xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! กรมสรรพากรมั่วนิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ต้องอ่านวิธีมั่วนิ่มของกรมสรรพากรดังต่อไปนี้ครับ...

มีจดหมาย เป็นหนังสือแจ้งการใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีเงินได้เกิน ส่งมาที่บ้านผมเมื่อวันที่ 6 พ.ย. มีใจความสรุปว่า
ท่านได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2551 ผิดระเบียบ ซึ่งกรมสรรพากรได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า ท่านได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนของมารดาผิดเงื่อนไข ตามระเบียบให้ยื่นได้ในกรณีที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งมารดาของท่านมีรายได้เกิน 30,000 บาท ในปีภาษีดังกล่าว จึงขอให้ท่านคำนวณภาษีใหม่ แล้วยื่นใหม่ภายในวันที่ 9 ธ.ค.หากเกินกำหนดจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

เห็นแล้วงง!ครับ ประเด็นแรก คือ แม่ของผมมีอาชีพเป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ใดๆ มีแต่เงินฝากประจำ และออมทรัพย์ หากคำนวณจากรายได้ซึ่งเป็นดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากประจำ จะมีรายได้เพียง 9 พันกว่าบาทเท่านั้น

ประเด็นที่สอง สงสัยกับระบบตรวจสอบกรมสรรพากรอย่างมาก แม้ในทางปฏิบัติกรมสรรพากรจะมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ระบบการตรวจสอบที่ดี เมื่อออกเช็คจ่ายคืนภาษีเงินได้ให้แล้ว ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับว่า กรมสรรพากรได้ตรวจสอบข้อมูลแน่ชัดแล้ว จึงออกเช็คจ่ายให้ผู้เสียภาษี เหตุไฉนเลยจึงอ้างว่า ผู้ใช้ภาษีทำผิดระเบียบ และแจ้งหนังสือมาเหมือนเราเป็นผู้ร้าย และจำเลย

เพื่อได้รับความถูกต้อง ในวันที่ 12 พ.ย.ผมเดินทางไปสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขต 10 เขตห้วยขวาง ตามพื้นที่เขตที่ผมอยู่อาศัย และนำสมุดเงินฝากของแม่ทุกเล่มไปแสดง เจ้าหน้าที่ชายหน้าเคาน์เตอร์ยืนยันว่า ผมยื่นแบบแสดงรายการผิดระเบียบ เพราะข้อมูลแจ้งว่า มารดาของผมมีรายได้เกิน 30,000 บาท เจ้าหน้าที่พยายามพูดโน้มน้าวให้ผมยอมรับผิด เพราะอ้างว่าข้อมูลของกรมสรรพากรไม่เคยผิดพลาด!

ผมถามด้วยความสงสัยว่า จริงหรือที่กรมสรรพากรไม่เคยผิดพลาด! แต่เพื่อความถูกต้องผมขอให้เจ้าหน้าที่นำหลักฐานที่อ้างว่า แม่ของผมมีรายได้เกิน 30,000 บาทมาแสดงให้ผมดู

เจ้าหน้าที่จึงขอเวลาไปตรวจสอบ เสิร์ชอินเทอร์เน็ตสักพัก เดินกลับมาบอกว่า ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เพราะข้อมูลยังไม่เรียบร้อย ตัวเลขยังไม่นิ่ง

“ข้อมูลไม่พร้อม และตัวเลขยังไม่นิ่ง” เป็นคำตอบที่ทำให้ผมสะกดอารมณ์ตัวเองอย่างยิ่ง เพราะสรุปแล้วกรมสรรพากรไม่มีหลักฐานตามที่อ้าง แต่คำพูดที่ว่าตัวเลขยังไม่นิ่งนั้น หมายความว่าอย่างไร

คุยไปคุยมา เจ้าหน้าที่รับเรื่อง กระซิบบอกว่า เป็นนโยบายจาก กรมสรรพากรใหญ่ ซอยอารีย์ ให้ส่งหนังสือไปแจ้งผู้เสียภาษี ทั้งที่ข้อมูลหรือหลักฐานยังไม่พร้อม มีผู้เสียภาษีอีกนับร้อยๆรายต้องเดินทางมาแจ้งหรือนำหลักฐานมาให้กรมสรรพากรดู โดยกรมสรรพากรเองก็ไม่มีอะไรมายืนยันนอกจากตัวเลขที่เขียนไว้บนกระดาษ

ฟังแล้วก็หดหู่ เมื่อข้อมูลกรมสรรพากรไม่พร้อม แล้วจะส่งหนังสือไปแจ้งพร้อมระบุความผิดราวกับผู้เสียภาษีเป็นจำเลยทำไม

ระบบที่มั่วนิ่ม ไร้ประสิทธิภาพ อธิบดีกรมสรรพากรโปรดรับรู้ไว้ด้วย และพอเสียทีเถอะครับที่ผ่านมากรมสรรพากรก็ติดอันดับหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดอยู่แล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นมีผู้เสียภาษีบางคนที่เกิดปัญหากรณีเดียวกับผม ไม่มีความรู้ ไม่รู้ข้อมูล และเชื่อตามหนังสือของกรมสรรพากร ยอมรับที่คืนภาษีให้ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ่อแม่ของตนมีรายได้เกิน 30,000 บาท ตามที่กรมสรรพากรอ้างหรือไม่

ผมไม่โทษเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสรรพากรเขต 10 แต่ทนไม่ได้กับคำพูดของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่บอกว่า ข้อมูลของกรมสรรพากรไม่เคยผิดพลาด ฟังแล้วอารมณ์พุ่งปรี๊ดครับ รับไม่ได้ แค่นี้ก็รู้แล้วว่า มั่วนิ่มมาก

ไม่แน่ใจว่า นี่กำลังเป็นนโยบายกรมสรรพากรที่พยายามจะเสาะแสวงหารายได้เพิ่มขึ้นด้วยพยายามรีดเลือดจากประชาชนหรือไม่ แต่กรมสรรพากรควรรื้อระบบการตรวจสอบใหม่ให้เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ การจะออกหนังสือแจ้งกับผู้เสียภาษีจะต้องมีหลักฐานยืนยันให้ถูกต้อง และไม่ควรใช้ถ้อยคำเหมือนผู้เสียภาษีคือ จำเลย

เลิกซะทีเถอะ! วิธีมั่วนิ่ม และมองมุมไหนก็เห็นควรปฏิรูปกรมสรรพากรเสียใหม่...

วัฒนะชัย ยะนินทร
บรรณาธิการ M-Lite
กำลังโหลดความคิดเห็น