xs
xsm
sm
md
lg

“อ้อม รัตนัง” ม่วนแต้ๆ แม่สาวฮ้องกำเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ซาหวัดดีเจ้า” แค่ได้ยินเสียงอู้กำเมืองของสาวผิวขาว หน้าตาน่าฮัก รับรองว่าหนุ่มๆร้อยทั้งร้อยต้องละลายไปกับเธอ นอกจากเสน่ห์อันเหลือล้นแบบฉบับชาวเจียงใหม่แต้ๆ เธอยังเป็นนักอนุรักษ์การร้องเพลงกำเมืองร่วมสมัย โดยการผสมผสานแนวดนตรีให้ทันสมัยขึ้น จึงเป็นตัวอย่างให้วัยรุ่นยุคใหม่หันมาสนใจเพลงกำเมือง ด้วยเสียงร้องหวานๆ ของเธอได้สะกดใจคนฟังให้เคลิบเคลิ้ม จนใครหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อ้อม รัตนัง” น่าฮักจนห้ามใจ๋บ่าได้

“มันเป๋นเรื่องของใจ๋ ฮักนี้ทำไปมันเป็นอะหยังเกินห้ามใจ๋ แค่แอบมองหน้อยเดียวบ่ได้ ใจก็หื้อไปจนหมด...” คำออดอ้อนในเนื้อเพลงกำเมืองที่มีทำนองร่วมสมัย แฝงกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยล้านนา ผ่านเสียงร้องหวานๆ ของสาวน่าฮัก “อ้อม-มณีรัตน์ รัตนัง” ซึ่งชาวเมืองเหนือต่างรู้จักดี ในฐานะนักร้องสาวชาวเจียงใหม่ ผู้สืบเชื้อสายมาจากศิลปินล้านนาแต้ๆ ที่คงความเป็นเอกลักษณ์การฮ้องเพลงกำเมือง ประยุกต์กับดนตรีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะด้วยความสามารถหรือหน้าตาที่โดดเด่น บุคลิกน่ารัก และการถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้ไพเราะ...กินใจ

ด้วยเลือดศิลปินที่มีอยู่ในตัวเธอ ประกอบกับการใช้ชีวิตอยู่กับเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอมีความฝันที่จะเดินตามรอยของพ่อด้วยการเป็นศิลปิน หลายสิ่งที่น่าสนใจในตัวเธอ M-cover จึงนัดหมายเพื่อทำความรู้จักให้มากกว่านี้ เมื่อแรกพบ ไม่ต้องบอกก็รู้เลยว่าเธอ คือสาวเหนือ ด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่แบบฉบับล้านนาร่วมสมัย ผมที่ยาวสลวยถูกเกล้าสูง ทำให้เห็นใบหน้าเรียวรูปไข่ได้อย่างชัดเจน ผิวขาวตามแบบสาวเมืองเหนือตัดกับสร้อยคอและกำไลข้อมือสีดำ ประกอบกับบุคลิกที่ดูร่าเริง สดใส และช่างพูด ยิ่งเร่งเร้าทำให้อยากรู้จักเธอมากขึ้น

สาวเจียงใหม่แต้ๆเจ้า
อ้อมเป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด คุณพ่อเป็นคนเชียงใหม่ คุณแม่เป็นคนลำปาง (เหนือแต้ๆ) เธอมีพี่ชาย 1 คน ห่างกัน 4 ปี อ้อมจะสนใจเรื่องการร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่เด็ก เพราะเธอชอบคลุกคลีอยู่กับวงดนตรีลูกทุ่งของคุณพ่อ ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งคำเมืองที่โด่งดังมากในภาคเหนือ มีชื่อว่า “บุญศรี รัตนัง”

“ตอนอยู่ ม.2 เคยเป็นแดนเซอร์ให้วงดนตรีลูกทุ่งของพ่อบุญศรี รัตนัง ซึ่งใช้ชื่อวงเป็นชื่อของพ่อเองเลย มีหางเครื่องประมาณ 20 คน เวลาพ่อเล่นงานใกล้บ้านเราก็ไป พอไปแล้วได้เงินก็สนุก อยากไปงานต่อไป จึงเป็นหางเครื่องให้พ่อเรื่อยมาจนถึง ม.4

ด้วยความที่อยู่กับพ่อตั้งแต่เด็ก ไปออกงานด้วยกันตลอด เจ้าภาพเขาจะจ้างเราไปเองติดกันนานเป็นเดือน ต้องเอากะละมังไปซักผ้าเอง จึงใกล้ชิดคุณพ่อและได้เห็นการทำงานมาตลอด ส่วนใหญ่อยู่ 8 จังหวัดภาคเหนือ งานจะเสร็จประมาณเที่ยงคืนเก็บของถึงตี 1 แล้วก็ต้องวิ่งไปอีกงานหนึ่งเพื่อไปถึงในตอนเช้า จะทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน ด้วยความเป็นเด็กก็สนุกและได้ประสบการณ์เยอะ”
 
สมัยเด็กหลายคนอาจเคยฝันว่าโตขึ้นจะเป็นครู เป็นหมอ เป็นตำรวจ สารพัดอาชีพที่จะเป็น แต่อ้อมไม่ได้มีความฝันอะไรแบบนั้นเลย เธอคิดแต่ว่า “อะไรก็ได้ในวงการบันเทิงที่เราทำแล้วเราชอบ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าอ้อมจะเป็นนางงามนะ”

“ตอนเด็กๆ อ้อมเรียนโรงเรียนแถวบ้าน เป็นโรงเรียนแบบว่าบ้านนอก (ลากเสียงยาว) มีเรียนดนตรีพื้นเมืองนิดหน่อย และคุณพ่อก็เล่นอยู่แล้วด้วย พออยู่วัฒโนทัยพายัพ เป็นโรงเรียนในเมือง เราก็เป็นอารมณ์เด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมือง ตื่นเต้น เจอประสบการณ์ใหม่ แล้วพอดีพี่ชายอ้อมกับอ้อมห่างกันแค่ 4 ปี เป็นช่วงที่เราเริ่มเป็นวัยรุ่นและเขาก็เป็นวัยรุ่นอยู่ เขาก็เอากีตาร์มาเล่น เราก็ขอเล่นด้วย ตอนอยู่มัธยมก็เลยไม่มีความเป็นล้านนาอยู่เลย

พอเราโตขึ้นด้วยความที่เราเรียนสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 มา อ้อมชอบที่จะเรียนนี้ พอเรียนมันก็เลยออกมาดี ที่นั่นมีการสอนอะไรที่แปลกกว่าที่อื่น อย่างเช่นมีวิชาการสอนดนตรีที่เป็นดนตรีร่วมสมัย และด้วยความที่รุ่นพี่ที่คณะฯ เขาจะรวมตัวกันทำวงดนตรีแบบล้านนาออเคสตรา ล้านนาร่วมสมัย เราก็มีโอกาสไปคลุกคลีตรงนั้นก็เลยนำมาประยุกต์กับเพลงของเรา”
 

อ้อมเคยชนะเลิศการประกวดร้องเพลง “ cmu music award” จัดขึ้นโดย ชมรมดนตรีสากล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเรียนอยู่ปี 3 ซึ่งเป็นการแข่งขันประกวดร้องเพลงครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของอ้อม เนื่องจากเป็นคนไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ชอบบรรยากาศเครียดๆ การแข่งขันครั้งนั้นจึงเป็นครั้งสุดท้าย แม้ว่าจะชนะเลิศการประกวดมาแล้ว
  

“เคยประกวดร้องเพลงตอนปี 3 แล้วได้รับรางวัลชนะเลิศมา จากนั้นก็ไม่เคยแข่งขันที่ไหนอีก เพราะไม่ชอบการแข่งขันอยู่แล้ว แต่การประกวดร้องเพลงตอนนั้นเป็นที่ฮือฮากันมาก เพราะว่าไม่เคยมีเด็กวิจิตรศิลป์ เด็กวิจิตรฯจะเหมือนเป็นชนกลุ่มน้อยที่ติสท์แตก มีความอิสระ ไม่ยุ่งกับใคร พอเราไปร่วมกิจกรรมกับเขาก็บอกว่าแปลกดีนะ เด็กวิจิตรฯก็มาด้วย”

ไม่ได้ตั้งใจเป็นนักร้อง
อ้อมเปิดอัลบั้มแรกตั้งแต่เรียนอยู่ปี 3 ถึงแม้ว่าตอนแรกเธอไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักร้อง แต่เพลงล่าสุดที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ตัวเธอ “ห้ามใจ๋บ่าได้” มีเสียงตอบรับจากแฟนเพลงของสาวอ้อมในภาคกลางค่อนข้างมาก ด้วยแนวเพลงที่ร่วมสมัย ฟังง่าย ใกล้เคียงกับภาษากลางจึงไม่ยากที่จะเปิดตัวในภาคนี้ แต่ถ้าอยากได้บรรยากาศดอยเมืองเหนือแต้ๆ ต้องฟังเพลงดอกระมิงค์ พาเคลิบเคลิ้มให้เห็นภาพของเมืองเหนือและสาวเหนือเลยทีเดียว

“ตอนแรกอ้อมไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นนักร้อง ตอนอยู่ประมาณปี 3 พ่อก็พูดขึ้นมาว่า ทำสักอัลบั้มหนึ่ง พ่ออยากให้ทำ อัลบั้มเดียวก็ได้ เราก็...ทำก็ทำ ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรก็อัดอัลบั้มแรกเป็นลูกทุ่งคำเมืองเลย ร้องมาก็เพราะนะ แต่รู้สึกว่าแนวเพลงมันยังไม่ใช่ตัวเรา”
  

“อัลบั้มแรก ตอนปี 2548 อ้อมทำเพลงลูกทุ่งชื่อว่าสาวเคิ้น หมายถึงผู้หญิงที่อายุมากแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งงานสักที เป็นเพลงลูกทุ่งพื้นบ้านและเป็นอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรก ถึงแม้ว่าไม่ได้โปรโมตอะไรมาก แต่ด้วยนามสกุล “รัตนัง”  ซึ่งขายได้อยู่แล้วในภาคเหนือ เนื่องจากพ่อบุญศรี รัตนัง มีชื่อเสียงในฐานะผู้สร้างเพลงลูกทุ่งคำเมือง”

ต่อจากนั้นอ้อมได้ทำอัลบั้มร่วมกับคนอื่น นำเพลงเก่ากลับมาทำใหม่และก็เอานักร้องหลายๆ คนมาร่วมร้อง อย่างอัลบั้ม รวมฮิตติดหู มีทั้งเพลงลูกทุ่งภาคกลางและเพลงคำเมืองที่ออกมาทำใหม่ ในแนวดนตรีที่สนุกมากขึ้น

