xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะดันดารา ฉบับ...ครูอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จัก “ครูอ้วน มณีนุช เสมรสุต” ครูสอนร้องเพลงที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อาชีพปั้นดาว หรือดันดารา ก็คงไม่ผิดนัก หากแต่เธอบอกกับ M-Light ว่า เธอเป็นเพียงผู้หยิบยื่นวิชาความรู้ให้บางส่วนเท่านั้น ส่วนความดังและมีชื่อเสียง เด็กคือผู้ได้มาเองทั้งนั้น และยังมีอีกหลายแง่มุมที่ครูอ้วนบอกว่าธรรมะตัวเดียวที่ทำให้เธอสอนเด็กได้มาเป็นเวลาหลักสิบปี คือ “ความจริงใจ”

1.
เมื่อครูไม่ใช่อาชีพ


เราอาจรู้จัก “ครูอ้วน มณีนุช เสมรสุต” จากรายการ “ตีสิบ” ในคนรุ่นนี้ หากแต่ในยุคก่อนเสียงร้องของเธออีกทั้งความสามารถในการร้องเพลงครูอ้วนถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านร้องเพลงมากที่สุดคนหนึ่งจนเธอผันตัวเองมาเปิดห้องเรียนสอนร้องเพลงและ “ครู” กลายเป็นงานหลักของเธอ

“ชีวิตอ้วนคือการสอน ความสุขที่สุดคือการอยู่กับการสอน การอยู่กับเด็ก การอยู่กับงาน งานของอ้วนไม่ถือว่าเครียด ตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีวันไหนที่ไม่อยากมาทำงาน ยกเว้นวันที่ป่วย ถ้าป่วยเราก็ไม่พร้อม งานของคนในโลกนี้ทั้ง 99 เปอร์เซ็นต์เนี่ยมันจะมีความเครียดเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สำหรับอ้วนเอง อ้วนถือว่างานของอ้วนไม่ใช่ความเครียด การที่อ้วนเครียดเมื่อไหร่ อ้วนจะหยุดการทำงาน เพราะฉะนั้นเวลาออกมาในที่ทำงานเนี่ย มันสามารถทำได้ทั้ง 365 วัน วันไหนที่อ้วนไม่ได้มาหมายความว่าอ้วนเครียด อ้วนป่วย ในปี 2552 ปีที่แล้ว เราป่วยไปกี่วัน 365 วันหายไปไม่ถึง 10 วันนะ”... ครูอ้วนเล่าถึงหน้าที่การสอนที่เธอจัดสรรชัดเจนเมื่อวันที่มีหน้าที่หลายอย่างรวมทั้งงานในวงการบันเทิง

“งานบันเทิงจัดสรรมากขึ้น ในปี 2551 เล่นละครเยอะมาก ออนแอร์เยอะมาก คิดว่ามันมากไปแล้ว มากไปเราเติมให้ตัวเองไม่ทันบทที่มาดาวจรัสฟ้า แล้วมีตลก แล้วตามด้วยแม่นาคเดอะมิวสิเคิล (ค่ายดรีมบ็อกซ์) เราเรียนเรื่องเทคนิคการใช้เสียงมา บางทีเรามาจัดสรรเรื่องของเสียงใส่เข้าไป ฝึกปรือตัวเองไปด้วย การที่ไปรับงานอื่นเราถือว่านั่นคือเวทีของการเรียนรู้ มันทำให้เราแข็งแรงขึ้น ได้แนวทางของการแก้ไขพัฒนา”

2.
ครูแบบ พ.ป.ร.

สำหรับครูอ้วน การรับงานแสดง อีกทั้งการใฝ่หาความรู้ไม่ได้มีเพียงในตัวเด็กเท่านั้น แต่ครูอย่างเธอก็ต้องขยันหาความรู้เพิ่มเติมเช่นกัน โดยเธอมีสูตรครูของเธอคือ พ.ป.ร. (พัฒนา ปรับปรุง รักษา)

