xs
xsm
sm
md
lg

จับตา สศช.แถลงจีดีพี Q3 นายกฯ เชื่อติดลบลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาสภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสาม วันนี้ (23 พ.ย.) “มาร์ค” เชื่อจีดีพีQ3ติดลบลดลง แตะที่ร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 3.5 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น ย้ำเดินหน้าแก้หนี้นอกระบบ หลังพบ “ดอกเบี้ยโหด”ร้อยละ 20 ต่อเดือน เผยของขวัญปีใหม่คนพิการ รับ 500 บาท เมษาฯปีหน้า ลั่นเชื่อมือ “อานันท์” สางปัญหามาบตาพุดจบ

วานนี้(22 พ.ย.)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ว่า ในวันนี้(23พ..ย.) เวลา 09.30 น.สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะได้แถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 หรือ จีดีพี (ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 52) อย่างเป็นทางการ ถ้าจำได้ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นเราติดลบมาก คือในช่วงต้นปี ติดลบถึงร้อยละ 7.1 และ 3 เดือนถัดมาจากนั้น ก็ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ก็เป็นที่คาดหมายว่าในไตรมาสที่ 3 นี้ เศรษฐกิจยังติดลบ นั่นคือ ช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน แต่ว่าก็มั่นใจกันตามสมควรว่า ตัวเลขติดลบนี้น่าจะเป็นตัวเลขที่ติดลบน้อยลง กว่าในไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 1 และถ้าเทียบระหว่างไตรมาสกับไตรมาส ก็จะเป็นบวก

"ผมดูจากตัวเลขที่เป็นตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน และตัวเลขที่มาถึงเดือนตุลาคมในขณะนี้ ขอยืนยันเลยครับว่า รัฐบาลมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่าง แน่นอนในไตรมาสสุดท้าย และขณะนี้หลายฝ่ายก็มีการคาดคะเนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ก็คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 3.5 เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้อย่างแน่นอน" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นถึงการคลี่คลายในเรื่องของปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ มีตัวเลขอย่างน้อย 4 ตัว ที่คิดว่ามีความสำคัญมาก ตัวเลขตัวแรกก็คือ ปัญหาการว่างงาน เมื่อต้นปีนี้การว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.4 คือมีตัวเลขคนว่างงานถึงประมาณ 800,000 คน และตอนนั้นก็มีความวิตกกังวลกันมากว่าจะพุ่งสูงเกิน 1 ล้านคนหรือไม่ บางคนก็บอกว่าจะไปถึง 2 ล้านคน แต่ตัวเลขล่าสุด ที่เป็นตัวเลขการว่างงานขณะนี้ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.2 คือประมาณ 450,000-460,000 คน อันนี้แสดงให้เห็นถึงการคลี่คลายปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ว่าเราได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และสิ่งที่ดีใจคือว่า ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการว่างงานนั้น ไม่รุนแรงอย่างที่เราเคยกลัวกัน อันนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีข้อแรก

ข้อที่ 2 คือการใช้กำลังการผลิต การใช้กำลังการผลิตนั้นก็ได้รับผลกระทบการผลิตเศรษฐกิจมาโดยตลอด และลดต่ำลงมาก แต่ว่าในตัวเลขสุดท้ายที่เรามีจะดีขึ้นมาจากเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดโดยลำดับ ปัจจุบันนั้นตัวเลขของการใช้อัตรากำลังการผลิตจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 65 ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาพอสมควร และถ้าหากว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว ฟื้นตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง ภาวะการใช้กำลังการผลิตก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แล้วก็น่าจะนำไปสู่การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคตด้วย

ตัวเลขที่ 3 คือตัวเลขการท่องเที่ยว ซึ่งติดลบมาในช่วงประมาณ 8 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งในช่วงต้นปีนั้นก็ติดลบมากทีเดียว ร้อยละ 20 หรือมากกว่านั้น แต่น่ายินดีคือว่าในเดือนกันยายน และในเดือนตุลาคมขณะนี้ ตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ17 หรือเกือบร้อยละ20 ใน 2 เดือน และคาดหมายว่าในเดือนพฤศจิกายน และในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเป้าหมายซึ่งเคยตั้งเอาไว้ว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยปีนี้ 14 ล้านคน ยังเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ยังสามารถที่จะเป็นไปได้อยู่ อันนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดี

สุดท้ายคือเรื่องของการส่งออก เช่นเดียวกันติดลบมาโดยตลอด แต่ว่าก็เริ่มที่จะติดลบน้อยลงในเดือนตุลาคมนี้ติดลบเพียงแค่ร้อยละ 3 และในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เชื่อว่าจะกลับมาเป็นบวกได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ตัวเลขเหล่านี้น่าจะทำให้เรามองเห็นว่า เศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามในแง่ของการบริหารเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลจะต้องเดินหน้าต่อในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะว่ายังมีความเปราะบางอยู่ในแง่ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยังมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจจะมากระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในแง่ของการบริหารจัดการต่อไปนั้น ข้อแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะต้องนำไปสู่การส่งต่อให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนมากขึ้น เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาอุปสรรคในเรื่องของการลงทุน ขณะนี้ก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้(23 พ.ย.) จะเปิดศูนย์บริการนักลงทุน ซึ่งเป็นศูนย์บริการจุดเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะมาอำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหา หรือคลี่คลายปัญหาของนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทางนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็ร้องกันมามาก ในแง่ของปัญหาการติดต่อกับหน่วยราชการต่าง ๆ

แก้หนี้นอกระบบ คนพิการรับ 500 ปีหน้า

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นเรื่องที่ตนทราบดีว่าเป็นความทุกข์ของพี่น้องคนไทยจำนวนมาก อาจจะเรียกได้ว่านับล้านคน ที่ชีวิตที่ต้องมีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน อยู่กับการไปเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งมีเงื่อนไขการกู้ที่ต้องใช้คำว่า “โหดมาก” อาจจะดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน การทวงหนี้ ก็อยู่ในรูปแบบซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเหมือนกับมีการคุกคามกันด้วย

สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือ เปิดโอกาสให้โอนหนี้นอกระบบทั้งหมดเข้ามาสู่ในระบบ เราก็ใช้คำว่า "โอนหนี้เข้าระบบ เพื่อพบชีวิตใหม่" ขณะนี้สิ่งที่จะเริ่มต้นคือว่าในเดือนธันวาคม ใครที่เป็นหนี้นอกระบบถึง 2 แสน ที่เป็นเงินต้น เป็นหนี้มาก่อนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้น สามารถที่จะมาขึ้นทะเบียนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน 2 ธนาคารนี้ จะเอาข้อมูลทั้งหลายมาดูในช่วงเดือนประมาณมกราคม ประมวลให้เรียบร้อย และนำไปสู่การเจรจา ในขั้นตอนการเจรจาได้รับความร่วมมืออย่างดี ก็คือจากทางกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะเข้ามาช่วยทำให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และธนาคารที่จะรับเงิน รับโอนหนี้เข้าระบบสามารถที่จะมาตกลงกันได้ ธนาคารที่จะเข้ามานอกจากธ.ก.ส.และออมสินแล้ว ก็จะมีทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ก็จะเข้ามาช่วยในการรับหนี้ตรงนี้เข้ามา

สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์ อยากจะเรียนว่า การโอนหนี้เข้ามาสำหรับเกษตรกรใน ธ.ก.ส.นั้น ถ้าเป็นหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท จะอาศัยผู้ค้ำประกัน 2 คน ถ้าเป็นระหว่าง 1 แสนบาทขึ้นไปถึง 2 แสนบาท จะเป็นอย่างน้อย 5 คน

ส่วนกรณีของธนาคารอื่นๆ นั้น หลักประกันที่จะใช้นั้น คือว่า มีผู้ค้ำประกัน 1 คนสำหรับหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท และสำหรับ 1- 2 แสนบาท จะใช้ผู้ค้ำประกัน 2 คน ซึ่งผู้ค้ำประกันต้องมีรายได้รวมกันแล้ว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินกู้ อันนี้คือการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้เข้ามาสู่ในระบบให้ครบวงจรเป็นครั้งแรก เมื่อโอนหนี้เข้ามาแล้ว การผ่อนคลายเงื่อนไขเกี่ยวกับการกู้ก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่าจะไม่เกินร้อยละ 12 ใน 3 ปีแรกต่อปี แล้วขณะเดียวกันนั้นจะมีการทำสัญญาเงินกู้ที่มีระยะเวลายาวถึง 8 ปี ยกเว้นทางลูกหนี้ต้องการที่จะหรือสมัครใจที่จะทำสัญญาสั้นกว่า 8 ปีเอง

นอกจากนั้น จะมีโครงการที่จะไปช่วยเหลือดูแลในเรื่องของการฝึกอบรมฟื้นฟูใน เรื่องของอาชีพ ในเรื่องของการทำรายได้ด้วย เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าเราไม่ได้เพียงแต่ว่าเลื่อนปัญหาออกไป เพราะว่าในที่สุดแล้วถ้าหากว่าผู้ที่เป็นหนี้นั้นไม่สามารถที่จะมีรายได้ ไม่สามารถที่จะมีโอกาส ไม่มีอาชีพ ก็คงไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ แม้ว่าเงื่อนไขการชำระหนี้จะมีผ่อนคลายหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

"ถือโอกาสเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าเข้าไปที่จะช่วยเหลือก็ คือในเดือนธันวาคม จะมีการเปิดการลงทะเบียน หรือขึ้นทะเบียนคนพิการ ซึ่งมีเป้าหมายว่า เราจะสามารถจ่ายเบี้ยคนพิการให้กับคนพิการทุกคนครบถ้วนได้ ในเดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป นี่ก็เป็นงานสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นภาพรวมของเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเฉพาะกลุ่มที่ได้มีการดำเนิน การอย่างต่อเนื่อง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เชื่อมือ “อานันท์” แก้ปัญหามาบตาพุด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องของปัญหาที่ มาบตาพุด และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นก็ได้มีการประชุมเป็นครั้งแรกไปแล้ว ตนทราบจากท่านประธาน คือท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุนว่า การประชุมนั้นเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี แล้วก็เชื่อว่าการที่กำหนดเป้าหมายเอาไว้ในการที่จะสะสางปัญหาทั้ง 76 โครงการที่มาบตาพุด ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟู เยียวยาพื้นที่ดังกล่าว ไปจนถึงเรื่องของการที่จะมาช่วยให้ข้อคิดเกี่ยวกับระเบียบและกฎหมายที่จะต้องมีการทำออกมา และบังคับใช้ในอนาคตนั้น น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายได้ ซึ่งตนถือว่า อันนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะช่วยผลักดันให้การลงทุนของ ภาคเอกชนนั้นกลับฟื้นขึ้นมาได้

ออกกฏหมายตั้ง คกก.นโยบายรัฐวิสาหกิจ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกำกับและพัฒนานโยบายรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อสร้างมาตรการและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.บ.กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย ข้าราชการการเมือง 5 คน ข้าราชการประจำ 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน มีอำนาจหน้าที่ เช่น เสนอแนะและให้คำปรึกษา เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ จัดทำและเสนอแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจแก่ ครม.

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลขาดกลไกและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐอย่างเป็นระบบ ประกอบกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมีหลายแห่ง จนทำให้นโยบายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแตกต่างกันมากและไม่มีเอกภาพ ทำให้การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจไม่ชัดเจนและไม่บรรลุตามนโยบายของรัฐ แม้จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อปี 2545 เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นองค์กรกลางกำกับดูแลและพัฒนานโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจอย่างบูรณาการและเป็นระบบ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับมีเพียงคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่เพียงแค่เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่กำกับและพัฒนานโยบายรัฐวิสาหกิจโดยตรง และยังมีข้อจำกัดไม่สามารถให้คำแนะนำหรือการพัฒนากรณีที่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดย พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ฏ. หรือบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐวิสาหกิจได้อย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ สคร. รับผิดชอบกิจการทั่วไปของคณะกรรมการฯ นโยบายรัฐวิสาหกิจ พร้อมศึกษาวิเคราะห์สถานะทางการเงินและภารกิจของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอแนะจุดหมายและนโยบายการพัฒนารัฐวิสาหกิจ รวบรวมข้อมูลและจัดทำร่างแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ รวมทั้งเสนอรูปแบบและรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์วิสาหกิจและนโยบายการดำเนินงานประจำปีของรัฐวิสาหกิจต่อคณะกรรมการ และกำหนดแนวทางการกำกับและพัฒนานโยบายรัฐวิสาหกิจที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ และกองทุนบริหารหลักทรัพย์ของรัฐในกระทรวงการคลัง พร้อมกำหนดแนวทางการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น