ปัญหาแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสีย คุณภาพน้ำย่ำแย่ไม่ เหมาะต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ไม่ใช่สิ่งใหม่หมาดที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย
ก่อนหน้านี้ในปี 2550 คงจำกันได้กับเหตุการณ์ที่สัตว์น้ำหลากชนิด ทั้งปลาทับทิม ปลาแรด และกุ้งแม่น้ำตัวโต ที่ชาวบ้านในตำบลบางเสด็จ จังหวัดอ่างทอง และตำบลบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลี้ยงไว้ในกระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกฤทธิ์ของน้ำเสียเล่นงานถึงชีวิต ตายลอยเป็นแพ! ส่งกลิ่นเหม็นให้ได้รับรู้กันทั่วประเทศ และยังมีเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ผลตรวจคุณภาพน้ำครั้งล่าสุดของ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอกย้ำความเน่าเสียของเจ้าพระยาเข้าไปอีกในระดับที่ดูรุนแรงอย่างที่สุด เพราะระบุว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานนนทบุรีถึงศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการเน่าทั้งสาย! เพราะมีค่าดีโอหรือค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO-Dissolved Oxygen) ที่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร (มก./ล.)
ลองทายดูซิว่า เจ้าพระยาจุดไหนในกรุงเทพฯ ที่น้ำเน่าชวนคลื่นเหียนที่สุด?
ข้อมูล ณ วันที่ 23 มกราคม 2553 ระบุว่า น้ำบริเวณสะพานกรุงเทพฯ เน่าสุด (DO อยู่ที่ 0.69 ) น้ำเน่าอันดับถัดมาอยู่ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า (0.69 ) นอกนั้นก็มีปากคลองพระโขนง (1.02 มก./ล.) กรมชลประทานสามเสน (1.17 ) วัดบางนา (1.18) ปากคลองสำโรง (1.32) ท่าน้ำนนทบุรี (1.74) และศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ (1.74) ทั้งหมดมีหน่วยเป็น มก./ล.
วิถีคน วิถีเจ้าพระยา
เจ้าพระยามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนเมืองหลวงและคนไทยอย่างมหาศาล ล่องเรือมาบริเวณท่าน้ำนนทบุรี บรรจง ชมชิด แม่ค้าขายถั่วต้ม มันต้ม รำลึกความผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 20 ปีว่า เมื่อก่อนคนจะใช้เรือรับจ้างเรือแจวในการสัญจรไปมา ซึ่งบริเวณนี้ยังมีบ้านเรือนหลังเล็กๆ ไม่มากนัก แต่หลังจากความเจริญเข้ามา บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำมีหลังใหญ่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ถนนหลายสายเกิดขึ้นตาม
ท่าน้ำนนทบุรี ค่า DO 1.74 มก./ล. “เมื่อก่อนน้ำเจ้าพระยาใสแจ๋ว ยังตักน้ำเอาไปใช้ เอาไปกินเอาไปอาบอยู่เลย เดี๋ยวนี้ไม่ไหว กลิ่นเหม็นมาก มีผักตบชวาขยะลอยเต็มเลย ชาวบ้านไม่ใช้น้ำในแม่น้ำกันแล้ว หันไปใช้น้ำประปาแทน น้ำเสียทำให้ กุ้ง ปลาตายลอยขึ้นมา และน่าจะมีชาวบ้านเอายาไปโรยในน้ำให้กุ้งและปลาตาย เพื่อจะได้จับไปขาย และต้นตอของน้ำเน่าอีกอย่าง คือน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดอื่นที่มีโรงงาน”
เรือมาจอดที่บริเวณท่าเรือพายัพ กรมชลประทานสามเสน กิตติ อมรชัย คุณลุงวัย 74 ปี ผู้บริการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่บริเวณท่าน้ำดังกล่าว บอกว่า สมัยก่อนผู้คนที่อาศัยริมเจ้าพระยา จะอาศัยน้ำในแม่น้ำเพื่อดื่มกินหรืออาบ หรือถ้าจะซื้อข้าวของต่างๆ ก็จะมีเรือกระแชง เรือขายข้าวสารที่ล่องตามน้ำเจ้าพระยามาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลัดเลาะมาตามคลองสายต่างๆ เมื่อขายหมดก็กลับไปเอาของมาขายต่อ
กรมชลประทานสามเสน ค่า DO 1.17 มก./ล. “น้ำเสียส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดใกล้เคียงที่ปล่อยลงคลอง และน้ำจากคลองก็ไหลลงสู่เจ้าพระยา ที่ไหนก็ตามที่เป็นคลองและเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา คนจะปล่อยน้ำเสียลงคลองหมด บางคนคิดว่าพอปล่อยน้ำเสียออกมา พอปล่อยน้ำดีตามก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำดีขึ้น ซึ่งคิดอย่างนี้ไม่ได้ นานๆ เข้าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเน่าขึ้นเรื่อยๆ มีขยะ มีผักตบชวาลอยเต็มไปหมด เรือเก็บไม่หมดเสียที”
ชัยพล เชื้อสายดิษฐ์ ชาวบ้านย่านเจริญกรุง ใกล้สะพานกรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า 30 ปี ก่อนตอนเขาเป็นเด็ก ชาวบ้านยังใช้น้ำบริเวณนี้ซักผ้าหรืออาบน้ำอยู่ ตลอดจนเขาและพวกพ้องวัยซนมักชวนกันมาว่ายน้ำเล่นเป็นประจำ ซึ่งภาพดังกล่าวคงไม่มีทางย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นแน่แท้
สะพานกรุงเทพฯ ค่า DO 0.69 มก./ล. “เมื่อก่อนปลาชุมกว่านี้ เพราะน้ำใสสะอาด กุ้งก้ามกรามยังมีเลย ตอนนี้ปลาเทโพที่อยู่ในน้ำตายแล้วลอยให้เห็นบ่อยๆ 2 ปีก่อนมีสื่อนำเสนอเรื่องน้ำเสียไปแล้วนะ แต่ไม่เห็นมีใครใส่ใจดูแลอย่างจริงจังเลยครับ น้ำก็เน่ายิ่งกว่าเดิม ไม่แปลกหรอกครับ คนไทยนิสัยมักง่าย ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำกันเป็นว่าเล่น ดีอยู่บ้างที่เจ้าหน้าที่ยังมาตักขยะที่ลอยในน้ำไปทำลาย”
ที่ท่าสะพานพุทธ มีขยะลอยล่องทั่วท้องน้ำ และสีดำสุดขั้วของน้ำก็บ่งบอกความเน่าได้ดี มันทำให้ นี (ขอสงวนนามสกุล) ช่างเย็บผ้าที่ทำมาหากินอยู่บริเวณดังกล่าว ถอนหายใจ เธอรำพึงว่า เหมือนว่าป้ายที่มีข้อความตัวเป้งๆ ว่า ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียลงแม่น้ำ และบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นในบ้านเรือน เช่น ติดตั้งถังดักไขมัน ที่ติดไว้ตรงบริเวณท่าเรือจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย ตอนนี้คนเร่ร่อนหรือกรรมกรอาจตักน้ำมาอาบบ้าง เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น แต่เด็กไม่ลงไปเล่นน้ำกันแล้ว พ่อแม่ห้ามเล่นเนื่องจากสกปรก
ท่าสะพานพุทธ ค่า DO 0.71 มก./ล. “น้ำเน่าเสียอย่างนี้มานานแล้ว ชาวบ้านไม่ค่อยช่วยกันดูแลรักษาอย่างจริงจัง การรณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่น้ำอาจได้ผลบ้าง แต่ชาวบ้านยังทิ้งขยะลงแม่น้ำอยู่ บ้านแต่ละหลังก็ระบายน้ำทิ้งลงแม่น้ำกันมานานแล้วเหมือนกัน มันไม่มีระบบกำจัดน้ำเสียไง ห้องน้ำในบ้านเรือนริมคลองจะไม่ทำถังเก็บไว้ด้านล่างแม่น้ำ เขาจะปล่อยสิ่งปฏิกูล ปัสสาวะอุจจาระลงแม่น้ำไปเลย”
แก้ 'น้ำเน่า' เราทำได้?
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษมาเป็นเวลายาวนาน เปิดประเด็นว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียเกิดขึ้น 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ ย่านชุมชนที่พักอาศัย ย่านอุตสาหกรรม และย่านเกษตรกรรม ก่อนขยายความเพิ่มเติม
“เขตจังหวัดสมุทรปราการมีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ น้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสีย ถ้าเป็นบริเวณชุมชน น้ำทิ้งจากบ้านเรือนก็มีส่วน หรือถ้าบริเวณดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมก็อาจมีการเทน้ำยาฆ่าแมลงหรือน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีลงแม่น้ำ”
โดยทั้ง 3 กรณี น้ำทิ้งจากชุมชนมีอันตรายน้อยที่สุด เพราะน้ำเสียที่เกิดจากการหมักหมมของของเสียหรืออาหาร จะกลายเป็นน้ำหมักชีวภาพที่มีจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ในน้ำ ทำให้น้ำบริเวณนั้นมีออกซิเจนหมุนเวียนดีขึ้น ต่างจากน้ำเสียที่ทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีสารพิษหนักปนเปื้อน เช่น สารปรอท เมื่อน้ำเสียเหล่านี้ถูกปล่อยลงแม่น้ำ ไม่เพียงทำให้แม่น้ำมีสารพิษปนเปื้อน แต่ก็จะทำให้ปลาในแม่น้ำปนเปื้อนสารพิษด้วย
รศ.ดร.เรณู สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสียว่า รัฐควรตรวจสอบคุณภาพของโรงบำบัดน้ำเสียว่ามีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเพียงพอหรือไม่ เพราะนับตั้งแต่มีการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเมื่อสมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน จวบจนบัดนี้ โรงบำบัดฯ บางแห่งก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียในแหล่งชุมชนได้อย่างแท้จริง
“โรงบำบัดฯ ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะต้องสามารถแยกตะกอนได้ เช่น เมื่อมีการเทน้ำเสียจากบ้านเรือนลงแม่น้ำลำคลอง เครื่องบำบัดก็จะแยกตะกอน แยกชั้นไขมัน แยกกากเศษอาหารเหล่านี้ออกจากน้ำ ซึ่งกากของเสียก็อาจจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ขณะที่น้ำซึ่งถูกทำให้ตกตะกอนกลายเป็นน้ำใสก็จะถูกปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำ มีการหมุนเวียนน้ำ ได้รับออกซิเจน กลายเป็นน้ำสะอาด”
สำหรับการแก้ไขที่ชุมชนควรมีส่วนร่วมนั้น นอกจากจิตสำนึกของแต่ละคนแล้ว ก็อาจมีมาตรการ 'เก็บค่าปล่อยน้ำทิ้ง' โดยติดตั้งค่าวัดปริมาตรน้ำที่แต่ละครัวเรือนปล่อยทิ้งเอาไว้ แล้วคิดเงินตามนั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ผู้คนในแต่ละครัวเรือนยั้งคิดมากขึ้น ในแต่ละครั้งที่จะปล่อยน้ำเสียลงท่อน้ำทิ้งของตน
……….
ใช่ว่า องค์กรทางสังคมจะนิ่งดูดายกับปัญหาน้ำเน่าของเจ้าพระยา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่เกิดขึ้นเพราะความปรารถนาดีอยากเห็นน้ำในเจ้าพระยาใสสะอาดและคุณภาพดีขึ้น เช่น โครงการรักเจ้าพระยากับตาวิเศษ, เจ้าพระยาสดใสเทิดไท้องค์ราชัน และเยาวชนร่วมใจ ลดน้ำเสีย คืนน้ำใสให้เจ้าพระยา เป็นต้น แต่เหมือนว่า หลายโครงการเป็นโครงการเฉพาะกิจ ไม่ใช่โครงการที่ทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง พลอยทำให้ประชาชนไม่จริงจังกับโครงการเหล่านี้ด้วย
ความต่อเนื่องจริงจังและความร่วมมือจากทุกคน ที่ล้วนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและรับผิดชอบทรัพยากร ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมหรือประชาชนทั่วไป อาจช่วยให้น้ำในเจ้าพระยาไม่เน่าไปกว่านี้
***************
เจ้าพระยารำลึก
แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายเลือดใหญ่ของคนไทย ยาวประมาณ 379 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10,270 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ
เหล่านี้คือข้อมูลของเจ้าพระยาที่หลายคนอาจยังไม่รู้
ย้อนกลับไปหลายพันปีก่อน บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเคยเป็นทะเลมาก่อน โดยชายฝั่งทะเลเคยขึ้นสูงถึงบริเวณจังหวัดลพบุรี มีการขุดพบซากวาฬที่บางเขน กรุงเทพฯ และที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานราวยุคโลหะ หรือเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ที่มาของชื่อเจ้าพระยาไม่มีหลักฐานปรากฏชัด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ที่เราเรียกกันว่าปากน้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ แต่โบราณเรียกว่าปากน้ำพระประแดง ภายหลังเมื่อแผ่นดินงอกห่างออกไปไกล เมืองพระประแดงจึงเรียกว่า ปากน้ำบางเจ้าพระยา
ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเล่าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เริ่มต้นที่จุดรวมของแม่น้ำน่านและแม่น้ำปิง ที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ไปสิ้นสุดไหลออกทะเลที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ตำบลตรงที่แม่น้ำนี้ไหลออกทะเลนั้นเคยมีชื่อว่า เจ้าพระยา ชื่อตำบลนั้นก็เลยใช้เรียกชื่อแม่น้ำทั้งสายว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับที่เอาชื่อตำบลที่แม่น้ำสายอื่นๆ ไหลออกสู่ทะเลเรียกเป็นชื่อแม่น้ำ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น (อ้างอิงจาก หนังสือแม่น้ำเจ้าพระยา: มารดาแห่งสยามประเทศ (The Chao Phya River : Mother of Siam ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ)
ปริมาณน้ำเสียจากชุมชนในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งมีประชากร 6,946,581 คน อยู่ที่ 2,770,121 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนปริมาณน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ 4,935 แห่ง คือ 267,499 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.pcd.go.th)
……….
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK