ถ้าหากมองกันในความหมายทั่วไปแล้ว 'ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการแบ่งปัน' น่าจะเป็นสิ่งที่มีแต่ด้านดี หากแต่ทุกสิ่งในโลก ย่อมมี 2 ด้านเสมอ เรื่องของการแบ่งปันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยเฉพาะการทำซ้ำและแบ่งปันของที่ไม่ใช่ของเรา เพราะการกระทำแบบนั้น มันเข้าข่ายการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตัวอย่างที่เห็นกันได้ทั่วไปก็คือการละเลิดสิขสิทธ์หนัง, เพลง หรือไม่ก็พวกซอฟต์แวร์ต่างๆ
ในอดีต การแบ่งปันเพลง หนัง และสื่อต่างๆ เป็นไปอย่างไม่สะดวกสบายนัก เพราะข้อมูลเหล่านั้นถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของแถบแม่เหล็ก อย่างเช่นถ้าเป็นเพลงเทปคาสเซ็ทท์ หรือถ้าเป็นภาพยนตร์ก็ถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของม้วนวิดีโอ
การที่จะทำซ้ำเพื่อเก็บไว้หรือจ่ายแจกนั้น ก็ทำได้ไม่ง่ายและไม่สามารถทำได้ทีละมากๆ แต่ต่อมา ทั้งหนังทั้งเพลง รวมไปถึงสื่ออื่นๆ ก็ได้ถูกแปลงจากไฟล์อะนาล็อกให้กลายเป็นไฟล์ดิจิตอลที่สามารถทำซ้ำและส่งให้กันได้ง่ายดายกว่าเดิม กระนั้นด้วยขนาดของไฟล์ที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้การแชร์ไฟล์เหล่านี้ ถูกจำกัดวงไว้สำหรับคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และส่วนมากก็มักจะเป็นการถ่ายโอนข้อมูลจากผู้ให้บริการ ไปสู่ผู้บริโภคทางเดียว
แต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2544 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา พ่อหนุ่มนักโปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกัน ที่มีนามว่า บราห์ม โคเฮน ได้โพสต์ประกาศในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ยาฮู ให้คนทั่วไปได้รับทราบว่าตอนนี้เขาได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถแชร์ไฟล์ให้กันได้ในลักษณะของ P2P (Peer-to-Peer) ได้แล้ว โดยเขาให้ชื่อโปรแกรมนั้นว่า ‘บิท ทอร์เรนต์’
ลักษณะการทำงานของบิท ทอร์เรนต์นั้น จะเป็นการแชร์ไฟล์จากเครื่องของเราไปยังเครื่องของคนอื่นได้โดยตรง ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถรับไฟล์งานจากเครื่องของคนอื่นได้ด้วย โดยทุกเครื่องจะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ โดยไฟล์ที่ทำการส่งนั้นจะถูกแบ่งเป็นส่วนๆ เหมือนกับจิ๊กซอว์ และทันทีที่เครื่องของเราได้รับชิ้นส่วนไฟล์มา คอมพิวเตอร์ของเราก็สามารถส่งต่อชิ้นส่วนไฟล์ที่ได้รับมาแล้วให้เครื่องอื่นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องรอให้ไฟล์ทั้งไฟล์โหลดมาจนครบสมบูรณ์ นั่นทำให้โลกของการแบ่งปันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีศักยภาพและรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่านัก
10 ปีผ่านไป บิท ทอร์เรนต์ ได้รับความนิยมจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างสูง โลกของการแบ่งปันเดินเข้าสู่สภาวะไร้พรหมแดน จริงๆ มันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถ้าหากทุกคนแบ่งปันสิ่งที่ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด ในหลายโอกาส บิท ทอร์เรนต์ ได้กลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการกระทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ, เพลง และภาพยนตร์
นับได้ว่าการมาถึงของบิท ทอร์เรนต์ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีในการบริโภคของคนไปอย่างมหาศาล และส่งผลสะเทือนไปยังธุรกิจหลากหลายธุรกิจอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ของฟรีจะมีใครไม่เอา
“เมื่อ บิท ทอร์เรนต์มันเกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนเรามันก็เปลี่ยน อย่างเรื่องของการบริโภค หนังสือ เพลง หนัง จากที่เคยขายได้ ทีนี้พอเปลี่ยนมาเป็นดิจิตอลไฟล์มันก็สามารถทำซ้ำได้ง่ายขึ้น บิท ทอร์เรนต์นั้น ก็เข้ามาช่วยในเรื่องของการดาวน์โหลดไฟล์ใหญ่ๆ ให้มีความเสถียรมากขึ้น ถ้าใช้บิท ทอร์เรนต์โหลด หากอินเทอร์เน็ตหลุดเราก็ไม่ต้องเริ่มดาวน์โหลดใหม่ สามารถดาวน์โหลดต่อจากเดิมได้เลย มันทำให้เกิดการแชร์ไฟล์กันบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นและสะดวกขึ้น”
ดร. ภิเษก ชัยนิรันด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลเน็ตเวิร์ก กล่าว พร้อมเสริมว่าการเข้ามาของบิท ทอร์เรนต์นั้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคสื่อจำพวกดิจิตอลไฟล์เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการซื้อขาย กลับกลายมาเป็นการแชร์ไฟล์และดาวน์โหลดแทน จากของที่เคยขายและทำเงินได้ ก็กลายมาเป็นของฟรีที่ใครๆ ก็แชร์ให้กัน
“ความเร็วของอินเทอร์เน็ตมันเร็วมากขึ้น แต่ก่อนโหลดหนังเรื่องหนึ่งอาจใช้เวลาเป็นวัน แต่ตอนนี้แป๊บเดียวก็ได้หนังเรื่องหนึ่งมาดูแล้วด้วยพลังของบิท ทอร์เรนต์ผนวกกับความเร็วของอินเทอร์เน็ต อุตสาหกรรมเพลง หนัง ก็ได้รับความเดือดร้อน พวกหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะมันสามารถทำให้เป็นไฟล์ดิจิตอล (.pdf) และนำไปแชร์ได้เหมือนกัน ฉะนั้นพวกนี้มันก็จะอยู่ยากขึ้น การเปลี่ยนแปลงก็คือพวกค่ายเพลง, ค่ายหนัง, สำนักพิมพ์ ฯลฯ ก็ต้องมองหาช่องทางของรายได้อื่น
“เท่าที่เห็น คนไทยเองก็ค่อนข้างที่จะละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่าฝรั่ง ซอฟต์แวร์ที่คนไทยผลิตเองแทบจะไม่มีเลยเพราะผลิตขึ้นมาก็โดนนำไปแชร์ให้ดาวน์โหลดฟรี ตรงนี้มันทำให้ทำลายอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ได้ ยกตัวอย่างไมโครซอฟต์ที่รวยระดับโลก เพราะเขาขายซอฟต์แวร์ได้นะ แต่ถ้าพฤติกรรมของคนบนโลกนี้เหมือนคนไทยหมด บิล เกตส์ จะไม่รวยที่สุดในโลก ปัญหาการก๊อบปี้มันก็ทำให้คนผลิตนั้นไม่อยากผลิตเพราะว่ามันขายไม่ได้ มันก็จะไม่มีการพัฒนาในเรื่องของชิ้นงาน”
เรียกได้ว่า การมาถึงของบิท ทอร์เรนต์นั้น ทำให้คนที่ทำมาหากินกับของที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกัน
อาชญากรรมและการลงฑัณฑ์
หากกล่าวถึงบิท ทอร์เรนต์ และการดาวน์โหลดแบบละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คงหนีไม่พ้นค่ายหนัง ค่ายเพลง และบริษัทสร้างสรรค์สื่อต่างๆ หลายบริษัทที่ผลิตงานขึ้นมาขายแต่สุดท้ายก็ถูกนำไปแจกกันฟรีๆ นั่นทำให้เรื่องของลิขสิทธิ์แทบจะหมดความหมายไปเลย
“จริงๆ แล้ว การจัดเก็บลิขสิทธิ์จะต้องจัดเก็บกับผู้ที่นำงานไปใช้หาประโยชน์ การนำไปแชร์ผ่านบิท ทอร์เรนต์ มันเป็นการแชร์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวก็จริง แต่มันก็ส่งผลกระทบมาก มันทำให้มีคนไปซื้อของจากแหล่งที่ถูกต้องลดน้อยลง แล้วทางองค์กรเองก็ไม่สามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ใช้งานผิดกฎหมายเหล่านี้ได้”
จิตราภา พยัคฆโส ผู้จัดการทั่วไป บริษัทลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ค่ายเพลงต่างๆ กล่าวถึงผลกระทบหลักของการดาวน์โหลดสื่อละเมิดลิขสิทธิ์ตามเว็บบิท ทอร์เรนต์
โดยก่อนบิท ทอร์เรนต์ จะเข้ามาได้รับความนิยมนั้น จิตราภา เล่าว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ก็มีอยู่บ้างเพียงแต่ไม่หนักหนาเท่าในปัจจุบันนี้ ทางบริษัทก็ใช้วิธีการขอความร่วมมือไปยังผู้ที่ให้บริการในการช่วยตรวจสอบและสอดส่องว่ามีการดาวน์โหลดที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะโดยส่วนตัวแล้วเธอเชื่อว่า บิท ทอร์เรนต์ คงไม่มีเจตนาในการสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีการส่งข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
แต่นอกจากการขอความร่วมมือแล้ว ผู้เดือดร้อนจากการถูกละเมิดก็ยังมีการปราบปรามคู่ขนานกันไปด้วย โดย พิเศษ จียาศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทยกล่าวว่า ขณะนี้มีการดำเนินคดีกับเว็บไซต์ต่างๆ อยู่ถึง 4 คดี โดยเว็บไซต์เหล่านี้มีการดำเนินการให้ผู้ใช้จ่ายเงินค่าสมาชิกก่อน จากนั้นก็บอกรหัสผ่านกับผู้ที่เป็นสมาชิกเข้าไปดาวน์โหลดสิ่งต่างๆ ซึ่งหากสอบสวนแล้วมีความผิดจริง คนที่ละเมิดลิขสิทธิ์จะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปี และปรับไม่เกิน 800,000 บาท
แง่ดียังมีอยู่
แต่กระนั้น การใช้งานบิท ทอร์เรนต์ ก็ไม่ได้มีแต่ด้านมืดเท่านั้น เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักมันในภาพลบมากกว่าภาพบวก
ชัญญ่า ทามาดะ เซเลบริตีสาว ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมบิท ทอร์เรนต์ ว่าเคยรู้จักมาก่อนอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยได้ใช้ ทว่ามักจะเห็นเพื่อนๆ ในกลุ่มใช้กันอยู่
“เราจะเห็นเพื่อนแชร์กัน โหลดแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ อยู่นะใช้กันเยอะด้วย เห็นเพื่อนโหลดเพลงกันอยู่ ซึ่งถ้ามีกฎหมายพูดถึงกรณีนี้ มันก็น่าจะผิดนะ”
แม้การโหลดหนังโหลดเพลงผ่านบิท ทอร์เรนต์ จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าถามว่าการมีอยู่ของบิท ทอร์เรนต์มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบันไหม ชัญญ่าก็คิดว่าถ้ามีความจำเป็นต้องใช้มันก็มีประโยชน์ แน่นอน
“เวลาเราโหลดอะไรแล้วใช้ตัวนี้โหลด มันได้รวดเร็วทันใจดีนะ จริงๆ มันก็แชร์กันได้หลายอย่างไม่ใช่เฉพาะเพลงหรือหนังเท่านั้น ไฟล์งานอย่างอื่นก็แชร์ได้ จึงคิดว่ามันก็มีประโยชน์อยู่ และมีความจำเป็นในการส่งต่อข้อมูลให้กัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ในเรื่องของการแชร์ไฟล์ หนังหรือเพลง ถ้าเราเป็นคนที่ทำเพลงหรือเป็นเจ้าของผลงาน เราก็คงไม่พอใจแน่ๆ ก็คงแอบงอน หรือเสียใจเหมือนกันที่มีคนแอบแชร์ผลงานของเรา”
แม้บิท ทอร์เรนต์ จะกลายเป็นช่องทางในการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ยากต่อการควบคุมดูแล เพราะต่อให้มีกฎหมายมาบังคับใช้ก็คงยากที่จะห้ามปรามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีเป็นล้านล้านคนทั่วโลก แต่ถ้าหากนำมันไปใช้ให้ถูกวิธี มันก็มีข้อดีอยู่มาก ดังที่ ดร. ภิเษก ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
“จริงๆ บิท ทอร์เรนต์เอง มันไม่ใช่ซอฟต์แวร์ที่ทำมาเพื่อเอื้อต่อการละเมิดลิขสิทธิ์หรอก แต่คนใช้นำมาใช้อย่างผิดวิธี สังคมการแชร์ไฟล์ มันก็ยังมีกันต่อไป และยังคงมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันต่อไปด้วย อย่างลูกศิษย์ผมเขาไม่เคยซื้อหนังแผ่นมาดูเลยนะ เขาก็ไปดาวน์โหลดแบบนี้มาดูกัน เพราะฉะนั้นผมว่ามันก็ยังเป็นปัญหาต่อตัวอุตสาหกรรมต่างๆ แน่นอน ดังนั้นหลายๆ ฝ่ายอาจจะต้องมาร่วมคิดว่า ควรจัดการอย่างไรต่อไปดี”
..........
การที่โลกของการแบ่งปัน (ทั้งแง่บวกและแง่ลบ) ของเมื่อ 10 ปีก่อนกับในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนหนึ่งนั้น ย่อมเกิดจากเทคโนโลยีในการแชร์ไฟล์ที่มีประสิทธิภาพอย่าง บิท ทอร์เรนต์ แต่เหตุผลหลักที่ทำให้โลกของการแบ่งปันกลายเป็นโลกใบเดียวกับโลกของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ก็คงจะหนีไม่พ้นวิธีการในการเลือกใช้เทคโนโลยีของมนุษย์เอง ที่สามารถบันดาลให้ของที่ตั้งใจสร้างมาให้ก่อประโยชน์ กลายเป็นสิ่งที่ก่อโทษขึ้นมา
>>>>>>>>>>
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของการแบ่งปันไฟล์
ก่อนปี 2513 - เพลงต่างๆ จากที่เคยเก็บไว้ในรูปแบบของแผ่นเสียง ก็ถูกนำมาจัดเก็บไว้ในรูปแบบของแถบแม่เหล็ก ที่สามารถมีการทำซ้ำได้ แต่ไม่ง่ายดายนัก
ปี 2514 - เกิดดิสเกต 8 นิ้วขึ้น โดยการพัฒนาของ ไอบีเอ็ม นับว่าเป็นสื่อที่บันทึกข้อมูลดิจิตอลชิ้นแรกๆ ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก
เดือนมีนาคม ปี 2543 - เนปสเตอร์ ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนไฟล์เพลง
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2544 - เนปสเตอร์มีสมาชิกถีบตัวขึ้นถึง 26.4 ล้านคน แต่ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้น เนปสเตอร์ก็ต้องปิดตัวลงเพราะคำสั่งของศาล
1 กรกฎาคม ปี 2544 - บิท ทอร์เรนต์ ถือกำเนิดขึ้นมา นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการแชร์ไฟล์
ตุลาคม ปี 2545 - เปิดตัวโปรแกรม Soulseek ซึ่งเป็นโปรแกรมแชร์ไฟล์เพลง P2P อีกตัวที่ได้รับความนิยมในช่วงสั้นๆ
21 พฤศจิกายน ปี 2546 — The Pirate Bay (TPB) เว็บบิท ทอร์เรนต์ชื่อดังสัญชาติสวีเดนได้เปิดตัวขึ้น และยังคงให้บริการมาจนปัจจุบัน แม้จะมีปัญหาเรื่องคดีความอยู่มากมาย
ปัจจุบัน - มีเว็บไซต์บิท ทอร์เรนต์ เกิดขึ้นมากมายนับร้อยนับพันแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดให้แก่คนทั่วไปเข้าไปดาวน์โหลดได้อย่างอิสระ และแบบระบบปิดที่ต้องสมัครสมาชิกก่อนจึงจะเข้าไปดาวน์โหลดสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งเว็บไซต์ทั้งสองแบบ เต็มไปด้วยเพลง หนัง โปรแกรม หนังสือ ฯลฯ ให้เข้าไปดาวน์โหลดได้แบบไม่ต้องเสียเงิน แน่นอน ว่าเกือบทั้งหมดเป็นของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK