ข่าวที่โด่งดังข้ามปี กรณีเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี 'ขับรถยนต์' ชนกับรถตู้โดยสารบนโทลล์เวย์ ที่เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 รายและบาดเจ็บอีกหลายราย
สิ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันของคนในสังคม หนึ่งในนั้นก็คือประเด็นที่ผู้ขับรถยนต์ข้างต้นไม่มีใบอนุญาตขับขี่เพราะอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ฉะนั้นการตัดสินใจเฉพาะหน้าเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินอาจจะทำไม่ได้ทันท่วงที ไม่ดีพอ และอาจจะไม่รู้กฎจราจรอย่างครบถ้วนและจริงจัง
ถึงกระนั้นถึงแม้บางคนจะมีใบอนุญาตขับขี่แบบถูกต้องตามกฎหมายก็ตามแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้จราจรบนถนนในบ้านเราดีขึ้น ไม่ลดการเกิดอุบัติเหตุและไม่ทำให้กฎจราจรศักดิ์สิทธิ์ขึ้นด้วย ยังจอดรถในที่ห้ามจอด ยังขับรถฝ่าสัญญาณไฟ ยังขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฯลฯ ซึ่งภาพเหล่านี้ หาดูได้ไม่ยากตามท้องถนน
สภาพความยุ่งเยิงบนท้องถนนที่หนาแน่นไปด้วยจำนวนรถมหาศาล รวมทั้งผู้ไม่ทำตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้ถนนดูวุ่นวายเพิ่มมากขึ้น สาเหตุมาจากอะไรกันแน่...
ใบขับขี่เมืองไทยขับรถได้ ไม่ใช่ขับรถดี
ฉัตรชัย อนันตกูล ผู้อำนวยการส่วนใบอนุญาตขับรถ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พูดอย่างยอมรับความจริงว่า ใบอนุญาตขับขี่ถือเป็นเพียงแค่หลักการเบื้องต้นว่า คนนั้นสามารถขับรถเป็น แต่ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะขับรถดี หรือขับรถไม่ประมาท เพราะเรื่องนั้นยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของคนขับ บวกกับจิตสำนึกของคนขับเอง รวมถึงการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และมีมารยาทในการขับรถ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุในการขับขี่
"เรื่องสำคัญที่สุดของการขับรถ ก็คือตัวคนนี่แหละ ส่วนใบขับขี่มันก็เป็นแค่เอกสารหรือหนังสือทางราชการฉบับหนึ่งที่แสดงว่า คุณขับรถบนท้องถนนได้ แต่มันไม่ได้การันตีว่า พอขับแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุเลย ทางออกที่ดีก็คือ การเคารพและเรียนรู้กฎหมายจราจร ซึ่งกฎหมายพวกนี้ก็ไม่ได้หายากอะไร ตามร้านหนังสือทั่วไปก็มีขายแล้ว หรือแม้แต่ไปดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตก็ได้ แน่นอนว่าหากเขารู้อย่างถ่องแท้ ก็เป็นประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้วที่จะทำให้ขับรถบนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย ส่วนอีกเรื่องก็คือมารยาทของคนขับเอง"
อย่างไรก็ตามฉัตรชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การออกใบอนุญาตขับขี่รถในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและทัดเทียมกับต่างประเทศ เพราะกว่าที่ผู้ขับขี่จะได้รับใบอนุญาตได้นั้นจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์สำหรับรถยนต์และ 15 ปีบริบูรณ์สำหรับรถจักรยานยนต์ ที่สำคัญผู้ขับยังต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะขับรถได้ โดยต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ นายทะเบียนจึงจะออกใบอนุญาตให้ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเชื่อถือได้
“การสอบก็สะท้อนให้เห็นถึงการขับรถบนท้องถนนจริงๆ ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์ก็ถือว่าโอเคแล้วที่จะไปขับได้”
ส่วนกรณีการปลอมแปลงใบอนุญาตขับขี่ในปัจจุบันถือว่าลดน้อยมาก เพราะปัจจุบันใบขับขี่เปลี่ยนรูปแบบการออกเป็นสมาร์ทการ์ดซึ่งป้องกันการปลอมแปลงได้มาก ส่วนกรณีซื้อขายใบขับขี่ทางสำนักงานขนส่งฯ ก็มีตำรวจ 191 คอยดูแล
“เราจ้างตำรวจนอกเครื่องแบบวันหนึ่งประมาณ 10 นาย เพื่อมาตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาหลอกในเรื่องนี้ และเรายังออกหนังสือเวียนกำชับเจ้าหน้าที่ว่า หากทำการทดสอบไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือคนทดสอบไม่ผ่านการทดสอบหรืออบรม แต่ยังไปออกให้ ทางกรมฯ ก็จะลงโทษอย่างหนักและเฉียบพลันทันที"
ยกระดับโรงเรียนสอนขับรถ
ในความเห็นของ รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงส์ทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี เห็นว่าการสอบใบอนุญาตขับขี่ นอกจากการทดสอบเชิงกายภาพ ความรู้ และทักษะแล้ว ยังควรต้องมีการทดสอบสภาพจิตใจและทัศนคติด้วย
“ของอเมริกา ออสเตรเลีย สวีเดน การสอบใบขับขี่ของเขายากกว่าเราเยอะ การที่เราจะสอบผ่านจะมีการสอบความรู้และทักษะ ความรู้คือข้อสอบ ของต่างประเทศก็อาจจะมีกลไกซับซ้อนกว่าบ้านเรา เรื่องทักษะ เวลาสอบใบขับขี่ของเราก็ถอยหน้า ถอยหลัง เข้าซอง ขึ้นสะพาน แต่อเมริกาที่ผมไปสอบหรือที่ผมไปดูงานต่างประเทศ เขาจะให้ขับออกถนนจริงๆ แล้วเขาก็จะให้เราทำตามสถานการณ์ที่เขาบอก และตรวจด้วยว่าเราทำตามกฎจราจรหรือหลักปฏิบัติหรือเปล่า
“อีกประการที่เป็นความยากลำบาก คือในต่างประเทศก่อนที่คุณจะมีทำการสอบใบขับขี่ คุณจะต้องผ่านหลักสูตรการเรียนมาก่อน เมื่อครบชั่วโมงแล้วจะมาสอบความรู้พื้นฐาน แล้วค่อยไปสอบทักษะการขับรถ โรงเรียนสอนขับรถยนต์ของต่างประเทศไม่เหมือนของเรา ของต่างประเทศจะมีลักษณะเหมือนสถาบันวิชาการที่การเรียนการสอนจะเป็นการพัฒนาทักษะการขับรถอย่างแท้จริง ค่าเรียนก็จะแพง อย่างผมเคยไปฝึกอบรมที่สวีเดน คนสวีเดนส่วนใหญ่ไม่ขับรถยนต์ เพราะได้ใบขับขี่ยาก เนื่องจากต้องไปเรียนวิชาเก็บหน่วยกิตเพื่อให้มีคุณสมบัติมาสอบใบอนุญาตขับขี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นแสน”
ดังนั้น รศ.ดร.ธวัชชัย จึงเห็นว่า นอกจากเรื่องการสอบใบอนุญาตขับขี่แล้ว ยังควรต้องมีการปรับปรุงและยกระดับโรงเรียนสอนขับรถยนต์ให้ได้มาตรฐานกว่าที่เป็นอยู่
มีใบขับขี่ แต่ก็ยังมาเรียนขับรถ
บางคนในกระเป๋าสตางค์ได้ใบอนุญาตขับขี่มาเชยชมแล้ว แต่กระนั้นก็รู้สึกว่าไม่พอจึงต้องมาลงเรียนขับรถเพิ่มเติม
“บางที่ก็มีการซื้อขายใบขับขี่กันอยู่บ้างตามต่างจังหวัด แต่ลดน้อยลงจากเมื่อก่อนแล้ว บางครั้ง ก็มีคนที่มีใบขับขี่แล้วมาลงเรียนก็มีนะ คือเขาไปซื้อจากที่อื่นมาก่อนแล้ว แต่โดยรวมแล้ว ความไม่ใจร้อน และไม่ประมาทเท่านั้น ที่จะทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนน้อยลง ไม่ใช่อยู่ที่ว่ามีใบขับขี่หรือไม่” มนทชัย ช่างแก้ ครูสอนขับรถยนต์ โรงเรียนสอนขับรถยนต์มนทชัย เล่าถึงภาพจริงของคนหัดขับรถยนต์
“การหัดขับรถเพื่อที่จะให้ได้ใบขับขี่นั้น จะหัดขับเองก็ได้ แต่ถ้ามาเรียนรู้อย่างถูกต้องก็น่าจะรู้เรื่องของกฎจราจรแล้วก็มารยาทบนท้องถนนมากกว่า การเลี้ยวการถอยหลังนี่มันมีเทคนิคอยู่ ถ้าไม่เป็นมาเลยก็ต้องเรียนรู้กันประมาณ 15 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นมาแล้วบ้าง แต่ยังไม่เข้าใจกฎกติกาบนถนน ก็ต้องเรียนกัน 8 ชั่วโมง”
กระบวนการหัดขับรถยนต์ กฎต่างๆ เป็นเหมือนภาคทฤษฎีต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ การจะสอบใบขับขี่ได้นั้นจะต้องมีอายุ 18 ปีเป็นต้นไป เพราะจะต้องมีสำนึกรับผิดชอบ จะมีการปฏิบัติก็คือการขับเดินหน้า - ถอยหลังเข้าซอง และจอดเลียบทางเท้า และมีการสอบสายตา ความเร็วของเท้า ข้อสอบที่เป็นกฎต่างๆ ซึ่งจะมีการอบรมให้ก่อนสอบอย่างน้อยสองชั่วโมง
“แต่เอาเข้าจริง การจะมีใบขับขี่หรือไม่นั้น มันก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่มีอุบัติเหตุ ถ้ามีใบขับขี่แต่ประสบการณ์น้อยก็อาจจะมีโอกาส ที่สำคัญเลย คือเรื่องของความประมาท และความใจร้อนของตัวผู้ขับขี่เอง ว่ามีมากน้อยแค่ไหน บางครั้งขับแบบใจร้อนไปจี้คันหน้าด้วยความเร็วสูง มันก็อาจจะทำให้ชนกันได้”
ไม่มีใบขับขี่ ก็ยังขับรถได้
อัครภูมิ มลิกุล หนุ่มวัย 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่เรียนทักษะการขับรถจากโรงเรียนสอนขับรถยนต์ รวมแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งทางโรงเรียนก็สอนทักษะ ทฤษฎี การปฏิบัติต่างๆ รวมถึงแจกหนังสือเกี่ยวกับกฎจราจรต่างๆ ด้วย แต่ก็ยังไม่ไปสอบใบขับขี่ และขับรถยนต์บนถนนเป็นปกติ
“พอเราเรียนจบหลักสูตร เขาก็พาไปสอบทำใบขับขี่นะ แต่เรายังไม่ได้ไปทำ เพราะขี้เกียจ เพื่อนหลายคนที่ขับรถก็ยังไม่มีใบขับขี่ เราไม่มีใบขับขี่ไม่ได้กลัวเจอตำรวจ แค่ระวังว่าอย่าขับให้ไปชนใครก็เป็นพอ”
สุดท้ายแล้วอัครพลก็ยังคิดว่า ใบขับขี่มีความสำคัญสำหรับการขับรถ เพราะเหมือนเป็นสิ่งแรกที่ตำรวจจะเรียกดูเมื่อเกิดการตั้งด่านตรวจหรืออุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามเขาก็คิดว่าถ้ามีรถเป็นของตัวเองเมื่อไรก็จะไปทำใบขับขี่เหมือนกัน
………
อุบัติเหตุสามารถป้องกันได้ อาจจะเป็นคำที่ดูสวยหรูเกินไป เพราะจากสถานการณ์ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ของเมืองไทยเอง ยังดูมีมาตรฐานที่ไม่เข้มข้นนัก แม้จะดีกว่าในยุค 10-20 ปีที่แล้วมากมายก็ตาม
ยิ่งมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศซึ่งเคร่งครัดเข้มงวดกับการออกใบอนุญาตขับขี่ฯ อย่างมิยอมให้มีช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงโทษ เมื่อมามองเมืองไทยอีกที ดัชนีของข่าวโดยเฉพาะข่าวอุบัติเหตุบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันอันแสนสะเทือนใจที่มีอยู่เกือบทุกวัน ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าบนท้องถนน ชีวิตคนไทยมีค่าน้อยเพียงไร...
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK