xs
xsm
sm
md
lg

ล่าตัวผู้ร้ายข้ามแดน เรื่องยากๆ ที่ทำได้ (แต่รอหน่อยแล้วกัน)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นข่าวพาดหัวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซะหลายวันเลย สำหรับกรณีส่งตัว นายราเกซ สักเสนา อดีตพ่อมดการเงินชื่อดัง และที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์  ซึ่งหลบหนีคดียักยอกทรัพย์ไปอยู่ประเทศแคนาดานานถึง 13 ปีทีเดียว

ถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยใช่ไหมว่า ทำไมหนอจะลากตัวคนผิดมาลงโทษทั้งที ทำไมถึงต้องใช้เวลานานซะขนาดนั้น ยิ่งตอนนี้ใครๆ ก็พูดกันแซดว่า โลกยุคใหม่นั้นไร้พรมแดน รู้ทั้งรู้ว่าอยู่ตรงไหนของมุมโลกแท้ๆ แต่ไฉนกระบวนการอะไรต่างๆ จึงถึงได้ล่าช้ามากนัก

คำตอบที่ได้รับ ก็คงหนีไม่พ้นข้อกฎหมายที่ว่าด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งบางประเทศก็มี บางประเทศก็ไม่มี หรือไม่ก็มีแต่ทำตัวเหมือนไม่มีซะงั้น

แน่นอน เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมาจึงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจับกุมผู้กระทำผิดที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ แล้วถ้าเป็นไปได้ ยังต้องรอกันอีกเท่าไหร่ 10 ปี 20 ปี ถึงจะสามารถเอาตัวคนหนีคุกเหล่านี้มาลงโทษได้อย่างสาสม

จากความสงสัยทั้งหมดนี้เอง เราจึงอดไม่ได้ที่จะต้องไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพื่อให้ช่วยไขข้อข้องใจเหล่านี้ออกไปซะที

-1-

เปิดฉากด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด ซึ่งตอนนี้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานอัยการติดตามตัวนักการเมืองที่หลบหนีหมายจับไปอยู่ต่างประเทศ

ถาวรอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทำงานลำบาก ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องกฎหมายของประเทศต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน บางประเทศก็ให้ความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชนสูงมาก ขณะที่บางประเทศระบบของกระบวนการยุติธรรมก็แตกต่างกับประเทศไทย อย่างโทษประหาร บางประเทศอาจไม่มี เพราะฉะนั้น เขาก็จะมีสิทธิตรงนี้ในการไม่ส่งตัวนักโทษมาให้ได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันนานถึงจะเรียบร้อย

“การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนค่อนข้างมีเงื่อนไขเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นเราจึงทำทุกวิถีทางให้นานาประเทศเชื่อใจมากที่สุดว่า หากคุมตัวผู้ต้องหาชาวต่างชาติมาดำเนินคดีในเมืองไทยแล้ว เราต้องช่วยผ่อนหนักเป็นเบา อย่างโทษประหาร ก็อาจจะต้องไม่มี”

ขณะเดียวกัน เรื่องแหล่งกบดานของผู้หลบหนีก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่างกรณีของ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่หลบหนีหมายจับคดีทุจริตที่ดินคลองด่าน ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าไปหลบอยู่แห่งไหนกันแน่ การติดต่อไปยังประเทศต่างๆ ก็เลยยังไม่เกิดขึ้นสักที

“กรณีอย่างคุณวัฒนา ไม่ได้ติดขัดตรงข้อกฎหมายอะไรหรอก แต่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้จะไปยื่นเรื่องที่ไหนดี หากไม่มีหลักฐานชัดเจนแล้วยื่นเรื่องไป ประเทศที่ยื่นก็อาจจะหาว่าเราไปดูถูกเขาได้ ซึ่งมันส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ”

