xs
xsm
sm
md
lg

ก๊วนชวนถีบ...จักรยานนี้ไม่มีเบรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีน สาวน้อยปั่นฟิกเกียร์
 
“ฟิกเกียร์” เป็นจักรยานที่ไม่นิยมติดเบรก สำหรับผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยานแบบฟรีเท้าไม่ได้ จึงเป็นความท้าทายสำหรับคนหนุ่มสาวนักปั่นน่องเหล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นไทยจนเกิดกระแสแฟชั่นฟิกเกียร์ให้หนุ่มๆ สาวๆ นัดรวมตัวกันมาปั่นอย่างเพลิดเพลิน วันนี้ M-Relax จึงอยากชวนทุกคนมาสนุกไปกับการปั่นฟิกเกียร์กัน ถ้าพร้อมแล้วก็ปั่นเลย!

จักรยานฟิกเกียร์จะมีความคล้ายคลึงกับจักรยานที่ใช้สำหรับแข่งขันในประเภทลู่ แต่ถูกผลิตหรือดัดแปลงมาเพื่อใช้บนถนนทั่วไป โดยลักษณะเฉพาะของจักรยานประเภทนี้จะไม่มีเกียร์ คือจะมีเฟืองหลังเพียงอันเดียว ฉะนั้นลักษณะการปั่นจะฟรีเท้าไม่ได้

ด้วยลักษณะพิเศษนี้จักรยานฟิกเกียร์จึงมีความคล่องตัวสูง และประกอบกับไม่ต้องการการดูแลรักษามาก อีกทั้งในปัจจุบันได้มีกลุ่มวัยรุ่นหันมาตกแต่งจักรยานฟิกเกียร์ให้มีสีสันสวยงามสะดุดตา จึงยิ่งทำให้จักรยานประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่มีคนปั่นแค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

Bkkfixed ฟิกเกียร์กลุ่มแรกของไทย
บอล-กันตพัฒน์ สิริเกียรติยศ เจ้าของร้าน Sneaka Villa ผู้ก่อตั้ง Bkkfixed ฟิกเกียร์กลุ่มแรกในไทย เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี 2007 ผมได้ไปเที่ยวที่ประเทศอเมริกามาประมาณ 1 เดือน และช่วงนั้นฟิกเกียร์ในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างบูม มันเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาเอ็กซ์ตรีม ส่วนใหญ่เป็นพวกวัยรุ่นตามท้องถนนที่ชอบแต่งตัวสตรีทแฟชั่น เขาหันมาปั่นฟิกเกียร์กันเยอะ

หลังจากนั้นเมื่อบอลกลับมาเมืองไทยได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจักรยานฟิกเกียร์ จึงรู้ว่าคือจักรยานประเภทลู่เหมือนกับที่ใช้ในการแข่งขันปั่นจักรยานทั่วไป แต่มีความแตกต่างกันตรงที่การทดรอบของชุดเกียร์

“ชุดเกียร์จักรยานที่ใช้ในการแข่งทั่วไปจะทดรอบค่อนข้างสูง เมื่อปั่นรอบหนึ่งแล้วแรงมันค่อนข้างเยอะ เมื่อแรงค่อนข้างเยอะเราจะเบรกค่อนข้างยาก แต่สำหรับฟิกเกียร์จะมีการเซ็ตเกียร์ให้เบาลง จึงทำให้เมื่อปั่นรอบหนึ่งรถจึงไปได้ไม่แรงมากเพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้บนท้องถนนได้มากกว่า”

“ช่วงแรกๆ หาซื้อมาได้ประมาณ 20 กว่าคัน ตอนนั้นจะราคาถูกมาก ประมาณคันละ 10,000 กว่าบาท เราก็ขายต่อเพื่อนๆ ที่มาเล่นด้วยกัน จนเพื่อนมีครบหมดแล้วจึงสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมากับรุ่นพี่อีกสองสามคน และหนึ่งในนั้นก็มีพี่ เจ-มณฑล จิรา ด้วย จึงมีการเริ่มก่อตั้งกลุ่ม Bkkfixedขึ้นมาประมาณปี 2007-2008 เพื่อนัดรวมตัวกันปั่นรอบกรุงเทพฯทุกอาทิตย์ เป็นที่สนุกสนานกัน”

