xs
xsm
sm
md
lg

ยุบสภา : ทางออกหรือทางตัน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




สถานการณ์การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงยังคงดำเนินไปพร้อมข้อเรียกร้องแบบยื่นคำขาดต่อรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าต้อง ‘ยุบสภา’ เพียงอย่างเดียว มิฉะนั้นจะยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นขึ้น

ถึง ณ ขณะนี้ ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องของ นปช. จะยังไม่เกิดผลอันใด เมื่อนายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาบอกว่าจะไม่มีการยุบสภาหรือลาออก เพราะยังไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาในขณะนี้

ด้านบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ก็ดูจะยิ่งไม่มีเงื่อนไขสุกงอมเพียงพอที่จะยุบสภา พูดง่ายๆ คือยังไม่มีนักการเมืองซีกรัฐบาลคนไหนอยากจะลงสนามในตอนนี้ และเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่ผ่านมา การยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนที่เกิดจากแรงกดดันจากการชุมนุมนั้น แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย

เพราะนับตั้งแต่คณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 จวบจนวันนี้ พ.ศ.2553 การเมืองไทยก็ยังคงกะปลกกะเปลี้ย เพราะตลอดระยะเวลา 78 ปี ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการยุบสภาถึง 12 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว มีการยุบสภากันทุกๆ 6-7 ปี นี่ยังไม่นับการรัฐประหารที่เกิดบ่อยจนกลายเป็นมหกรรมไปแล้ว

ประมวลการยุบสภากับการเมืองไทย

ยุบสภาครั้งที่ 1 วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481
สมัยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ

ยุบสภาครั้งที่ 2 วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488
สมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ และผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ผูกขาดการดำรงตำแหน่งมานานนับแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ยุบสภาครั้งที่ 3 วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2516
สมัยรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ มีสาเหตุจากการที่สมาชิกสภานิติบัญญัติขอลาออกทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้
 
ยุบสภาครั้งที่ 4 วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519
สมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื่องมาจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ผลประโยชน์ทางการเมือง และถูกแทรกแซงจากกองทัพ

ยุบสภาครั้งที่ 5 วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526
สมัยรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา อันเนื่องมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521 ในบทบัญญัติว่าด้วยเกณฑ์การเลือกที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และลิดรอนสิทธิประชาชนในการลงคะแนนเสียง

ยุบสภาครั้งที่ 6 วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2529
สมัยรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องจากความขัดแย้งภายในสภาผู้แทนราษฎรนำไปสู่การลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลประกาศยุบสภา

ยุบสภาครั้งที่ 7 วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531
สมัยรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดจากความขัดแย้งภายในฝ่ายรัฐบาลเอง

ยุบสภาครั้งที่ 8 วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2535
สมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ยุบสภาครั้งที่ 9 วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538
สมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย สาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในฝ่ายรัฐบาล และการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01

ยุบสภาครั้งที่ 10 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2539
สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในฝ่ายรัฐบาลเอง

ยุบสภาครั้งที่ 11 วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543
สมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย มีสาเหตุจากการที่พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

ยุบสภาครั้งที่ 12 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549
สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีสาเหตุมาจากแรงกดดันทางการเมืองอันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
คงจะเห็นแล้วว่าเงื่อนไขที่นำไปสู่การยุบสภาเท่าที่ผ่านมา มักเกิดจากความขัดแย้งกันเองของฝ่ายรัฐบาล มีบ้างที่เป็นเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฉะแฉรัฐบาลเสียจนอยู่ลำบาก แต่ก็ไม่มีครั้งไหนเลยที่รัฐบาลจะเลือกยุบสภาเพราะแรงกดดันจากการชุมนุม

เห็นจะมีก็แต่ครั้งสุดท้าย ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีเงื่อนไขตั้งต้นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และในการชุมนุมครั้งนี้ของกลุ่ม นปช. ก็ต้องรอดูว่าข้อเรียกร้องจะเป็นจริงหรือไม่ แต่เราก็สามารถมองได้ว่าอย่างน้อยการเมืองไทยก็พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อเสียงของประชาชนไม่ว่าจะฝั่งไหน กลายเป็นเสียงที่มีพลังที่รัฐบาลต้องฟัง

ยุบสภา-ทางออก?

ประเด็นที่ต้องถามต่อก็คือ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาสามสี่ปี การยุบสภาจะเป็นทางออกจากวิกฤตได้หรือไม่

“การยุบสภาคืออำนาจของฝ่ายบริหาร เป็นการคืนอำนาจอธิปไตยไปสู่ประชาชน ยกตัวอย่าง ในระบบรัฐสภาอังกฤษ แม้ไม่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงเลย นายกฯ ก็สามารถยุบสภาได้ ถ้าคิดว่าการยุบสภามันจะทำให้ตัวเองได้เปรียบ เพราะอาวุธของฝ่ายบริหารคือ การยุบสภา ดังนั้น ในสถานการณ์ทางการเมืองที่แก้ไขอะไรไม่ได้ก็ควรจะส่งกลับอำนาจให้ประชาชน แต่สิ่งสำคัญก็คือกลไกในการเลือกตั้ง ที่ต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะถ้าไม่เป็นไปอย่างยุติธรรม ปัญหาก็ไม่จบ”

ดร.ลิขิต ธีระเวคิน อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นต่อแนวทางการคลี่คลายปัญหาในช่วงเขม็งเกลียวทางการเมือง โดยเห็นว่าวิธีการยุบสภา น่าจะเป็นทางออกของปัญหาได้ แม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ก็ตาม
“อย่างน้อยๆ การยุบสภาก็จะทำให้ผ่านปัญหาช่วงนี้ไปได้ แต่ก็ต้องมีเรื่องที่รออยู่อีกเยอะ ต้องแก้กันอีกยาว ที่สำคัญกว่านั้น ในกรณีที่ยุบสภา จะต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย ไม่ใช่ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มันพิกลพิการ

“การยุบสภามันจะแก้ปัญหาได้ชั่วคราว แต่การเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ไม่ใช่พอเลือกตั้งเสร็จ ตัวเองแพ้ก็ไม่ยอมรับ ผมอยากให้ทุกคนมองอย่างเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักกฎหมาย ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ในต่างประเทศ ถ้าไม่พอใจการบริหาร เขาก็จะตะโกนด่ากันในสภาเลย แล้วก็ต้องเลือกเลยว่ายุบสภาหรือลาออก และทางออกที่สวยที่สุดก็คือ เขาคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เมื่อปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องแก้กันไป แม้ไม่พอใจ แต่ก็ต้องแก้ไปตามกลไก เคารพกลไก”

แล้วถ้าไม่ยุบสภา อะไรจะเกิดขึ้น? ดร.ลิขิตฟันธงว่า

“ถ้าไม่ยุบสภา ก็ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมถอย ก็เดาเอาแล้วกันครับ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แพ้ทั้งคู่และดูไม่จืดด้วย”

นอกจากมุมมองของนักรัฐศาสตร์อย่าง ดร.ลิขิต ที่เห็นว่าการยุบสภาคือทางออกสำหรับวิกฤตบ้านเมืองในช่วงนี้แล้ว เราก็ลองหยิบคำถามเดียวกันนี้ ไปถามไถ่นักรัฐศาสตร์อีกคน ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ

“การยุบสภาในตอนนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี และโดยปกติแล้ว การจะยุบสภาต้องมีสาเหตุมาจากการที่สภาไม่สามารถบริหารงานได้ เกิดความขัดแย้งในรัฐสภา หรือมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เหล่านี้คือเหตุผลที่นำไปสู่การยุบสภา แต่เงื่อนไขที่หยิบยกมาพูดกันในตอนนี้ ผมว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีความผิดร้ายแรงหรือมีการคอร์รัปชันใหญ่หลวงเหมือนรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ถูกชุมนุมกดดัน และที่สำคัญคือ การเรียกร้องให้ยุบสภาในครั้งนี้เป็นการทำเพื่อคนคนเดียว

“ปกติแล้วในต่างประเทศ หากเกิดปัญหาเรื่องความไว้วางใจ เขามักจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบด้วยการลาออก เพื่อให้คณะรัฐมนตรียังคงอยู่ การบริหารประเทศยังดำเนินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นก็น่าตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ชุมนุมจึงไม่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก แทนที่จะยุบสภา เหตุผลก็เพราะการยุบสภาจะนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่จะทำให้พวกพ้องของตนกลับมามีอำนาจ”

เมื่อยุบสภาไม่ใช่ทางออก แล้วอย่างไหน คือทางออกที่เหมาะสม ผศ.สุรัตน์เสนอว่า

“ทำอะไรไม่ได้ครับ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมยืนหยัดในแนวทางของตัวเอง ก็ปล่อยให้ทำไป ซึ่งผมว่ารัฐบาลก็ทำถูกแล้วที่ไม่ตอบโต้ ไม่ยั่วยุ แต่ใช้ความสงบ ใช้วุฒิภาวะทางอารมณ์ ปล่อยให้เขาชุมนุม แล้วเขาก็จะได้เรียนรู้เอง”

แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สังคมไทยเดินทางมาสู่ยุคที่ 'การเมือง' เป็นเรื่องของทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องแขวนไว้บนที่สูงเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าใจได้อีกต่อไป

“การชุมนุมเรียกร้องทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้เห็นว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากแค่ไหน เพราะฉะนั้น ผมไม่อยากให้โกรธเกลียดเสื้อแดง เพราะหลายคนที่มา มาเพราะรักคุณทักษิณ ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำที่ผมพูดถึงในที่นี้ ก็คือความต่างของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจว่าคุณทักษิณทำอะไรไว้บ้าง”

แต่ไม่ว่าจะยุบสภา เลือกตั้ง หรือนองเลือด ไม่ว่าจบแบบใด ดร.ลิขิตเชื่อว่าสังคมไทยจะได้รับบทเรียนที่สำคัญยิ่ง

“ขอให้ทราบไว้ด้วยนะครับว่าสังคมไทย เปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนในชนบทไม่โง่อีกต่อไปแล้ว สังคมไทยจำเป็นต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงภายใน ถ้าเราอยากจะก้าวตามให้ทันโลกยุคโลกาภิวัตน์ กลไกต้องเปลี่ยนตาม อย่าไปคิดว่าสังคมไทยเหมือนเก่า มันไม่เหมือนเก่า คนไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ต้องยอมรับ

“มองอีกแง่หนึ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ความเจริญทางการเมือง เพียงแต่กลไกของเราตอบสนองไม่ทัน และคนบางกลุ่มก็ตอบสนองไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงนี้”

ส่วนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์จะมีการยุบสภา เป็นครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ หรือไม่ คงต้องจับตา เพราะไม่แน่ว่าความขัดแย้งภายในรัฐบาล และผลประโยชน์ทางการเมือง อาจกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการยุบสภาภายในปีนี้ก็เป็นได้

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น