รองอัยการสูงสุดอธิบายต่อถึงกระบวนการติดตามผู้ที่ทำผิดแล้วหนีไปอยู่นอกรัฐไทยว่า จุดเริ่มต้นของงานก็ต้องมาจากการที่ผู้เสียหายหรือผู้เกี่ยวข้องยื่นเรื่องมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดว่าผู้กระทำความผิดได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ โดยมีข้อแม้ว่าศาลต้องประทับรับฟ้องมาเรียบร้อยแล้ว

จากนั้น เมื่อคดีส่งต่อมาที่อัยการ หากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง หรือเห็นว่ามีมูล แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไปอยู่นอกรัฐแล้ว อัยการสูงสุดก็จะพิจารณาต่อว่า ประเทศที่ผู้ต้องหาหลบหนีไปนั้น สามารถยื่นเรื่องหรือมีสนธิสัญญาในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ หากทำได้ก็จะรีบทำการยื่นเรื่องไปทันที

“หากสองประเทศมีสนธิสัญญาในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็แสดงว่าแต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์ในเชิงต่างตอบแทน ถ้อยทีถ้อยอาศัย เราส่งนักโทษไปให้เขา เขาก็จะส่งนักโทษกลับมาให้เราเหมือนกัน เราจึงพยายามประสานกับกระทรวงการต่างประเทศให้ทำสนธิสัญญาต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันเรื่องนี้”

แต่ทั้งนี้มีข้อแม้อยู่อย่างว่า ความผิดที่เกิดขึ้น จะต้องไม่เป็นความผิดทางการเมือง หรือความผิดที่เกี่ยวกับทหาร ไม่เช่นนั้นโอกาสที่ได้ตัวกลับมาก็ลำบากมากขึ้น เว้นเสียแต่ประเทศนั้นๆ จะเห็นว่าควรส่งกลับ

“หลักในการพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดทางการเมืองหรือความผิดทางอาญา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เช่น การต่อสู้ทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย อัยการต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นธรรมและยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายมากที่สุด”

-2-

มาที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองระหว่างประเทศกันบ้าง นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ทุกคนต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะทั่วโลกมีแค่ 14 ประเทศเท่านั้นที่ประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และประเทศที่เรามีสนธิสัญญาด้วยนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีความสัมพันธ์กันในเรื่องนี้มาก่อนอยู่แล้ว

“กรณีของประเทศแคนาดานี่ชัดเจน คือสาเหตุที่เขามีสนธิสัญญากับเราก็เพราะเขามีสถิติหรือข้อมูลว่าเวลาที่นักโทษบ้านเขาที่ทำผิดกฎหมายอาญาก็มักจะหลบหนีมาอยู่ตามประเทศต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ประเทศไทยมักไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากนัก อย่างประเทศที่เรามีสนธิสัญญา ก็มักจะเป็นประเทศนั้นที่เป็นฝ่ายยื่นเรื่องมาเอง ซึ่งส่วนมากเราก็ไม่ขัดข้อง เพราะถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

แต่ตอนนี้ คงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยควรหันมาให้ความสนใจต่อเรื่องนี้มากขึ้น โดยทำสนธิสัญญาให้มากประเทศที่สุด เป็นสิ่งที่นายสุรพงษ์อยากให้เกิดขึ้น เหตุผลเพราะปัจจุบันนี้มีนักการเมือง นักธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายหลบหนีไปต่างประเทศค่อนข้างมาก

“หากเป็นนักโทษทั่วไป ไม่ใช่นักการเมือง ที่ก่อคดีฉ้อฉลแล้วเรามีหลักฐานชัดเจน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหากับการยื่นเรื่องขอส่งตัวกลับ ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่จะมีปัญหามากเวลานักโทษคนนั้นเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพล และมีเงินหนา อย่างทักษิณ ชินวัตร ถึงตอนนี้ก็ยังเอาตัวมาไม่ได้สักที ทั้งๆ ที่เป็นคดีอาญาธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่คดีทางการเมืองสักหน่อย แต่เพราะเขาเป็นคนมีเงินมหาศาล และเป็นคนมีอิทธิพล มีพรรคพวกในประเทศไทยเยอะ แถมยังเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับกัมพูชาอีก เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนขึ้นมา”

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองแล้วจะเป็นปัญหาซะหมด เพราะหากนักโทษเป็นนักการเมืองธรรมดา และไม่ได้เป็นคนร่ำรวยระดับโลก หรือมีอิทธิพลมากมาย และประเทศไทยมีหลักฐานเพียงพอที่พิสูจน์ได้ว่าคนนั้นเป็นผู้ร้ายคดีอาญา ก็จะได้รับความร่วมมือจากประเทศที่ผู้ร้ายอยู่ แม้จะไม่มีสนธิสัญญาร่วมกันก็ตาม
……….
 

ประเทศไหนเอ่ย?

รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยนั้นมีสนธิสัญญาเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอื่นๆ มาเกือบ 100 ปีแล้ว โดยประเทศแรกที่เราทำข้อตกลงร่วมกันก็คือ ประเทศอังกฤษ เซ็นไว้เมื่อปี 2454 หลังจากนั้นอีก 26 ปี ถึงมีการทำกับราชอาณาจักรเบลเยียม

ปัจจุบันนี้ ไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 14 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิจิ เบลเยียม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ลาว บังกลาเทศ และกัมพูชา

.....…..

 
เปิดบันทึกผู้ร้ายข้ามแดน

ในเมืองไทย มีนักโทษจำนวนมากที่หนีไปกบดานอยู่ต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่พวกนี้มักจะเป็นพวกที่มีเงินและอิทธิพลมาก ด้วยเหตุนี้ถือโอกาสบันทึกซะหน่อยว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นใครบ้าง

เริ่มด้วย นายราเกซ สักเสนา ผู้มีส่วนสำคัญในการล่มสลายของธนาคารอายุร่วมครึ่งทศวรรษอย่าง กรุงเทพฯ พาณิชยการ โดยในตอนนั้นเขาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการของธนาคาร และวีรกรรมที่เกริกเกียรติและราเกซร่วมกันทำก็คือ การยักยอกทรัพย์สินของธนาคาร 3,000 ล้านบาท ด้วยการปล่อยกู้ในอัตราเสี่ยงสูงให้แก่นักการเมือง จากนั้นก็ทำการตกแต่งบัญชี ให้มีผลกำไรเป็นพันล้าน ทั้งๆ ที่ขาดทุนอย่างย่อยยับ แต่เรื่องเน่าๆ อย่างนี้ก็ถูกปิดไม่มิด เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ความจริงก็ถูกเปิดเผย พร้อมกับการล่มสลายของธนาคาร

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเอง นายเกริกเกียรติถูกจำคุกเป็นเวลา 30 ปี ส่วนนายราเกซก็อาศัยจังหวะหลบหนีไปอยู่แคนาดา พอไทยยื่นคำร้องขอตัว นายราเกซก็สู้ด้วยการยื่นคัดค้าน โดยอ้างว่ากลัวถูกสังหาร สู้กันไปถึง 3 ศาล กินเวลา 13 ปี ในที่สุดศาลสูงแคนาดาก็มีคำพิพากษายกคำร้องของนายราเกซ และส่งตัวคืนสู่อ้อมอกของประเทศไทย

คนต่อมา ก็ถือเป็นพ่อมดการเงินที่สุดยอดไม่แพ้คนแรก โดยมีเรื่องเล่ากล่าวขานกันว่า นายปิ่น จักกะพาก สามารถเปลี่ยนกระดาษเป็นเงิน เปลี่ยนเจ๊งให้มีกำไรมหาศาลได้ชั่วพริบตา โดยเฉพาะ บริษัทเงินทุนเอกธนากิจ ที่ตอนนั้นราคาหุ้นเหลือแค่ 25 บาท แต่เพียง 3 ปีเท่านั้นเขาก็สามารถเปลี่ยนราคาหุ้นให้กลายเป็น 500 บาท

เส้นทางวิศวกรการเงินในเมืองไทยของนายปิ่นจบลง หลังจากเขาวางแผนฮุบกิจการของธนาคารไทยทนุ แต่ไม่สำเร็จ ส่งผลให้ธุรกิจทางการเงินของเขาซวนเซอย่างหนัก และเมื่อตำรวจตรวจสอบฐานะทางเงินของนายปิ่นก็พบความผิดปกติ ทั้งฉ้อโกง ปล่อยเงินกู้ให้บริษัทปลอมๆ รวมถึงยักยอกเงิน 2,127 ล้านบาท แน่นอน นายปิ่นไม่ยอมรับ และพอสบโอกาส เขาก็บินตรงไปที่ประเทศอังกฤษทันที

เมื่อทางการไทยทราบเรื่อง จึงทำเรื่องขอตัวนายปิ่นกลับมาดำเนินคดี แต่ถูกนายปิ่นคัดค้านและแย้งว่ากลัวถูกทำร้าย และเมืองไทยค่าตัวมือปืนถูกมากแค่ 100 เหรียญเท่านั้น หลังยืดเยื้อนาน 2 ปี ศาลอังกฤษก็ตัดสินใจยกคำร้องของฝ่ายไทย ให้นายปิ่นเป็นอิสระและพำนักในอังกฤษได้จนถึงทุกวันนี้

อีกคนหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องโทษจำคุก 2 ปี ถือเป็นยอดเซียนแห่งการหลบหนีก็ว่าได้ เพราะนอกจากทำตัวเป็นผีไม่มีศาล ไปผุดตรงโน้นที ตรงนั้นที เขายังสามารถออกมาเย้ยท้าทายรัฐบาลไทยอีกว่า “ให้ตายก็จับไม่ได้หรอก” โดยเส้นทางการหลบหนีของทักษิณ ก็เริ่มจากการไปดูโอลิมปิกที่จีน จากนั้นย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ สักพักก็มาอยู่ฮ่องกง จีน ดูไบ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา โดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้ ซึ่งน่าแปลกใจมากเลย เพราะหลายๆ ประเทศก็มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามประเทศ แต่กลับบอกไม่รู้ไม่เห็น หรือถึงรู้ก็ไม่ส่ง

นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ก็มีนักการเมืองอีกหลายคนที่หลบหนีการจับกุมไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น นายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเจอคดีทุจริตคลองด่าน นายสมชาย คุณปลื้ม เจอคดีจ้างวานฆ่า และนายอดิศัย โพธารามิก เจอหมายจับในฐานที่ไม่ยอมมาฟังคำพิจารณาของศาลในคดีหวยบนดิน และกล้ายางฯ

ส่วนพวกที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ และรอจนคดีหมดอายุความค่อยกลับมาก็มีไม่น้อย ที่เห็นเด่นๆ ก็ยังมี นายระลึก หลีกภัย น้องชายอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่ต้องคดีฉ้อโกงธนาคารกสิกรไทย 200 ล้านบาท หรืออย่าง นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่เจอข้อหาฉ้อโกงประชาชน หลังธุรกิจนายหน้าค้าเงินของเขาล้มไม่เป็นท่า ในช่วงที่มีการประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2525

นี่เป็นส่วนหนึ่งของบรรดาผู้หนีคดีไปกบดานในเมืองนอกเท่านั้น เชื่อว่าหลังจากคดีของนักการเมืองที่ทุกวันนี้ ยังคงค้างคาอยู่ในศาลอีกจำนวนมาก เริ่มทยอยตัดสินออกมา ไม่แน่เราอาจจะเห็นนักโทษหลบหนีหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกก็ได้
..........

เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพ Click





กำลังโหลดความคิดเห็น