xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนเวลา ‘ปิดเทอม (ใหม่)’ ผู้ใหญ่วุ่นวาย-เด็กหัวใจว้าวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การปิดเทอมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น เดิมทีจะอยู่ในช่วง เดือนเมษายน - พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ และปิดอีกครั้งในเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นการปิดเทอมย่อย หรือปิดเทอมเล็ก

แต่จากการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทปอ. ได้มีมติที่จะเลื่อนการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วประเทศ ให้เวลาเปิดและปิดภาคเรียนของประเทศไทยตรงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

ในทางปฏิบัตินั้น จะเลื่อนไปเปิดภาคเรียนแรกในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แทนที่จะเป็นเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เหมือนที่แล้วๆ มา ส่วนภาคเรียนที่สองก็เป็นช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม แทนของเดิมที่อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม โดยทาง ทปอ. คาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มต้นได้ในปี 2555

และแน่นอนว่าการเลื่อนการเปิด-ปิดเทอมของมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบไปยังหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบอุดมศึกษาไทย หรือมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

เมื่อตารางเวลาต้องเปลี่ยนไป

ลองมาสำรวจคร่าวๆ กันก่อนดีกว่า ว่าคนที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนเวลาเปิด - ปิด เทอมครั้งนี้เขามีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง?

นางสาวเนตรนภา วิเวกจวง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุตรดิตถ์

“ถ้าเป็นอย่างนั้นเราต้องสอบปลายภาคในช่วงที่ร้อนที่สุดของปี เวลานี้อาจไม่เหมาะสำหรับการสอบ เพราะอากาศทำให้เราไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ เขาบอกว่าที่มีการเลื่อนเปิดเทอมก็เพราะว่า แก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนที่แลกเปลี่ยนไปเรียนที่ประเทศต่างๆ เวลาจะได้ตรงกัน ซึ่งมันไม่ถูกนะคนกลุ่มน้อยได้รับผลดี แต่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ”

กิตติศักดิ์ อำนวยการ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

“ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะโดยปกติ ช่วงงบประมาณประจำปี จะอยู่ในช่วง 1 ต.ค. - 30 ก.ย. ในปีถัดไป หากมีการเลื่อนการเปิดเทอมแบบนี้ การเบิกจ่ายเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะเป็นปัญหา เพราะไม่สามารถทำในรูปแบบเดิมได้ แต่การเรียนการสอน อาจจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะว่า มีการแบ่งหน่วยการเรียนชัดเจนอยู่แล้ว”

อรทัย ย้อนใจทัน ผู้ปกครองของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ชินกับช่วงเดือนมิถุนายน มากกว่านะ วัน เวลา มันเหมาะสมกับคนไทยถ้าไปเปิดช่วง กันยายน ซึ่งเป็นช่วงใกล้สิ้นปีแล้วคงไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะวันหยุดก็เยอะ เด็กก็ไม่ได้เรียนกันพอดี แล้วการจะทำกิจกรรมของเด็กคงน้อยลงด้วย แต่ถ้ามันเปลี่ยนแล้วดีจริงในระดับประเทศก็คงดีจะได้เหมือนอาเซียน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่เหมือนกันว่า คนไทยต้องตามเขาขนาดนั้นเลยหรอ”

ดารุณี อยู่ยัง นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานบริการการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และรักษาการเลขานุการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ถ้าเปลี่ยนเลยทันที คิดว่ากระทบเยอะ ไหนจะระยะเวลาการรับปริญญา การเปิดเทอม มันจะทำให้คนที่ปิดรู้สึกว่า ชีวิตมันเปลี่ยนไปเลย สำหรับคนที่จะต้องหางานทำ แล้วการจัดการเรียนการสอนจะเป็นยังไง รุ่นใหม่กับรุ่นเก่าเปิดเทอมไม่ตรงกันบางทีมันคาบเกี่ยวสองรุ่นพร้อมกัน อย่างรุ่นเก่ากันยายนก็จะสอบแล้ว ในขณะที่รุ่นใหม่ก็กำลังจะเปิดเทอม แปลว่าทั้งปีเจ้าหน้าที่ตรงนั้นตายหมดเลย ช่วงรอยต่อมันจะมีปัญหา”

ว่าแต่ทำไมต้องปิดเทอม?

ในการที่เราจะไปจะมาคุยกันถึงผลดีผลเสียของการย้ายเวลาเปิด-ปิดเทอมนั้น ก่อนอื่นเราก็ควรจะรู้ก่อนว่า การปิดเทอมนั้นมีขึ้นมาด้วยเหตุผลใดกันแน่

ผศ.ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึงสาเหตุของการเปิดเทอมของระบบการศึกษาที่ต้องเป็นเดือนเมษายนว่า มาจากปัจจัยหลายส่วน

แน่นอนว่า เรื่องแรกย่อมมาจากการไหล่บ่าทางวัฒนธรรมของตะวันตก ที่นิยมปิดภาคเรียนในช่วงฤดูร้อน แต่สิ่งที่น่าจะสำคัญกว่าก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทยมากกว่าช่วงอื่นๆ เพราะช่วงนี้อากาศร้อน และไม่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอน

"ฝรั่งเขาจะปิดเทอมเพื่อให้เด็กได้ไปเรียนรู้ชีวิตจริงๆ จากการประสบการณ์ตรงหรือเรียนรู้อย่างมีความหมาย ขณะที่เด็กไทยไม่ค่อยใช้เวลาในช่วงนั้นเก็บเกี่ยวประสบการณ์หรือเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ แถมบางคนก็ใช้เวลามานั่งเลกเชอร์ในห้องเหมือนการเรียนปกติเสียอีก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป้าหมายของเด็กไม่ใช่เพื่อการเรียนรู้ที่จะหลุดพ้นหรือแก้ปัญหาตัวเอง แต่เขาต้องการได้ปริญญาใบหนึ่งเท่านั้นเอง"

เหตุผลอีกอย่างของการเปิด-ปิดเทอมช่วงใดๆ ก็ตาม ก็คือเรื่องของความสัมพันธ์กับระบบเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนต่างๆ ที่ต้องวางแผนให้สอดคล้องและตอบรับซึ่งกันและกัน และหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมาทุกส่วนของระบบก็ต้องมีการพูดถึงคุยกันใหม่เพื่อให้ระบบสามารถสอดรับกันได้ดังเดิม

"ทุกวันนี้ระบบการศึกษาของเรา มันต้องสอดรับกัน อย่างโรงเรียนประถมฯ ก็สอดรับกับโรงเรียนมัธยมฯ โรงเรียนมัธยมฯ ก็ต้องสอดรับกับมหาวิทยาลัย ไล่ลงไปเรื่อยๆ ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะโครงสร้างของเราถูกดีไซน์มาว่า ระบบการศึกษาต้องปิดช่วงมีนาคม ทำให้ระบบอื่นๆ มันก็เลยถูกวางเอาไว้ให้ต่อเนื่อง อย่างเรื่องการสมัครเข้ามาทำงานก็เห็นชัด หน่วยงานราชการหลายๆ แห่งก็เตรียมความพร้อมสำหรับคนที่จบการศึกษาระยะนี้ มีการสอบแข่งขันบรรจุ ซึ่งถ้าสมมติมันถูกเซตใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเซตระบบให้เป็นไปตามแผนด้วย แม้กระทั่งเรื่องการขึ้นเงินเดือนก็ยังเกี่ยว เพราะเรื่องนี้มันต่อเนื่องไปถึงการใช้บัณฑิตด้วย"

อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ชวินทร์ ก็มองว่าน่าจะมาจากการต้องการตอบโจทย์เรื่องโลกาภิวัตน์ให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะระบบการศึกษาเท่านั้น แม้แต่ระบบการทำงานเอง หลายๆ แห่งก็ยังเปลี่ยนแปลงให้ไปอยู่ในช่วงเย็น เพื่อให้สอดคล้องกับซีกโลกตะวันตก แต่ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมหรือการปรับระบบให้เข้ากันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องนำมาคิด โดยเฉพาะมาตรฐานของระบบการศึกษาของแต่ละประเทศว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่

‘ได้กับเสีย’ ถัวๆ เฉลี่ยกันไป

อย่างที่ผศ.ดร.ชรินทร์ ได้กล่าวไปแล้วว่า การย้ายเวลาเปิด-ปิดเทอมครั้งนี้ เป็นการย้ายเพื่อตอบสนองกระแสโลกาภิวัตน์ และตอบสนองต่อนโยบายเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 แต่แน่นอนว่าการปรับโครงสร้างที่ใหญ่ระดับนี้ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย

พันตำรวจโท ดร. ศิริพงษ์ เศาภายน หัวหน้าภาควิชาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ย่อมมีผลกระทบหลายๆ อย่างตามมา

“ในส่วนของข้อดีมันก็จะได้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของต่างประเทศ เพราะว่าเราไม่อยู่เพียงชาติเดียวในโลก มันก็จะได้เป็นประโยชน์ต่อเด็กกลุ่มหนึ่งที่จะเข้าเรียนต่อต่างประเทศก็จะได้ต่อเนื่องไปได้เลยแต่ทั้งนี้ก็ต้องมาดูว่ามากน้อยแค่ไหน

“ส่วนในเรื่องของผลกระทบก็ต้องมาดูในเรื่องของการจัดการการศึกษาของไทย ต้องดูในเรื่องของความเหมาะสมในสภาพแวดล้อมท้องถิ่น หลักการจัดการศึกษาที่ดีมันต้องดูว่าอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นหรือไม่ อย่างประเทศไทยเราเป็นเมืองร้อนการที่ให้หยุดในช่วงเดือนเมษาฯ ช่วงตุลาฯ มันก็มีเหตุผลอยู่ อย่างเดือนเมษาฯ เองเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากถ้ามาเรียนยาวไปเลยมันก็ลำบาก ตรงจุดนี้เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ ถ้าบรรยากาศการเรียนไม่เอื้อ ถึงแม้ผู้สอนจะพร้อมสอนแต่ถ้าตัวผู้เรียนไม่พร้อมรับก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย และยังมีในเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมของเราในช่วงเดือนเมษาฯ นั้นมีวันหยุดเยอะ แล้วผลกระทบอีกประเด็นหนึ่งในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเพื่อความเหมาะสมกับนักเรียนมัธยมฯ ปลาย ที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อ เวลาถึง6เดือน จะให้พวกเขาไปทำอะไร?”

ในภาคธุรกิจเองก็อาจเกิดผลกระทบในเรื่องขาดการบุคลากร เพราะระยะเวลาการศึกษานั้นถูกยืดไป ด้านนักศึกษาเองก็ต้องมาเสียเวลาเกิดความล่าช้าเข้าไปอีก แต่ในอีกมุมหนึ่งการย้ายเวลาเปิด-ปิดที่ว่ากลับส่งผลดีต่อการไปทำงานที่ประเทศอื่นในประชาคมอาเซียนในระยะยาวดังที่ ดร.วุฒิพันธ์ ตันติวงศ์ นักวิชาการแรงงานปฏิบัติงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ในมุมมองของผม ปี 2558 นี้เราก็จะมีการเปิด AEC (ASEAN Eonomic Community) กันแล้ว ต้องยอมรับว่าเรื่องของภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญมากเกือบจะที่สุด ที่จะทำให้แรงงานไทยไปแข่งขันกับแรงงานต่างประเทศได้ ฉะนั้น ถ้ามีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือนักศึกษาของเราได้ไปฝึกภาษาในช่วงปิดเทอมที่สอดคล้องกันทั้งอาเซียนได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี นอกจากนั้นก็ยังเป็นการเปิดทางให้นักศึกษาที่ต้องมีการฝึกงาน สามารถไปฝึกงานในประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนได้ในอนาคตด้วย”

แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า การไปศึกษาแลกเปลี่ยนกันในหมูประเทศอาเซียนนั้น จะได้เรื่องของภาษากลับมาจริงๆ หรือ เพราะนอกจากสิงคโปร์กับฟิลิปปินส์แล้ว ก็แทบจะไม่มีประเทศไหนใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างกว้างขวางเลย ในประเด็นนี้ ดร.วุฒิพันธ์ มองว่า แม้การไปฝึกงานในบางแห่งจะไม่ได้ภาษากลับมา แต่ก็ได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นแน่นอน และถ้าการไปฝึกงานในต่างประเทศของนักศึกษา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพคนของไทย ต่อไปก็จะเป็นการสร้างโอกาส และเปิดตลาดการทำงานของคนไทยในต่างประเทศได้

เวลาเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน

ที่กล่าวไปข้างต้น คือการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคของการเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดเทอมในครั้งนี้ แต่ในระดับจุลภาคแล้ว นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ก็คงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากปรับตัวให้ได้ตามโครงสร้างที่เปลี่ยนไป

จิลล์-นรินทร์ โรเจอร์ ดาราสวยห้าวสาวลูกครึ่ง นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะนิเทศศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า การจะให้เปิดเทอมช่วงเดือนกันยายน นั้น จะมีผลกระทบกับชีวิตการทำงานแน่นอน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะรับงานแสดงในช่วงปิดเทอมหากปิดหน้าฝนงานก็จะน้อย ทำให้ไม่ค่อยมีงาน

“ช่วงปิดเทอมส่วนมากก็จะทำงาน แล้วเราก็เป็นคนไม่ชอบหน้าฝนอยู่แล้วเพราะช่วงหน้าฝนเป็นอะไรที่ลำบากมากเลย ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการออกไปไหน แล้วอย่างเรื่องงานก็ทำให้เรารับงานลำบากถ้าว่างช่วงนั้น ส่วนมากหน้าฝนจะไม่ค่อยมีงาน แต่ก็โชคดีไปถ้าใครมีงานประจำ แต่ถ้าเรียนด้วยทำงานด้วยเหมือนเราก็จะรับงานลำบาก ถ้าช่วงปิดเทอมเป็นหน้าฝนก็จะไม่ได้รับงาน คิดว่าแบบเดิมก็ดีกว่า ช่วงหน้าร้อนทำอะไรก็สะดวกรับงานได้เยอะ อาจจะร้อนหน่อยแต่มันก็ดีกว่า”

อย่างไรแล้วถ้าเปิดเทอมช่วงนั้นจริงนอกจากจะมีผลทำให้ไม่ได้รับงานแล้วเมื่อเปิดมาเจอฝน เวลาทำกิจกรรมของคณะมันก็ลำบาก เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง

“เปิดมาฝนตกอยู่ก็จะทำกิจกรรมลำบาก ซึ่งคณะที่เราเรียน เขาชอบทำกิจกรรมกลางแจ้งกันถ้าฝนตกก็ลำบาก รถก็ติด ทำอะไรก็ยุ่งยากไปหมด อย่างเปิดมิถุนายนฝนก็ยังตกไม่เยอะก็พอจะมีเวลาทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยได้”

ส่วนรัตนาวดี กนกนาค นักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร กลับมองว่าเป็นเรื่องดีเพราะอย่างน้อยการเรียนของไทยจะได้มีความเป็นสากลมากขึ้น เหมือนกลุ่มอาเซียน และทำให้สะดวกต่อการไปฝึกงาน แม้จะต้องแลกมาด้วยการที่ต้องอยู่บ้านในช่วงปิดเทอมใหญ่เพราะฝนตกก็ตาม

“มันดีตรงที่ระยะเวลาเปิดเทอมปิดเทอม มีเท่าๆกัน มันดีสำหรับเด็กที่ต้องการประสบการณ์การทำงานการฝึกงานเพิ่มเติมมันทำได้สะดวกขึ้น แล้วก็ดีกับคนที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องเวลาในการเรียนที่อาจจะทับซ้อนกันทำให้เสียเวลา”

………

สุดท้ายแล้ว ก็ต้องยอมรับกันว่า การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในระดับโครงสร้าง มันย่อมส่งผลกระทบต่อคนในสังคมอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงแรก

แต่ทั้งหมดนั้น จะเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ถ้ามันมีมากพอ การลงทุนเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า

>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น