ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา สรุปสถิติอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตราย รวม 6 วัน 4 จังหวัดอีสานใต้สังเวยแล้ว 28 ศพชาย 23 หญิง 5 เจ็บ 232 คน โคราช-สุรินทร์แชมป์ตายมากสุด 11 คน ประเภทรถเกิดอุบัติเหตุสูงสุด จยย.สาเหตุเมา-ขับเร็ว-ตัดหน้ากระชั้นชิด สูญร่วม 25 ล้าน ดำเนินคดีผู้กระทำผิด กม.จราจรกว่า 1 แสนคน
วันนี้ (4 ม.ค.) นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 (ศูนย์ ปภ.เขต 5) นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผลสรุปการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ช่วง 7 วันอันตราย ในพื้น 4 จังหวัดเขตความรับผิดชอบ คือ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ระหว่าง 29 ธ.ค.53 ถึง 3 ม.ค.54 รวม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุ 209 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 232 คน เป็นชาย 175 คน หญิง 57 คน ผู้เสียชีวิต 28 คน แยกเป็นชาย 23 คน หญิง 5 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 24,982,200 บาท
สำหรับจำนวนอุบัติเหตุ เปรียบเทียบกับปีใหม่ 2553 เพิ่มขึ้น 24 ครั้ง คิดเป็น 12.9% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จ.สุรินทร์ 78 ครั้ง รองลงมา บุรีรัมย์ 65 ครั้ง นครราชสีมา 62 ครั้ง ชัยภูมิ 4 ครั้ง
ผู้เสียชีวิตเปรียบเทียบกับปีใหม่ 2553 เพิ่มขึ้น 11 คน คิดเป็น 64.7 % จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 11 คน สุรินทร์ 11คน รองลงมา บุรีรัมย์ 5 คน และ ชัยภูมิ 1 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ (กรณี Admit) เพิ่มขึ้น 37 ครั้ง คิดเป็น 18.9 % จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 79 คน รองลงมา บุรีรัมย์ 75 คน สุรินทร์ 75 คน และ ชัยภูมิ 3 คน
ขณะที่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อันดับ 1 เมาสุรา 104 ครั้ง รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 50 ครั้ง และ ตัดหน้ากระชั้นชิด 36 ครั้ง สาเหตุและความผิดตามมาตรการสำคัญ (3ม. 2ข. 1ร.+4) อันดับ 1 เมาสุรา 107 ครั้ง รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 58 ครั้ง และ ไม่สวมหมวกนิรภัย 56 ครั้ง
ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด อันดับ 1 รถมอเตอร์ไซค์ 174 คัน รองลงมาคือ รถปิกอัพ 23 คัน และรถเก๋ง/รถแท็กซี่ 7 คัน ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ อันดับ 1 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 85 ครั้ง รองลงมาคือ ถนนกรมทางหลวง 74 ครั้ง และถนนกรมทางหลวงชนบท 32 ครั้ง
บริเวณจุดเกิดเหตุอันดับ 1 ทางตรง 143 ครั้ง รองลงมาคือ ทางโค้ง 36 ครั้ง และทางแยก 20 ครั้ง ช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุ อันดับ 1 ระหว่างเวลา 16.01-20.00 น. 75 ครั้ง รองลงมาคือ เวลา 12.01-16.00 น. 41 ครั้ง และระหว่างเวลา 20.01-00.00 น. 28 ครั้ง
สถานะของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อันดับ 1 ผู้ขับขี่ 167 คน รองลงมาคือ ผู้โดยสาร 72 คนและคนเดินเท้า 14 คน กลุ่มและช่วงอายุของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อันดับ 1 วัยแรงงาน อายุระหว่าง 25-49 ปี 117 คน อันดับ 2 วัยเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 1-24 ปี 109 คน อันดับ 3. วัยผู้สูงอายุ อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป 34 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 24,982,200 บาท
ส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินตั้งจุดตรวจจำนวน 1,347 จุดตรวจ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 38,062 คน เรียกตรวจยานพาหนะจำนวน 508,487 คัน ดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร 107,936 คน โดยความผิดที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย 33,208 คน คิดเป็น 30.7% รองลงมา คือไม่มีใบขับขี่ 29,147 คน คิดเป็น 27% และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 14,472 คน คิดเป็น 13.4%