ปี 2549 สมรส 347,913 คู่ หย่า 91,155 คู่
ปี 2550 สมรส 307,910 คู่ หย่า 100,420 คู่
ปี 2551 สมรส 318,496 คู่ หย่า 109,084 คู่
ปี 2552 สมรส 300,878 คู่ หย่า 109,277 คู่
ข้อมูลสถิติการหย่าร้าง จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พอจะแสดงให้เห็นภาพของการหย่าร้างว่ามีเพิ่มมากขึ้น และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องรักๆ เลิกๆ เป็นเรื่องปกติของชีวิตคู่ อยู่ด้วยกันไม่ได้ก็เลิกรากันไปทางใครทางมัน หรือบางคู่อาจจะมีเหตุผลอื่นนานัปการหรือมีมือที่สามสี่ห้า คอยทำให้ชีวิตคู่ต้องกลายเป็นชีวิตที่เคยผ่านการสมรสหรือชีวิตที่หย่าร้างไปในที่สุด
ยิ่งในสมัยนี้ อะไรก็เปลี่ยนไป สังคม วิถีชีวิต ทัศนคติ มุมมองชีวิตคู่ ซึ่งน้อยคู่นักที่จะอยู่ด้วยกันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
คู่รักที่หย่ากันบันลือลั่นไปทั่วบ้านทั่วเมือง ที่เห็นเป็นประเด็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับก็คู่ของ เป๊ก-สัญชัย และ ธัญญ่า เองตระกูล ที่ประกาศเตรียมจบชีวิตคู่กันไปเรียบร้อย
ที่ผ่านมาก็มีคู่รักคนดังหลายคู่ที่เลิกราหย่าร้างกันไป กรณีของทักษิณ ชินวัตร กับ พจมาน ชินวัตร ภรรยาก็จดทะเบียนหย่ากันไปแล้ว
วงการบันเทิงที่แต่งงานอยู่กินกันมาหลายปีก็หย่าให้เห็นกันบ่อยๆ เช่น บิลลี่ โอแกน กับ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ หรือจะเป็นคู่ของ เทียรี่ เมฆวัฒนา กับ อุทุมพร ศิลาพันธ์ และคู่ของ ปิยะมาศ โมนยะกุล กับ กำธร ทัพคัลไล รวมถึงคู่ของ เมจิ-อโณมา ศรัณย์ศิขริน กับ แมน-ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์ หรือจะเป็น เต๋า-สมชาย เข็มกลัด กับ นัท มีเรีย
อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลปี 2508 ที่มีข่าวหย่าร้างโด่งดังสะนั่นวงการกับ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
หรือจะเป็นคู่รักของนักกีฬานางฟ้า นาตาลี เกลโบวา กับนักเทนนิสมือวางระดับโลกอย่างภราดร ศรีชาพันธุ์ ที่ประกาศแยกทางกันอย่างเป็นทางการเมื่องต้นปีที่ผ่านมา ส่วนเขาทราย แกแล็คซี่ ก็เคยมีข่าวหย่าสะท้านวงการกับสาวญี่ปุ่น ยูมิโกะ โอตะ และอีกหลายๆ คู่ที่ไม่ได้กล่าวถึง
เรื่องธรรมดาของคน
การคบหาดูใจจนกระทั่งแต่งงานนั้นเป็นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมไทย แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตคู่คงไม่มีผู้ใดฝืนชะตาได้ โกโก้-นิรุณ ลิ้มสมวงศ์ ผู้จัดการดารานักแสดงชื่อดัง แสดงความคิดเห็นกับเรื่องการหย่าร้างของบุคคลมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
“เป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือใครก็ตามมีรักก็ต้องมีเลิก เมื่อชีวิตคู่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง การจะใช้ความรักเพียงอย่างเดียวประคองให้ชีวิตคู่คงไม่ได้ มันต้องมีปัจจัยแวดล้อมอีกหลายอย่าง ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทนอดกลั้น การให้อภัย เข้าใจซึ่งกันและกัน จริงๆ ก็มองพวกเขาเหมือนคนธรรมดาที่แต่งงานไป และอาจจะมีหย่าร้างกัน เพียงเพราะความเป็นคนดัง จึงอาจจะต้องมีการแถลงข่าวประกาศว่า เลิกกันแล้ว ซึ่งก็เหมือนกับว่าเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการทีเดียวเลยว่า เลิกกันแล้ว ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามตรงส่วนนี้ซ้ำซาก”
ยอมรับว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคมบางคนใช้การประกาศเลิก กรณีคบหาดูใจในฐานะแฟนเพื่อสร้างกระแสให้ตัวเอง แต่ในกรณีแต่งงานคงไม่มีใครเอาชีวิตคู่มาเสี่ยง
“เนื่องจากการเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงทำให้เป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่ ก็เลยทำให้พวกดารา, เซเลบฯ บางคนเอาจุดนี้มาใช้เป็นผลประโยชน์ คือการสร้างกระแส ฉะนั้นเป็นเรื่องจริงที่ว่ามีดาราบางคู่ที่ไม่ได้เลิกกันจริง แค่เลิกเพื่อสร้างภาพ เพื่อให้ตัวเองได้ไปรับงาน แต่กรณีแต่งงานแล้วคงไม่อยากเลิกกันหรอก คงไม่มีใครเอาชีวิตแต่งงานมาเพื่อหาผลประโยชน์ การแต่งงานนั้นเป็นเรื่องใหญ่คงไม่มีใครแต่งงานแล้วคิดจะหย่าหรอก”
หัวสมัยใหม่ VS หัวอนุรักษ์
ทัศนคติในเรื่องการหย่าร้าของคนในยุคปัจจุบันนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ทัศนคติด้านลบเพียงอย่างเดียว แต่กับบางคน การหย่าร้างอาจจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีและได้ผลที่สุด ดังมุมมองคนหัวสมัยใหม่อย่างเช่น ฐิติการณ์ (นามสมมติ) แม่ม่ายลูก 1 ที่เลือกใช้การหย่าร้างเป็นวิธีการแก้ปัญหาชีวิตคู่
“คือถ้าวันหนึ่งเรารู้ว่า การอยู่ด้วยกันมันไม่ใช่แล้ว เราจะทำต่อไปทำไม ที่ผ่านมาสังคมไทยนั้นมองว่าถ้าตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้วก็ต้องไปให้ตลอดรอดฝั่ง ต้องอดทน แต่ในความเป็นจริง ถ้ามันเดินต่อไปแล้วไม่มีความสุขก็ต้องมาคุยกันแล้วแหละว่าจะไปด้วยกันต่อไหม
“อย่างดิฉันกับสามีก็มีการพูดคุยกันว่า ลองแยกกันอยู่ดีกว่าไหม ซึ่งมันก็ทำให้สบายใจทั้งสองฝ่ายนะ แรกๆ ครอบครัวทางฝั่งเขาก็ไม่ชอบเท่าไหร่ที่จะมีการหย่าร้างขึ้น แต่ต่อมาเขาก็ยอมรับ ส่วนทางครอบครัวฝั่งเราค่อนข้างสมัยใหม่ก็ยอมรับได้”
ทว่าถึงอย่างไร ฐิติการณ์ ก็บอกว่าการหย่าร้างนั้น น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาครอบครัว เพราะแม้มันจะเป็นหนทางที่แก้ปัญหาได้ แต่มันก็สร้างปัญหาอื่นๆ ขึ้นมาอีกไม่น้อย โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากคนรอบๆ ตัว เช่น ครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่าย
ส่วนฝั่งหัวอนุรักษ์อย่าง ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บอกเล่ามุมมองการสร้างครอบครัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการหย่าร้าง หรือปัญหาสังคมตามมาว่า ก่อนที่จะมีครอบครัว ควรมีความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายก่อนและก็ต้องมีความพร้อม ไม่ใช่พร้อมเฉพาะผู้ที่จะคบหากันแต่ต้องมีส่วนสนับสนุนจากครอบครัวด้วย
ในบางครั้งการแต่งงานกันมันอาจไม่ได้เกิดจากความรัก อาจเกิดจากเศรษฐกิจ และอื่นๆ เป็นตัวแปร การสร้างครอบครัวนั้น ต้องมีสติในการดำเนินชีวิต ในการเลือกคู่ครอง แล้วก็ปัจจัยเกื้อหนุนจากครอบครัว
