xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเลนส์ผ่านช่างภาพมืออาชีพ...เส้นทางสู่ “วิถี-บ้าน-ย่าน-ถิ่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การถ่ายภาพเชิงสารคดีมีมากมายหลายประเภท โดยในการถ่ายภาพสารคดีเชิงวิถีชีวิตนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงอะไรบ้างนั้น คุณยุทธนา อัจฉริยวิญญู ช่างภาพสารคดีที่สร้างผลงานให้กับนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทยถึง 32 เรื่อง ได้ให้คำแนะนำในมุมมองของมืออาชีพอย่างหลากหลายจากการ workshop ถ่ายภาพเชิงวิถีชีวิต ณ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

ในการทำสารคดีไม่ว่าในด้านใดควรนำเสนอทั้งในด้านบวกและด้านลบ ต้องสามารถเปิดโปงโลกใบนี้อย่างที่ไม่มีใครเคยเห็น โดยที่แหล่งข่าวเต็มใจ ต้องรู้จักวิธีการพูดโน้มน้าวใจ สร้างความไว้วางใจ สื่อให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นเพื่ออะไร รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เห็นว่าเป็นมืออาชีพที่เชื่อใจได้ในการทำงาน อย่างการเข้าหาชาวบ้านควรวางตัวให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกสบายๆ และไม่ควรละเมิดความเป็นส่วนตัว

การถ่ายภาพเชิงวิถีชีวิตนั้นจะต้องเข้าถึงพื้นที่ให้ลึกที่สุด ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งช่างภาพก็ต้องทุ่มเทเวลาหาโอกาสที่ดีให้ได้ ในบางสารคดีที่ดีจริงๆ นั้น เมื่อเปิดหน้าหนังสือแล้วแทบไม่ต้องอ่าน ช่างภาพที่ดีสามารถสื่อเรื่องราวทั้งหมดผ่านรูปได้ชัดเจน ทั้งนี้ก็ยังคงไว้ซึ่งความสวยงาม และรายละเอียดของเนื้อหาก็จำเป็นต้องมี เพื่อขยายให้เกิดความชัดเจนลงลึกยิ่งขึ้น

หลักอีกหนึ่งอย่างของการทำสารคดีก็คือ “ความจริง” ทั้งเนื้อหาและภาพจะต้องสื่อให้เห็นความจริง เห็นภาพอย่างไร ถ่ายออกมาตามนั้น หากเคยชินกับการปรับแต่ง สร้างภาพขึ้นมาก็จะทำให้หลุดประเด็นและออกห่างจากการถ่ายภาพที่ดีไปเรื่อยๆ เพราะสารคดีไม่ใช่โฆษณา ที่จะนำมาตัดแปะให้องค์ประกอบเป็นไปตามต้องการจนสูญเสียสมดุลและความจริงไป

ด้านคุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย เปิดมุมมองว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีข้อจำกัดมากในการถ่ายภาพหรือทำสารคดี เพราะการทำงานเป็นช่างภาพสารคดีนั้นต้องใช้เวลาในการผลิตชิ้นงานและมีงบพอสมควร

สำหรับรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นถ่ายภาพเชิงสารคดี ลองให้โจทย์ตัวเองอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับสิ่งที่สนใจและอยากรู้เรื่องราว จากนั้นก็เริ่มถ่ายภาพเพื่อนำมาเล่าเรื่องราวเหล่านั้น ถ้ามีโจทย์ในการทำงาน ก็จะสามารถกำหนดทิศทางของงานได้ง่ายขึ้น แล้วลองส่งประกวดเพื่อสำรวจเสียงตอบรับว่าผลงานเป็นอย่างไร

ในวิธีการทำงานถ่ายภาพเชิงสารคดีนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนว ธรรมชาติ วัฒนธรรม ชีวิตสัตว์หรือคน ก็มีวิธีแนวคิดไม่ต่างกัน คือช่างภาพจะต้องมีโจทย์ เช่นครั้งนี้เป็นสารคดีวิถีชีวิตก็ต้องทำการบ้านศึกษาข้อมูลพื้นที่ว่าใครอาศัยในพื้นที่ มีที่มา มีความเชื่อหรือศรัทธาอะไร ซึ่งที่นี่คือ หลวงพ่ออุตตมะ เป็นที่เคารพนับถือของชาวไทย-มอญ และชนชาติอื่นที่อาศัยในบริเวณนี้ และมีการลงพื้นที่หรือฝังตัว รอคอยเวลา หาจังหวะที่เหมาะสม ให้เวลากับโจทย์นั้นอย่างเต็มที่ แต่ด้วยวิธีการแล้วไม่ต่างกันถึงการใช้เทคนิคการถ่ายภาพ และสรรหามุมมองแปลกใหม่โดยยังคงเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี

ช่างภาพที่ดีจะต้องมีวินัยในตัวเอง สามารถควบคุมเวลาจำกัดว่าควรจะอยู่ ณ จุดหนึ่งในเวลาเท่าใด และรู้จักทำการบ้าน การลงพื้นที่แต่ละครั้งไม่ใช่กระดาษสีขาว จะต้องมีมุมมองหรือความคิด ภาพที่คิดไว้แล้วบ้าง เช่น อยากได้ภาพผู้คนท้องถิ่น สถานที่อาศัย อาชีพ อาหาร หรือวัฒนธรรม สิ่งสำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องคิดอะไรแปลกใหม่ อย่าตีกรอบให้ตัวเอง

บางครั้งภาพเชิงท่องเที่ยวอาจสื่อให้เห็นความสวยงามของพื้นที่ ชุมชน ผู้คน แต่ภาพเชิงสารคดีจะเผยได้ลึกกว่านั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ อย่างที่สังขละบุรีจะสื่อได้ว่าพวกเขามีวิถีชีวิตริมน้ำ โดยอยู่ในบ้านที่ทำขึ้นเองแบบง่ายๆ และจากภาพโดยรวมที่ส่วนใหญ่จะมีเด็กอยู่มากอาจสื่อถึงปัญหาการคุมกำเนิด ส่วนผู้หญิงและคนชรานั้นสื่อให้เห็นว่า ผู้ที่ออกทำงานหาเลี้ยงครอบครัวคือผู้ชายและคนรุ่นใหม่

หรืออาจเป็นภาพที่ยากจะได้เห็นหากสัมผัสเพียงผิวเผิน เช่นช่วงเวลาเดินข้ามสะพานกลับจากการไปทำงานระหว่างฝั่งอ.สังขละบุรีกับฝั่งหมู่บ้านมอญ หรืองานบุญตามเทศกาล เรือที่ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์ประจำปีของชาวบ้าน รวมทั้งสามารถสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในภาพต่างช่วงเวลา อย่างความเก่าใหม่ของไม้ที่นำมาทำสะพาน หากใครเคยมาเมื่อก่อนจะรู้ว่าสะพานไม้ไม่ได้ตรงขนาดนี้ ภาพอาจสื่อถึงอิทธิพลของโลกภายนอกชุมชนที่เข้ามามีอิทธิพลทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมา หรือพื้นที่บนเขาซึ่งกลายเป็นโรงแรมและรีสอร์ตจำนวนมาก

นอกจากความพร้อมเรื่องอุปกรณ์แล้ว สภาพร่างกายถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ หากมีเรื่องกังวลใจ หรือรู้สึกไม่พร้อมไม่ต้องการที่จะถ่ายรูปก็อย่าถ่าย เพราะจะทำให้ได้ภาพที่ไม่ตรงตามที่ต้องการ หรือเป็นภาพที่ทำหน้าที่สื่อความหมายได้ไม่ดีเท่าที่ควร

รวมทั้งในเรื่องของเวลา ภาพที่ถ่ายในมุมมองเดียวกันแต่ต่างเวลา ต่างฤดูกาลก็จะได้บรรยากาศความรู้สึกที่ต่างกันไป เช่นที่สะพานไม้ การเก็บบรรยากาศยามเช้าอาจไม่คึกคักเท่าตอนเย็น ซึ่งมีรายละเอียดให้เก็บหรือมีมุมมองให้เล่นมากกว่า หรือในช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกไม้ของสะพานจะเข้มและมีความเงา แปลกไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเล่าเรื่องราวอารมณ์ที่ต่างไป

พร้อมกับแนะนำว่าการไปถ่ายภาพหรือลงพื้นที่ใดๆ ก็ตาม ควรไปคนเดียวจะดีที่สุด เกิดความคล่องตัวมากกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการเปิดมุมมองของช่างภาพ ควรศึกษา ดูภาพ จากผลงานช่างภาพต่างชาติให้มากเนื่องจากมีมุมมอง และโอกาสที่มากกว่าช่างภาพไทยค่อนข้างมาก รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ต้องคำนึงถึงในการถ่ายภาพ

สรุปแล้วการถ่ายภาพวิถีชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยเวลาอย่างมากเพื่อสร้างความคุ้นเคย และเรียนรู้วิถีชีวิต เพื่อสื่อทุกแง่มุมออกมาตามความเป็นจริง


เรื่องและภาพ : ณัฏฐนิช ศิริศันสนียวงศ์
ศาสนาพุทธคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้าน
สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยข้ามลำน้ำซองกาเลีย
เรือนำเที่ยว อีกธุรกิจเลี้ยงชีพชาวไทย-มอญ
วิถีชีวิตชาวบ้านกับลำน้ำซองกาเลีย
วิถีชีวิตชาวบ้านกับลำน้ำซองกาเลีย
เด็กและคนชราที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้าน
เด็กและคนชราที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้าน
 อาชีพค้าขายของชาวบ้านบริเวณตลาดเจดีย์สามองค์
ธรรมชาติดั้งเดิมท่ามกลางรีสอร์ตที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
กำลังโหลดความคิดเห็น