“ที่ผ่านมาได้ออกอัลบั้มเดี่ยวเป็นอัลบั้มที่ 2 ชื่อว่าดอกระมิงค์ จริงๆแล้วอ้อมอยากทำมาตั้งนานแล้ว แต่หาคนทำให้อ้อมไม่ได้ แล้วเผอิญเราไปเจอโปรดิวเซอร์ที่เขาทำอัลบั้ม รวมฮิตติดหู เขาเป็นคนเหนือแต่อยู่กรุงเทพฯ เราคิดว่าคนนี้น่าจะทำงานให้เราได้ก็เลยลองคุยกัน เพราะเขาเล่นดนตรีสากลได้อยู่แล้ว และตอนเด็กๆ เขาก็เรียนดนตรีพื้นเมืองมาด้วย ก็เลยทำให้เขามีความร่วมสมัยในตัวเขาเองอยู่แล้ว และพอดีเขาก็บอกว่าอยากทำเพลงร่วมสมัยมาตั้งนานแล้ว แต่เขาไม่รู้จะทำให้ใครเพราะไม่มีใครมาพูดกับเขา ก็เลยลองทำกันดู จึงออกมาทำอัลบั้มนี้

อัลบั้มดอกระมิงค์เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุด เพราะอ้อมอยู่ในทุกขั้นตอนการทำ ตั้งแต่เลือกเพลง เลือกแนว อย่างเพลง สาวเคิ้น เป็นเพลงล้านนาลูกทุ่งมาก เราก็คุยกับโปรดิวเซอร์ว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะทำเป็นบอสซ่า เขาบอกทำได้ๆ ก็ทำ บางเพลงก็เป็นเพลงพื้นบ้านที่ปกติไม่มีจังหวะ อ้อมก็พยายามจับจังหวะให้ได้ เอามาใส่ทำเป็นแจ๊ซ อะไรอย่างนี้ บางเพลงเราก็แต่งเอง อย่างเพลง ห้ามใจ๋บ่าได้ แต่งกับโปรดิวเซอร์คนละครึ่งเพลง เป็นเพลงที่โปรดิวเซอร์เขาเคยแต่งเนื้อเพลงไว้ แต่ว่าลืมไปแล้ว เขาก็เลยร้องขึ้นมาเป็นบางท่อน มาช่วยกันต่อในห้องอัด พอทำออกมาแล้วมันดีสุดเลย จึงกลายเป็นเพลงโปรโมต”

เพลงคำเมืองโกอินเตอร์
ไม่ใช่แค่เพลงคำเมืองจะเป็นที่ถูกอกถูกใจคนเหนือเป็นพิเศษเท่านั้น ที่ผ่านมาอ้อมได้ส่งเพลงคำเมืองโกอินเตอร์มาแล้ว จึงเป็นที่ยอมรับและเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศอีกด้วย
  

“มีงานโชว์ต่างประเทศ อย่างตอนที่ไป LA ไปกับมหา'ลัยเชียงใหม่ เป็นงานครบรอบ 40 ปี มช.จัดโดยสมาคมศิษย์เก่า ณ เมือง LA. USA ส่วนเมืองโรมจะไปกับคุณพ่อเป็นของกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงต่างประเทศ ล่าสุดปีก่อนก็ไปกับสภาการศึกษา ส่วนประเทศเพื่อนบ้านเรานี้ไม่นับนะคะ เพราะไปบ่อยมาก ไปเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอะไรอย่างนี้”
 

ตอนนี้อ้อมกลายเป็นตัวแทนของนักร้องสาวคำเมืองไปแล้ว และถ้าให้เธอมาร้องเพลงสตริงจะได้ไหมนะ “เพลงสตริง เพลงป็อป จริงๆ อ้อมก็ร้องได้นะ ทุกวันนี้ก็ฟังเพลงป็อปตลอดนะ ให้เราร้องก็ร้องได้ แต่คงไม่เข้ากับเราเท่าไหร่ อาจจะสู้น้องๆเดอะสตาร์ไม่ได้ (หัวเราะ)”
  

นปี 2552 เธอยังเคยร่วมงานกับครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ซึ่งตอนนั้นครูเล็กมีโปรเจกต์ทำละครเวทีเรื่อง “ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ” อ้อมได้มีโอกาสเข้ามาแคสติง เนื่องจากเพื่อนคุณพ่อเป็นเพื่อนกับครูเล็ก จึงทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานซึ่งประสบการณ์การทำงานครั้งนี้ ทำให้อ้อมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ
  

“อ้อมมีโอกาสได้ร่วมงานกับครูเล็กประมาณครึ่งปี ได้เล่นเป็นพะเพื่อนพะแพงกับพี่อีกคนหนึ่ง เป็นนางรำ ก็รำไปไม่มีบทพูด เราได้ความรู้จากครูเล็กมาเยอะมาก ท่านจะสอนให้เราดูแลตัวเองได้ในทุกขั้นตอน แต่งหน้า แต่งตัวเองได้ และนำมาปรับใช้กับงานเราได้ จึงประทับใจงานนี้มาก และก่อนหน้านั้นประมาณ ปี 2548 พี่เจมส์ เรืองศักดิ์ เปิดคอนเสิร์ตที่เชียงใหม่ ก็มีโอกาสร้องเพลงคำเมืองแจมกัน ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สนุกและประทับใจเหมือนกัน”

