ทางดินลูกรังคดเคี้ยวเป็นหลุมบ่อลัดเลาะป่าเขียวและฝายแนงมุด เป็นเส้นทางสู่ ‘หมู่บ้านอเมริกาดาวสปวง’ หรือหมู่บ้านป้องกันชายแดน หมู่บ้านที่1 ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
หมู่บ้านแห่งแรกที่ตั้งขึ้นมาจากแรงสนับสนุนของชาวไทยในอเมริกา และชาวไทยในแผ่นดินแม่ ผู้มีใจหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งพวกเขาได้มาเยือนที่นี่อีกครั้งเพื่อปักธงชาติไทยให้โบกเด่นเป็นสง่าและประกาศตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ...
เมื่อลัดเลาะเส้นทางป่าเข้าไปไม่นานนัก ก็เริ่มพบกับแปลงนาและแปลงผักของชาวบ้านที่ปลูกอยู่ริมทางประปรายแสดงถึงการอาศัยอยู่ของกลุ่มชุมชนการเกษตร และอึดใจต่อมาหมู่บ้านเล็กๆ ที่รายล้อมด้วยบ้านขนาดกะทัดรัด ทำด้วยไม้และใบจากของชุมชนชาวไทยปกป้องดินแดนก็ปรากฏแก่สายตาเรา
ปราโมทย์ หอยมุกข์ ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการหมู่บ้านป้องกันชายแดนแห่งนี้ อธิบายเท้าความถึงความเป็นมาของหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านอเมริกาดาวสปวง มาจากชื่อพันธุ์ไม้หายาก ที่ขึ้นอยู่ในชายแดน และต่อท้ายว่าอเมริกาเพื่อเป็นเกียรติแก่คนไทยในอเมริกาผู้สนับสนุนทุนในการตั้งหมู่บ้าน
โดยเป็นโครงการที่ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดเห็นที่ตรงกันของเหล่าแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งในไทยและในอเมริกาว่า ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดน จากหลายๆ เหตุการณ์ ทั้งการเรียกร้องสิทธิ์ของกัมพูชาต่อศาลโลก การที่รัฐบาลไทยสมัยทักษิณ ชินวัตร ได้มีการแอบปักปันเขตกันใหม่ โดยเอื้อประโยชน์กับกัมพูชา การทำเอ็มโอยู 43 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ได้แนบแผนที่ 1 : 200,000 โดยขีดแผนที่กินบริเวณตั้งแต่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ไปจนถึงอ่าวไทย ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่บนดินถึง 1,800,000 ไร่ ไม่นับรวมพื้นที่ทางน้ำ และมาจนถึงคำตัดสินของศาลโลกล่าสุดที่ประกาศให้ถอนทหารทั้งสองฝ่าย โดยห้ามไทยขัดขวางการส่งเสบียงและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบำรุงปราสาทของทางกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลรักษาการของไทยต่างพากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อย่างไร้เดียงสาหน้าซื่อ ราวกับไม่รู้ว่าไทยกำลังจะสูญเสียอธิปไตยครั้งมโหฬาร ฉะนั้นการตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีการเปลี่ยนชื่อเรียกว่า หมู่บ้านป้องกันชายแดน จึงเป็นเหมือนการแสดงถึงพลังภาคประชาชนที่รัฐเมินเฉยและต้องหันมาพึ่งพาตนเองเพื่อปกป้องแผ่นดินอันเป็นมรดกตกทอดที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ
ปราโมทย์ยังได้อธิบายถึงความสำคัญที่จะต้องมีหมู่บ้านเช่นนี้ อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนว่า