“หลักๆ เลยจะมีการรวมตัวกันที่สยามฯ เริ่มปั่นจากที่นั่นแล้วปั่นไปกินข้าวกันที่เยาวราช ปั่นรอบกรุงเก่าไปวนแถวสนามหลวง วัดพระแก้ว และพักเบรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อาจมีซ้อมเล่นท่าผาดโผนกันนิดหน่อย หรือนั่งคุยชิลๆ กันสักพักจึงปั่นกลับมาที่สยามฯแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน

ส่วนใหญ่กลุ่มเราจะไปที่เดิมๆ เราชอบปั่นตรงเมืองเก่าเพราะว่าช่วงนั้นตอนกลางคืนรถจะไม่เยอะ อีกอย่างหนึ่งควันพิษไม่เยอะ และบรรยากาศดี กลุ่มเพื่อนที่ปั่นด้วยกันจะออกแนวติสท์ๆ ศิลปินหน่อย เราปั่นเพื่อออกกำลังกายมากกว่าที่จะปั่นเที่ยวไปในที่อื่นๆ อาจจะนัดปั่นอาทิตย์ละครั้ง สองครั้งแล้วแต่เวลาว่าง”

จากนั้นมากระแสฟิกเกียร์ก็เริ่มตื่นตัวในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีสถานที่รองรับสำหรับการปั่นจักรยานประเภทลู่ หรือที่เรียกว่าเวลโลโดม ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ที่หัวหมาก กรุงเทพฯ นครราชสีมา และเชียงใหม่ จึงทำให้ผู้ชื่นชอบฟิกเกียร์ในเมืองไทยพยายามหาซื้อจักรยานภายในประเทศ จากที่เคยหาซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับฟิกเกียร์ไม่ได้เลย แต่เดี๋ยวนี้หาง่ายและสะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีขายตามท้องตลาดทั่วไปแล้ว

กระแสนิยมฟิกเกียร์มาแรง
ความนิยมของจักรยานฟิกเกียร์ได้ไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้เล่นก็มีหลายกลุ่มด้วยกัน ส่วนร้านค้าที่ขายจักรยานฟิกเกียร์นั้นก็เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดกว่า 50ร้าน ถ้าคิดกระแสความนิยมฟิกเกียร์ในเอเชียแล้วประเทศไทยรองญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นเอง

จากเดิมสำหรับการปั่นฟิกเกียร์นั้น ส่วนใหญ่คนที่ชอบการปั่นจักรยานลักษณะนี้จะเน้นความสนุกสนาน สบายๆ แบบชิลๆ และเป็นกันเอง แต่ตอนนี้ฟิกเกียร์ได้แบ่งออกเป็นอีกสายหนึ่ง เรียกว่าสายทริก คือได้เอาฟิกเกียร์ไปเปลี่ยนเป็นล้อเล็ก หรือเปลี่ยนเป็นล้อยางขนาดใหญ่ มีหน้ายางกว้างขึ้นและสร้างโครงรถขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายบีเอ็มเอ็กซ์คันใหญ่ แล้วมีการเล่นท่าต่างๆ นานาเหมือนบีเอ็มเอ็กซ์ จึงทำให้เสน่ห์ของฟิกเกียร์หายไปแต่ยังคงลักษณะเฉพาะคือการฟรีเท้าไม่ได้เหมือนเดิม

“เสน่ห์ของฟิกเกียร์เป็นการปั่นไปตามที่ต่างๆ เพื่อออกกำลังกายแบบชิลๆ อาจเล่นท่านิดหน่อย แต่จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ทั่วไปไม่เหมาะกับการปั่นชิลๆ เพราะเขาจะเซ็ตรถมาสำหรับการปั่นให้ถี่มากเพื่อจะได้รอบและได้ความเร็ว เพราะเขาจะใช้เกียร์เบาสุดๆ และอาจมีติดกิฟด้านหน้าเพื่อใช้ปีนขอบเล่นท่าผาดโผนได้ และเดี๋ยวนี้คนเล่นบีเอ็มเอ็กซ์ก็หันมาเล่นฟิกเกียร์ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

อย่างการเล่นท่า แทร็กสแตนด์ เป็นการสร้างบาลานซ์ให้เกิดขึ้นระหว่างล้อหน้ากับล้อหลังโดยไม่เอาเท้าแตะพื้น พอเวลาติดไฟแดงเราทำแทร็กสแตนด์ทรงตัวอยู่ พอไฟเขียวปุ๊บ คนที่เล็งเราอยู่ข้างทางเขาก็ตบมือให้กันใหญ่เลย (หัวเราะ) ตอนเริ่มเล่นท่าหัดจากการดูคลิปการเล่นของต่างประเทศ การไม่มีคนสอนจึงจับทริกยาก แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่มีกลุ่มเพื่อนสอนมากขึ้นก็เริ่มทำได้ง่าย”

สำหรับคนที่อยากลองเล่น แนะนำให้เข้าไปดูใน www.bkkfixed.net ซึ่งเป็นอีกสังคมหนึ่งของกลุ่มคนเล่นฟิกเกียร์ ภายในเว็บไซต์สามารถศึกษาเกี่ยวกับจักรยานฟิกเกียร์มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ตัวเองว่าเราชอบแบบไหน และควรซื้อจักรยานอย่างไร แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บอลยังคงบอกเราเสมอว่า “เสน่ห์ของฟิกเกียร์ ผมว่ามันอยู่ที่การปั่นมากกว่าการที่เราจะเอาไปเล่นท่าผาดโผนกัน”

ปั่นฟิกเกียร์กับสาวๆ
เสน่ห์ของฟิกเกียร์ยังเป็นที่ถูกใจสาวๆ กลุ่มเลดี้ฟิกเกียร์ (Lady fixedgear) ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมดที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานฟิกเกียร์ และหนึ่งในนั้นก็คือ ซีน-ณัฐธิดา สว่างพล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่าเราเป็นผู้หญิงกลุ่มแรกๆ ที่ปั่นจักรยานประเภทนี้และใช้ชื่อว่าเลดี้ฟิกเกียร์ (Lady fixedgear) มีประมาณ 5-6 คน ส่วนใหญ่ทุกคนอาศัยอยู่ในกรุงเทพ เผอิญบ้านซีนอยู่แถวมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ก็เลยชวนเพื่อนๆ ปั่นฟิกเกียร์อยู่แถวนั้นเป็นประจำ และนานๆ ทีซีนก็จะปั่นไปลานพระบรมรูปทรงม้า บางทีก็ไปถึงสุขุมวิท ซึ่งจะมีเพื่อนอีกแก๊งหนึ่งที่เป็นผู้ชายมาปั่นด้วยกันเพราะมันดูปลอดภัยกว่า

นอกจากการเล่นท่าผาดโผนของจักรยานฟิกเกียร์จะเป็นเทรนด์ฮิตของกลุ่มวัยรุ่นแล้ว แฟชั่นการแต่งรถจักรยานคู่ใจนี้ก็เข้ามาเป็นกระแสนิยมอีกอย่างหนึ่งในการดึงดูดใจวัยรุ่นเช่นกัน

“แรกๆ เลยนะตอนที่ซีนเล่นมันยังไม่ฮิต ไม่มีเทรนด์เรื่องแฟชั่น เมื่อ 3 ปีที่แล้วตอนนั้นแทบจะไม่มีคนรู้จักจักรยานฟิกเกียร์เลย มีประมาณไม่ถึง 30 คนเลยด้วยซ้ำที่ปั่นในกรุงเทพฯ แต่ที่เป็นกระแสฮิตของกลุ่มวัยรุ่นเพราะว่าจักรยานฟิกเกียร์สามารถแต่งให้เป็นยังไงก็ได้ พอแต่งแล้วมันสวย คนก็เลยคิดว่ามันเป็นแฟชั่นที่กำลังเข้ามา ตอนนี้สำหรับผู้หญิงที่ปั่นก็มีประมาณ 30 คน แต่ถ้าเอาเฉพาะในกรุงเทพฯก็มี 20 กว่าคนได้”

“ซีนคิดว่าเสน่ห์ของมันอยู่ตรงที่ไม่มีเบรก (หัวเราะ) ตอนแรกที่ปั่นซีนยังติดตั้งเบรกอยู่ ประมาณ 1-2 เดือนเราก็เอาเบรกออกเพราะเราเริ่มคุ้นเคยกับมัน อย่างคนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ก็จะแนะนำให้ติดเบรกก่อนให้รู้สึกว่าเราชินกับรถก่อน และสามารถเบรกได้โดยที่ไม่ต้องใช้เบรกแล้วค่อยเอาเบรกออกจะดีที่สุด”

สำหรับจักรยานฟิกเกียร์จะมีวิธีเบรกโดยการต้านแรงหมุนของล้อ ซึ่งจะมีสายคล้องเท้าตรงบันไดของจักรยานไว้ต้านแรงขับเคลื่อนของล้อเพื่อชะลอความเร็วลง เนื่องจากฟิกเกียร์เป็นจักรยานที่ฟรีเท้าไม่ได้ จึงเป็นลักษณะเฉพาะที่ต่างจากรถจักรยานทั่วไป

“ซีนชอบปั่นจักรยานแบบฟรีเท้าไม่ได้มากกว่านะ เพราะมันสนุกกว่า เราต้องลองปั่นพอปั่นไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกสนุก ความเร็วในการปั่นมันขึ้นอยู่กับการเลือกอะไหล่ ถ้าอะไหล่คุณภาพดีก็จะทำให้ปั่นได้อย่างสบาย ซึ่งเดี๋ยวนี้เฟรมหรือโครงสร้างที่ผลิตในเมืองไทยค่อนข้างถูกประมาณ 5,000-6,000 บาทก็ซื้อได้แล้ว ซึ่งเด็กวัยรุ่นชอบซื้อมาแต่ง แต่คุณภาพมันก็ไม่ดีนัก เพราะส่วนใหญ่เขาแต่งกันเป็นแฟชั่นมากกว่า ถ้าจะให้มีคุณภาพดีขึ้นมาหน่อยก็ราคาประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป”

“คลาสสิกฟิกเกียร์” รสนิยมราคาแพง
ตอนนี้ราคาจักรยานฟิกเกียร์พอยิ่งฮิตหลายแบรนด์ก็ออกมาทำมากขึ้น ฉะนั้นจะเห็นว่ามีราคาถูกลง เริ่มต้นที่ 5,000 บาทก็สามารถหาซื้อได้แล้วแต่คุณภาพไม่ดีนัก ซึ่งบางคันไม่มีติดแบรนด์เลยด้วยซ้ำ หรือถ้าซื้อในราคา 10,000 ก็เพิ่มระดับขึ้นมาหน่อยแต่คุณภาพยังไม่ดีพอ ถ้าจะให้ดีเลยก็ตกคันละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท เมื่อผลิตออกมาเยอะขึ้น สิ่งที่ทำให้ดูแพงจึงเป็นกลุ่มรถจักรยานคลาสสิกซึ่งได้เลิกผลิตแล้ว ทำให้มีราคาสูงขึ้นกว่าจักรยานฟิกเกียร์ที่ผลิตในปัจจุบันนี้มาก

