xs
xsm
sm
md
lg

เข้า ม.กรุงเทพ ชมของดีมากคุณค่าที่ “พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
 เตาประทุนแบบล้านนา
คงเคยได้ยินกันว่า หากต้องการชมเครื่องถ้วยสวยๆงามๆก็ต้องไปดูที่แหล่งที่สุโขทัย แต่หากใครที่อยู่กรุงเทพฯหรือจังหวัดปริมณฑล ไม่มีเวลาไปไกลถึงสุโขทัย แต่สนใจในเรื่องเครื่องถ้วยๆสวยๆงาม ที่ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” วิทยาเขตรังสิต เขามี “พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นของดี ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่ใครๆหลายคนอาจจะไม่รู้และคาดไม่ถึง

แต่ก่อนที่จะไปดูเครื่องถ้วยสวยๆงามๆสารพัดสารพันในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กัน ฉันขอพูดถึงนิยามของคำว่าเครื่องถ้วย เสียก่อน
ภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วย
“เครื่องถ้วย” หมายถึง สิ่งของทุกชนิดที่ทำด้วยดิน แล้วนำมาเผานับตั้งแต่จานที่ใช้กันภายในครัวกระเบื้องมุงหลังคา ตลอดจนเครื่องสุขภัณฑ์ ส่วน “เครื่องปั้นดินเผา” เป็นศัพท์ทั่วไปใช้เรียกดินที่ถูกไฟเผาทุกชนิด เมื่อรู้ความแตกต่างของเครื่องถ้วยและเครื่องปั้นดินเผาแล้วก็มารู้จักพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้กันเลย

พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายในเก็บรวบรวมเครื่องถ้วยโบราณ จำนวนกว่า 2,000 รายการ ที่อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมอบให้ เพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องถ้วยสมัยประวัติศาสตร์ทุกแง่มุม พร้อมกระตุ้นให้ผู้เข้าชมเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของไทย รวมทั้งเป็นคลังบรรณสารทางเครื่องถ้วยที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 กี๋แบบต่างๆ
โดยอาคารจัดแสดงถูกออกแบบเป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกประดิษฐ์ เลียนแบบการสร้างเตาเผาเครื่องถ้วยของไทยที่มักสร้างบางส่วนอยู่ใต้ดิน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดในการสร้างพิพิธภัณฑสถานให้บางส่วนอยู่ใต้ดิน อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท อาคารสถาบันหรืออาคารทางศาสนา ประจำปี 2551 และเป็น 1 ใน 9 ของสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่นของไทย (ASA Green Awards) ประจำปี 2552 อีกด้วย
 รูปทรงต่างๆของเครื่องถ้วย
ด้านหน้ามีการจำลองเตาเผา ซึ่งเป็น “เตาประทุนแบบล้านนา” รวบรวมลักษณะของเตาเผาทางภาคเหนือหลายแห่ง แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีพื้นฐานของช่างปั้นภาคเหนือของประเทศไทย สร้างเตาเผาให้ลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้อากาศร้อนไหลผ่านไปตามธรรมชาติ จากที่ใส่ไฟที่อยู่ต่ำกว่าไปยังปล่องไฟที่อยู่ตรงข้ามบริเวณปลายสุดของเตา ภายในมีชิ้นส่วนภาชนะ ส่วนใหญ่มาจากเตาเวียงกาหลงทั้งเตา

ส่วนภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของเครื่องถ้วยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นเครื่องถ้วยโบราณเป็นหลัก ส่วนใหญ่ผลิตจากกลุ่มเตาในราชอาณาจักรไทย ที่ค้นพบที่ตำบลบ้านเชียง แหล่งขุดค้นบนเทือกเขาถนนธงชัย แหล่งขุดค้นตาก-อมก๋อย รวมทั้งเครื่องถ้วยเขมรที่ผลิตจากกลุ่มเตาพนมดงเร็ก
คนทีเขียนลายสี พบในกัมพูชา
รวมทั้งประวัติเครื่องถ้วยที่เป็นสินค้าออกของไทย และเครื่องถ้วยที่สั่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งถูกผลิตจากกลุ่มเตาในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จีน เวียดนาม และเมียนมาร์ โดยอาศัยหลักฐานที่ค้นพบจากแหล่งเรืออับปาง และแหล่งเตาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเข้าไปภายในอาคารจัดแสดงเครื่องถ้วยหลายแบบหลากชนิด พร้อมข้อมูลรายละเอียด ทั้งยังจำลองแหล่งขุดพบให้เราได้เห็นกันด้วย ทำให้เรารู้จักเครื่องถ้วยมากขึ้นว่าชนิดของเครื่องถ้วยขึ้นอยู่กับคุณภาพของดิน และอุณหภูมิของการเผา ชนิดแบบ “เนื้อดินธรรมดา” ผลิตจากดินผสมที่มีสิ่งเจือปนมาก เผาที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 850-1150 องศาเซลเซียส ดูดซับน้ำได้ดี พบในเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหมด และยังคงมีผลิตอยู่ถึงปัจจุบัน
ตู้จัดแสดงเครื่องถ้วยล้านนา
ด้านชนิด “เนื้อแกร่ง” ผลิตจากดินผสมที่มีสิ่งเจือปนน้อยกว่าชนิดเนื้อดินธรรมดา เผาในเตาที่อุณหภูมิสูงประมาณ 1,150-1,300 องศาเซลเซียส พบมากในเครื่องถ้วยที่มีการเคลือบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแบบสุดท้ายคือ ชนิด “เนื้อกระเบื้อง” ที่ใช้ดินบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจอปน เผาที่อุณหภูมิ 1,300-1,450 องศาเซลเซียส เนื้อจะบางโปร่งแสง สีขาวหรือเกือบขาว เมื่อเคาะดูจะได้เสียงดังเหมือนเสียงระฆัง ผลิตอยู่ในประเทศจีนเท่านั้น
ไหบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ
ส่วนการวางเผา จะมีความหลากหลายของวัสดุที่ใช้รองเผาภาชนะภายในเตาอ และกรรมวิธีที่ใช้ในการผลิต ซึ่งร่องรอยที่เกิดจากการวางซ้อนกันในเตาสามารถบอกได้ว่าเครื่องถ้วยนั้นผลิตจากแหล่งเตาใด อย่างเช่น “กี๋ทรงกระบอก” หรือ “กี๋ท่อ” ถูกใช้อย่างมากในเครื่องถ้วยไทยทั่วไป และโดยมากจะพบในเครื่องถ้วยศรีสัชนาลัย

ด้าน “กี๋ทรงกลม” ถูกใช้เพื่อคั่นระหว่างจานที่ซ้อนกัน ร่องรอยที่เกิดจากขาของกี๋พบได้โดยทั่วไปในก้นภาชนะด้านในของเครื่องถ้วยสุโขทัย และถูกใช้ในเครื่องถ้วยศรีสัชนาลัยระยะแรก ส่วนจานแบนและรูปทรงจานอื่นๆ สามารถวางเผาในลักษณะ “ปากประกบปาก ฐานประกอบฐาน” ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ได้รับความนิยมในเครื่องถ้วยล้านนาไทยและในเครื่องถ้วยศรีสัชนาลัยระยะแรกเช่นกัน
บรรยากาศการจัดแสดง
หลังจากเผาแล้วก็ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องถ้วยด้วยการเคลือบและเขียนลายให้สวยงามน่าใช้ ซึ่งการเคลือบก็มีทั้งแบบ “เคลือบสีเดียว” เช่น เคลือบสีขาว “เคลือบสีเขียวแบบเซลาดอน” จะเป็นรูปแบบของน้ำเคลือบสีเขียวที่เกิดจากแร่เหล็กผสมอยู่ในน้ำเคลือบและถูกเผาแบบลดอุณหภูมิ ส่วนการ “เขียนลายใต้เคลือบ” เป็นการเขียนลวดลายลงบนเครื่องถ้วยแล้วจึงชุบเคลือบ
ไหช้างเคลือบสีขาวอมเขียว
โดยรูปทรงของเครื่องถ้วยนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปทรงหลักๆ ได้แก่ “รูปทรงจาน” และ “รูปทรงแนวตั้ง” นอกนั้นจะเป็นรูปทรงที่มีศัพท์เรียกเฉพาะ เช่น “ทรงคนโท” หรือ “ขวด” สำหรับใส่ของเหลว ไม่มีที่จับหรือพวย “ทรงคนที” ใช้สำหรับใส่ของเหลว แต่มีพวย “ทรงภาชนะหยาดน้ำ” มีพวยขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าสำหรับเทน้ำหยดลงบนจานฝนหมึกจีน เป็นต้น
รูปช้างเคลือบสีเขียว
ตอนนี้เราก็รู้จักเครื่องถ้วยกันพอสมควรแล้ว สามารถเดินชมเครื่องถ้วยต่างๆ พร้อมอ่านคำอธิบายประกอบ ได้อย่างเข้าใจและสนุกมากขึ้น และที่หากมาเยือนแล้วพลาดไม่ได้กับผลงานมาสเตอร์พีชก็คือ “ไหช้างเคลือบสีขาวอมเขียว” ที่พบในอ.บ้านตาก จ.ตาก เป็นกลุ่มเตาพนมดงเร็ก จ.บุรีรัมย์ อายุเกาแก่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 และ “รูปช้างเคลือบสีเขียว” พบที่จ.ตาก เช่นกัน อยู่ในกลุ่มเตาศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20
เครื่องถ้วยในรูปแบบของเครื่องประดับสถาปัตยกรรมไทย
นอกจากนี้ในส่วนสุดท้ายยังสามารถจับต้องเครื่องถ้วยต่างๆในแต่ละแบบเปรียบเทียบกันได้ด้วยมือตนเองอีกด้วย ใครที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถ้วยพร้อมชมเครื่องถ้วยนานาชนิด ไม่ต้องไกลถึงสุโขทัย แค่มายัง “พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มหาวิทยาลัยกรุงเทพแห่งนี้ ก็คุ้มแล้ว
เครื่องถ้วยในรูปแบบของเครื่องประดับสถาปัตยกรรมไทย
 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ถ.พหลโยธิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดบริการฟรีทุกวันอังคาร - วันเสาร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. ปิดวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับช่วงปิดภาคเรียนเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม โปรดโทรสอบถามก่อนเดินทาง โทร.0-2902-2099 ต่อ 2890
กำลังโหลดความคิดเห็น