xs
xsm
sm
md
lg

เหลือบเรียลิตี ปัญหาใหม่ของคนทีวี (ยอมรับว่าตั้งใจมาหลอก!!!)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ด้อยโอกาสมักถูกจับจ้องหาผลประโยชน์
สังคมไทย ถ้าจะพูดแบบเหมารวมอาจพูดได้ว่าเป็นสังคมที่มีความเอื้ออารี มีน้ำใจ เวลาเห็นใครเดือดร้อนก็มักจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ยิ่งปัจจุบันนี้ ด้วยอิทธิพลของสื่อก็ยิ่งทำให้เรื่องราวความยากลำบากของเพื่อนร่วมสังคมถูกกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และจับใจคนได้มากขึ้นจากพลังการสร้างสรรค์บทโทรทัศน์ รายการ คนค้นฅน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ไม่ต้องนับรายการรุ่นพี่อย่าง วงเวียนชีวิต หรือ สกู๊ปชีวิต ที่เป็นช่องทางการบริจาคแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมมาก่อนนานแล้ว

ความมีน้ำใจเป็นเรื่องที่ไม่อาจดูหมิ่นดูแคลนกันได้ อย่างไรก็ตาม ยามที่น้ำใจไหลรวมมากเข้า มันก็กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ชั้นดีที่ส่งกลิ่นให้เหลือบไรเข้ามารุมสูบเลือดสูบเนื้อ

โด่งดังที่สุดในขณะนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นกรณีของ น้องอ้อม หญิงสาวพิการที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังแห้งตกสะเก็ดและมีเลือดไหลซึมตามแผลจนมีลักษณะคล้ายดักแด้ ที่ปรากฏข่าวว่าถูกอดีตนักร้องดัง นาธาน โอมาน ยืมเงินไปกว่าหนึ่งแสนบาท โดยอ้างว่านำไปใช้ในการดำเนินงานการกุศลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประสบภัยสึนามิ ตั้งแต่เมื่อปี 2548 และไม่ได้ใช้คืนจนกระทั่งน้องอ้อมเสียชีวิต เรื่องมาปูดภายหลังเมื่อยายของน้องอ้อมออกมาแฉผ่านสื่อ ว่านักร้องผู้นี้ยังเคยมาหยิบยืมเงินของยายและน้องอ้อมอีกหลายต่อหลายครั้ง

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรรายการคนค้นฅน มองว่าเรื่องทำนองนี้มันเป็นการเอาเปรียบของคนที่จ้องหาประโยชน์จากคนอื่นอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับว่าจะออกสื่อหรือไม่ เพียงแต่เมื่อมีคนรู้จักผ่านสื่อ มันจึงถูกรับรู้ได้ง่ายขึ้น

“ถ้าถามกลไกการป้องกัน ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สื่อสามารถทำได้ก็ทำได้แค่บอกกล่าว เตือน หรือหยิบยกกรณีขึ้นเป็นอุทาหรณ์ โดยเฉพาะเรื่องเงิน เรื่องจริตส่วนตัว พูดได้เลยว่ามันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่เราเข้าไปก้าวล่วงมากไม่ได้ แม้จะเป็นความปรารถนาดีก็ตาม เพราะจริตของคน ณ เวลาที่จะหยิบยื่นอะไรให้ใคร มันเป็นเรื่องที่เขายังไม่ได้เรียนรู้อนาคตว่าจริงหรือหลอก แล้วกับของที่สาธารณะมอบให้เขา มันกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของเขา เราจะไปชี้นำให้เขาทำอย่างโน้นอย่างนี้ สภาพจิตของเขาก่อนที่จะมีปัญหา ด้วยฐานเหตุปัจจัยอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะไม่เชื่อ เหมือนกับยังไม่เจอ เราไปบอกเขาก็ไม่เข้าใจหรอก”

ทางด้าน มณัชยา รักพานิชแสง ผู้ควบคุมและดูแลการผลิตรายการ ‘วงเวียนชีวิต’ ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนำเสนอความทุกข์ยากลำบากของผู้คนด้อยโอกาสในสังคมกล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถไปเอาเงินจากคนที่เราให้ความช่วยเหลือได้ นอกจากว่าเจ้าตัวจะยินยอมเอง เพราะฉะนั้น ในเวลาที่ไปถ่ายทำรายการ เธอจะบอกกับผู้ที่ได้รับบริจาคเสมอว่า เงินนี้เป็นเงินที่ได้รับบริจาคมา และมันเป็นการต่อยอดชีวิตของคน8oนั้น ให้เขาเก็บรักษาไว้ให้ดี

“เพราะหากเขาเก็บไว้ไม่ดี วันหนึ่งมันก็หมด แล้วไม่มีใครมาช่วยเหลือให้เรื่อยๆ ฉะนั้น ต้องเก็บรักษาและใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด บางทีเจ้าตัวอาจจะประมาทหรือลืมตัวไปสักนิด เพราะปกติเขาไม่เคยมีเงินเยอะ พอมีเงินเข้ามาก็อาจจะทำให้เขารู้สึกประมาทไป ด้วยความใจดีก็อาจรู้สึกว่าตรงนี้เพียงพอแล้ว ก็อาจแบ่งปันให้ ก็อาจจะโดนหลอกโดยไม่รู้ตัว มันก็พูดยาก”

จากประสบการณ์นับตั้งแต่ทำรายการนี้มาหลายปี มณัชยาบอกว่า คนที่มักมาคอยสูบเงินบริจาคจากผู้ยากไร้ก็มักจะเป็นลูกหลานหรือญาติพี่น้องของเจ้าตัวนั่นเอง จากเดิมที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากลูกหลานเลย หรือถูกทอดทิ้งไม่มีคนเหลียวแล แต่พอออกรายการโทรทัศน์แล้วได้รับความช่วยเหลือ ลูกหลานเหล่านี้ก็จะกลับมาขอเงิน พ่อแม่ใจอ่อนก็จะให้ไปจนกระทั่งเงินหมด

“เขาก็จะแจ้งมาทางเราอีกว่าเงินหมดแล้ว ซึ่งเราก็บอกว่าคราวนี้เราไม่สามารถที่จะช่วยได้อีก เพราะว่าตอนไปจะให้ทีมงานบอกทุกครั้งว่า ใช้เงินนี้ให้ดีที่สุด ใช้ให้คุ้มที่สุด เพราะว่ามันไม่ได้ได้มาง่ายๆ คือเราจะมีเงินกองทุนของเราให้ก้อนหนึ่ง แล้วก็จะมีเงินจากสภาสังคมสงเคราะห์ให้ ซึ่งเงินตรงนี้เราจะไปเปิดบัญชีให้เขา พอหลังจากออกอากาศแล้วจะมีผู้ชมทางบ้านแจ้งเข้ามา เราก็จะให้โอนเข้าบัญชีนี้ได้เลยโดยไม่ต้องมาผ่านทางเรา ตรงนี้เขาก็ต้องบริหารจัดการเอง แต่ถ้าเขาดูแลไม่ได้หรือว่าเขาเป็นคนพิการก็จะตั้งคณะกรรมการให้ประมาณสามคน ให้ช่วยดูแลแล้วก็ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้” มณัชยากล่าว

ถ้าจะมองว่าเหตุใด รายการทำนองนี้จึงสามารถระดมเงินบริจาคได้มากมาย จนกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนทำร้ายผู้ด้อยโอกาสและสะท้อนความเลวร้ายของสังคม ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายว่า รายการประเภทนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีแบบเรียลลิตี ซึ่งนำเสนอความจริงของสังคม และที่สำคัญพอดูแล้ว ก็รู้สึกว่ามันความเป็นจริงสูง เมื่อเทียบกับรายการประเภทอื่นอย่างเกมโชว์ หรือละคร ประกอบกับในปัจจุบันนี้ มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยนำเสนอ ทำให้รายการมีความน่าสนใจและสามารถดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น

“ผมว่าเมื่อสังคมก้าวไปสู่ทุนนิยมมากขึ้นเท่าไหร่ รายการแบบนี้ก็จะเป็นมุมกลับที่สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียม หรือความด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งก็จะเป็นช่องให้เกิดการทำบุญหรือบริจาคช่วยเหลือผ่านทางรายการ เพราะฉะนั้นหากจะว่าไปแล้ว เรื่องพวกนี้มันก็สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความเจริญก้าวหน้าของสังคมไปได้อีกก้าวหนึ่งว่า ถึงเราจะมีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในสังคมเมือง แต่มันก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง จนทำให้เกิดผู้เสียโอกาส ด้อยโอกาสขึ้น ซึ่งการนำเสนอผ่านทางรายการแบบนี้ ก็จะทำให้คนจำนวนหนึ่งหันกลับมามองความจริงในสังคมมากขึ้น”

กรณีการรุมทึ้งหรือหลอกลวงเอาผลประโยชน์จากผู้ด้อยโอกาส บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องที่พูดยากและละเอียดอ่อนดังที่สุทธิพงษ์และมณัชยาว่าไว้ ครั้นจะเข้าไปยุ่งย่ามมากก็จะกลายเป็นที่ครหา ถึงที่สุด นี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้ได้รับบริจาคจะต้องเรียนรู้และเท่าทัน
สำหรับคนที่ต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางอย่าง มณัชยา บอกว่าบางครั้งก็รู้สึกเหนื่อยใจกับการที่คนเรามีน้ำใจให้ความช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาอีก

“ก็คือมันห้ามไม่ได้สำหรับคนที่มีจิตใจเป็นกุศลที่ต้องการจะช่วย แล้วมันก็ห้ามไม่ได้กับคนที่มีกิเลสอยากจะไปเอาของเขา คือต้องบอกเขาเลยว่า คุณต้องรักษาเงินของคุณให้ดีๆ นะ เพราะโอกาสแบบนี้มันไม่ได้มาบ่อยๆ ที่จะมีคนมาช่วยเหลือ”