“ครูหยุดนิ่งไม่ได้ เราเชื่อใน พ.ป.ร. คือพัฒนา ปรับปรุง แล้วก็รักษาไว้ ในสิ่งที่มันดีอยู่แล้ว ครูไม่หยุดเรียนรู้ค่ะ อ้วนเรียนหนังสือมาจากโรงเรียนศรีวิกรม์นะคะ ในยุคนั้นเนี่ย จะเป็นยุคที่เราได้รับคำสอนจากคุณครูมา ครูสมัยก่อนๆ จะเหมือนพ่อเหมือนแม่ ใส่ใจลงมาเยอะมาก เรารับได้ตรงนั้นมาเยอะ แล้วคุณพ่อคุณแม่เราเนี่ยสอนให้เรามีเหตุผล เรามาทำงานตรงนี้เนี่ย เรามาทำงานกับเด็ก เรียนกับผ้าขาว แล้วเราไปเรียน เรามีสังคม ถ้าวันนี้อ้วนจะวิเคราะห์ตัวเองคือ สังคมยอมรับ ผู้ปกครองยอมรับ เด็กไม่ได้รู้จักเราหรอก แต่พ่อแม่ไว้ใจ รู้จักเรามาตลอดชีวิตของเขา เราแทบจะรุ่นยายเขาแล้ว พ่อแม่รู้จักเราตลอดชีวิตเขา เขาก็มองว่านี่คือคนเก่ง คนเก่งนี่ใครคือคนตั้งล่ะ มันไม่มีอะไรมาบอกว่าคนนี้คือคนเก่ง มันต้องรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าว่างั้นเถอะ เราก็ต้องรักษามาตรฐาน คุณค่า คุณภาพให้มันคงที่อยู่ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป เราก็ต้องพยายามว่าเราจะทำอย่างไรให้ทัน”

“ตีสิบเขาจ้างเรามันคืออะไร เราสวยหรือ มันไม่ใช่ เรามีอะไรเราก็คุยกับคุณวิทวัส คุณค่าของเรามันอยู่ตรงไหน เราจะไปเล่นตลกหรือ มันก็ไม่ใช่ แต่สิ่งที่เราให้แก่รายการมันคือคุณค่าที่เราร่ำเรียนและมีประสบการณ์มา เราก็พยายามรักษาตรงนี้”

3.
ธรรมะสูงสุด คือความจริงใจ และสุขกับคำว่า “รู้”


พอถามถึงหลักธรรมในการสอน แม้ไม่ได้ขึ้นตรงกับคุรุสภาเหมือนครูทั่วไป แต่เธอบอกกับเราว่า “ความจริงใจ” เท่านั้นที่ทำให้เธอคือผู้ให้แบบมีความสุข

“อ้วนคิดว่าเรื่องของธรรมะอ้วนศึกษานะคะ แต่อ้วนไม่เก่ง พูดไม่เป็นแต่พยายามจะฟังธรรมะสูงๆ แพงๆ มาใช้คำของตัวเราเอง แล้วอ้วนก็ใช้มันมาตลอด 30 ปี ที่อ้วนอยู่ในสายงานการสอนคือความจริงใจ ความจริงจากใจ คือความซื่อตรง ไม่โกหก ไม่หลอกลวง ไม่โป้ปดมดเท็จ เมื่อเราจริงใจปั๊บความมีเหตุผลมันจะตามมา ในโรงเรียนอ้วนในทีมงานทุกคน บางคนอายุการทำงานก็เท่าๆเรา เมื่อทุกคนมายืนตรงนี้ มาอยู่ข้างเราเขามีความสุขมากขึ้น เพราะเราไม่ต้องโกหกกัน คนหนึ่งเดินมาหาเรา อีกสามเดือนเขาก็อาจจะจากไป เขากลับมาอีก 4 ปีข้างหน้าเขาก็ยังบอกว่าเราเหมือนเดิม เพราะเขาสัมผัสได้ถึงความจริงใจ เพราะความจริงมันก็คือความจริงวันยังค่ำ”