“ในขณะที่เขมรเรียกร้องแผนที่ 1: 200,000 เขาจะเอาคนรุกล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทยหลายจุดพร้อมๆ กัน เพื่อต้องการครอบครองปรปักษ์ (Effective Occupation) เพื่อที่จะไปร้องศาลโลกว่า นี่ยังไง เป็นพื้นที่ของฉัน ฉันถึงมาอยู่ได้ ในขณะเดียวกันทางการไทยกลับสั่งให้ราษฎรไทยถอยลงมาให้ไกลจากเขมร เพราะกลัวอันตราย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นพวกเราที่เป็นภาคประชาชนจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า เราต้องการป้องกันรักษาประเทศไทย วิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือ ต้องไปครอบครองพื้นที่แบบเดียวกับที่เขมรทำอยู่เดี๋ยวนี้ เพื่อแสดงให้รู้ว่านี่คือดินแดนของประเทศเราเช่นกัน”
เมื่อมองไปรอบๆ หมู่บ้านก็นึกย้อนสะท้อนใจถึงความเป็นมา หากรัฐบาลมีความสำนึกรักชาติสักนิด ประชาชนทั้งประเทศมีความคิดรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอีกสักหน่อย หมู่บ้านนี้จะไม่ต้องอาศัยเงินทุนที่ชาวไทยในต่างแดนรวบรวมข้ามน้ำข้ามทะเลมาช่วยเลย นาวาเอกประพันธ์ โชติอาภรณ์ อดีตนาวิกโยธิน ประจำการ ณ หลักเขต 73 หลักเขตสุดท้ายที่จังหวัดตราด เป็นตัวแทนชาวไทยในอเมริกา ซึ่งร่วมทางเพื่อกลับมาดูพัฒนาการของหมู่บ้านอันเป็นความหวัง เป็นครั้งที่สองหลังการมาเยือนครั้งแรกเมื่อปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา
“คนไทยในอเมริกาเกือบทุกรัฐก็สนใจในเหตุการณ์ของบ้านเมือง ว่ามันไปยังไงมายังไงตามสื่อมวลชนทางโทรทัศน์ก็ดี หนังสือพิมพ์ก็ดี แล้วเมื่อมีโอกาสก็ต้องสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีคณะพันธมิตรฯ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปให้ความรู้หลายคณะด้วยกัน สุดท้ายก็มีคณะของอาจารย์ปราโมทย์ไปที่รัฐผม (ดัลลัส) ที่นั่นก็มีสมาคมของคนไทยเป็นร้อยๆ คน เมื่อเห็นว่ามีโครงการก่อตั้งหมู่บ้านชายแดน เราก็สนับสนุนกัน และเรี่ยไรทุนกัน” นาวาเอกประพันธ์หวนนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดหมู่บ้านแห่งนี้ในต่างแดน
“หลังลาออกจากราชการก็ไปอยู่ที่อเมริกา อยู่ที่นั่น 24 ปี คิดว่าคงจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการทหารแล้ว แต่พอได้ทราบว่ามีกรณีพิพาทกับเขมร แล้วก็มีโครงการแบบนี้ก็เลยได้กลับมา คิดว่าเราคงพอได้ทำหน้าที่อยู่บ้างแหละ โดยการสนับสนุน บริจาค แสดงความคิดเห็น เท่าที่สามารถจะทำได้ เราก็คงทิ้งประเทศไทยไม่ได้อยู่ดี ถึงแม้ว่าจะไปอยู่ไกล อีกอย่างรับราชการมาก็นาน เกิดในกองทัพ แล้วก็มีหน้าที่ป้องกันชายแดน แล้วอายุขนาดนี้ด้วย เราก็ควรจะมีส่วนที่ทำประโยชน์ได้”
“เราอยู่ต่างประเทศ ก็เปรียบเทียบกับประเทศไทย ทำไมบ้านเขาถึงสงบสุข เขามีโน่นนี่ การเมืองเขาเป็นอย่างไร พอเห็นข่าวก็ต้องเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือ มีอะไรที่ช่วยได้ก็ต้องช่วย อย่างน้อยพ่อแม่ลูกหลานเขาก็ยังอยู่ในประเทศไทยกันทั้งนั้น คงนั่งกันเฉยๆ อยู่ไม่ได้ มันน่าคิดตรงที่ว่าฝ่ายเขมร รัฐบาลเขมรกระตือรือร้นอยากจะเอาสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหารให้มาก แล้วอยากจะเอาดินแดนเพิ่มเข้าไปอีกเรื่อยๆ รวมทั้งแร่ธาตุและผลประโยชน์ต่างๆ อย่างน้ำมัน เป็นเงินจำนวนมหาศาล เป็นความมั่นคงของประเทศ เกียรติภูมิของประเทศ ประเทศไทยจะสูญเสียมากเหลือเกิน เรื่องระดับนี้แม้ประเทศมหาอำนาจยังไม่นิ่งนอนใจ ขณะที่ประเทศเรามีทุกอย่างที่จะป้องกันตัวได้ไม่ว่าจะเป็นกองทัพก็สมบูรณ์กว่าเพื่อนบ้าน แต่ว่าการเมืองกลับหลายความคิด ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คนไทยไม่ควรจะนั่งอยู่เฉยๆ ในเมื่อเราเกิดมาที่ประเทศนี้” นาวาเอกประพันธ์กล่าวด้วยแววตาแฝงความรู้สึกที่รักและหวงแหนแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง
เมื่อเดินเลาะไปตามซอกซอยเล็กๆ ของหมู่บ้านก็สังเกตเห็นวิถีชีวิตว่า ทุกบ้านจะมีแปลงผักแปลงดอกไม้ขนาดย่อมๆ เป็นของตัวเอง มีการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ทั้งส่วนกลางและส่วนตัว มีแปลงข้าวโพด มันสำปะหลัง พืชผักสวนครัวและสมุนไพรต่างๆ ปลูกอยู่เป็นหย่อมๆ ตามทางเดินในหมู่บ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในวิถี ‘เกษตราภิวัตน์’ ที่พึ่งพาตนเองอย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
“เรามีโครงการเกษตราภิวัตน์ คนที่อาศัยในหมู่บ้านระยะแรกๆ อาจจะยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้เพราะเพิ่งเข้าไปอยู่ใหม่ แต่จากทุนสนับสนุนที่ได้มาจากทั้งทางอเมริกาและเมืองไทย เราจะนำมาทำเป็นโครงการเกษตราภิวัตน์ที่จะเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรที่จะทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งคาดว่าต่อไปเมื่อสามารถเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรได้จะสามารถเปลี่ยนเป็นทุนและเลี้ยงตัวเองได้ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” ปราโมทย์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ในระยะยาว
โดย พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ หนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มโครงการนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่าหมู่บ้านนี้ไม่เพียงปกป้องดินแดนเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่คนในประเทศได้อีกด้วย
“ไปดูรอบๆ หมู่บ้าน ยังเห็นว่าเขาลำบาก จะต้องเร่งผลิตอาหารตามธรรมชาติเพื่อจะได้มีกินมีใช้ในครัวเรือน ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก ถึงตอนนี้ยังไม่มีพื้นที่มากที่จะทำไร่นาอะไรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมได้ ต้องอาศัยออกไปทำงานข้างนอก แต่เขาก็จะได้เอาเงินจำนวนนั้นมาเก็บออมหรือใช้หนี้ เพราะว่าอาหารในพื้นที่เขาก็ปลูกเองแล้ว"
“ถ้าเราไม่ต้องการอะไรมาก อยู่อย่างพอเพียง อดทนอดกลั้น อดออม แล้วข่มใจหล่อหลอมให้ใจเราพาหายจน บ้านเมืองเราจะมีคนเป็นหนี้น้อยลงมาก หมู่บ้านนี้นอกจากจะได้ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาช่วยปกป้องดินแดนไทยแล้ว ยังเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในวิถีชีวิตแบบพอเพียงที่ไม่ต้องเป็นขอทาน รอประชานิยมจากรัฐบาลด้วย”
ยามเที่ยง แดดร้อนระอุส่องลงมาแผดเผาทั่วทั้งบริเวณหมู่บ้าน ผืนดินแห่งแดนอีสานที่แห้งแล้งยังคงเอกลักษณ์ของมันอยู่ในวันนี้ รอวันที่ต้นไม้ของชาวบ้านซึ่งลงกล้าไว้ เติบใหญ่ปกแผ่ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินและลูกหลานต่อไป แต่แม้แดดจะแรง ลมจะร้อน ทุกบ้านที่เราเดินผ่านก็ล้วนมีรอยยิ้มส่งกลับมาพร้อมคำเชิญชวนให้กินอาหารเที่ยงร่วมกันอย่างมีไมตรีจิต และเมื่อไถ่ถามถึงความเป็นมาเป็นไปที่มาอยู่ที่นี่ของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก และคนวัยกลางคนจนถึงวัยชรา เราก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าแม้จะย้ายมาจากหลากหลายพื้นที่ในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ฯลฯ แต่พวกเขาทุกคนเข้าใจตรงกันและรู้ดีอย่างเต็มหัวใจว่าพวกเขามาอยู่ที่นี่ หมู่บ้านนี้ ด้วยจุดประสงค์อะไร พวกเขาไม่คิดกลัวต่ออันตรายที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและอาจเกิดขึ้นอีก ทั้งยังภาคภูมิใจที่ได้ปกป้องที่แห่งนี้ไว้เพื่อให้ลูกหลานได้มีแผ่นดินอยู่สืบไป
“มาอยู่ที่นี่ ปกป้องดินแดนที่นี่” รวม วินประโคน (บุรีรัมย์)
“อยู่ที่นี่สบายดีครับ มาปกป้องแผ่นดินให้ลูกให้หลาน....ไม่กลัวหรอกครับ” สมชาย ศรีนุนาม (บุรีรัมย์)
“ผมภูมิใจ มาเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยครับผม” บุญเหลือ โยธานันท์ (สุรินทร์)
“ดีใจที่คนไทยของเราที่นี่ตื่นตัวเรื่องแนวตะเข็บชายแดน พวกเรารวมตัวกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวชายแดนเราเสียพื้นที่ให้แก่เขมร หากินไปตามมีตามเกิดแล้วก็หาข้อมูลไปเพื่อให้ชาวไทยได้รับรู้ด้วยครับ” สุวรรณภูมิ สุขทน (บุรีรัมย์)
“กลัวอยู่…แต่สู้! สู้! เพื่อแผ่นดินไทย ภูมิใจที่สุด จะเสียชีวิตในการต่อสู้ก็ไม่ว่า ไม่เสียดาย” หัน คะตะถะ (สุรินทร์)
“แผ่นดินเรา ..ถึงยังไงเราก็แก่แล้ว เราจะต่อสู้เพื่อลูกเพื่อหลาน” แปลก เผ่าพันธุ์ (สุรินทร์)
“ภูมิใจที่ได้ต่อสู้ ต่อสู้ด้วยกัน กลัว..แต่ก็ไม่กลัว” สี สุนุรัตน์ (สุรินทร์)
……….
การเดินทางครั้งนี้ราบรื่นและชื่นใจราวกับอยู่ในโลกความฝัน เพราะตลอดเส้นทางตั้งแต่เริ่มจนกลับ เราได้รับน้ำใจใหญ่น้อยหยิบยื่นเข้ามาไม่ขาดสายจากกลุ่มคนที่เรียกว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีความกลมเกลียวเหนียวแน่นด้วยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ธำรงรักษาชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เข็มนาฬิกาชี้เวลาได้ฤกษ์ เป้าหมายในการมาติดตั้งและอัญเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาในหมู่บ้านเป็นครั้งแรกกำลังจะดำเนินมาใกล้ความเป็นจริง และวันนี้คงไม่เกิดขึ้น หากขาดความเอื้ออาทรจาก ยงยุทธ งามไกวัล เจ้าของโรงงานสแตนเลสที่ช่วยหล่อเสาธงชาติแข็งแรงสูง 15 เมตรให้หมู่บ้านฟรีๆ รวมทั้งลุงเด่น ยศ เด่นไพศาล ที่นำคณะเดินทางมาถึงจุดนี้
แล้วใครคนหนึ่งก็จับไมโครโฟนบอกกล่าวให้ชาวบ้านที่มากันพร้อมหน้าอยู่ในความสงบ ...ทุกคนจัดแถวเข้าที่ ยืนตรงเตรียมพร้อมขณะในแววตาสะท้อนสีไตรรงค์ที่สะบัดพลิ้วปลิวไสวอย่างภาคภูมิใจ แล้วเพลงชาติก็เริ่มบรรเลงขับด้วยเสียงประสานอันพร้อมเพรียงหนักแน่นจากใจของหมู่ชาวบ้านป้องกันชายแดนและผู้มาเยือน
นัยน์ตาที่เอ่อล้นด้วยความรู้สึกทุกดวงจับจ้องไปยังจุดเดียวคือ ธงไทยที่กำลังเคลื่อนขึ้นสู่ยอด เสียงประสานกระหึ่มดังก้องสะท้อนไปทั่วบริเวณตีนเขาชายแดนเมืองสุรินทร์ และคงสะท้อนไกลไปถึงอีกฝั่งผาหนึ่งให้ได้ตระหนักชัดว่าคนฝั่งนี้นั้นมีจิตใจหนักแน่นและมุ่งมั่นที่จะปกป้องแผ่นดินเกิดไว้ด้วยชีวิต
>>>>>>>>>>
........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : วรวิทย์ พาณิชนันท์