ตุลาคมปีที่แล้ว ภาคใต้เพิ่งประสบเหตุอุทกภัยครั้งรุนแรง สร้างความเสียหายเกินคณานับทั้งชีวิตผู้คน วิถีชีวิต ทรัพย์สิน และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ทันที่ความบอบช้ำจะจางหาย อุทกภัยครั้งรุนแรง (อีกครั้ง) ก็ซ้ำเติมลงมา
ความเสียหายล่าสุด (6 เมษายน 2554) มีชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 2 ล้านคน เสียชีวิต 53 คน ความเสียหายต่อเส้นทางคมนาคมจากกรมทางหลวงชนบท ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-5 เมษายน 2554 ถนนของกรมทางหลวงชนบทได้รับความเสียหาย 180 สายทาง ไม่สามารถสัญจรได้ 43 สายทาง สัญจรผ่านได้ 137 สายทาง ความเสียหายเบื้องต้นกว่า 1,119 ล้านบาท ฯลฯ ไหนจะความเสียหายที่เกิดกับโรงงาน นากุ้ง การท่องเที่ยว และอีกสารพัด
ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามที่ว่า บทเรียนจากครั้งก่อน รัฐบาลได้วิเคราะห์-สังเคราะห์เพื่อหาแนวทางบรรเทาภัยพิบัติไว้อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่า รอบนี้ภาครัฐสามารถตอบสนองเหตุการณ์ได้ค่อนข้างทันท่วงทีกว่ารอบที่แล้วมาก แม้ว่านายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังเล่นบทใส่เชิ้ตลุยน้ำเหมือนรอบที่แล้ว แต่ก็เอาล่ะ ถือว่าการทำงานครั้งนี้หล่อกว่าครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม คงไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ยังมีจุดเล็กๆ ที่ต้องช่วยกันบอกกล่าว ตั้งแต่เสียงความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่ที่บางครั้งความช่วยเหลือไม่ตรงจุดนัก แม้ว่าชาวบ้านจะยอมรับถึงความรวดเร็ว
เสียงจากนักวิชาการและอาสาสมัครที่มีบทบาทจากครั้งที่แล้ว ต่างก็ยอมรับการทำงานของรัฐเช่นกัน แต่ก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจและควรอย่างยิ่งในการนำไปปฏิบัติ
ความช่วยเหลือทันท่วงที
“บ้านผมอยู่ที่อำเภอทุ่งใหญ่ ซึ่งตอนนี้น้ำลดแล้ว แต่บ้านผมอยู่สูง คนอื่นที่บ้านน้ำท่วมก็จะเอารถมาจอดที่หน้าบ้านผมเต็มเลย อย่างตรงข้ามบ้านผมนี่ท่วมถึงหลังคาเลย เพราะตอนสร้างบ้านเขาไม่ได้ถมที่” ปโยธร แซ่โค้ว ชาวบ้านอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้
“น้ำมันเริ่มท่วมตั้งแต่ 28-29 มีนาฯ แล้ว วันที่ 1 เมษาฯ น้ำก็เริ่มลด การช่วยเหลือของรัฐก็เข้ามาแจกข้าวสารอาหารแห้งแล้วก็น้ำดื่ม แต่เขาก็ไม่ได้เข้ามาทันทีนะครับ แต่ก็เร็วอยู่ เพราะพอน้ำท่วม วันรุ่งขึ้นเขาก็มาแล้ว”
มาถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าน้ำท่วมจะกลายเป็นปัญหาภัยธรรมชาติที่ไม่มีทางออกไปเสียแล้ว แม้แต่ทางภาครัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก
“ปีที่แล้วน้ำก็ท่วม แถวปากพนังนี่จะโดนหนัก เหมือนกับว่าทางรัฐช่วยไม่ได้มาก เพราะมันเป็นเรื่องของมรสุม แล้วก็น้ำหนุน คือมันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ยากจะควบคุม การช่วยก็คงจะเป็นการบรรเทามากกว่า แต่ผมสงสารพวกที่ทำสวนยางพารานะ เพราะปีที่แล้วเขาก็โดนไปต้นยางที่เพิ่งปลูกล้มหมดเลย พอได้อีกปีน้ำก็ท่วมอีกแล้ว หลายคนหมดเนื้อหมดตัว แต่ก็ไม่รู้จะมีทางแก้ไขอย่างไร”
