xs
xsm
sm
md
lg

หัวอกลูกหนี้+เจ้าหนี้ ในความหมายของ ‘หนี้นอกระบบ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"รัฐบาลมีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะขจัดปัญหานี้ออกจากสังคมให้ได้"

นี่คือคำกล่าวที่ดูหล่อเหลา จากปากของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีสุดหล่อ ที่กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบ และในวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการเริ่มลงทะเบียน ‘คนมีหนี้’ (นอกระบบ)

หลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่คนที่ไม่เคยเป็นหนี้นอกระบบ ก็คงจะจินตนาการไม่ออกว่า ชีวิตของคนเป็นหนี้นอกระบบนั้น ยากแค้นลำเค็ญและอับเฉาเน่าเหม็นขนาดไหน อย่างน้อยโครงการนี้ ก็น่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ของลูกหนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

แล้วต้นเหตุของหนี้นอกระบบพวกนี้มันมาจากไหนล่ะ?

หลายคนในสังคมมองว่าคนที่เป็นหนี้นอกระบบนั้น เป็นคนที่ใช้เงินไม่เป็น ฟุ่มเฟือย รักสบาย ไม่ก็เป็นพวกติดการพนันขันต่อ จนต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้หนี้เจ้าอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะใช่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

หนี้นอกระบบคือ ระบบการเงิน ที่เกิดขึ้นมารองรับกลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้

ลองหลับตานึกภาพถึงคนที่หาเช้ากินค่ำ รายได้วันละร้อยสองร้อยบาท มิพักต้องพูดถึงเงินออม เพราะลำพังจ่ายค่าข้าวก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว จู่ๆ วันหนึ่งเกิดจำเป็นต้องใช้เงินก้อนเล็กๆ ขึ้นมา มองไปทางไหนก็ไม่เห็นหนทาง จะให้ไปกู้ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็ไม่มีหลักประกันอะไรจะไปให้เขา สุดท้ายก็ลงเอย...ด้วยการไปกู้เงินของคนรู้จักที่มีฐานะมากกว่า ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอยู่ในชุมชน แต่ด้วยเราทุกคนอาศัยอยู่ในโลกที่คติของทุนนิยมเป็นใหญ่ จะไปกู้เขาเปล่าๆ ปลี้ๆ ก็ใช่ที่

ไปเอาเงินเขามาใช้ยามจำเป็นทั้งที ก็น่าจะมีดอกเบี้ยให้เขาบ้าง...

และเมื่อมีช่องทาง คนมีทุนก็สามารถหันมาเป็นเจ้าหนี้ นำเอาเงินที่มีอยู่มาออกดอกออกผล เกิดเป็นวงจรธุรกิจหนี้นอกระบบ ซึ่งโดยรวมแล้วแทบไม่ต่างจากการไปกู้ธนาคาร จะผิดไปก็ตรงที่ดอกเบี้ยที่แพงมหาโหด และการทวงหนี้ที่ดูดุดันกว่าธนาคาร ถ้าหากลูกหนี้มีการเบี้ยวเกิดขึ้น

ไปๆ มาๆ วงการหนี้นอกระบบก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากดอกแสนโหดและวิธีการทวงถามที่ดุดันนี่เอง ที่ทำให้ภาครัฐมองว่าหนี้นอกระบบน่าจะจัดอยู่ในประเภทหนึ่งของปัญหาสังคม

ตามไปฟังคำให้การของชีวิตเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ว่าทำไมต้องโหดและทำไมต้องเป็นหนี้

หัวอกลูกหนี้

อาจจะมีหลายคน ที่ไม่รู้จักวางแผนการใช้เงิน จนสุดท้ายต้องไปก่อหนี้ขึ้น แต่กับบางคน ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้นอกระบบจากอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผู้นี้ ที่จำต้องสร้างหนี้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่คิดดอกอย่างยุติธรรม

“เป็นหนี้มาก็นานแล้ว ถ้าให้เล่าก็ยาวมาก คือตอนนั้นทำโรงอิฐอยู่ ซึ่งมันมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เขามาบ้าง แต่จะกู้ธนาคาร เขาก็ไม่ให้กู้ เราก็ไปหาผ่านคนรู้จักอีกคนหนึ่ง ซึ่งเขาคิดดอกร้อยละสิบ คือเจ้าของเงินเขาเอาห้า ส่วนคนที่เอามาให้เราเขาบวกไปอีกห้า

“พอเอามาลงทุน พอดีเข้าช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ก็ต้องเลิกทำกันไป ซึ่งหนี้ที่เกิดก็ไม่เท่าไหร่ แต่มาหนักก็ตอนที่โดนโกงแชร์ ก็ต้องไปกู้เพิ่มเพื่อเอาเงินมาใช้คนอื่นเขา คือโกงใครไม่เป็น ก็กู้จากเจ้าหนี้ ร้อยละ 10 เจ้าเดิม ตอนนั้นลูกก็เรียนอยู่หมดเลย มันจำเป็นที่ต้องเอามาใช้ในบ้านไม่ได้กู้เอาไปใช้ฟุ่มเฟือยที่ไหนเลย”

อาจจะเนื่องด้วยกรณีนี้ เป็นการกู้หนี้นอกระบบในอำเภอเล็กๆ ในต่างจังหวัด ที่คนรู้จักกันหมด เรื่องของการหนี ไม่ใช้หนี้ หรือการทวงหนี้แบบโหดๆ จึงไม่เกิดขึ้นเลย

“คนแถวบ้านนี่ ไม่มีการโกงเจ้าหนี้เลยนะ ใช้ตรงตลอด ยังไม่มีการมาขู่หรือทำร้ายร่างกายให้เห็นเหมือนที่อื่น แต่ถ้าไม่มีตังค์ใช้เขานี่ หนี้ก็จะทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ คนแถวบ้านบางคน ส่งแต่ดอกอย่างเดียว เงินที่หามาได้ก็หมดแล้ว เงินต้นไม่ได้ใช้สักบาท สุดท้ายก็เอาที่ไปจำนองเพื่อเอาไปใช้หนี้ แต่ก็ต้องส่งหนี้ต่อ ไม่มีจบมีสิ้น”

และเมื่อถามถึงโครงการสะสางหนี้ที่รัฐทำขึ้น และเปิดให้ลงทะเบียน ลูกหนี้รายนี้ก็ตอบสวนมาทันทีว่า ‘ไม่สนใจ’

“โครงการนี้มันดูซับซ้อนไปหน่อย เพราะคนในโครงการนี้มันต้องเอาเจ้าหนี้ไปยืนยันกับผู้ใหญ่บ้านด้วยไม่ใช่เหรอ แล้วเจ้าหนี้ที่ไหนเขาจะยอมไป จริงอยู่อาจจะรัดกุมนะ แต่มันเป็นไปได้ยาก

“เจ้าหนี้เขามีเงินให้กู้แล้วนั่งกินดอกสบายกว่า จะให้เขาเอาไปฝากธนาคารดอกมันก็น้อย เจ้าหนี้นี่เป็นพวกมีความคิดแบบไม่รู้จักทำมาหากิน เอาแต่จะกินดอกเงินกู้จากลูกหนี้อย่างเดียว เขาสบายเสียอีกเพราะยังไงเงินต้นมันก็ยังอยู่”

ยืมแล้วต้องใช้!!! ไม่งั้น...

การฟังความเอาจากลูกหนี้ข้างเดียว ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับบรรดาเจ้าหนี้นัก ดังนั้น ต้องมีมุมของผู้ปล่อยกู้บ้าง นายเงินรายหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ที่ออกตัวว่า ที่นี่เป็นเพียงแต่ ‘โต๊ะ’เล็กๆ ในหลายๆ โต๊ะ ที่ปล่อยเงินกู้เท่านั้น

“คนปล่อยกู้มีเยอะนะ ส่วนใหญ่เป็นคนมีเงินหมุน ซึ่งการปล่อยของเราจะไม่ปล่อยกับคนแปลกหน้า คือจะปล่อยกับคนที่เคยเห็นหน้ากัน ตามๆ กันได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกแม่ค้าขายของในองค์พระ (พระปฐมเจดีย์) เพราะว่ามันเดินเก็บเงินรายวันได้สะดวก สำคัญต้องมีร้านให้เห็นเป็นหลักแหล่ง”

และเราก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลูกค้าชั้นดีของเงินกู้นอกระบบนั้น นอกจากบรรดาแม่ค้าแล้ว ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นแรงงานต่างด้าวราคาถูกที่ไม่สามารถกู้เงินตามสถาบันการเงินในไทยอย่างถูกต้องได้สักแห่งเดียว

“พวกลูกจ้างแบบที่ยกของในร้านก็จะกู้กับเรา โดยผ่านเจ้าของร้าน บางคนก็เอาไปซื้อมอเตอร์ไซค์ แล้วก็จะหักเงินจากค่าแรงมาผ่อนส่งกับเราเป็นรายวัน”

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่นี่จะโหดกว่าเจ้าที่อยุธยาเล็กน้อย โดยมีตั้งแต่ร้อยละ 10 ร้อยละ 20 ไล่ไปจนถึงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นดอกเบี้ยเงินด่วนโดยวิธีคิดนั้น จะเอาเงินต้นมาคิดดอก แล้วหารด้วยจำนวนวันที่ผ่อนส่ง ซึ่งโดยมากแล้วมักจะไม่เกินหนึ่งเดือน และถ้าทำไม่ได้ตามนั้น ดอกก็จะทบต้นไปเรื่อยๆ

และที่นี่ก็มีคนที่เบี้ยวหนี้อยู่บ้าง ซึ่งทำให้สามารถพบเห็นการทวงที่ดุดันของคนทวงหนี้ได้เนืองๆ

“มันจะมีเป็นอาชีพคนเก็บเงินเลย แบบเลี้ยงไว้เลยก็มี ซึ่งอันนั้นจะเป็นพวกขาใหญ่ ที่มีทั้งโต๊ะเงินกู้และโต๊ะบอล พวกนี้จะแต่งตัวตามสูตรเลย ใส่เสื้อหนังสีดำ มือถือคัตเตอร์ แล้วก็จะไป 2 คน ใส่หมวกดำ

“ที่ทำกันบ่อยถ้ายืมแล้วไม่ใช้ ก็จะอุ้มเลย อุ้มไปขึ้นเรือจับปลาในทะเล แต่ก็ต้องเป็นคนที่มันเขี้ยวจริงๆ ไม่ใช้ยังไม่ว่า แต่อย่ามากวนตีนกัน อีกพวกที่จะโดนก็คือพวกเหนียวหนี้ คือมีเงินนะ แต่ไม่ยอมเอามาใช้หนี้ งั้นก็ไปทำงานแล้วกัน ถ้าบางคนยอมไปดีๆ ก็ไปตกลงราคากับไต้ก๋ง เราเอาเงินมา เขาก็ไปทำงาน ส่วนเรื่องการยิงทิ้งกันนี่ เกิดจากการหมั่นไส้กันมากกว่า บ้างก็ไปหักแขนหักขาเขา ซึ่งกรณีหลังจะเกิดขึ้นในกรณีที่เจ้าหนี้ยกให้คนตามแล้ว บอกว่าจัดการเลย ทำไงก็ได้ให้ได้ตังค์กลับมา เงินที่ได้ก็ยกให้คนตามไปเลย

“คนเราเป็นหนี้ก็ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ด้วยเงินหรือชีวิตก็ตาม”

อาจจะฟังดูโหดร้ายทารุณ (ซึ่งก็โหดจริงๆ นั่นแหละ) แต่ถ้ามองในมุมของเจ้าหนี้ เขาก็มีเหตุผลของเขา แม้ว่ามันดูจะหนักข้อและเย้ยกฎหมายไปมากก็ตาม

“ตอนคุณเดือดร้อน คุณมาหาเรา คุณบอกว่าคุณหนัก ทั้งผ่อนบ้านผ่อนรถ เราก็บอกแล้วว่ากู้เรานี่ดอกแพงนะ เขาก็บอกว่าส่งได้ เขารู้ทั้งหมดตั้งแต่เขาเลือกที่จะก้าวมาหาเราแล้ว รู้ว่าดอกแพง รู้ว่าเก็บโหด รู้กระทั่งว่าเรามีคนตาม แต่คุณก็ยืนยันจะเอาเพราะว่าความเสี่ยงของเราสูงเราไม่ได้อะไรค้ำประกันไว้เลย ซึ่งตรงนี้มันอยู่ที่คนมากู้ด้วยแหละ ถ้าเขาส่งดีเราจะไปอะไรกับเขาล่ะ ของอย่างนี้มันคุยกันได้ ใครเอาเงินมาตัดเราก็ลดดอกให้

“ที่มีปัญหาก็คือพวกที่มีอะไรแล้วไม่มาคุยกันมากกว่า เราแค่อยากได้เงินต้นคืน เราให้กู้ได้แต่คำพูดต้องเป็นคำพูด ถ้าเราอะลุ้มอล่วยให้แก่คนหนึ่ง คนอื่นๆ เห็นเป็นตัวอย่างก็อาจจะทำตาม การเชือดไก่ให้ลิงดูมันก็ต้องมี

“คนมากู้เรา 10 คน ไม่มีปัญหาเลยสักคน คนที่เห็นเป็นข่าวว่าโดนตามเก็บตามล่านั่นก็ต้องย้อนไปดูเขาก่อนเถอะว่าเขาส่งหรือเปล่า ถ้าส่งครบจะไปยุ่งกับเขาทำไม”

..........

จากปากคำของทั้งลูกหนี้นอกระบบและเจ้าหนี้ข้างต้น ทำให้เรามองเห็นเลาๆ ถึงต้นเหตุของวงจรการกู้ยืมนอกระบบ ว่านอกจากการใช้เงินที่ปราศจากการวางแผนแล้ว มันยังเกิดขึ้นจากการที่คนที่มีความจำเป็นจริงๆ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้อย่างเท่าเทียมกัน มันไม่ใช่ว่าลูกหนี้เหล่านี้ไม่ต้องการที่จะก้าวเข้าไปกู้เงินในระบบที่ดอกเบี้ยถูกกว่าแต่อย่างใด

ดังนั้น หลังจากความพยายามในการสะสางหนี้นอกระบบแล้ว ภาครัฐก็คงต้องลงมาปรับโครงสร้างการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนตัวเล็กๆ ให้จริงจังกว่าเดิม อย่างเรื่องไมโครไฟแนนซ์ที่ได้ข่าวว่าจะผลักดันออกมา ก็ขอให้เป็นจริงโดยเร็ว

ไม่เช่นนั้น ข่าวเจ้าหนี้ทวงหนี้โหดหรือลูกหนี้ผูกคอตายหนีปัญหา ก็คงจะยังไม่หมดไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ไทย และมันก็จะวนเวียนกลับมาหลอกหลอนคนไทยไปตลอดกาล

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร




กำลังโหลดความคิดเห็น