ผู้ก่อตั้ง Bkkfixed ได้บอกว่า จักรยานคลาสสิกจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือคลาสสิกของยุโรป และญี่ปุ่น จักรยานฟิกเกียร์ที่เห็นอยู่ในตอนนี้จะเป็นรถใหม่ทั้งหมด แต่สำหรับคนที่ชอบสะสมจักรยานส่วนใหญ่เขาจะเก็บรถเก่าซึ่งเลิกผลิตไปแล้ว บางทีคนทำเฟรมหรือตัวโครงรถนั้นอาจเสียชีวิตไปแล้ว อย่างที่ผมมีก็เป็นของญี่ปุ่น ยี่ห้อนากาซาว่า สำหรับเฟรมนากาซาว่า ผมไม่แน่ใจว่าเขาเลิกผลิตหรือยัง แต่คนทำเขาแก่มากแล้ว คือถ้าจะผลิตต้องใช้เวลาถึง 24 เดือนในการผลิต และค่าผลิตต่อเฟรมอยู่ที่ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ”

“ของผมซื้อเฟรมญี่ปุ่นเป็นของคนที่เขาเคยลงแข่งขัน แล้วเขาไม่ได้แข่งแล้ว ซึ่งนากาซาว่าเป็นคนตัดเฟรมรถจักรยานให้นักแข่งซึ่งเป็นแชมป์ถึง 10 ปีซ้อน ฉะนั้นเฟรมของคนนี้ก็จะดังในระดับหนึ่ง”

ดังนั้นรถจักรยานในแต่ละคันจะมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันเพราะตัวเฟรมแต่ละอันไม่เหมือนกันนั่นเอง อาจจะเรียกได้ว่าจักรยานแฮนด์เมดก็ได้ ถ้าเป็นจักรยานรุ่นเก่าๆ จะเป็นของนักกีฬาที่เขาขายต่อ หรือไม่ก็ตัดเฟรมมาให้เพื่อซ้อมหรือเพื่อลงแข่งจริง ซึ่งรุ่นเก่านี้จะมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ข้อต่อ หรือเรียกว่า ลักส์ (Lugz) นั่นเอง ซึ่งเป็นข้อเสียบโดยใช้ความร้อนบีบให้ติดกัน แต่สมัยใหม่นี้ข้อต่อต่างๆ จะใช้การเชื่อมเป็นหลัก

“เสน่ห์ของจักรยานรุ่นเก่าจึงอยู่ตรงข้อต่อ ซึ่งข้อต่อของนากาซาว่าก็มีหลายแบรนด์ซื้อไปติดเป็นแบรนด์ของตัวเองแล้วเหมือนกัน และจักรยานหลายแบรนด์ในทุกวันนี้ก็ทำฟิกเกียร์ด้วย แม้กระทั่ง LA Bicycle ก็ทำแล้ว ส่วนใหญ่ก็มีความเหมือนกัน ต่างกันตรงยี่ห้อและสเปกที่ทำขึ้นมาแค่นั้น”

สถานที่เลือกซื้อจักรยานฟิกเกียร์ซึ่งปัจจุบันหาง่ายและมีเกือบทุกร้าน สำหรับในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นแถววงเวียนใหญ่ ลาดพร้าวโชคชัย 4 สุขุมวิท101/1 บางนา และศรีนครินทร์ เรียกได้ว่าแทบทุกเขตในกรุงเทพมหานครก็เลือกจับจองเป็นเจ้าของกันได้

ฟิกเกียร์มีอะไรมากกว่าแฟชั่น
คนปั่นจักรยานฟิกเกียร์ส่วนหนึ่งมาพร้อมกับเรื่องของแฟชั่น แต่สำหรับคนบางกลุ่มนิยมเล่นฟิกเกียร์โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนอินเทรนด์หรือติดแฟชั่นอะไร เพราะว่ามีหลายคนที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กลุ่มวัยรุ่นเยอะกว่าเนื่องจากมีการคอนเน็กชันกับกลุ่มเพื่อนๆ ได้ง่ายกว่า จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสังคมของคนรักการปั่นจักรยานฟิกเกียร์

“ฟิกเกียร์เล่นแล้วได้สุขภาพ ได้เพื่อนที่มีไอเดียในการแต่งรถ บางคนได้เฟรมมาอย่างเดียว เขาก็คิดแล้วว่าจะแต่งอย่างไรให้เข้ากับตัวเขา บางคนเขาอยากจะทำสีหรือใส่ล้อสี แฟชั่นการตกแต่งส่วนใหญ่จะเน้นเป็นสีสันมากกว่า แต่ยิ่งแต่งมากสมรรถภาพของรถจักรยานก็เปลี่ยนไป แต่สำหรับผมเองจะพยายามแต่งให้คลาสสิกที่สุด คือการใช้ของเดิมเกือบหมด มีปรับเปลี่ยนแค่แฮนด์รถ และยางล้อเท่านั้น”

“ผมมองว่าจักรยานฟิกเกียร์มันเป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่มีความเท่ในตัวของมันเอง และเราได้ออกกำลังกายด้วย บางคนอาจมองว่าฟิกเกียร์เป็นจักรยานที่ใช้เล่นท่า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เสมอไป อย่างผมปั่นไปชมวิว ชมเมืองมากกว่าที่จะเอามาเล่นท่า”

การปั่นจักรยานฟิกเกียร์ทำให้ร่างกายเฟิร์มขึ้นทั้งแขนทั้งขา แต่ถ้าใช้เวลาปั่นนานก็อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังได้ เพราะด้วยลักษณะของแฮนด์ที่ต่ำแต่เบาะนั่งสูง พออยู่ในท่านี้นานจึงทำให้เกิดการปวด ถ้าใครไม่ชอบก็สามารถปรับเปลี่ยนแฮนด์ให้สูงขึ้นและทำเบาะให้ต่ำลงได้เช่นกัน

ถ้าใครชอบปั่นจักรยานในเวลากลางคืน ควรติดตั้งระบบไฟที่รถเพื่อความปลอดภัยในเวลาขับขี่ และถ้าขี่จักรยานบนท้องถนนที่มีการจราจรหนาแน่นก็ควรระวังรถมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่ และรถประจำทาง เนื่องจากถนนบางแห่งไม่มีช่องทางสำหรับรถจักรยานโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องมีไหวพริบในการใช้รถใช้ถนน

เมื่อทุกคนพร้อมที่จะออกเดินทางก็เตรียมนัดรวมพลคนรักจักรยานฟิกเกียร์แล้วมาปั่นไปพร้อมกันเลย...



รู้ไว้ ใช่แล้ว...
“ตะกร้อรัดเท้า” ซึ่งติดมากับบันไดรถจักรยานมีไว้สำหรับต้านแรงที่เท้าเพื่อลดระดับความเร็วของรถลง ทำให้รถหยุดได้โดยไม่ต้องใช้เบรก คนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ จึงควรระวังตรงนี้ด้วย เพราะถ้าต้องการหยุดรถแล้วเอาเท้าออกจากตระกร้อรัดเท้าไม่ทันก็จะล้มได้ จึงไม่ควรรัดเท้าแน่นจนเกินไป
 

ทั้งนี้ควรตรวจสอบรถจักรยานทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นล้อยาง โซ่ และส่วนประกอบต่างๆ เพื่อป้องกันไว้ก่อน ถ้าสังเกตจะเห็นว่านักปั่นฟิกเกียร์จะพกพาแมสเซ็นเจอร์ แบ็ก คือกระเป๋าสำหรับพกอะไหล่หรืออุปกรณ์สำรองฉุกเฉินไว้ อย่างเช่นยางอะไหล่ อุปกรณ์ขันนอต ฯลฯ ถ้าเกิดเหตุยางแตกจะได้เปลี่ยนยางได้ทันที จึงควรมีไว้โดยเฉพาะผู้ที่ปั่นจักรยานฟิกเกียร์ในระยะทางไกลๆ
 
 
 
 
 
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ภาพโดย ธนารักษ์ คุณทน
บอล-กันตพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Bkkfixed






กลุ่มวัยรุ่นชื่นชอบการปั่นฟิกเกียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น