั้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก และหลักการที่น่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยก็คงจะหนีไม่พ้นเป็นแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ ซึ่งตามหลักการคร่าวๆ นั้นจะให้ความสำคัญแก่สิทธิของผู้เสียหายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงความยุติธรรม การได้รับเงินชดเชยจากความเสียหาย รวมไปถึงการได้รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด
โดยจุดเริ่มแรกก็คือ การเยียวยาในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสาธารณสุข หรือทางด้านจิตใจ เพื่อนำความปกติให้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมให้ได้ก่อน จากนั้นก็ถึงเข้าสู่มาตรการทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะต้องเน้นหลักของความยุติธรรมและความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ถูกละเมิด ซึ่งเมื่อความจริงปรากฏออกมาถึงจะเข้ามาสู่กระบวนการชดเชยความเสียหาย ซึ่งหลักการนั้นได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน

1. ‘คืน’ 
ก็คือการทำอย่างไรก็ได้ที่ทำได้เหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบ ได้สิ่งเดิมคืนเหมือนก่อนที่จะเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น เช่น อาคารหรือทรัพย์สินที่เสียหาย ซึ่งอาจจะต้องมีการฟื้นฟูหรือซ่อมแซมให้กลับคืนมาเหมือนเดิม หรือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบเรื่องงาน ก็อาจจะได้รับการว่าจ้างกลับมาตามเดิม

2. ‘เงิน’ 
ซึ่งเกิดขึ้นจากการประเมินความเสียหายตามหลักทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากการละเมิดและสถานการณ์ว่า มีความรุนแรงและส่งผลกระทบแค่ไหน เช่น เหตุการณ์นี้มีอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางอารมณ์ หรือพิจารณาจากโอกาสหายรวมถึงผลประโยชน์จากการจ้างงานการศึกษาและสังคม ไม่ก็เป็นความเสียหายของวัสดุหรือการสูญเสียรายได้ รวมทั้งการสูญเสียของรายได้ที่อาจเกิดขึ้นก็ได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการให้บริการความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาล บริการจิตวิทยา และสังคม ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละประเทศว่าจะให้เท่าใดจึงจะเหมาะสม

3. ‘การฟื้นฟูสมรรถภาพ’ 
ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับการบริการทางแพทย์ ตลอดจนมาตรการทางสังคมที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้น เพื่อไม่ให้ได้ผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอีกต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้ก็มีตั้งแต่ หยุดการละเมิดอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบข้อเท็จจริงและเต็มรูปแบบและการเปิดเผยความจริงในขอบเขตที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติม หรือคุกคามความปลอดภัยของเหยื่อญาติของเหยื่อพยานหรือบุคคลที่มีการแทรกแซงการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดต่อไป การค้นหาเบาะแสของหายไปและสำหรับศพของผู้เสียชีวิตและความช่วยเหลือในการกู้คืน การประกาศอย่างเป็นทางการหรือการตัดสินใจของศาลเรียกคืนศักดิ์ศรีชื่อเสียงและสิทธิทางกฎหมาย และสังคมของเหยื่อและจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยดังกล่าวเป็นตัวตนของเด็กลักพาตัวไปนั้น รวมทั้งการรับรู้ของประชาชนในข้อเท็จจริง ตลอดจนการยอมรับความรับผิดชอบของผู้ที่กระทำผิด

4. ‘การค้ำประกัน’ 
ซึ่งตรงนี้หมายถึงกระบวนการกฎหมายที่จะตามมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงอีกครั้ง
ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูทั้งสภาพสังคมและสภาพจิตใจของคนในสังคมให้กลับคืนเหมือนดั่งเดิม

>>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น