นอกจากงานเพลง อ้อมยังรับเป็นพิธีกรรายการ ของเด็ด 11 ย่านน้ำ ออกอากาศทาง NBT ภาคเหนือ เป็นรายการพาแอ่ว พูดคำเมืองแต้ๆ เจ้า ชวนไปดูของเด็ดๆ ใน 8 จังหวัด ภาคเหนือ รับรองว่าม่วนอกม่วนใจ๋กันเลยทีเดียว
  

“ตอนนี้อ้อมยังคงทำเพลงต่อไปเรื่อยๆ และทำรายการทีวีด้วย คือการทำเพลงอย่างเดียวปัจจุบันมันเป็นอาชีพไม่ได้แล้ว Mp3 โหลดฟรีก็เยอะ แผ่นผีก็เยอะ จึงหันมาทำรายการทีวี “ของเด็ด 11 ย่านน้ำ” ทางช่อง NBTด้วย จริงๆ แล้วก็เป็นรายการพาเที่ยว ที่ผ่านมาก็ไป จ.ลำพูน ไปสวนสัตว์เชียงใหม่ เที่ยวคุ้มขันโตกเชียงใหม่ โดยพื้นฐานเป็นคนชอบเที่ยวอยู่แล้ว แต่หลักๆของรายการนี้ คือการพูดภาษาคำเมือง ที่ทุกภาคฟังออก เป็นแนวอนุรักษ์ เด็กๆ จะได้มองว่าจริงๆ ภาษาคำเมืองมันก็ไม่ได้เชยนะ ใครสนใจก็ดูได้ทุกๆ วันศุกร์ ที่ 2 และ 3 ของเดือน เวลา 4 โมงเย็น สามารถรับชมได้เฉพาะใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นรับชมได้จากเคเบิลทีวี”

ล้านนาร่วมสมัย
ปกติแล้วเราจะเห็นคนเหนือพูดช้ามาก แต่สาวอ้อมผิดกันถนัดตา เธอเป็นคนพูดเร็วมากและมีเสน่ห์เหลือล้นในการพูด อ้อมบอกว่าอยู่ที่บ้านก็พูดแบบนี้ จริงๆ แล้วคนเหนือไม่ใช่จะพูดช้าทุกคน สมัยก่อนอาจจะช้าแต่มาเดี๋ยวนี้ก็ปกติ ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพลงของอ้อมก็เช่นกัน
 
“อ้อมทำอัลบั้มเป็นล้านนาร่วมสมัย ปกติเราอาจจะเคยฟังเพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” ยุคต่อมาจะเป็น “ไม้เมือง” ด้วยความที่ตัวเพลงฟังฝั่งนู้นจะเป็นผู้ใหญ่ฟังนิดนึง วัยรุ่นอาจจะฟังยาก คือเดี๋ยวนี้วัยรุ่นเหนือเขาก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป เกาหลีหมดแล้ว เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้ภาพลักษณ์เพลงเหนือดูวัยรุ่นมากขึ้น ก็เลยทำเป็นแบบล้านนาร่วมสมัยขึ้นมา โดยการใช้เครื่องดนตรีล้านนาแต่ว่าเล่นโน้ตแบบสากล ทางเหนือเขาจะเป็นเพลงซอ ถ้าภาคกลางก็จะเป็นลำตัด ส่วนอีสานก็จะเป็นหมอลำ แต่ทางเหนือเขาเรียกซอ” (ซอในที่นี้ไม่ใช่มีไว้สี แต่คำว่า ซอ คือการร้อง บทร้อง)
 

“ถ้าเป็นเครื่องดนตรีซอนี่ทางเหนือเขาเรียกสะล้อ แต่ซอจะเป็นเพลงพื้นบ้าน ยุคปัจจุบันเด็กไม่ฟังเลย เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่านะ เราจะทำยังไงให้เด็กสมัยนี้ฟังได้ จากที่เขาบอกว่าฟังไม่ได้ ฟังแล้วหลับ เราก็เลยมาทำใหม่โดยการที่นำทำนองซอนี่แหละ แต่มาทำให้เป็นอารมณ์แบบว่าติดแจ๊ซนิดนึง บอสซ่านิดนึง เพื่อชักจูงให้คนเข้ามาฟัง ให้เขารู้สึกว่าถ้าฟังอารมณ์ประมาณนี้ เขาฟังได้นะ ส่วนหนึ่งเหมือนเป็นการอนุรักษ์ด้วย”
  

“ปัจจุบันนี้ก็จะมีเพลงที่เป็นวงล้านนาร่วมสมัยอยู่ซึ่งจะเป็นเพลงบรรเลง ไม่ใช่เพลงร้อง แต่อ้อมคิดว่ามันน่าจะใส่เนื้อร้องเข้าไปได้ เหมือนกับว่าเขาทำเพลงร้องก็มี แต่จะเป็นเพลงเฉพาะกลุ่มมาก หมายถึงว่าจะเป็นเพลงแนวอาร์ตไปเลย อาร์ตฝรั่งฟังก็จะดังที่ฝรั่งเศส ดังในญี่ปุ่น อะไรแบบนี้ แต่ว่าบ้านเราเองคนที่เป็นชาวบ้านทั่วไปอาจจะฟังยาก อ้อมก็เลยนำมาผสมกัน”
  

