xs
xsm
sm
md
lg

7 วันอันตรายอุบัติเหตุลดเหลือ 3,497 ยอดตาย 358 เพิ่มจากปีที่แล้ว 11 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเทพ เทือกสุบรรณ (แฟ้มภาพ)
ศปถ.สรุปยอด 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ อุบัติเหตุทางถนนลดเหลือ 3,497 ครั้ง แต่ยอดตายเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 11 คน โดยมีผู้เสียชีวิต 358 คน บาดเจ็บรวม 3,750 คน ส่วนสาเหตุมาจากเมาสุรา ขับรถเร็ว

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) แถลงภาพรวมสถิติอุบัติเหตุทั้งหมดหลังครบ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า จากการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค.54 ซึ่งเป็นวันที่สุดท้ายของการรณรงค์ในช่วง 7 วันระวังอันตราย พบว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม 270 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 53 จำนวน 25 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 10.20 ผู้เสียชีวิต 33 คน ลดลงจากปี 53 จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 13.16 ผู้บาดเจ็บ 297 คน เพิ่มขึ้นจากปี 53จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 12.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.85 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 61.48 บนถนนสายรองนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 59.63

“สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 15 ครั้ง รองลงมา พิษณุโลก 13 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 3 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 18 คน รองลงมา สมุทรปราการ 16 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการ รวม 76,110 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีใบขับขี่ 23,276 ราย รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย 22,991 ราย

ส่วนอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ระหว่าง 29 ธ.ค.53 - 4 ม.ค.54 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,497 ครั้ง ลดลงจากปี 53 จำนวน 37 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 1.05 ผู้เสียชีวิตรวม 358 คน เพิ่มขึ้นจากปี 53 จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 3.17 ผู้บาดเจ็บรวม 3,750 คน ลดลงจากปี 53 จำนวน 77 คน คิดเป็นร้อยละ 2.01

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.24 รองลงมา ขับรถเร็ว ร้อยละ 20.42 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 27.53 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.24 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 58.03 สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย จังหวัดละ 122 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี 13 คน รองลงมา ประจวบคีรีขันธ์ 12 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 131 คน รองลงมา พิษณุโลก 127 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตใน 7 วัน ได้แก่ ตราด”

นายสุเทพ กล่าวว่า การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร พบมีผู้กระทำผิดกรณีไม่สวมหมวกนิรภัยสูงที่สุด รองลงมา ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และมอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ตามลำดับ จากสถิติอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นคนในพื้นที่กว่าร้อยละ 80 โดยเป็นคนในชุมชน หมู่บ้านสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเมาสุราและไม่สวมหมวกนิรภัย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ รถตู้ และรถกระบะ เกิดจากการไม่มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสาร อีกทั้งมีการเพิ่มเที่ยวรถในช่วงเทศกาล ทำให้พนักงานขับรถอ่อนล้า และมีสภาพร่างกายไม่พร้อมขับขี่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ได้ง่าย

“แม้จะไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ตามที่คาดหมายไว้ แต่รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นที่จะลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนต่อไป โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ม.ค.54 ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ ศปถ.ที่กำหนดให้ปี 54 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดมาตรการสนับสนุนและผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เพื่อลดความสูญเสียในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์”

กำลังโหลดความคิดเห็น