ด้าน อวยพร บุญพรหม วัย 53 ปี ชาวบ้านหมู่ 15 ตำบลเพชรราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่าภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรงกว่ารอบที่แล้วมาก บ้านเรือนในหมู่ 15 พังไปกว่า 30 หลัง
ในด้านความช่วยเหลือ อวยพรบอกว่าเป็นไปด้วยดี เพียงแต่ไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่เข้ามายังหมู่บ้านของเธอเนื่องจากเส้นทางถูกตัดขาด ต้องใช้การเดินเท้า
“ตอนนี้อยากให้ช่วยซ่อมถนนมากที่สุดเลย จะได้ทำมาหากินได้ถ้ามีเส้นทาง ตอนนี้ของกินข้าวสารมีเยอะ ไม่ต้องแล้ว ขอให้ช่วยซ่อมถนน”
เร่งสร้างความรู้-ความเข้าใจ
ศ.ดร.มนัส สุวรรณ อดีตนายกสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างอุทกภัยในประเทศไทยทั้งสองครั้งว่า เหตุน้ำท่วมครั้งที่แล้วถือเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ เพราะเป็นช่วงที่ลมพายุตะวันออกเฉียงเหนือนั้นพัดผ่านประเทศ และเกิดขึ้นทุกปี สามารถเตรียมการรับมือได้เลย แต่สำหรับเหตุน้ำท่วมครั้งล่าสุด ถือเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เพราะหย่อมการกดอากาศสูงจากประเทศจีนและไซบีเรียนั้นต่ำกว่าปกติ
“แต่ที่มันรุนแรงกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว ก็เป็นเพราะการรับรู้หรือการตอบสนองของชาวบ้านนั้นแตกต่างกัน ครั้งที่แล้วชาวบ้านรู้ตัวว่าน้ำจะท่วม เขาจะเตรียมอาหาร เตรียมป้องกันไว้ แต่ช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวบ้านคิดว่าไม่เกิดก็เลยไม่ได้เตรียมตัว พอเป็นแบบนี้และเกิดรุนแรงกว่า ความเสียหายก็เลยหนักกว่า”
ปัญหาจึงอยู่ที่การเตรียมตัวของผู้คนเป็นสำคัญ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกระตือรือร้นหรือให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าที่ควร และคิดจะพึ่งพิงจากหน่วยงานต่างๆ มากเกินไป
“ถ้าเราเทียบกับญี่ปุ่น ของเขาเกิดแรงกว่าเยอะ แต่เราเห็นคนญี่ปุ่นร้องไห้น้อยมาก แต่บ้านเราไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ทำไมหน่วยงานนี้ไม่มาช่วย อ้างแต่จะขอความช่วยเหลืออย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องเช้าใจก่อนว่า ภัยธรรมชาติป้องกันไม่ได้ แต่เราบรรเทาได้ ถ้าเราให้ความรู้และจิตสำนึกแก่ประชาชน ต้องเตรียมตัว ไม่ใช่เกิดก่อนแล้วค่อยแก้ ผมว่าเรื่องนี้จะโทษภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูว่าสามารถเอาข้อมูลข่าวสารเข้าถึงชาวบ้านได้หรือเปล่า และถ้าเข้าถึงเขาเชื่อถือแค่ไหน”
ขณะที่บทบาทของหน่วยงานภาครัฐเอง ศ.ดร.มนัสก็มองว่า มีการทำงานเป็นระบบมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องสาธารณภัยจริงจัง ทำให้งานด้านนี้กระจายไปหมด แต่ทุกวันนี้มีการตั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องนี้โดยตรง
“เรื่องระบบราชการหรือเรื่องกฎหมายต่างๆ ผมถือว่าเป็นปลายเหตุ ต้นเหตุจริงๆ นั้นอยู่ที่จิตสำนึกของคนมากกว่า อย่างผังเมือง เวลาเขียน เรามักไม่แคร์สิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ เพราะผู้บริหารเมืองมักจะคำนึงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เชียงใหม่ก็เป็น หาดใหญ่ก็เป็น โคราชก็เป็น แล้วพอฝนตกมาน้ำก็ระบายไม่ทัน มันก็เลยท่วม
“สำหรับผมแล้ว การแก้ไขปัญหาครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่คงเพราะมันปัจจุบันทันด่วน ปัญหาบางอย่างจึงไม่สามารถแก้ได้ทันที อย่างกรณีสุราษฎร์ธานีหรือนครศรีธรรมราช ก็พยายามแก้ไขแต่ธรรมชาติมันไม่เอื้อ เอา ฮ. เข้ามาก็เข้าไม่ได้ ประชาชนก็ต้องเข้าใจ”
หน่วยเล็กๆ คล่องตัวกว่าองค์กรขนาดใหญ่
หากยังจำได้ อุทกภาคใต้ครั้งที่แล้ว ผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ใช่ภาครัฐ แต่คืออาสาสมัครภาคประชาชน มูลนิธิ 1,500 ไมล์ คือหนึ่งในนั้นที่ขนเครื่องไม้เครื่องมือลงพื้นที่
รัฐภูมิ อยู่พร้อม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ 1,500 ไมล์ เปรียบเทียบการทำงานของภาครัฐระหว่างครั้งที่แล้วกับครั้งนี้ว่า ครั้งนี้เขาให้คะแนนดีเยี่ยมซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของภาครัฐ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนในครั้งที่แล้ว
“เพียงแต่ว่ามีบางจุดเท่านั้นที่ภาครัฐยังไม่สามารถโฟกัสได้ดีหรือทำได้ลงตัว คือมันเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดและต้องอาศัยภาคประชาชน งานตรงนี้มันต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจ มันต้องใช้หน่วยเล็กๆ นะครับ จะเห็นว่าต้องมีภาคของงานอาสาเข้าไปเติมให้เต็มในหลายๆ จุด”
ส่วนเหตุการณ์ครั้งนี้ เขาเล่าถึงการทำงานของมูลนิธิว่า
“ทางมูลนิธิมีการทำงานของเรามีหลายระดับ ครั้งนี้เราได้เตรียมการล่วงหน้าตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งที่แล้ว เราตั้งสมมติฐานแล้วว่าต้องเกิดขึ้นอีก เราจึงสร้างอาสาสมัครที่ปลายทางไว้ จะสังเกตดูว่ามีแนวหน้าของเราลงทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้ทางส่วนกลางให้อาสาสมัครปลายทางเป็นผู้แอ็กชันแทน เขาก็ต้องเรียนรู้เหมือนที่อาสาสมัครส่วนกลางเรียนรู้มา เพราะฉะนั้นข้อสอบนี้ต้องเป็นของอาสาสมัครในพื้นที่ ถ้าเรามัวแต่ลงไปช่วยก็เหมือนทำให้เขาอ่อนแอ เหมือนที่ฝ่ายรัฐลงไปทำให้เขาคอยความช่วยเหลือจากส่วนกลาง ซึ่งอย่างนั้นมันทำให้หลายอย่างไม่ทันการณ์ เรามอนิเตอร์จากกรุงเทพฯ ลงไปได้เลยว่าจุดไหนที่น่าเป็นห่วง เพราะเราจะมีเครือข่ายอยู่”
ความเห็นของรัฐภูมิสอดคล้องกับ ดร.มนัส อย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกัน แม้ว่าการทำงานของรัฐในครั้งนี้จะดีขึ้นมาก แต่เขาก็เสนอว่า รัฐควรนำบทเรียนจากครั้งที่แล้วมาวิเคราะห์เพื่อสร้างมาตรการการช่วยเหลือที่ฉับไวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างหน่วยเล็กๆ จากในพื้นที่ที่หนุนเสริมให้คนในพื้นที่สามารถรับมือและช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
รัฐต้องทบทวนการสร้างองค์กรขนาดใหญ่ที่เทอะทะ เพราะภัยพิบัติยุคนี้มาเร็วและแรงเกินกว่าที่องค์กรใหญ่ๆ จะตอบสนองได้ทันการณ์
“ผมว่าภาครัฐได้เรียนรู้จากครั้งที่แล้วค่อนข้างเยอะครับ เพราะจากการทำงานของเราครั้งที่แล้ว เราก็ได้ถอดบทเรียนออกมาเยอะ ภาครัฐสามารถนำการถอดบทเรียนที่เราทำไว้มาวิเคราะห์ให้ดีๆ โดยทำแบบง่ายๆ อย่าทำอะไรที่ซับซ้อนเกินไปก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เต็มที่”
>>>>>>>>>>
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK