xs
xsm
sm
md
lg

‘บุหรี่ เอ็กซ์โป’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชอรี สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ มินต์ ช็อกโกแลต วานิลลา...อ๊ะๆ อย่าเพิ่งน้ำลายสอ

เราไม่ได้ร่ายเมนูขนมเค้กหลากรสให้คุณเลือกชิม เพราะสารพัดกลิ่นหอมที่ว่ามา ไม่ได้ลอยกรุ่นมาจากเตาอบขนมที่ไหน แต่พวยพุ่งออกมาจากปากสิงห์อมควันทั้งหลายต่างหาก

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ บุหรี่ทุกวันนี้ ใช่จะมีแต่รสขมติดคอเสียเมื่อไหร่ นวัตกรรมในแวดวงอุตสาหกรรมบุหรี่ ก้าวไกลไปถึงขั้นปรุงแต่งกลิ่นให้หอมยวนใจ ลื่นคอ ถึงขั้นว่า ‘จูบแล้วหวานเหมือนมีผลไม้เคลือบไว้’ อย่างไรอย่างนั้น

แต่ไม่ว่าจะฉาบเคลือบความหวาน ห่อหุ้มด้วยแพกเกจสวยเก๋ เท่บาดใจสักแค่ไหน อย่างไรเสีย ‘บุหรี่’ ก็คือ ‘บุหรี่’ วันยังค่ำ เป็นมัจจุราชในคราบความหวานหอม ที่หอบหิ้วเอาสารนิโคตินมาฝากไว้เต็มปอด

ทว่า ในเมืองไทย พ.ศ. นี้ พิษร้ายจากควันบุหรี่ที่ท่องจำกันได้ขึ้นใจ คงกลายเป็นความเข้าใจแบบเด็กไร้เดียงสาไปแล้วกระมัง เมื่อ มหกรรมบุหรี่ หรือ ‘บุหรี่ เอ็กซ์โป’ งานนิทรรศการที่จัดแสดงนวัตกรรมใหม่ๆ ของแวดวงอุตสาหกรรมยาสูบ กำลังจะจัดแสดงขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

……….

มหกรรม ‘นิโคติน’ แห่งชาติ

ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นที่เมืองไทยกำลังจะมีงานนิทรรศการแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับบุหรี่ เพราะเจ้างาน ‘บุหรี่ เอ็กซ์โป’ ที่เราเอ่ยถึง กำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ ในวันที่ 11-13 พฤศจิกายน ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยงานดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Tabinfo Asia 2009

แล้วผู้ชมจะได้รับอะไรจากงานนี้?

เรามีรายละเอียดมาแจกแจงให้ฟังกันพอสังเขป

เริ่มด้วย คำขวัญของงาน ‘If you are in Thailand, You are in the world’ ‘มาเมืองไทย เหมือนท่องไปทั่วโลก’ ได้ยินสโลแกนแล้ว อาจหลงเข้าใจผิดว่าเป็นคำเชิญชวนให้เข้าชมงานมหกรรมลดราคาขายแพ็กเกจทัวร์ของบริษัทนำเที่ยว

แต่จะว่าไป คำขวัญนี้ก็บอกกล่าวนัยของงานได้อย่างแยบยล ว่า เมื่อคุณมาชมงานนิทรรศการ ก็ไม่ต่างจากการเปิดโลกทัศน์ ท่องเที่ยวต่างแดน เพียงแต่เป็นการท่องเที่ยวผ่านบุหรี่ยี่ห้อต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกต่างหาก! สอดคล้องกับหัวใจสำคัญของงาน ซึ่งก็คือ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผ่านการพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ ตามคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทต่างๆ ในนามเครือข่ายอุตสาหกรรมยาสูบโลก ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดงานนี้ เช่น จัดแสดงบุหรี่ที่อ้างว่ามีสารพิษน้อยลง ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตก้นกรองที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้แสงเลเซอร์ยิงก้นกรองให้มีรูพรุน เล็กละเอียดอย่างถึงที่สุด ทำให้สารนิโคติน และทาร์ เดินทางเข้าสู่ปอดได้น้อยลง

ทั้งมีการแสดงผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่ ที่สามารถนำนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่ต้องจุดใบยาสูบ เป็นต้นว่า สารนิโคตินละลายน้ำ ที่ผ่านการแต่งกลิ่น ปรุงรสชาติ , มีบุหรี่ไฟฟ้า ที่ใช้แบตเตอรี่จุดความร้อนให้กับนิโคตินซึ่งมีรูปแบบคล้ายมวนบุหรี่

นอกจากนั้น ยังมีการแสดงผลิตภัณฑ์บุหรี่และเทคโนโลยีการปรุงแต่งกลิ่นให้หอมกรุ่นไม่ต่างจากดอกไม้ ผลไม้ และน้ำหอมราคาแพง, มีกระดาษมวนบุหรี่ที่อ้างว่าลดกลิ่นเหม็นจากการเผาไหม้ของยาสูบ, มีบุหรี่ที่อัดควันได้อย่างเต็มปอดแม้ในเวลาเร่งด่วน เช่น บุหรี่มวนสั้น อัดใบยาแน่น, บุหรี่รสกาแฟ เพิ่มกาเฟอีนสำหรับคนขี้เซา พ่วงด้วยบุหรี่ผสมสารชูกำลัง สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย

เหล่านี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นิทรรศการบุหรี่...จัดทำไม?

ตัวอย่างของบุหรี่ไฮเทคที่บอกเล่าไว้ข้างต้น อาจจะถูกใจสิงห์อมควัน (และ ‘รมควัน’ ชาวบ้าน) จำนวนไม่น้อย ทั้งเป็นช่องทางของการผนึกกำลังและติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างเครือข่ายธุรกิจยาสูบจากทั่วประเทศและทั่วโลก

กระนั้น น้ำเสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับ การจัดงานดังกล่าว ก็ยังคงเป็นเสียงที่น่ารับฟัง

ดังถ้อยความจาก รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญของการต่อต้าน Tabinfo Asia 2009 ซึ่งบอกกล่าวเท้าความกับเราว่า

“งานที่จะเกิดขึ้น เป็นการโฆษณาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์บุหรี่ เพื่อดึงเยาวชนและสตรีให้ตกเป็นทาสบุหรี่ ทั้งๆ ที่เรารับรู้กันอย่างชัดเจนว่าบุหรี่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ ต้นเหตุของโรคมะเร็ง และคร่าชีวิตคน”

นอกจากนั้น รศ.ดร.ภญ.จิราพร ยังมองว่า มีความไม่ชอบมาพากลของงาน ในการสร้าง Networking Hub หรือเครือข่ายในภูมิภาคเอเชีย เพื่อค้นหากลยุทธ์การตลาดในการเจาะตลาดประเทศที่มีกฎหมายควบคุมยาสูบที่เคร่งครัด เช่น การทำโฆษณาแฝง แสดงท่าทีสนับสนุนกีฬา โดยการติดโลโก้สินค้าที่เสื้อหรืออุปกรณ์กีฬาเพื่อแอบแฝงการขายของ

รศ.ดร.ภญ.จิราพร เล่าว่า ขณะนี้ ได้ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ด้านสุขภาพต่างๆ ในการล่ารายชื่อต่อต้าน และทำหนังสือชี้แจงไปถึงนายกรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงผู้บริหารของอิมแพค อารีนา ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าวทุกภาคส่วน

“สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จำนวน 15 สถาบันทั่วประเทศ นิสิต-นักศึกษาด้านการแพทย์ รวมทั้งบุคลากรการแพทย์ ช่วยกันรวบรวมรายชื่อ 4 หมื่นรายชื่อ เพื่อคัดค้านและสร้างความเข้าใจกับสังคม และวันที่ 3 พฤศจิกายน พวกเราจะไปแสดงเจตนารมณ์และยื่นหนังสือต่อนายกฯ เพื่อคัดค้านไม่ให้โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เข้าไปจัดงาน สนับสนุนหรือข้องเกี่ยวกับงาน เพราะขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมบุหรี่มาตรา 53 ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ ส่วนวันงาน 11 พ.ย. ที่จะถึงนี้ เครือข่ายสุขภาพจะรวมตัวแสดงพลังบริสุทธิ์ไปคัดค้านหน้างาน เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมบุหรี่ได้ตระหนักว่า พวกเขาทำธุรกิจที่ฆ่าคน!”

นอกจากนี้ ยังฝากเชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับงานดังกล่าว ว่าสามารถร่วมลงนามคัดค้านนิทรรศการ Tabinfo Asia 2009 ได้ที่กระทรวงสาธารณสุข, ร้านขายยา และร้านขายยาในคณะเภสัชศาสตร์ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นความเห็นและความพยายามที่สอดคล้องต้องตรงกับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่ร่วมผลักดันลงนามไม่เห็นด้วยกับนิทรรศการบุหรี่ครั้งนี้

นอกจากการรวบรวมรายชื่อผู้ต่อต้านงานดังกล่าวแล้ว ศ. นพ. ประกิต ได้แสดงความเห็นกับเราเพิ่มเติม ถึงข้อกังขาว่า เหตุใด กลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบโลก จึงสามารถจัดงานงานบุหรี่เอ็กซ์โป ในประเทศ ไทย ทั้งที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามในภาคีอนุสัญญาการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกเหมือนประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย
โดย ศ.นพ.ประกิต อธิบายว่า

“การลงนามเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ส่วนของการจัดนิทรรศการเป็นเรื่องของเอกชน รัฐบาลไม่เกี่ยว เป็นสิทธิที่เขาจะจัดได้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ว่าเขาต้องการจะท้าทายรัฐบาลไทย และท้าทายรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียด้วย เพราะผู้จัดงานเขาก็ประกาศไว้ ว่า เอเชีย คือตลาดบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุด และโตเร็วที่สุดในโลก ดังนั้น เขาก็เลยเชิญชวนให้ผู้ค้าในกรุงเทพ ได้มาพบปะกัน กระทบ ไหล่กัน”

นอกจากนี้ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ได้ขยายความถึง การจับตา’ นิทรรศการดังกล่าว ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ว่า

“พระราชบัญญัติแรก ห้ามไม่ให้แสดงซองบุหรี่ เพราะฉะนั้น ถ้าในการจัดนิทรรศการมีการนำซองบุหรี่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาจัดแสดง ก็ถือว่าเป็นการขัดกับพระราชบัญญัติ นอกจากนั้น ในเอกสารโปรโมตการประชุมนี้ ระบุไว้ว่า สามารถสูบบุหรี่ในที่ประชุมได้ หมายความว่า ถ้ามีการสูบบุหรี่ในสถานที่จัดนิทรรศการ ขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข”

เมื่อมีการประกาศอย่างโจ่งแจ้ง เชื้อเชิญให้สูบบุหรี่ได้อย่างเสรี ศ.นพ.ประกิต จึงเน้นย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า ผู้จัดงานทำตามคำประกาศกระทรวงฯ อย่างเคร่งครัดหรือไม่

เพราะกรมควบคุมโรคได้แจ้งหนังสือไปถึง ผู้จัดงานที่อิมแพ็คฯ แล้ว หากผู้จัดงานยังปล่อยให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่จัดนิทรรศการ ก็ถือว่า ผู้บริหารอิมแพ็คฯ มีความผิดด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ผิดทั้งคนสูบและเจ้าของสถานที่

อย่างไรก็ดี แม้จะเดินหน้าต่อต้านนิทรรศการบุหรี่อย่างแข็งขัน ศ.นพ.ประกิต ก็จำต้องยอมรับความจริงว่าไม่อาจยับยั้งการจัดงานได้ แต่ก็จะไม่ละทิ้งการทำหน้าที่ ‘เฝ้าระวัง’ อย่างจริงจัง

“ผมคิดว่าห้ามไม่ได้ เพราะเราไม่มีกฎหมายห้ามไว้ เพียงแต่ว่า หากผู้จัดงานเขามาขอใช้สถานที่ราชการเราก็จะประณามรัฐบาล แต่ถ้าไปใช้สถานที่เอกชนเราก็คงจะไปห้ามเขาไม่ได้ โดยเฉพาะ เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งในโลกการค้าเสรี”


เมืองไทย...ดินแดน (อบายมุข) เสรี

ใช่เพียงแวดวงนักวิชาการและเครือข่ายสุขภาพ ที่ออกมาคัดค้านต่อต้านนิทรรศการบุหรี่ แม้แต่สิงห์อมควันขนานแท้ ก็ยังมีจิตสำนึกมากกว่าผู้ใหญ่หลายคนที่เห็นแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ดังความเห็นจาก สมิทธิ์ จำปางาม หนึ่งในนักพ่นควัน ให้ความเห็นไว้ว่า ถึงแม้ตัวเขาจะเป็นคนที่สูบบุหรี่ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดงานครั้งนี้

เพราะการที่ภาครัฐบาลอนุญาตให้มีการจัดงานขึ้น ก็เหมือนเป็นการสนับสนุนการใช้ยาเสพติดประเภทหนึ่ง เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสนใจเรื่องบุหรี่ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นเลย

“งานครั้งนี้จัดการขึ้นมาอาจจะดีในภาคอุตสาหกรรม แต่ในทางกลับกัน ก็เหมือนภาครัฐสนับสนุนให้คนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น แทนที่จะควบคุม แต่กลับส่งเสริม รัฐเหมือนเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมต่างประเทศมาลงทุนในบ้านเรา”

ขณะที่ สายวิจิตร สายสมุทร แสดงทัศนะเกี่ยวกับงานครั้งนี้ ในฐานะประชาชนทั่วไปว่า เธอไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดงานแบบนี้ขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่คนสูบบุหรี่ ไม่ว่าคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว หรือแม้แต่คนที่กำลังคิดจะเลิกบุหรี่

“ปกติบ้านเราก็มีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่อยู่แล้ว คงไม่เหมาะหากมีการจัดงานแบบนี้ขึ้น”

การจัดงานครั้งนี้อาจจะมีคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า บุหรี่ของประเทศไทยได้รับความนิยมลดน้อยลงไปหลังจากที่มีการขึ้นภาษีบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้คนไทยนิยมบุหรี่นอกประเทศมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสที่บุหรี่นอกจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

สมิทธิ์ บอกว่า การที่ภาครัฐขึ้นราคาบุหรี่อาจจะช่วยในระยะสั้นเท่านั้นคนอาจจะลดปริมาณการสูบลง อย่างตนเป็นคนหนึ่งที่สูบบุหรี่ ถึงราคาจะแพงขึ้นก็ยังซื้อสูบ มันไม่ได้ช่วยให้คนไทยเลิกสูบหรี่ได้เลย

“ถ้ารัฐจะให้ลดจำนวนคนสูบหรี่ให้น้อยลง ควรที่จะหยุดผลิตไปเลย แต่มันคงเป็นเรื่องยาก แทนที่จะมีการรณรงค์ และให้ข้อมูลโทษที่จะตามมาของการสูบบุหรี่ให้มากกว่านี้ แต่กลับเป็นการจัดงานบุหรี่ เอ็กซ์โปแทน ภาพตอนนี้ก็คือเด็กไทยมีการสูบบุหรี่กันมากขึ้น เพราะจากการสังเกต เด็กๆ ที่ผมรู้จักก็เริ่มสูบบุหรี่กันแล้ว”

..........

การเปิดเสรีทางการค้าย่อมสวนทางกับการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดซึ่งถูกต้องทางกฎหมายที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพ นี่คือการวัดกำลังกันอีกครั้งของทุนบริโภคนิยมกับมาตรการการดูแลสุขภาพของประเทศที่ถือว่า มีกฎหมายด้านการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่เข้มแข็งและก้าวหน้าที่หนึ่งในโลก เช่น เมืองไทย อีกครั้งหนึ่ง


สถิติจากควันบุหรี่

1,300 ล้าน คือตัวเลขสิงห์อมควันทั่วโลก ส่วนในไทยมีผู้เสพติดบุหรี่ 10.8 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 10,347,581 คน และหญิง 510,175 คน

ปี 2550 มีเยาวชนไทยสูบบุหรี่ 1,605,211 คน
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ปีละ 42,000 คน
ช่วงระหว่างปี 2523-2543 สาวอเมริกันเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 3 ล้านคน หรือเฉลี่ยปีละ 150,000 คน


ที่ผ่านมา งานนี้หากจัดขึ้นในประเทศแถบยุโรปจะใช้ชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า TabExpo ชัดเจนว่าเป็นงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่และยาสูบ พอมาจัดที่ประเทศแถบเอเชียเปลี่ยนชื่องานเป็น Tabinfo ซึ่ง Tab เป็นคำดั้งเดิมของ Tobaco หรือบุหรี่นั่นเอง

ผลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบ สิ้นปีงบประมาณ 2551 ปรากฏว่า ยอดขายอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านมวน คิดเป็นรายได้ 5.5 หมื่นล้านบาท ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากบุหรี่ต่างประเทศ

*ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK






กำลังโหลดความคิดเห็น