xs
xsm
sm
md
lg

บัณฑิตป้ายแดง ’54 ต้องสะกดคำว่า ‘ตกงาน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี คือฤดูกาลที่เหล่าบรรดานิสิตนักศึกษาในประเทศไทยกำลังจะจบการศึกษาและออกมาใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบตนเองแบบเต็มร้อย จากที่เคยใส่ใจกับเรื่องของการเรียนเพียงอย่างเดียว ก็ต้องมาเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัวลงหลักปักฐานให้ชีวิตของตนมั่นคง

แน่นอนว่า สิ่งที่เป็นรากฐานของการสร้างชีวิตให้มั่นคงนั้นก็คือ การประกอบสัมมาอาชีพหารายได้มาเลี้ยงตัว

แต่ในทุกวันนี้จำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกมาสู่ตลาดแรงงานนั้น ถ้านับจำนวนจากทุกสถาบันทั่วประเทศแล้ว ปีหนึ่งๆ ก็มีอยู่ราวๆ 100,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเอาการอยู่ และบางทีมันก็อาจจะมากเกินกว่าที่ตลาดแรงงานในภาวะเศรษฐกิจง่อนแง่นอย่างตอนนี้จะรับไหว

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปีการศึกษา 2553 นี้ จะมีบัณฑิตผู้ที่ได้งานทำแล้วประมาณร้อยละ 30 - 40 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 - 70 นั้น ยังคงไม่มีงานทำ ทั้งที่ในปีก่อนๆ จากการสำรวจบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันต่างๆ ในวันรับปริญญานั้น พบว่า ประมาณร้อยละ 80 นั้นมีงานทำเรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายความว่าบัณฑิตป้ายแดง ที่จบการศึกษาในปี 2553 จำนวนอย่างน้อย 60,000 คน ยังไม่มีงานทำ ถ้ามีก็เป็นการทำงานแบบไม่ตรงกับสายที่ตนเรียนมา หรือไม่ก็จะได้รับค่าแรงเทียบเท่ากับคนที่จบวุฒฺประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เท่านั้น

ปัญหาปลายเหตุของระบบการศึกษาในโลกทุนนิยม


เหตุผลที่คนล้นงาน

ว่าที่ พ.ต.วิษณุ บุญมารัตน์ อาจารย์ประจำคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงโอกาสที่บัณฑิตใหม่จะตกงานว่าเป็นไปได้สูงมาก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัญหาของระบบการศึกษาไทยนั่นเอง โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและสายการผลิต ซึ่งออกมาไม่ตรงกับความต้องการตลาด

"คุณภาพการศึกษามันตกต่ำลงเยอะ อีกอย่างเราผลิตคนมาโดยไม่ดูความต้องการของเอกชนหรือภาครัฐเลย ว่าต้องการกำลังแรงงานประเภทไหน กี่เปอร์เซ็นต์ สมมติผู้ประกอบอยากจะกินโค้ก แต่มหาวิทยาลัยเราไปผลิตน้ำมะขาม ผลิตออกไปก็ไม่อยากกินหรอก ตอนนี้รัฐบาลจึงเร่งผลิตอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นก็เข้ามาในภาคอุตสาหกรรม ในแถบระยอง ชลบุรีมากขึ้น เขาถึงต้องการคนที่จบ ปวช. ปวส. อย่างมากเพราะถือว่าตรงไลน์การผลิต"

แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ ก็มาจากผลพวงของระบบการศึกษาที่เริ่มเป็นธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะค่านิยมที่ว่า 'จ่ายครบ จบแน่' จึงทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทำตัวเหมือนขายแฟรนไชส์ปริญญาตรี ซึ่งพอบัณฑิตเหล่านี้นำวุฒิไปยื่นสมัครงาน หลายๆ แห่งก็ไม่ยอมรับ หรือรับใบสมัคร แต่ไม่เรียกมาสัมภาษณ์งาน

"ทุกวันนี้ตลาดมันพร้อมอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการไหลเวียนของบุคลากร เพราะตลาดที่รองรับและดูดซับแรงงานมากที่สุดก็คือภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นภาคส่งออก ที่อยู่แถวนิคมอุตสาหกรรมระยอง ชลบุรี แต่ปัญหามันอยู่ที่คุณภาพ ผมมองว่าการที่คนจะได้งาน สาระสำคัญหลักๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือสาขาของบัณฑิตที่จบ ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพยากรบุคคล อีกส่วนก็คือ สถาบันการศึกษา ซึ่งเราแบ่งออกมา 3 ส่วน คือชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 สำหรับชั้น 1 ก็คือมหาวิทยาลัยของรัฐ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และก็มีเอแบคที่ถือว่าเด่นในเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่พวกนี้จะได้งาน ส่วนชั้น 2 ก็คือมหาวิทยาลัยเอกชน และชั้น 3 ก็คือพวกราชภัฏ ซึ่งถ้าไม่ใช่หัวกะทิจริงๆ โอกาสที่จะได้งานก็มีน้อย

"ที่ผ่านมา ทางรัฐเขาก็มีความพยายามจะทำระบบประกันคุณภาพ ทั้งภายในและภายนอก แต่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าภายในมันก็ไม่น่าเชื่อถือ ยิ่งตอนนี้ที่เรากระจายอำนาจไปให้แก่มหาวิทยาลัยในการเปิดศูนย์วิชาการต่างๆ ซึ่งเราเรียกว่า ไร่เลื่อนลอย แล้วบางทีก็ไม่ได้ควบคุมคุณภาพ บัณฑิตก็ยิ่งเยอะ เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้มองนักศึกษาเป็นลูกศิษย์แล้ว แต่มองเป็นลูกค้า”

เมื่อเป็นเช่นนั้น ปัญหาบัณฑิตไม่มีงานก็คงจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าวนเวียนอยู่เรื่อยไป

ทางออกของบัณฑิตป้ายแดง

เท่าที่ฟังดู เรื่องของระบบการศึกษาที่ผลิตคนมาไม่มีคุณภาพและไม่ตรงต่อความต้องการนั้น ดูเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ ในเร็ววัน แต่กระนั้นนักศึกษาที่ลงทุนศึกษาในมหาวิทยาลัยมาจนถึงปีสุดท้ายก็ต้องออกมาเผชิญความจริงอยู่ดี ซึ่งแต่ละคนนั้นก็มีวิธีการเตรียมตัวที่แตกต่างกันออกไป

กวี ดันชไว เป็นนักศึกษาสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะนี้นั้นอาจจะเรียกได้ว่า เป็นคณะยอดฮิตในช่วงเวลาปัจจุบันเลยก็ว่าได้ แม้ว่าที่ว่างในสายอาชีพนี้ จะไม่ค่อยมีเหลือมาถึงคนใหม่ๆ มากนักก็ตาม เขาบอกกับเราเลือกเรียนในสาขาวิชาวารสารฯ เพราะต้องการเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยไม่ได้คำนึงถึงการหางานทำ

“ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงเรื่องตกงานเลย คิดว่าเพียงว่าเราชอบก็เลยเลือกเรียน แต่พอเราได้ฝึกงาน ได้เรียนรู้ในสายงานมากขึ้นก็มีกังวลบ้างนะ เพราะคนเรียนนิเทศฯ เยอะจริงๆ ลองคิดดูถ้าเราไปสมัครในตำแหน่งเดียวกับคนที่จบมหาวิทยาลัยรัฐบาลในสาขาวิชาเดียวกัน หน่วยงานเขาก็มีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งบางที่อาจมองที่สถาบันเป็นหลัก เพราะสังคมไทยยังยึดติดกับเรื่องสถาบันด้วย”

การแข่งขันทางอาชีพที่เข้มข้นขึ้น อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่ต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้นตามแรงงานที่ต้องมีความต้องการอย่างจำกัด

“สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาควรทำคือการพัฒนาตัวเอง ผมว่าเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หากรู้แล้วว่าชอบอะไรก็ศึกษาในสิ่งนั้นให้เต็มที่ เมื่อรู้ว่างานมีน้อยกว่าคน ก็ต้องฝึกฝนตัวเองให้เก่งขึ้นเพื่อที่จะเลือกงาน ไม่ใช่ให้งานมาเลือกเรา”

แต่ในบางสาขาที่ตลาดงานยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว บัณฑิตจบใหม่ก็ยังไม่ต้องกังวลมากนัก ดังเช่น พรพิมล (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เชื่อว่าอย่างไรเธอก็คงมีงานทำ

“เชื่อว่าไอทีเป็นวิชาชีพที่บริษัทชั้นนำต่างๆ ยังต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปซัปพอร์ตนะ เพราะดูจากเพื่อนรุ่นเดียวที่กำลังจบที่มีฝีมือดีๆ ก็มีบริษัทชวนไปร่วมงานแล้ว ด้วยวิชาที่เรียนมามันค่อนข้างเฉพาะด้านและต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจอย่างมาก คนแย่งงานมันน่าจะน้อยเพราะเรียนค่อนข้างยาก ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้หาจะหางานที่ตรงกับความสามารถทำได้ไม่ยาก”

และกับบางคน การได้งานทำตรงตามสายที่เรียนมาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าตนเองมีอาชีพอื่นรองรับอยู่แล้ว

“ที่บ้านมีร้านขายของในตลาด พอเราเรียนจบเราก็ต้องกลับไปอยู่บ้านอยู่แล้วค่ะ เพราะต้องดูแลแม่ด้วย”

กานต์พิชชา (ขอสงวนนามสกุล) นิสิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งศึกษาอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ บอกกับเราตรงๆ ว่า เมื่อเรียบจบแล้วเธอคงกลับไปอยู่ช่วยงานที่บ้าน และเมื่อเราถามต่อว่าหากรู้ว่าต้องกลับไปทำงานที่บ้านแต่แรก เหตุใดต้องมาเรียนมหาวิทยาลัย เพราะอย่างไรก็ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนอยู่แล้ว เธอก็ตอบว่า อย่างไรก็ต้องเรียนให้จบอย่างน้อยก็ต้องระดับปริญญาตรี เพราะประสบการณ์ชีวิตในการเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต่างจากความรู้ที่ได้จากการเรียน

“จริงๆ ไม่เรียนก็ได้ แต่จะดูแปลกๆ ไหมแบบเรียนจบแค่ม.6 แล้วออกมาช่วยที่บ้านทำงานเลย ก็เลยคิดว่าเรียนต่อดีกว่า เพราะบางทีอนาคตก็เป็นเรื่องไม่แน่นอนเหมือนกันนะ”

..........

แม้แต่ละคนจะมีทางออกแตกต่างกันออกไปบ้าง ก็ยอมทำงานที่ไม่ตรงสายและรับเงินต่ำกว่าวุฒิ บ้างก็ไปทำธุรกิจของตนเอง บ้างก็ไปช่วยงานที่บ้านซึ่งมันก็ถือว่าเป็นงานทั้งสิ้น และพวกเขาก็ไม่ใช่คนที่ว่างงานอย่างสิ้นเชิง เพราะการตกงานในทางเศรษฐศาสตร์ ก็คือการที่อยากทำงานแต่ไม่มีงานทำ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน ถึงแม้ว่างานจะหางานที่พอใจได้ยาก แต่ถ้าไม่เรื่องมากก็คงจะมีอะไรให้ทำเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองได้แน่นอน

แต่คำถามที่ยังตอบกันไม่ได้ในตอนนี้ก็คือ เมื่อไหร่กันหนอ ระบบการศึกษาของไทยจะยอมปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุเสียที.

>>>>>>>>>>
……..

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK






กำลังโหลดความคิดเห็น