“ทั้งผู้หญิงผู้ชายคบกันก็ต้องดูว่า ทั้งคู่มีช่องว่างไหม ถ้ามีช่องว่างก็พยายามอุดช่องว่างตรงนั้น ถ้าเราอุดช่องว่างไม่ได้เราก็อย่าแต่งงานกับเขา คู่ครองไม่มีความเท่าเทียมกันในด้านใดด้านหนึ่ง หรือมันมีช่องว่างที่อุดไม่ได้ ถ้าแต่งงานไปมันก็จะเกิดปัญหา การคบหากันนอกจากว่า ทั้งคู่จะดูใจกันแล้วคนที่เข้ามาร่วมให้ข้อคิดสนับสนุนก็น่าจะเป็นผู้ใหญ่เป็นคนครอบครัว ซึ่งต้องดูกันอย่างรอบคอบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
“มนุษย์เป็นคนที่มีสมองส่วนหน้ารู้ผิดชอบ ชั่วดีแล้วก็ระลึกได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และเราก็เลือกแล้ว การที่เราเลือกที่จะทำอะไรเราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น สังคมเองก็ช่วยกันประคับประคอง เราอย่าไปตื่นตระหนกก่อนเลย ตอนนี้สังคมเปราะบางเราอยู่ในยุคทุนนิยม บริโภคนิยม สิ่งแวดล้อมอะไรหลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไปจากอดีตก็ควรปรับตัวให้ทัน”
สังคมปัจจุบันกับชีวิตคู่
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า เป็นเรื่องปกติที่เมื่อบุคคลสาธารณะมีข่าวหย่าร้างก็มักจะได้รับความสนใจจากประชาชน เช่น นักการเมือง ผู้นำประเทศ ราชวงศ์อังกฤษ หรือดารา
"เรื่องนี้มันสะท้อน 2 อย่าง อย่างแรกคือความเป็น Public Figure (บุคคลสาธารณะ) และโอกาสที่คนเราจะได้พูดถึงเรื่องของตัวเองด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกคนนั้นมีปัญหาทั้งนั้นแหละ พอมีเรื่องนี้ขึ้นมาจึงเป็นโอกาสที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองผ่านปัญหาของคนอื่น มันจึงต้องทั้งสองด้าน ทั้งเรื่องความเป็นคนดังที่คนอยากรู้แล้วว่าชีวิตเขาเป็นยังไง และในขณะเดียวกันมันก็ยังสนองความต้องการภายในของตัวเองด้วย"
ที่สำคัญ การที่หลายคนมองว่า เรื่องนี้กลับเป็นกระแสในกลุ่มคนดัง ก็เพราะสังคมนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติที่ว่า “ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร” ซึ่งหมดไปแล้ว รวมไปถึงรูปแบบการคบกันหรือการตัดสินใจจะแต่งงานที่ไม่เหมือนในอดีต
"การหย่าเกิดขึ้นเพราะมีการแต่ง หากไม่แต่งทุกวันนี้ก็มีการแยกทางกันเยอะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นครอบครัวในหลายด้าน โดยเฉพาะการมองถึงสถาบันครอบครัวว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันไปชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งค่านิยมต่างจากอดีตที่บอกว่าต้องอยู่ด้วยกันตลอด ถึงจะหวานอมขมกลืนก็ต้องทนอยู่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ถือเป็นข้อเสีย
"แต่ถ้าบอกว่ามีก็คงมีอยู่ 2 ประเด็นคือ หากเกิดการแยกทางนั้นมันเกิดจากการไม่ได้เรียนรู้กันเต็มที่ 'รักกันง่าย แต่งกันง่าย เลิกกันง่าย' ตรงนี้ถือเป็นข้อเสีย เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนไม่ได้มีความรักที่มั่นคง และตอนนี้ก็เป็นกันเยอะ โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว อีกเรื่องก็คือ มันสะท้อนให้เห็นความพยายามเอาชนะกัน ขาดน้ำอดน้ำทน มีลักษณะเอกบุคคลมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้ หากคนเรียนรู้ที่จะลดอัตตากันลง ครอบครัวก็จะอยู่ด้วยกันได้"
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK