xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจร้อยล้าน ขอทานเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในห้วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชากำลังง่อนแง่น ยังมีปัญหาอีกมากที่เกี่ยวเนื่องกัน และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นกิจะลักษณะ นั่นก็คือปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองของชาวกัมพูชาที่เข้ามาเป็นขอทานอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

ภาพผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ผิวพรรณกร้านดำ อุ้มลูกน้อยแนบอก เป็นภาพที่คนเมืองคุ้นชินและเรียกความสงสารได้เป็นกอบเป็นกำ ขอทานจึงเป็นธุรกิจใหญ่สาขาหนึ่งที่มีเงินหมุนเวียนในระบบมิใช่น้อย แต่ก็ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่ามากแค่ไหน เพราะไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วน

ข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา บอกว่า ไม่สามารถประเมินปริมาณชาวกัมพูชาที่เข้ามาเป็นขอทานในเมืองไทยได้ เพราะไม่มีการทำข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติการจับกุม การช่วยเหลืออย่างจริงจัง แต่ตัวเลขที่มีการสันนิษฐานขั้นต่ำ เชื่อว่าในกรุงเทพฯ น่าจะมีขอทานชาวกัมพูชาโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 500 คน

1.

การเข้ามาเป็นขอทานในเมืองไทยของชาวกัมพูชามีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหลักๆ เป็นแบบที่ครอบครัวพามาโดยผ่านกระบวนการนายหน้าที่มีนักการเมืองท้องถิ่นหนุนหลัง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยอำนวยความสะดวกให้

“ชาวกัมพูชากลุ่มนี้จะเดินทางมาด้วยรถ มีข้อมูลว่าต้องจ่ายเงินให้นายหน้าในการนำพาเข้ามา แล้วนายหน้าก็ไปจ่ายให้ด่านตรวจของเจ้าหน้าที่อีกชั้นหนึ่ง ประมาณ 7 ด่าน ซึ่งในพื้นที่จะมีกลุ่มชาวบ้านซึ่งเป็นลูกน้องของนักการเมืองท้องถิ่นบางคน และผู้นำท้องถิ่นบางกลุ่มเป็นนายหน้า ทำการขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แล้วก็มีชาวบ้านบริเวณชายแดนไปออกรถกันมาเพียบเลย เพื่อจะมาวิ่งรับจ้างงานนี้ คนที่เป็นซับคอนแทกต์จะได้เงินเที่ยวละประมาณ 3,500-4,000 บาทต่อคน” เอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ฯ ฉายภาพถึงขบวนการนำขอทานเขมรที่เข้ามาในเมืองไทย

ที่น่าสนใจ ขอทานชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งที่ถูกผลักดันกลับประเทศ คนเหล่านี้จะกลับเข้ามาอีก แต่คราวนี้จะผันตัวเป็นนายหน้าเสียเอง เนื่องจากรู้ว่าจะเข้าเมืองไทยได้ด้วยวิธีการใด นายหน้าขอทานพวกนี้จะไปเชิญชวนลูกคนอื่นมา และเดินทางเข้าเมืองโดยรถไฟ ซึ่งต้องจ่ายค่าอำนวยความสะดวกแก่ใครนั้น คนเหล่านี้จะรู้กันดี ซึ่งวิธีการนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก พ.ต.อ.ชาติชาย วรกุล ผู้กำกับการศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและสตรี (ศดส.) ที่ว่า

“ปัจจุบันนี้ มีขอทานเขมรที่ลักลอบเข้ามายึดอาชีพขอทานในเมืองไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีลักษณะกระทำกันเป็นขบวนการ มีนายหน้าคนไทยพาเข้ามาทำงาน โดยระหว่างที่รองานหรือว่างงานอยู่นั้น ก็จะจัดส่งชาวเขมรเหล่านี้ไปขอทานตามจุดโดยเฉพาะบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในตอนเช้า พอตอนเย็นก็มารับกลับไป แต่ในระยะหลังเมื่อขอทานเขมรเริ่มรู้ช่องทางมากขึ้น ก็เปลี่ยนมาลักลอบเดินทางเข้ามาด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านตัวแทนหรือนายหน้าอีกต่อไป”

2.

ข้อมูลของสหประชาชาติ มีการสำรวจพบว่า กลุ่มเด็กที่เข้ามาทำอาชีพขอทานในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
- กลุ่มที่ 1 มาด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะเป็นแม่ที่เอาลูกมานั่งด้วย ถือเป็นการมาแบบสมัครใจ
- กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ถูกบังคับให้มาประกอบอาชีพเป็นขอทาน โดยแบ่งการบังคับออกเป็น 3 ลักษณะได้แก่ 1.ถูกบังคับโดยพ่อแม่ของตัวเอง 2. เด็กโตบังคับเด็กเล็กให้เข้ามา และบังคับให้ขอทานโดยมีเด็กโตนั่งคุม และ 3. เช่าเด็กเป็นรายวันหรือรายเดือนจากพ่อแม่ ถ้าเช่าเป็นรายวัน วันละ 20 บาท กินอยู่เสร็จ ถ้าเช่าเป็นเดือนก็ตกเดือนละ 500-2,000 บาทขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็ก ถ้าเด็กมีความน่าสงสารมากอย่างพิการหรือผอมแห้งก็จะได้ค่าเช่าสูง


หลายคนยังมีความเข้าใจว่าขอทานชาวกัมพูชาที่ทำมาหากินอยู่ในกรุงเทพฯ มีแก๊งอิทธิพลคอยดูแล พาไปส่ง ถึงเวลาก็ไปรับตัวกลับแล้วหักเงินส่วนหนึ่งไว้ เอกลักษณ์ยอมรับว่ายังมีอยู่

“แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการให้ที่พักพิงมากกว่า คือไปเรียกรับผลประโยชน์ในแง่การให้ที่พักพิง วันละ 50 บาทบ้าง วันละ 100 บาทบ้าง แล้วก็มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อย่างเช่นบ้านหลังหนึ่งอาจจะมีคนอยู่ในนั้นหลายสิบคน อย่างล่าสุดที่ทางตำรวจเข้าไปดำเนินการที่หลังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก็มีเด็กหลายสิบคนอยู่ในบ้านเช่าหลังเดียวกัน”

บริเวณที่มีขอทานชาวกัมพูชาอาศัยอยู่มากคือย่านชานเมืองแถวหนองจอก มีนบุรี หรือย่านรังสิต โดยจะเช่าบ้านพักอยู่รวมกันเป็นชุมชน แล้วนั่งรถเมล์เข้ามาขอทานตามจุดต่างๆ ในเมือง

นอกจากการเช่าบ้านอยู่รวมกันแล้ว ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในย่านชานเมืองเช่นกัน

“ความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งคือบางทีหญิงกัมพูชาที่เข้ามาในประเทศไทย ก็ไปอยู่กินกับสามีคนไทย จึงทำให้พวกนี้ไปดึงญาติ ดึงคนในหมู่บ้านตัวเองเข้ามา แล้วเปิดบ้านตัวเองให้เป็นที่พักพิง เราพบว่าในย่านชานเมืองแถวอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ มีลักษณะแบบนั้น มีผู้นำท้องถิ่นที่มีภรรยาเป็นชาวกัมพูชาและมีลักษณะของการเป็นธุระจัดหาให้เอาเด็กเข้ามาขอทาน” เอกลักษณ์อธิบาย

ทั้งนี้จากการสอบสวนรวบรวมข้อมูลของ ศดส. พบว่า ขอทานเขมรกลุ่มนี้ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท หากอยู่ในทำเลดีก็อาจทำเงินได้สูงถึงวันละ 1,000-1,500 บาท จากข้อมูลปี 2549-50 พบว่ามีเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจขอทานต่างด้าวร่วม 100 ล้านบาทต่อปี

3.

การมองปัญหาขอทานชาวกัมพูชาที่เข้ามาหากินจากต้นทุนความสงสารของสังคมไทย มองเฉพาะบนพื้นผิว อาจเห็นปัญหาเรื่องความรำคาญหรืออาชญากรรม แต่เมื่อมองลงลึกไปถึงระดับความเป็นมนุษย์ มันยังมีปัญหาที่ติดตามมาอีกมากกับตัวเด็กๆ ที่ต้องเติบโตอยู่ข้างถนน เอกลักษณ์อธิบายพัฒนาการของเด็กๆ ในเส้นทางนี้ว่า

“ผมมองว่าวันหนึ่ง ถ้าเด็กเหล่านี้ยังคงอยู่ แล้วเขาโตขึ้น เราจะเห็นพัฒนาการของเขาในอนาคตได้เลย เด็กแบเบาะนั่งอยู่ตามข้างถนน ได้เงินจำนวนมาก เพราะว่าคนสงสาร วันหนึ่งเขาโตขึ้นมาห้าหกขวบ เริ่มขาดความน่าสงสาร เขาผันตัวเองไปเดินขายดอกไม้ ขายกระดาษทิชชู่ ขายของที่ระลึกตามสถานบันเทิง นี่คือพัฒนาการเลยนะครับ

“วันหนึ่งโตขึ้น สิบขวบ สิบเอ็ดขวบ ยิ่งขาดความน่าสงสารเลย กลายเป็นเด็กวัยรุ่นแล้ว ตอนกลางคืนไปเดินขายวนเวียนตามสถานบันเทิง วันหนึ่งก็เข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศ ผันตัวเองไปเป็นคนที่คุมเด็กขอทานอีกที เราไม่ได้มองว่าการนำเด็กมาขอทานเพราะเด็กคนนั้นเป็นปัญหา แต่เรามองว่ามันเป็นปัญหาโดยรวม ถ้าเราไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเด็กคนหนึ่งได้ แล้วการที่คนในสังคมยังมีทัศนคติที่ผิดว่าการให้เงินคือการช่วยเหลือ มันก็จะยิ่งเป็นอุปสงค์ อุปทาน ในการเพิ่มเด็กเข้าสู่วงจรนี้”

ในฟากฝ่ายของ ศดส. มองว่า มาตรการที่จะป้องกันได้เด็ดขาด จึงขึ้นอยู่กับต้นเหตุที่บริเวณชายแดนไทย-เขมร ว่าจะสามารถป้องกันมิให้ขอทานเขมรเหล่านี้หนีทะลักเข้าเมืองมาได้หรือไม่ เพราะการกวาดล้างจับกุมเป็นเพียงปลายเหตุ

ผู้กำกับการ ศดส.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัญหาขอทานเขมรนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างเร่งดำเนินการกวาดล้างเมื่อได้รับเบาะแสอย่างจริงจัง เพราะไม่เพียงจะสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว แต่ยังมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ตามมา ทั้งปัญหายาเสพติด โสเภณี และอาชญากรรม

มาตรการที่ได้ผลที่สุด จึงขึ้นอยู่กับประชาชนทั่วไป ที่จะต้องร่วมมือกันไม่ให้ทานแก่กลุ่มขอทานเพราะความสงสาร เพราะนั่นเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ เมื่อไม่มีคนให้เงิน กลุ่มขอทานเหล่านี้ก็จะหมดไป

แต่ในมุมมองของเอกลักษณ์ การกวาดจับ แล้วก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เป็นเพียงการทำงานที่ไม่ได้ลงลึกถึงรากเหง้าปัญหา ที่แย่คือในกระบวนการกวาดจับและส่งตัวกลับ ก็ยังมีการหาผลประโยชน์จากขอทานชาวกัมพูชาด้วย

“เวลาแถลงข่าวการกวาดจับ เป็นการหวังผลทางการเมือง แก้แบบนี้ จะแก้ไม่ได้ ไม่มีการคัดแยก ในห้องขังของตรวจค้นเข้าเมืองเขาไม่ได้ยึดทรัพย์สินนะครับ แต่ระหว่างกระบวนการที่จะไปถึงชายแดน ทรัพย์สินของผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง ถูกเจ้าหน้าที่ชักไป พอจะกลับเข้ามา ต้องมีค่าใช้จ่าย ก็ไปกู้ยืมเงินคนอื่นเขามาอีก ไปดึงเด็กมาอีก หรือผันตัวเองไปเป็นนายหน้าเลย”

4.

เมื่อตั้งคำถามว่า สถานการณ์การเมืองระหว่างไทย-กัมพูชาตอนนี้ ส่งผลกระทบหรือไม่กับขอทานชาวกัมพูชาที่อยู่ในเมืองไทย เอกลักษณ์บอกว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร เขามีคำอธิบายดังนี้

“ผมคิดว่าไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก เพราะผู้ที่ให้ทานเป็นคนที่มีใจสงสารอยู่แล้ว เขาไม่ได้สนใจหรือมีทัศนคติเรื่องชาตินิยม เขาอยากทำทานจึงทำ ถ้ามองทัศนคติของเจ้าหน้าที่ ตอนนี้มีการระดมกวาดล้างชาวกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ผมว่ามันเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ผลกระทบคือเขาไปกวาดจับ แล้วไม่ได้คัดแยกว่าใครเป็นผู้เสียหาย แต่เขาจะมองแค่ว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง แล้วผลักดันกลับเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ เขาก็จะกลับเข้ามาอีก เพราะเขาไม่ได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ”

เมื่อพูดถึงขอทาน ถ้าไม่มีเสียงจากกลุ่มคนเหล่านี้เลยก็ดูกระไรอยู่ ขอทานชาวไทยมีมุมมองต่อขอทานชาวกัมพูชาที่เข้ามาหากินในเมืองไทยอย่างไร? ยายประเทือง วัย 68 ปี ขอทานผู้ที่ยึดหัวหาดแถบท่าพระจันทร์หากินมากว่า 10 ปี เล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์การหากินของขอทานทุกวันนี้

“ช่วงนี้หากินยาก วันหนึ่งได้ไม่ถึง 50 บาท คนเดินผ่านไปผ่านมาเยอะนะ แต่เขาก็ไม่ให้กัน คงเป็นเพราะเศรษฐกิจมันไม่ค่อยดี คนมาทำเยอะขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ได้น้อยๆ กันทั้งนั้น”

และเมื่อถามถึงเรื่องราวของขอทานเขมรที่เข้ามาหากินในเมืองไทย ป้าประเทืองก็รีบออกตัวว่า “ฉันเป็นคนไทยนะ” ทันที

“เมื่อก่อนก็เห็นมีเยอะนะ ทั้งเขมร ทั้งลาว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นเลย สงสัยว่ามาทำแล้วไม่ค่อยได้เงินกัน คงไปทำอย่างอื่นกันหมด อย่างย่านนี้ ก็ไม่มีมานานแล้วนะ มีแต่คนไทย แต่ถ้ามีเข้ามาทำจริงๆ นี่ก็แย่กว่านี้นะ

“อย่างน้อยๆ ไอ้เราก็เป็นคนไทย คนไทยก็น่าจะช่วยเหลือคนไทยด้วยกันนะ”
ป้าประเทืองหยอดลูกอ้อนทิ้งท้าย

..........

ประเด็นขอทานชาวกัมพูชา อาจต้องตั้งหลักกันให้ดีๆ ว่าควรจะมองมันอย่างไร จะมองมุมแคบผ่านกรอบความเป็นชาติ ก็จะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าจะมองมุมกว้างในเชิงมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน การที่คนคนหนึ่งต้องยอมลดศักดิ์ศรีกราบกรานขอเงินคนอื่นมันก็เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับพวกเขาอยู่ การใช้กรอบชาตินิยม แล้วบอกว่าขอทานชาวกัมพูชาไม่ควรมีอยู่ในเมืองไทย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผิด

แต่ขอทานที่เป็นคนไทยล่ะ จะใช้กรอบไหนแก้ไขปัญหาหรือจะขับไล่เขาออกไปจากแผ่นดินไทย เช่น ขอทานชาวกัมพูชาที่เรามองว่าเขาเป็นคนอื่น

************

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน, ธัชกร กิจไชยภณ






กำลังโหลดความคิดเห็น