ดนตรีของอ้อมจะมีเสน่ห์ตรงที่ตัวของเสียงดนตรี เพราะดนตรีของทางเหนือจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว มีน้ำเสียงอ่อนหวาน และโดยทำนองเพลงคำเมืองมีความไพเราะตามต้นแบบท้องถิ่น ดังนั้นอ้อมจึงใช้เครื่องดนตรีล้านนามาเล่นเกือบทั้งหมด
  

“ภาษาเหนือเป็นคำที่มีเมโลดี้ คือถ้าเป็นภาษากลางพูดว่า “สวัสดีค่ะ” มันก็ตรงๆใช่ไหมค่ะ พอเป็นภาษาเหนือก็จะบอกว่า “ซาหวัดดีเจ้า” วรรณยุกต์มันเยอะ มีเสียงสูง-ต่ำ เวลาเราเอาคำเหนือมาเขียนเป็นภาษากลางนี่ ยากมากเลยนะคะ เหมือนวรรณยุกต์ทางเหนือมันมีเยอะกว่า 5 ตัว บางคำมันเป็นครึ่งเสียง งงมากเวลาเขียน ด้วยความที่ตัวเมโลดี้ของภาษาเอง ทำนองและเครื่องดนตรี พอเอามารวมกัน มันก็เลยดูเป็นเอกลักษณ์”

ลูกไม้ใต้ต้น
คุณพ่อบุญศรีจึงเป็นต้นแบบการทำงานด้านดนตรีสำหรับอ้อม จากการไปออกงานเล่นดนตรีด้วยกัน อ้อมจึงมีประสบการณ์ ได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการทำงานในวงดนตรีของพ่อ มีไอเดียที่มากขึ้นและนำมาใช้กับการทำงานเพลงของเธอเอง การสานงานต่อจากพ่อบุญศรีได้แรงบันดาลใจจากที่เธอเห็นมาตั้งแต่เด็ก พ่อบุญศรีอยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่ปี 2516 เริ่มจากการเป็นนักดนตรี มาเป็นช่างซอ เป็นคนสร้างแนวดนตรีลูกทุ่งคำเมืองขึ้นมาเป็นคนแรก ซึ่งในสมัยก่อนมีแต่โฟล์กซองคำเมืองแต่ไม่มีลูกทุ่งคำเมือง

“คุณพ่อเขาคิดว่ายุคนั้น นักดนตรีเป็นสากลกันหมดแล้ว คือไม่มีใครสนใจดนตรีพื้นเมืองเลย อย่างโฟล์กซองเองเขาก็ใช้กีตาร์เล่น แต่ว่าไม่ได้ผสมเครื่องดนตรีพื้นเมืองเข้าไป ร้องเป็นเพลงคำเมืองแต่ใช้เครื่องดนตรีสากล คุณพ่อก็บอกว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราเอาดนตรีพื้นเมืองมาผสมกับเครื่องดนตรีสากลแล้วเล่นเป็นลูกทุ่ง ก็เลยลองทำดู ปรากฏว่าดัง จึงเกิดเป็นแนวเพลงลูกทุ่งคำเมืองมาตั้งแต่ตอนนั้นประมาณปี 2525”
  

อ้อมคิดอยู่เสมอว่า ในอนาคตเพลงพื้นบ้านจะต้องหายไป เธอจึงคิดพลิกสถานการณ์ทำเพลงล้านนาร่วมสมัยเพื่อให้ต่ออายุไปได้ ความน่ากลัวของยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก คือการหลั่งไหลทางวัฒนธรรม เนื่องจากระบบการสื่อสารที่รวดเร็ว ทันใจ เพราะฉะนั้นการจะเก็บรักษาวัฒนธรรมของไทยไว้ จึงค่อนข้างยากและคงอยู่ไม่ได้ตลอดไปอย่างแน่นอน
 

“สังเกตดูได้ว่าจะไม่ค่อยมีเพลงคำเมืองที่มาดังอยู่ในภาคกลาง กรุงเทพฯเองก็จะบอกว่า เพลงคำเมืองเพราะนะ แต่พอเอามาทำแล้วมันขายไม่ได้ อ้อมมีความรู้สึกว่ายุคนี้ทำเพลงได้ เพราะมียุคที่แล้วเขาทำมาก่อน เราเป็นงานมาต่อยอด แต่ถ้ายุคนี้ไม่มีใครทำ เด็กยุคหน้าเขาจะไม่มีอะไรมาต่อยอดในการทำงานที่จะพัฒนางานต่อไป คือเพลงคำเมืองมันอาจจะไม่บูมตอนนี้ แต่อาจบูมยุคหน้าใครจะไปรู้ใช่ไหมค่ะ แค่ถ้าเราไม่ต่อยอดตรงนี้เด็กที่จะพัฒนาต่อไปมันไม่มีอะไรพัฒนาต่อ เพราะฉะนั้นอ้อมจึงอยากให้เพลงคำเมืองมันได้รับความนิยมเยอะๆ แต่ด้วยแรงเราก็ไม่ค่อยมี เงินก็ไม่ค่อยมี เราก็ทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ เพื่อส่งต่อไอเดียแนวเพลงให้เด็กรุ่นใหม่ไปพัฒนาต่อซึ่งอาจจะบูมรุ่นเขาก็ได้”
 

“อ้อมเคยไปคุยกับบางกลุ่ม บางค่ายเพลง เขาบอกว่า ถ้าต้องการทำเพลงคำเมืองให้เป็นส่วนกลาง ก็ต้องเติมความเป็นภาคกลางเข้าไปเพื่อให้มีผู้ฟังได้ทั่วมากขึ้น อาจจะเหลือความเป็นภาคเหนือ 20% ภาคกลางเป็น 80% แต่ในความคิดอ้อมนะ อ้อมอยากได้ 50:50 เพราะว่าจุดประสงค์หลักของเรา คือการทำให้เพลงคำเมืองได้รับความนิยม”

เปิดบ้านดนตรี
ตอนนี้การฟังเพลงคำเมืองอาจเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่เธอก็ดีใจเพราะอย่างน้อยยังมีคนให้ความสนใจ เพื่อเติมเต็มความฝันของเธอและพ่อให้สมบูรณ์ จึงช่วยกันเปิดบ้านเพื่อสอนดนตรีท้องถิ่นให้เด็กๆที่สนใจในละแวกนั้น เสมือนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ต้องเสียค่าเทอม สามารถเรียนได้ทุกอย่างและได้นานจนกว่าจะพอใจ

“ที่บ้านอ้อมเอง อ้อมก็ทำเป็นโรงเรียน เสาร์-อาทิตย์ สอนขับซอ สอนดนตรีพื้นเมือง สอนฟ้อน อ้อมเป็นคนสอนเอง นอกจากนั้นเป็นคุณพ่อและคนที่มีความรู้ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ละแวกบ้านมาช่วยกันสอน โดยไม่คิดค่าสอนอะไรเลย คุณป้า คุณลุงที่มาช่วยกันสอน เขาอยากทำมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีจุดรวม พอเราทำขึ้นมา ก็ดีเลย มาช่วยกัน เป็นความฝันของคุณพ่อที่อยากทำ มีเสียแค่ค่าสมัคร 100 บาท ให้ดูดีนิดนึง ไม่อยากให้เด็กรู้สึกว่าไม่มาก็ได้ ไม่ได้เสียตังค์ เสียร้อยเดียว เรียนได้ทุกอย่างเลยและจะเรียนนานแค่ไหนก็ได้ จนกว่าจะพอใจเลย”
 

“การรำฟ้อน อ้อมเป็นคนสอนเอง วันไหนที่อ้อมติดธุระไม่อยู่ก็จะให้พี่สอนน้อง เด็กๆ ดูแลกันเอง ก็จะมีคนฟ้อนเก่งๆ แต่หายากนะคะ 10 คนจะมีสัก 1 คน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย เป็นการฟ้อนแบบเหนือๆ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนขันดอก อะไรแบบนี้หลายอย่าง เราดูอายุเด็กด้วย ก็จะมีแบ่งชั้น ป.1 ป.2 ป.3 ก็จะสอนฟ้อนยากขึ้นตามลำดับอายุเด็กด้วย แต่ถ้าต่ำกว่า 6 ขวบก็จะไม่รับ เพราะว่าสอนยาก เหนื่อยมากๆ เหมือนจับปูใส่กระด้ง (หัวเราะ)
 

ส่วนดนตรีพื้นเมืองก็จะมีซึง สะล้อ ขลุ่ย ปี่จุม จะเล่นค่อนข้างยากหน่อยต้องเป็นคนที่เป่าขลุ่ยมาจนเก่งแล้ว กลองสะบัดชัยก็มี ขิมก็สอนนะคะ อาจเห็นว่าเป็นเครื่องดนตรีไทยแต่นำมาร่วมสมัยกันได้ เครื่องดนตรีเราทำให้เด็กเอง อย่างซึงที่เขาขายกันตามตลาด ตัวหนึ่งก็ 1,200-1,500 บาทแล้ว แต่เราจะไปสั่งช่างทำเฉพาะ โครง ซื้อมาประมาณ 200-300 บาทแล้วพ่อจะเอามาทำลูกเล่นให้เกิดเสียงขึ้นเอง อาจจะไม่สวยมาก ให้เด็กเล่นๆ ไปก่อน พอเด็กเล่นเป็น พ่อแม่เขาก็ซื้อให้ใหม่ ลุงที่เขาสอนสะล้อ เขาก็ทำมาขายเด็ก 100-150 บาท จากที่ขายในตลาด 800-900 บาท มีเสียงดี เพราะคนที่เล่นเป็นเขาทำเอง ซึ่งเด็กบางคนอาจจะยากจนนิดนึง ถ้าไม่มีตังค์ไม่เป็นไรถ้ามาเรียนก็ใช้ของที่นี่ได้”
 

ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนกันในบ้านเลยทีเดียว เพราะมีการแบ่งเวลาเรียนอย่างชัดเจน เหมือนเป็นตารางเรียน โดยทำหลักสูตรกันเอง ในวันเสาร์ตอนเช้าเรียนขับซอ ตอนบ่ายเรียนฟ้อน วันอาทิตย์ตอนเช้าเรียนดนตรีพื้นเมือง และตอนบ่ายให้เด็กที่เล่นดนตรีเก่งแล้ว มาฝึกรวมกันเป็นวง แล้วพาออกงานเล็กๆแถวบ้าน จึงเป็นการฝึกเสริมประสบการณ์จริงให้เด็กอีกทางหนึ่งด้วย

“ติสท์” จนสติแตก
“เวลาจะทำอะไรต้องบอกตัวเองไว้ว่าหาสติไว้ก่อน เพราะด้วยความที่เราบางที บางอารมณ์ก็ติสท์ๆ สติจะหลุดลอย และเราก็จะหายไปกับสายลม จึงต้องดึงสติกลับมา (หัวเราะ)”

อ้อมคิดว่าการทำทุกอย่างถ้าเราเจอปัญหา สติจะช่วยแก้ปัญหาได้ เข้าหลักธรรมที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” แม้กระทั่งเวลาเรามีความสุขมาก เราก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีเราก็จะหลุดลอยไปกับความสุข หลงระเริงไปกับมัน ฉะนั้นมีสติแหละดีที่สุด

ในเวลาว่างอ้อมชอบอ่านหนังสือ อ่านทุกแนวตั้งแต่นิยายแฟนตาซีไปจนถึงธรรมะ การ์ตูน ฯลฯ ถ้าว่างเมื่อใดก็ต้องมีอะไรให้อ่าน...อ่านแล้วเก็บจนเต็มตู้หนังสือ บางเล่มประทับใจจึงอยากให้คนอื่นได้อ่านบ้าง เพราะอย่างนี้ที่บ้านจึงเปิดเป็นร้านเช่าหนังสือเองเสียเลย

อ้อมเคยอ่านหนังสือซึ่งเป็นคำสอนของในหลวง ท่านบอกไว้ข้อหนึ่งว่าให้ทำงานเหมือนเล่น แล้วเราจะมีความสุข สนุก งานจึงจะออกมาดี อ้อมก็ทำงานเหมือนเล่น เราไม่ใช่งานประจำแต่เราเป็นงานใช้ไอเดียของเราเอง มันจึงเหมือนกับว่างานกับชีวิตรวมเป็นก้อนเดียวกันเลย เราไม่ใช่ว่า 5 โมงเย็นแล้ว กลับบ้านไปเที่ยวห้าง เพราะบางทีเราไปเดินห้างยังคิดเรื่องงานได้เลย จึงไม่ได้แบ่งว่าเวลานี้ต้องทำงานหรือเวลานี้ต้องพักผ่อน แต่บางทีก็เหนื่อยนะ เหนื่อยแต่มันสนุก”
 

“อ้อมเป็นคนสบายๆ และธรรมดามาก เราจะชอบคิดอะไรอย่างที่ชาวบ้านเขาไม่คิดกัน หลายคนมองเพลงพื้นบ้านก็เป็นเพลงพื้นบ้าน แต่เราบอกว่าทำเป็นบอสซ่าไม่ได้เหรอ ถึงจังหวะไม่คล้ายแต่ก็จะทำให้มันได้อย่างนี้ เราค่อนข้างจะคิดอะไรแปลกๆ มันก็เป็นข้อดีเหมือนกันนะ เป็นการทำให้เพลงร่วมสมัยได้”

อ้อมได้ฝากทิ้งท้ายว่า อยากให้คนเหนืออู้กำเมืองเยอะๆ จาก “สวัสดีค่ะ” เป็น “ซาหวัดดีเจ้า” จะได้เป็นภาษาที่อยู่คู่ล้านนาไปนานๆ รวมไปถึงแฟนๆ ที่อยู่ภาคอื่นๆ ใครที่อยู่ภาคไหนก็อยากให้หวงแหนในศิลปวัฒนธรรมของตัวเองด้วย เพราะถ้ารวมกันก็เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยทั้งหมดเช่นกัน และในปีหน้ามีข่าวดีสำหรับแฟนเพลง อาจจะได้ฟังเพลงอัลบั้มเดี่ยวอีกอัลบั้มหนึ่งของอ้อม เร็วๆนี้ ให้รอติดตามกันได้เลย




ไม่พร้อมที่จะท้อง!
ตอนนี้สาวอ้อมยังใช้ชีวิตอยู่บ้านกับพ่อแม่ และยังไม่ออกเรือนสักที แม้ว่าอายุอยู่ในช่วงวัยที่สามารถมีครอบครัวเองได้แล้ว อ้อมคิดว่าแต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ได้ จะมีครอบครัวก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือบางคนสะดวกกับการคบกันเป็นแฟนแล้วมีความสุขก็โอเคแล้ว อาจยังไม่ถึงขั้นมีครอบครัวและมีลูก 
 

“อ้อมคิดว่าถ้าหากเราไม่พร้อมและมีครอบครัว มันเหมือนเป็นภาระที่เราต้องรับผิดชอบ อย่างการมีลูกตอนเราไม่พร้อม เราให้เขาเกิดมาแล้วเราดูแลเขาได้ไม่ดีเต็มที่ อย่างนี้มันก็ไม่มีดีกว่า ความรักสำหรับอ้อมแค่ความเข้าใจก็พอแล้ว ไม่ต้องรักมากก็ได้ จนตอนนี้คุณพ่อเริ่มถามแล้วว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน ก็บอกเขาไปว่าไม่มีกำหนด (หัวเราะ)”
 

เห็นน่ารักอย่างนี้ คงไม่พลาดที่จะมีหนุ่มๆ แวะเวียนมาขายขนมจีบ เมื่อชีวิตอ้อมเน้นเรื่องงานเพลงและครอบครัวเป็นหลัก จึงไม่พ้นที่จะมีคนในแวดวงเดียวกันเข้ามาพูดคุย ซึ่งตัวเธอเองก็บอกเสมอว่า เราไม่มีเวลาไปลัลลาเพราะว่าเราทำงาน และเราไม่ใช่ป็อปปี้เลิฟที่จะมา “เธอคิดถึงนะ” มันไม่ใช่อารมณ์นั้นแล้ว เวลาเจอหน้ากันจะคุยเรื่องงานมากกว่า จึงไม่แปลกที่เธอจะดูคนที่ความสามารถ
 

“อ้อมไม่มีสเปก เราดูคนที่ความสามารถ เราไม่ได้ดูว่าต้องหล่อแบบพี่โดมก็ไม่ใช่ขนาดนั้นก็ได้ ต้องดูว่าคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่า เพราะบางที บางอารมณ์เราก็แปลกๆ คนที่มาอยู่กับเราก็ต้องคล้ายๆ กัน คุยกันรู้เรื่อง แล้วก็ต้องเป็นคนที่เก่งในสิ่งที่เขาทำ คือเราไม่ได้ฟิกว่าเขาต้องทำงานอะไร แต่หมายถึงว่าในสิ่งที่เขาทำอยู่ เขาควรจะทำมันให้ได้ดีที่สุด อ้อมมีความรู้สึกว่าถ้าคุณทำสิ่งที่คุณชอบได้ดีแล้ว แสดงว่าคุณใส่ใจตัวคุณเอง และถ้าคุณใส่ใจในตัวคุณเอง คุณก็จะใส่ใจคนรอบข้าง ถ้าเป็นแฟนกันก็ใส่ใจกันได้”

“นกเตน” ป่วนเจียงใหม่
“เมื่อก่อนเคยมีบ้าง แต่มันไม่มีมาหลายปีแล้ว พอเข้าหน้าฝน ในหมู่บ้านที่เคยน้ำท่วม ก็จะท่วมอยู่แล้ว เพียงแต่มันไม่เยอะขนาดนี้เท่านั้นเอง...”

ประเทศไทยฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พอร้อนมากๆ เข้า เมฆก็หอบพายุฝนห่าใหญ่เข้ามา ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนไปทันทีทันใด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอิทธิพลของพายุ “นกเตน” บินโฉบประเทศไทย ส่งผลทำให้จังหวัดเชียงใหม่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในฐานะที่เป็นบ้านเกิดของสาวอ้อม เธอจึงขออาสาบอกเล่าสถานการณ์ว่า บ้านบางหลังที่ถนนอยู่สูงกว่าบ้าน เขาก็ช่วยกันยกตู้เย็น ขนของใส่กระบะรถไป ประมาณว่าย้ายบ้านหนีกันเลยนะ
 

“ส่วนบ้านอ้อมอยู่สันทราย ไม่มีความเสี่ยงมาก เพราะบ้านเราอยู่บนพื้นที่สูง พอเวลาฝนตกหนัก น้ำมาก็จะท่วมหมู่บ้านที่อยู่ในที่ราบลุ่มก่อน ในหมู่บ้านอ้อม บ้านป่าเหมือด ไม่ได้ท่วม แต่หมู่บ้านข้างๆท่วมหมดแล้ว” 
 

“สาเหตุของน้ำท่วมส่วนใหญ่เพราะมันแค่ไหลไม่ทัน ในบางหมู่บ้านเหมือนเป็นทางน้ำผ่าน พอระบายไม่ทัน มันก็เลยเข้ามาถึงบ้านคน น้ำไหลจากหมู่บ้านหนึ่งก็ทะลุถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อจะไปลงอีกฝั่ง แต่ว่าเขาก็เตรียมรับมือกันไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเมือง ตามบ้านที่เขาคิดว่าน้ำจะมาถึง ก็เตรียมกระสอบทรายเอาไว้ บางบ้านอยู่ไม่ได้ก็ต้องย้ายออกไปก่อน”

การเดินรถ เดินถนนในช่วงวิกฤตอย่างนี้ ควรตรวจตราเส้นทางให้ดีก่อนออกจากบ้าน เพราะสาวอ้อมก็ยังคิดอยู่เลยว่า ถ้ามีธุระจะออกไปทางไหนดี?


ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-นามสกุล : มณีรัตน์ รัตนัง
ชื่อเล่น : อ้อม
วัน เดือน ปีเกิด : 30 ธันวาคม 2525
ส่วนสูง-น้ำหนัก : 160 ซม./48 กก.
การศึกษา : มัธยม-โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ป.ตรี-สาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผลงานเด่นที่ผ่านมา : อัลบั้มแรก “สาวเคิ้น” (พ.ศ. 2548)
อัลบั้ม “อีสานล้านนาปาม่วน” (พ.ศ. 2551) ร่วมกับเพื่อนศิลปินล้านนาอีกหลายคน
อัลบั้ม “รวมฮิตติดหู” (พ.ศ. 2552) และยังได้ร่วมแสดงละครเวที กับ ครูเล็ก ภัทราวดี เรื่อง “ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ”
อัลบั้ม “กึ๊ดเติงหาอ้ายจรัล ”(พ.ศ. 2553) ร่วมงานกับ นักร้อง ดีเจ ชื่อดัง บ่าวหน้อยเอ็มเจย์
ล่าสุดอัลบั้ม “ดอกระมิงค์” มีเพลงดังๆ เช่น เพลงดอกระมิงค์, ห้ามใจ๋บ่าได้ ,ไกล๋ ฯลฯ 

 
 

 
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์












พี่ชาย คุณแม่ และอ้อม
คุณพ่อบุญศรี และอ้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น