xs
xsm
sm
md
lg

หาเสียงผ่าน ‘โซเชียล เน็ตเวิร์ก’ ยุทธศาสตร์ใหม่ศึกเลือกตั้ง 2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นช่องว่างรูเบ้อเริ่มของ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆ ใช้พื้นที่ในระบบโซเซียลมีเดียได้อย่างไม่จำกัดทั้งเวลาและพื้นที่

เพราะตั้งแต่ส่องกล้องทางเมืองมาหลายยุคหลายสมัย บรรดาพรรคการเมืองจะถูกจำกัดการใช้สื่อสารพัด ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ว่าต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ หรือแม้แต่กระทั่งโพลสำรวจก็ยังทำไม่ได้ มาครั้งนี้เมื่อผู้มีอำนาจเปิดช่องให้ซะขนาดนี้ มีหรือที่บรรดานักเลือกตั้งจะไม่งับเข้าใส่

เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาหลายคนได้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ของระบบ ‘โซเชียล เน็ตเวิร์ก’ กันบ้างแล้ว เอาง่ายๆ ที่ฮือฮากันทั่วโลก เห็นจะไม่มีใครเกิน บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ใช้แคมเปญนี้เจาะกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังได้รับเงินบริจาคอีกนับไม่ถ้วนจากเทคโนโลยีใหม่นี้ ขณะที่ประเทศไทยเอง หลายคนก็คงได้รู้จักกับขบวนการ ม็อบหลากสี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มไซเบอร์เน็ตเวิร์กที่ได้ผลมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เห็นได้จากการที่มีประชาชนมาแสดงพลังต่อสู้กับแนวคิดให้ยุบสภาของกลุ่มคนเสื้อแดงกว่าแสนชีวิต

และสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เมืองไทยอยู่ในช่วงโซเซียล เน็ตเวิร์กฟีเวอร์ ซึ่งแน่นอนว่า สื่อใหม่ชนิดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนไม่น้อย สังเกตได้ที่ช่อง 3 ประสบความสำเร็จจากการจัดกิจกรรมคนรุ่นใหม่หัวใจประชาสัมพันธ์ ผ่านการรณรงค์ด้วยระบบโซเซียลเน็ตเวิร์ก ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมพรรคการเมืองต่างๆ ถึงพากันปรับยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์ด้านไอทีกันเพียบ เพื่อสู้ศึกสมรภูมิใหญ่ที่มีเก้าอี้ในรัฐบาลเป็นเดิมพัน เพราะคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18-30 ปลายๆ ที่มีไลฟ์สไตล์เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะโซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่างเข้มข้นนั้น น่าจะเป็นฐานเสียงที่สำคัญพอชี้เป็นชี้ตายในสนามเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน

ปชป. ปลุกพลังเงียบกลุ่มโซเชียล เน็ตเวิร์ก

เริ่มต้นจากพรรคการเมืองแก่เก่าอย่าง ประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาแต่ไหนแต่ไร เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์มากเท่าใดนัก จนเป็นสาเหตุให้แพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนมาแล้วถึง 3 ครั้ง และหลังจากเห็นถึงเจ็บปวดกับความปราชัยมาแล้วหลายครา มารอบนี้ พรรคเก่าแก่เลยต้องผ่าตัดยุทธการหาเสียงกันยกใหญ่ โดยเฉพาะระบบโซเซียลมีเดีย ที่ได้มือดีอย่าง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทยักษ์ใหญ่มาแล้วนับไม่ถ้วน มาเป็นหัวขบวนการทำงาน

โดยโครงการเริ่มแรกที่มีการเปิดตัวไปแล้ว ก็คือ "รุ่นใหม่ อนาคตไทย" (Future Thai Leaders) มองอนาคตคนรุ่นใหม่กับความคาดหวังที่จะใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ปลุกพลังเงียบให้หันมาสนใจการเมือง และที่สำคัญคือการขยายคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 172 คน โดยภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วนไม่มี ส.ส. ครั้งนี้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่พรรคมองหาผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีอุดมการณ์การเมือง จึงเป็นที่มาของโครงการรุ่นใหม่ อนาคตไทย

โดยที่อภิรักษ์ บอกในการแถลงข่าวว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโครงการตอนนี้มีจำนวน 255 คน ซึ่งเป็นคนที่เล่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ บางคนเขาเคยโพสแสดงความคิดเห็นทางการเมือง บางส่วนเขาอยากเห็นอนาคตประเทศไทยดีขึ้น แต่ไม่อยากเป็นนักการเมือง ช่องทางนี้เปิดโอกาสให้นำความคิดมาบอกว่า อยากมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองอย่างไร จากเมื่อก่อนถ้าอยากเป็นผู้สมัครต้องมาคลุกคลีพรรค ต้องมีประสบการณ์ ต้องมีชื่อเสียง

“ใน 255 คน วันนี้เขาเข้ามาเป็นเครือข่ายประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นได้ เราไม่มีข้อกำหนดหรือจับเซ็นสัญญาห้ามทำโน่นทำนี่ไม่ได้ เราแนะนำว่าการแสดงความคิดเห็นทำได้ด้วยเหตุด้วยผลรอบคอบ อย่างการแสดงความเห็นเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับผลที่มาเกิดวันนี้ อย่างเรื่อง ‘น้องมาร์ค’ อย่างนั้น เขาต้องรับผิดชอบส่วนตัว ในทางกฎหมายพรรครับผิดชอบในขอบเขต

“ปัจจุบันคนใช้โซเชียลมีเดียประเทศไทยโตเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก ฉะนั้นคณะยุทธศาสตร์จึงปรับปรุงโซเชียลมีเดียของพรรคใหม่ทั้งหมด ที่ผ่านมาเราแยกส่วนพรรคมีเว็บไซต์ มีทวิตเตอร์ แต่ละคนมีของตัวเอง มีคนใช้ 60 คน คุยกัน แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างทำ พรรคจะช่วยเชื่อมลิงก์ ส.ส.ทั้งหมดและจัดเข้าฝึกอบรมและเชื่อมั่นว่าโซเชียล มีเดียจะเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ระดับหนึ่ง ตอนนี้เราจะเริ่มแอ็กทีฟ เหวังจะได้ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง หวังว่าเขาจะเปิดรับ”

‘เพื่อไทย’ เจ้าพ่อแห่งการสื่อสาร

หันกลับมาดู เจ้าของต้นตำรับการประชาสัมพันธ์เชิงรุก อย่างพรรคเพื่อไทยกันบ้าง ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา พรรคเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นถือเป็นผู้จุดกระแสการใช้ระบบเทคโนโลยีมาใช้ประสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างแท้จริง ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำวีทีอาร์เผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ การโปรโมตผ่านเว็บไซต์

มารอบนี้ แม้จะแปลงกายเป็นพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ผ่านเทคโนโลยี ก็ยังเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองนี้ให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย โดย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย อธิบายว่า ระบบโซเชียล เน็ตเวิร์ก เป็นช่องทางที่น่าสนใจ เพราะเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไปที่สามารถเลือกตั้งได้ เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ต่างๆทางพรรคเองก็มองจุดนี้อยู่จึงเร่งพัฒนาระบบ และได้ปรับเรื่องการสื่อสารโซเชียล เน็ตเวิร์ก มาค่อนข้างจะ 6 เดือนแล้ว ภายหลังที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภา

ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับและระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการเลือก (กกต.) ด้วย เพราะการทำอะไรต้องไม่ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.และสัญญาประชาคม 5 ข้อ หากไปใช้มากเกินไปอาจจะขัดข้อบังคับ เพราะระบบของประเทศไทยยังไม่เปิด ระเบียบ กกต. บางอย่างก็ยังไม่ทันกับเทคโนโลยีอย่างโซเชียล เน็ตเวิร์ก

อย่างสหรัฐอเมริกาเขาเปิดกว้าง ถ้าเรามีการเปิดกว้างก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และรู้ผลงานทั้งหมดของพรรคต่างๆ ร่วมทั้งยังเป็นการย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งว่าเขาจะเลือกเราหรือไม่เลือกเรา

“ผมคิดว่าโซเชียล เน็ตเวิร์ก เป็นทางที่ทำให้ผู้ใช้สิทธิ์มีส่วนร่วมทั้งในการแสดงข้อคิดเห็น ในการเสนอแนะ การติติงและเป็นการตรวจสอบด้วยว่านโยบายที่เราพูดแล้วเราทำได้แค่ไหน อันนี้ผมว่าเป็นประโยชน์ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเหมือนเจ้าพ่อแห่งการสื่อสารอยู่แล้ว และเราก็เป็นต้นแบบของการสื่อสารเทคโนโลยีโชเชียล เน็ตเวิร์กเพื่อสื่อสารกับประชาชนในทางการเมือง เราขอยืนยันว่าเราเป็นพรรคที่พร้อมกว่าพรรคอื่นๆ แน่นอน”

เห็นความเคลื่อนไหวของ 2 พรรคการเมืองใหญ่เกี่ยวกับระบบโซเซียลเน็ตเวิร์กกันไปแล้ว คราวนี้ก็คงไม่ต้องแปลกใจว่า หากอนาคต (อันใกล้มากๆ) คงจะได้เห็นพรรคการเมืองขนาดย่อมหันมาเน้นหาเสียงเชิงรุกผ่านระบบเทคโนโลยี เพราะนอกจากจะไม่มีอะไรมาควบคุมแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายและดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นได้อีกมากมายมหาศาล

ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ สื่ออะไรก็ไม่ช่วย

แม้ตอนนี้แต่ละพรรคจะเร่งขยายเครือข่ายด้วยโซเซียล เน็ตเวิร์ก เป็นการใหญ่ แต่เชื่อว่าคงมีคำถามตัวโตๆ เกิดขึ้นในความคิดของใครหลายคนแน่ๆ ว่า การทำเช่นนี้สุดท้าย ผลที่ได้นั้นจะมีประสิทธิภาพและดึงดูดใจประชาชนได้จริงๆ หรือไม่

ในเรื่องนี้ ผศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะส่งผลเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เนื่องจากต้องยอมรับความจริงว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองของไทยนั้นถือเป็นคนเก่า พรรคเก่า ซึ่งทุกคนต่างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีสื่อใหม่เข้ามากระตุ้น การรับรู้ของประชาชนก็คงไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก

"สื่อถือเป็นแค่ปลายน้ำในการประชาสัมพันธ์ หรือการสร้างกระแส เพราะท้ายสุดเรื่องการเมืองก็จะไปจับที่ตัวนักการเมือง สินค้าและนโยบายที่เขาจะขาย โอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงสักทีเดียวเลยไหม คิดว่าคงมีบ้าง แต่ไม่น่าจะเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะจริงๆ แล้วสื่อใหม่ก็ถูกใช้มาเยอะแล้ว แล้วตัวเลือกทางการเมืองก็ยังเหมือนเดิม ทั้งพรรคและบุคคล แถมตัวนโยบายก็ไม่ได้ต่างกันมาก ซึ่งถือว่าแตกต่างกับบารัค โอบามา อย่างสิ้นเชิง เพราะแม้เขาจะไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ แต่ก็ยังถือว่าเป็นผู้ลงสมัครหน้าใหม่ที่จะมาเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่ใหม่ สด ตั้งแต่เรื่องนักการเมือง แคมเปญอย่าง ‘Change’ ก็จะดูใหม่หมด ดังนั้นพอเขาใช้สื่อใหม่เข้ามาช่วยมันจึงพลิกเกมได้ เพราะฐานเสียงที่เป็นคนรุ่นใหม่ถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญมากของสหรัฐอเมริกา และทำเช่นนี้ก็ถือเป็นการจูงใจให้คนรุ่นใหม่ออกไปโหวตด้วย"

ส่วนกรณีที่หลายคนมองว่า สื่อใหม่ได้เปรียบกว่าสื่อเก่าอย่าง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทั้งในเรื่องพื้นที่ และเวลา เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผศ.พิจิตรา ก็ยังมองว่านี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอยู่ดี เนื่องจากเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่สื่อใหม่ถ่ายทอดออกมาก็คงไม่ได้แตกต่างกับสิ่งที่อยู่สื่อปกติเท่าใดนัก เพราะถึงจะอิสระในบางเรื่อง แต่เรื่องเนื้อหาของการนำเสนอก็คงจะยังถูกควบคุมไว้อยู่ดี

ประกอบกับถ้าพูดถึงกลุ่มเป้าหมายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตนั้นเข้าถึงได้จำกัด ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ที่คนชั้นกลาง หรือคนในเมืองเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้ก็จะได้รับสื่อค่อนข้างมากอยู่แล้ว ทำให้ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการกระตุ้นของสื่อ และถ้าไปพิจารณาถึงระบบการเมืองไทยก็จะพบอีกด้วยว่า จะตัดสินใจว่าเลือกหรือไม่นั้น ระบบหัวคะแนนก็ยังมีความสำคัญมากกว่าการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออยู่ดี

ผลจะเป็นอย่างไร ประชาชนตัดสินใจเอง

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงไม่สำคัญเท่ากับ ความเห็นของประชาชน ซึ่งถือเป็นผู้อำนาจอยู่ในมือตัวจริง ว่าสุดท้ายระบบโซเซียล เน็ตเวิร์ก จะมีอิทธิพลแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่า คงมีมีผลและไม่มีผลเลย

ตัวอย่างเช่นนักศึกษาสาว ปิยภรณ์ อ่ำพันธุ์เปรม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้กำลังมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งหลงใหลในเรื่องเทคโนโลยีอย่างมาก เปิดเผยว่าตนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่ด้วยกลไกของโซเชียล เน็ตเวิร์ก โพสต์ข้อความสั้นๆ ก็ชวนติดตามให้อ่านมากขึ้น

ขณะที่ในมุมกลับกัน สุชาดา ใจชื้น พนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงของฝ่ายต้องข้าม บางครั้งทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดเพราะมีการปลอมเพื่อทำลายภาพลักษณ์ เดี๋ยวนี้เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่เอง ก็หันมาเล่นอินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น มันง่ายต่อการเข้าถึง ไม่ว่าคุณจะตั้งใจรับข้อมูลหรือไม่ ข้อมูลของพรรคการเมือง นักการเมืองก็เข้ามาเอง คงต้องอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะอ่าน จะรับหรือไม่”

ไม่ว่าวันนี้นักการเมืองจะใช้ยุทธศาสตร์ใดบนโซเชียล เน็ตเวิร์กให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในรูปแบบไหนก็ตาม แต่การทำสื่อใหม่ให้ได้ผล ต้องมาจากตัวสินค้าที่นำเสนอว่าน่าสนใจเพียงใด แต่ถ้าเป็นนักการเมืองเก่าผลงานแก่ต่อให้อัดฉีดสื่อมากมายแต่ถ้าขาดความจริงใจและสัจจวาจาที่เคยให้ไว้ คงต้องถามประชาชนแล้วว่า คราวนี้จะเลือกใคร ?
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมข่าว CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น