“อ้วนเหมือนมนุษย์ทั่วๆไปที่มีรักโลภ โกรธ หลง มีโมโห มีครบแหละ แต่เมื่อเราเจอปัญหาเหล่านั้นในบางครั้ง บางคนเจอ10 ก็ไม่ไหวยอมแพ้ แต่สำหรับอ้วนเองดวงชะตามันมาหนักกว่าคนอื่น ไม่เจออะไรที่น้อย ในชีวิตเจอมาเยอะมาก ถามว่าเครียดมั้ยก็ไม่เครียดนะ เรารู้ได้ว่ามนุษย์เราเมื่อถึงเวลา 24 ชั่วโมงทุกคนถูกจัดแบ่งด้วยปัจจัย 4 อาหาร 3 มื้อ จมูกมีไว้หายใจ มีตาไว้มอง เราโชคดีที่ครบ 32 มีครอบครัวที่สมบูรณ์กว่าใครอีกหลายคน ปัญหาที่มีมามันคือแบบฝึกหัดของชีวิตตามรู้มันให้ทัน สิ่งเดียวที่ทำให้อ้วนมีชีวิตอยู่ได้จนเกือบจะ 50 นี่คือ คำว่า “รู้” คำเดียวเท่านั้นเองที่ทำให้เราจะอยู่ได้ด้วยความสุข ขอให้ตัวเองรู้ว่าตัวเองรู้ และรู้ว่าตัวเองไม่รู้ เพราะฉะนั้นคำว่ารู้คำเดียวเท่านั้นเอง มันตอบโจทย์ของตัวเองได้ มันมีนะ มีบางเรื่องที่เรารู้ แต่จริงๆแล้วเราไม่รู้ เราต้องหาตัวเราให้เจอว่าเรารู้จริงหรือเปล่า”

4.
ครูคือผู้ให้ ไม่ใช่ผู้เปลี่ยนชีวิตเด็ก


ครูอ้วนเล่าว่าพรหมลิขิตอาจทำให้เธอได้มาสอนร้องเพลง และครูอ้วนในวันนี้คือคำที่สังคมมอบให้ซึ่งมีหน้าที่หนักไม่แพ้ครูคนอื่น และครั้งหนึ่งเธอก็เคยล้มลุกคลุกคลานกับอาชีพนี้เพราะคิดจะเปลี่ยนเด็ก แต่แท้ที่จริงแล้วเธอบอกว่าครูคือผู้ที่มีหน้าที่ให้ความรู้เท่านั้นไม่ใช่ผู้เปลี่ยนแปลง

“คำว่าครู คำนามคำนี้คนที่ตั้งให้คือสื่อมวลชน พอวันหนึ่งที่คอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์พาดหัวตัวเบ้อเร่อเลยว่า “ครูอ้วน” อ้วนก็มีความรู้สึกอย่างไรก็ถามกับตัวเอง เราก็บอกกลัวจังเลย เพราะยุคสมัยที่เราเรียนหนังสือเรารู้สึกว่าครูคือคนที่เรารักเทิดทูน ครูยิ่งใหญ่ พอวันที่เราถูกตั้งสมญานามว่าเราคือครูเนี่ย เราอยากทำตัวให้ได้ดี เป็นแม่แบบเหมือนกับครูของเรา แล้วเราก็ต้องรักษา สร้างคุณค่า มันมาเองแบบคุรุสภาไม่ต้องกำหนด นี่ยากกว่าเพราะสังคมกำหนด"

“สมัยร้อนวิชา ยังไม่เป็นครูอ้วน ยังเป็นพี่อ้วน ความรู้ท่วมหัวยังเอาตัวไม่รอด เรามาถึงปั๊บเราก็บอกเลยว่าอันนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ดี ต้องเปลี่ยนหมด เราเจอคนที่เขาเชื่อเรา เราก็มีความสุข พอวันหนึ่งเขาไม่เชื่อเรา เราทุกข์ กลับบ้านนอนเครียด เราก็ถามตัวเราเองว่าเราทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็มานั่งหนีทุกข์ก็ไม่ใช่นะ ให้ในสิ่งที่ดี ถูกต้อง ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ให้เขารู้จักตัวเอง ไม่ใช่เราไปเปลี่ยนเขา ตัวเองเป็นผู้พินิจด้วยตนเอง เราสอนให้เขารู้จักตัวเขาเอง ผ่านโสตทั้ง 5 เอาสังคมข้างนอกให้เขาเห็น ร้องเพลงแล้วมีคอมเมนต์ กรรมการคนนี้บอกชอบคุณแล้วประชาชนชอบคุณหรือเปล่า ถ้าคนดูไม่ชอบคุณก็จบ นี่คือวิธีการบอกเขา”

ภาพโดย... พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร




“ครู” ในความหมาย ของครูอ้วน

“ครูคือผู้ที่จะต้องให้อย่างมีความสุข ให้อย่างมีเหตุผล ให้อย่างรู้ ให้อย่างมีการจัดสรร และให้อย่างรู้ถึงคำว่าพอเพียง ขอใช้คำจากพระราชดำรัส คำว่าพอเพียงตอนอ้วนได้ยินที่ท่านประทานลงมา มันสว่างมาก คำว่าพอเพียงมันใช้ได้กับทุกๆ เรื่องเลย ไม่ใช่แค่เรื่องเงินในกระเป๋า งานการสอนของอ้วนเนี่ยมันคือการพอเพียง เด็กที่มาเนี่ยเราให้ได้ไม่เท่ากันหรอก เราจะจัดสรรแล้วให้ พอเพียงคือต้องสมดุลระหว่างผู้ให้กับผู้รับ คิดตรงกันแล้วแฮปปี้ ซึ่งมันจะเกิดเป็นกิเลสโมหะ อะไรขึ้นมาเพราะมันไม่สมดุลกัน”

เรียนรู้อยู่กับ “ตน” สัจธรรมจากใจ “ครูอ้วน”

“อ้วนไม่เคยเหงาเลย จริงๆ อ้วนมีความรู้สึกว่าเมื่อเวลาที่เราเลือกได้ เราจะขออยู่กับเสียงธรรมชาติ อยู่กับหนังสือสักเล่มหนึ่ง อ้วนไม่เคยเหงาเลยเพราะว่าชีวิตโชคดีมีคนรักอ้วนเยอะ แล้วคนที่เดินมาหาครูอ้วนเนี่ยเขาเข้ามาด้วยความรัก และความเชื่อมั่น มีบางเปอร์เซ็นต์ที่เดินเข้ามาแล้วไม่ถูกจริตกันก็เดินออกไปก็คงมีแต่เชื่อว่ามากกว่าครึ่งโอเค ไม่งั้นธุรกิจเราคงอยู่ไม่ได้ เราอยู่กับความสุขตลอดเวลา เดินมาถึงกอดกันลูกใครไม่รู้ น่ารัก เราก็กอดเขา เขาก็กอดเราด้วยนะ เรามีความสุข เราไม่ต้องเสแสร้งใส่กันเลย อ้วนคงโชคไม่ดี อ้วนเคยมีความรักนะ เคยจะมีครอบครัวมั้ย ธรรมชาติของความเป็นผู้หญิงผู้ชาย ของโลกใบนี้อ้วนถือว่าอ้วนโชคไม่ดี”

“การมีครอบครัว มีลูก ไม่ใช่ภาระน้อยๆ เราก็มองตัวเราว่าเรามีความสุขได้ทุกวัน ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ตน” วันนี้ตนคือตนวันหนึ่งตนก็ไม่อยู่กับตน มาหนึ่งอยู่หนึ่งแล้วก็ไปหนึ่ง เรามองได้ว่ามันมีชื่อเสียงนะ มันมีมันหมดไปได้นะ ดาราบางคนเราใช้คำว่ายังไม่ดัง ถามว่าเรามีส่วนในชีวิตเขามั้ย เราไม่ใช่คนสร้างเขานะ ครูอ้วนเก่งสร้างคนนั้นคนนี้ เราเปล่านะ เราเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำให้เขาได้เรียนรู้ในแบบฝึกหัด เขาไม่ต้องไปหาที่ไหน เขาดังก็ดวงของเขา ความสามารถของเขา โอกาสของเขา เขามีคนสตาร์ทให้ วันหนึ่งมันก็มีจุดดับเราก็เห็นสัจธรรม วันหนึ่งคนปิดสวิตช์ก็อยู่ข้างเรา เครื่องค่อยๆ ดับลงจนกระทั่งเป็นฝุ่นหายไปในอากาศนี่คือชีวิต”




กำลังโหลดความคิดเห็น