xs
xsm
sm
md
lg

‘ประชาทัณฑ์’ การชดใช้กรรมเบื้องต้นของอาชญากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณคิดเห็นอย่างไรกับการประชาทัณฑ์คนร้ายในคดีสะเทือนขวัญ?

ภานุพงษ์ วรรณวงษ์ นักศึกษา
โรงเรียนพณิชยการจรัญสนิทวงศ์ อายุ 19 ปี

“ผมเห็นด้วยกับการรุมประชาทัณฑ์นะ ถ้าคนที่ทำความผิดมันเลวมาก ผมคิดว่าการรุมประชาทัณฑ์มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าคนที่ถูกกระทำ เขาเป็นญาติพี่น้องเรา หรือคนที่เรารู้จัก ถ้าเป็นผม ผมก็จะทำร้ายเขาเหมือนกันครับ”

ชนะกิจ ชายต้น
เจ้าหน้าที่ดูแลสวนสันติชัยปราการ อายุ 49 ปี

“ผมว่าถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ตรงนั้น เราต้องรู้จักควบคุมจิตใจตนเอง ไม่บันดาลโทสะ ทำร้ายเขา ต้องปล่อยให้เป็นไปตามหน้าที่ของตำรวจ เพราะเราต้องเคารพกฎหมายด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้จักห้ามปรามคนที่เขาเข้าไปทำร้ายคนที่กระทำผิดด้วย”

สิทธาภรณ์ โกศะโยดม
ประชาสัมพันธ์โรงเรียนสอนเต้น อายุ 23 ปี

“ไม่เห็นด้วยที่มีการรุมประชาทัณฑ์ค่ะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของกฎหมาย เราเป็นคนข้างนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว แล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้มีการรุมประชาทัณฑ์กันขึ้นค่ะ ถึงแม้ว่าเขาจะทำผิด อย่างน้อยเขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งควรได้รับการปกป้องค่ะ”

อรุณ อ๊อดลาว
วินมอเตอร์ไซค์ อายุ 50 ปี

“ถ้าคนร้ายเป็นคนที่มาทำไม่ดีกับลูกกับหลานเรา เราก็อาจมีอารมณ์ไปทำร้ายเขาบ้าง ซึ่งของแบบนี้มันต้องใช้ระยะเวลา ถ้าผมอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทำร้ายเขารึเปล่า ซึ่งถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีโจทก์ มีจำเลย การทำร้ายผู้ก่อเหตุก็ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีโจทก์ ก็ไม่ควรจะไปทำร้ายเขา มันเป็นการไม่สมควร”

นันทนา คลังนาคู
เจ้าหน้าที่ธุรการบริษัทเอกชน อายุ 24ปี

“ไม่เห็นด้วยค่ะ เราต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายเข้าไปจัดการ แต่ถ้ามองในมุมของผู้ที่ประสบเหตุเอง อย่างกรณีที่เป็นข่าว 'น้องเหนือ' ลูกเราตายแบบเนี้ย เราก็คงต้องทำร้ายเขาเหมือนกัน เพราะเราทำไป เนื่องจากบันดาลโทสะ แต่ถ้ามองจากคนภายนอก มันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรในการไปทำร้ายเขา เพราะยังไงเขาก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว”

ภาพการรุมสหบาทาประชาทัณฑ์ อาจจะถือเป็นภาพชินตาที่ชาวไทยเราเห็นกันตามข่าว ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ หนำซ้ำบางคนก็อาจเคยอยู่ร่วมเหตุการณ์กันมาแล้ว จะว่าไปมาตรการลงโทษคนร้ายของกลุ่มญาติสนิทมิตรสหายของเหยื่อนั้น มีมาเป็นเวลานานเท่าไหร่ อาจจะไม่มีใครรู้ได้ แต่ทุกครั้งที่มีการนำเอาผู้ต้องหาออกมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ก็มักจะโดนทำร้ายจากกลุ่มญาติของเหยื่อเข้าสักดอกสองดอกเป็นอย่างน้อย

ล่าสุดอย่างเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่นาย ทวีชัย นาทองบ่อ ลูกจ้างทำความสะอาดใช้อาวุธมีดจี้จับและแทง ด.ช.ธนภัทร เกตุแก้ว หรือน้องเหนือ วัยเพียง 2 ขวบ 10 เดือน ซึ่งเป็นลูกชายของนายจ้างจนเสียชีวิตด้วยอาการคลุ้มคลั่งจากยาเสพติด ส่งผลให้ในวันที่ทำแผนประกอบคำรับสารภาพนั้น ทั้งพ่อและแม่ของน้องเหนือไม่สามารถสะกดอารมณ์ความแค้นจากการสูญเสียลูกชายได้ และลงไม้ลงมือกับคนร้ายที่ฆ่าลูก รวมไปถึงกลุ่มชาวบ้านและญาติๆ ของน้องเหนือที่เข้ามารุมประชาทัณฑ์ ทั้งเตะ ต่อย ถีบ และด่าทอด้วยความโมโห

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่คนร้ายได้รับการลงโทษแบบทันตาเห็นจากกลุ่มผู้โกรธแค้นในการกระทำ หากจะย้อนไปดูตั้งแต่สมัย 20-30 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีดังอย่างการฆ่าหั่นศพ ยิงนักการเมืองดัง หรือแม้แต่คดีตีนแมวย่องเบา หรือกระชากกระเป๋า ก็ล้วนแต่ตามติดมาด้วยสหบาทาทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ประชาทัณฑ์ส่วนใหญ่ก็มักเห็นได้บ่อยครั้งและชัดเจนที่สุดกับเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนขวัญและสลดใจกับคนในสังคมอย่างมาก เช่น เหตุฆาตกรรมเด็กดังที่ยกมา

ในเรื่องนี้ คนในสังคมไทยก็มีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ที่คนร้ายจะต้องรับกรรม บ้างก็ว่าน่าจะปล่อยให้เป็นขั้นตอนของกฎหมาย แต่ถ้าเราลองนึกถึงใจของพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปจากการกระทำของอาชญากร บางทีการเข้าไปชกหน้าสักทีสองทีก็อาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ

ถึงเป็นคนผิดก็มีสิทธิ์อยู่บ้าง

ในเชิงทฤษฎี แน่นอนว่ามันค่อนข้างจะสวนทางกับอารมณ์ของผู้ร่วมเหตุการณ์ ผศ.ดร. สุณีย์ กัลยะจิตร อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากเป็นผู้ต้องหา ซึ่งยังไม่ถูกพิพากษาจากศาลก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการพิพากษาของประชาชน

“มันเป็นการบริหารจัดการของพนักงานสอบสวนที่ต้องดำเนินการ ในเชิงกฎหมายแล้วมันมีเรื่องของสิทธิของผู้ต้องหา และสิทธิของเหยื่อ เมื่อเขายังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาดำเนินคดี เขาเป็นผู้ต้องหาเฉยๆ ตามกฎหมาย มันคือหลักของรัฐธรรมนูญไทยในหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตกอยู่ในสถานะกระทำความผิด สิทธิในการพิทักษ์ไม่ให้เขาเกิดอันตราย อย่างเช่นการรุมประชาทัณฑ์เป็นสิทธิที่เขาต้องได้รับในการคุ้มครองป้องกัน

“เพราะแน่นอนที่สุดการถูกประชาทัณฑ์นั้นเป็นเรื่องของกระแสสังคม เป็นเรื่องของญาติเหยื่อ ความไม่พึงพอใจในเชิงสังคมของประชาชนที่ได้รับทราบข่าว ซึ่งผู้เข้าไปรุมประชาทัณฑ์เขาก็ผิดกฎหมายในเรื่องของการทำร้ายร่างกาย”

ความปลอดภัยของอาชญากร

แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่าในสังคมไทย การประชาทัณฑ์โดยเฉพาะในคดีที่อุกอาจสะเทือนขวัญ เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ดังนั้น ตำรวจผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ก็คงต้องมีการเตรียมการตามสมควร ในช่วงเวลาที่ผู้ต้องหาต้องออกไปเจอกับบรรดาญาติของผู้เสียหายในวันทำแผน โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละสถานีตำรวจ ในการควบคุมผู้ต้องหาไปทำแผนฯ ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการพิทักษ์สิทธิดังกล่าว โดยมีกลวิธีดังนี้

ตำรวจต้องพกอาวุธปืน จะว่าไปใครๆ ก็กลัวปืนกันทั้งนั้น และตำรวจก็สามารถพกอาวุธได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ควักออกมายิงใคร แต่อย่างน้อยปืนก็ทำให้คนที่คิดจะทำอะไรเกินเลยต้องยั้งคิด

ใช้กำลังล้อม ในการทำแผนนั้น ตำรวจมักจะระดมกองกำลังมาล้อมบริเวณที่จะทำแผนเอาไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาได้รับอันตราย แต่วิธีมักจะใช้ได้ผลกับบรรดาไทยมุงที่มุ่งจะผสมโรงได้ดี แต่กับคดีที่สะเทือนขวัญมากๆ ก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน

หมวกกันน็อค ถ้าหากกำลังล้อมไม่สามารถกันฝูงชนไว้ได้ ก็คงต้องหาทางป้องกันผู้ต้องหาทางอื่นไว้ ที่ผ่านมาก็จะมีการใส่หมวกกันน็อคให้แก่ผู้ต้องหา เพื่อป้องกันการกระแทกศีรษะในขณะชุลมุน

เสื้อเกราะ ในบางครั้งความโกรธแค้นของบรรดาญาติๆ อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของหมัด เท้า เข่า ศอก แต่มันอาจจะลอยมาในรูปของกระสุนปืนลึกลับ ดังนั้นจึงใส่เสื้อเกราะให้แก่ผู้ต้องหา เพื่อไม่ไห้อาชญากรลาโลกไปก่อนกระบวนการการพิจารณาคดี


ซึ่งอุปกรณ์และมาตรการเหล่านี้สะท้อนว่าตำรวจรู้ดีอยู่แล้ว ว่าผู้ต้องหาต้องได้รับอันตรายจึงมีการเตรียมการในเรื่องนี้ ผศ.ดร.สุณีย์ กล่าวต่อว่าการป้องกันผู้ต้องหานั้นมันก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมด้วย อย่างในต่างประเทศที่เคร่งเรื่องสิทธิ เช่น อเมริกา อังกฤษ ฯลฯ คนไม่ได้มานั่งจดจ้องสนใจในสิ่งเหล่านี้ และไม่มีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เพราะเขาคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาเป็นสำคัญ

……….

อารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นเสียใจระคนโมโห คงเป็นสิ่งที่ถาโถมเข้าสู่หัวใจของญาติผู้สูญเสียในคดีอุกอาจและสะเทือนขวัญทั้งหลายทุกคดี และการเข้าทุบตี ตบ เตะต่อย กระทืบถีบที่ตามมาก็คงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่เสียยิ่งกว่าแน่ แม้ผู้ต้องหาหรือผู้ร้ายจะเข้ามอบตัวหรือถูกจับกุม และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่จะต้องเป็นไปตามกระบวนการ เพื่อที่จะจบลงที่การลงโทษตามบทบัญญัติ และตามกรรมที่คนเหล่านั้นได้ก่อไว้ แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนที่ทำร้ายหรือพรากชีวิตคนที่รักไป ใครเล่าจะยั้งมือเท้าไว้ได้อยู่...

>>>>>>>>>>

การประชาฑัณฑ์ในต่างประเทศ
 
ในโลกตะวันตก การประชาทัณฑ์นั้น มีชื่อเรียกว่า Lynching ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่มาจากชื่อของ Charles Lynch ชาวไร่และนักปฏิวัติชาวอเมริกัน ที่เป็นต้นตำรับของการพิพากษาและลงโทษบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ถึงแม้ว่ามันจะแปลว่าการเข้าไปกลุ้มรุมทำร้ายใครคนใดคนหนึ่งด้วยความเกลียดชังเหมือนๆ กับความหมายที่เราคุ้นเคย แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยนั้นกลับแตกต่างออกไป

ในประเทศตะวันตกการประชาทัณฑ์นั้น ปรากฏให้เห็นในอดีตเสียส่วนมาก และมักจะเป็นการเข้าไปทำร้ายกัน เพราะเรื่องที่เป็นความขัดแย้งระดับสังคมอย่างเรื่องของสีผิว หรือศาสนา แต่ในบ้านเรา การประชาทัณฑ์ที่เห็นกันบ่อยๆ นั้นมักจะเกิดขึ้นกับผู้ต้องหาที่คดีสะเทือนขวัญเสียมากกว่า โดยเฉพาะการทำร้ายหรือฆ่าคนที่อ่อนแอไร้ทางสู้อย่างเด็ก สตรี และคนชรา ซึ่งคนที่เข้ามากลุ้มรุมประชาทัณฑ์ โดยมากก็จะเป็นญาติพี่น้องของเหยื่อในคดีนั้นๆ และก็มีหลายหน ที่ไทยมุงซึ่งมาดูการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เกิดอารมณ์ร่วม จนพยายามเข้าไปจัดการผู้ต้องหาเสียเอง

อีกประการที่ทำให้ในโลกตะวัน ไม่มีการประชาทัณฑ์ในลักษณะนี้ อาจเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมของเขาค่อนข้างจะเข้มงวดกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะเข้าไปประชาทัณฑ์คนร้าย เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็อาจจะถูกจับและกลายเป็นผู้ต้องหาไปอีกคนนั่นเอง

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
  
   
 
คำถามวันนี้ : คุณคิดอย่างไรกับการประชาทัณฑ์ ?
กำลังโหลดความคิดเห็น