อย่างไรก็ตาม สุทธิพงษ์เตือนว่า

“เราต้องแยกมองคืออย่ามองว่าความเมตตา สงสาร เห็นใจ เป็นปัญหา จริงๆ แล้วไม่ใช่การค้ำจุน เกื้อกูล แบ่งปัน ถ้ามันอยู่ในความเป็นมนุษย์ มันเป็นตัวที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหา เพราะทำให้คนไม่เบียดเบียนกัน ปัญหามันคือตัวเบียดเบียนต่างหาก ฉะนั้น เมื่อมีกรณีแบบนี้ เราไม่ควรเสียศรัทธาต่อความเมตตาหรือการแบ่งปัน”

..........

ย้อนรอยโกง

กรณีมิจฉาชีพหรือผู้ที่ตั้งใจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากเงินบริจาคของผู้ที่เดือดร้อนและด้อยโอกาสในสังคมมีมานานแล้ว ซ้ำหลายครั้งยังเป็นคนใกล้ชิดหรือญาติสนิทที่ต้องมาขัดแย้งเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งแค่ไหน

เริ่มต้นด้วยข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน กรณีของสองพี่น้องยอดกตัญญู เมย์-เหน่ง ขายน้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋เลี้ยงแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และพ่อที่เป็นโรคติดสุราเรื้อรัง ภายหลังที่รายการคนค้นฅนนำเทปนี้ออกอากาศ เมื่อปี 2546 ภายใต้ชื่อตอน ‘แม่ไม่ต้องร้องไห้’ ยอดบริจาคที่หลั่งไหลสู่เมย์-เหน่งสูงกว่าหนึ่งล้านสี่แสนบาท ได้กลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างญาติ ครู และทางรายการที่ต้องการตรวจสอบการใช้เงินบริจาคที่เหมาะสมเพื่ออนาคตของเด็กทั้งสอง จนเป็นข่าวโด่งดังอยู่พักใหญ่

หรือกรณีของ สุชิน พันธุ์แตง สาวพิการขาลีบที่ต้องเดินด้วยมือ ภายหลังจากรายการคนค้นฅนได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตรันทดของเธอเมื่อปี 2548 หลังออกอากาศไปไม่นาน มีผู้ชมทางบ้านเห็นใจในความสู้ชีวิตของเธอ บริจาคเงินช่วยเหลือแก่สุชินยอดรวมทั้งสิ้นเกือบ 6 ล้านบาท แต่ก็ต้องมาถูกหลอกไปจากชายที่ได้ชื่อว่าเป็นสามีที่แท้จริงซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว กว่าจะรู้เธอก็สูญเงินไปนับล้าน จนสุชินเหลือเพียงเงินในบัญชีออมทรัพย์เพียง 250 บาท

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องของเด็กหญิง สไบทอง อิ่มกระจ่าง เด็กหญิงหัวใจทองคำ ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต ทำงานหนักเพียงลำพังหาเลี้ยงครอบครัว เพื่อดูแลแม่และตาที่สติไม่สมประกอบ กลายเป็นที่จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมอย่างมาก เพราะกรณีนี้ ‘ญาติ’ ได้พยายามเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรเงินบริจาคของเด็กหญิงสไบทองอย่างชัดเจนหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งทางรายการต้องแยกให้เด็กหญิงสไบทองไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อื่น เพื่อหนีห่างจากการรุมทึ้งของญาติพี่น้อง

แม้กระทั่งบุคคลที่กลายเป็นสัญลักษณ์คู่รายการคนค้นฅน อย่างปู่ เย็น แก้วมณี ผู้ล่วงลับ ก็ยังเคยถูกโจรใจบาปแอบฉกเงินที่ผู้ชมทางบ้านร่วมกันบริจาคช่วยเหลือร่วม 7 หมื่นบาทไปจากในเรือ ทำให้ต้องนำเงินที่เหลืออีกประมาณ 1 แสนบาทไปฝากธนาคาร เพราะหากเก็บไว้ในเรือจะถูกขโมยอีก

เมื่อดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้แล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าในแง่หนึ่งเงินบริจาคที่มีผู้ให้มาเพราะความสงสารนั้น บางครั้งก็กลายเป็นดาบสองคมย้อนกลับมาทำร้ายตัวผู้รับเองบ่อยครั้ง จะด้วยความโลภ ความเห็นแก่ได้ของคนที่อยู่รอบข้าง หรือความประมาท ไม่ระวังตัวของผู้ที่ได้รับเงินบริจาคนั้นก็ตาม

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

เมย์-เหน่ง
น้องอ้อมที่กำลังเป็นข่าวดัง
สุชิน พันธุ์แตง
กำลังโหลดความคิดเห็น