xs
xsm
sm
md
lg

บุกมรดกโลก...เปิดประสบการณ์ผ่านเลนส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำตกเหวนรก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
“ภาพทุกภาพ...ทำหน้าที่เล่าเรื่องในตัวของมันเอง” นั่นคือคำพูดของคุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย พูดถึงหลักการเล่าเรื่องสารคดีด้วยภาพ โดยเสริมหลักการสร้างสรรค์สารคดีแต่ละเรื่องที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

สารคดีแต่ละเรื่องต้องมีประเด็นที่น่าสนใจทั้งในมุมมองของผู้เขียนและในมุมมองของผู้อ่าน อีกทั้งต้องมีภาพที่ตื่นตาตื่นใจหรือสามารถเล่าเรื่องที่ต้องการได้หรือไม่ กล่าวคือ ภาพเชิงสารคดีจะต้องมีทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาเล่าเรื่อง และมีความงามทางศิลปะ ทั้งสองอย่างประกอบกันไป ส่วนต่อไปที่สำคัญมากคือ ภาพต้องมีความหลากหลาย (Variety)

“ในสารคดีของ NG จะต้องขับเคลื่อนด้วยภาพ (Photo driving magazine) ซึ่งบางครั้งการทำสารคดีอาจเขียนเนื้อหาขึ้นมาก่อนหาภาพประกอบ แต่เราจะกำหนดเนื้อหาของเรื่องด้วยภาพที่เล่าเรื่อง ดังนั้นจึงต้องมั่นใจว่า ภาพเหล่านั้นมีความหลากหลายพอที่จะเล่าเรื่องด้วยภาพได้ตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่

เริ่มแรกจะต้องมี “ภาพเปิด” ต้องแรงพอที่จะบอกผู้อ่านได้ว่า สารคดีเรื่องนั้นคือเรื่องอะไรในทันที หรือในอีกทางหนึ่งคือเมื่อเห็นก็ให้ผู้อ่านตั้งคำถามเกิดความสงสัยว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร แต่ต้องสามารถดึงความสนใจได้ในทันที

เมื่อมีภาพเปิดของเรื่องแล้ว ก็ควรจะบอกคนอ่านด้วยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ไหน ด้วยการให้ภาพพื้นที่ในมุมกว้าง (Landscape) เพื่อให้ผู้อ่านนึกภาพออกชัดเจน ซึ่งในบางครั้งอาจใช้เป็นภาพของแผนที่ก็ได้

ส่วนต่อไปคือภาพของ “ตัวละครหลัก” ในเรื่องนั้น ว่าต้องการจะเล่าเรื่องอะไร อาจเป็นเรื่องสัตว์ชนิดหนึ่ง หรือสถานที่หนึ่ง โดยใช้หลักของความหลากหลาย อย่างภาพที่เล่าเรื่องสัตว์ ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาพสามารถเล่าเรื่องในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตสัตว์ชนิดนั้น หมายถึงว่าแต่ละรูปจะต้องมีหน้าที่ในการเล่าเรื่องประเด็นหนึ่ง มีหน้าที่ของตัวเอง เช่น ภาพแสดงรูปร่างหน้าตา การสืบพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอาหาร ภาพแม่กับลูก เป็นต้น

ส่วนในประเด็นของสถานที่ จะต้องสามารถถ่ายทอดความหลากหลายทางธรรมชาติของสถานที่นั้นๆ ด้วยการเก็บภาพจากหลากหลายช่วงเวลาหรือฤดูกาล ซึ่งจะทำให้เห็นภาพ สีสัน แง่มุม และอารมณ์ของภาพที่ต่างกันออกไป

รวมไปถึงการกำหนดโทนสีของภาพโดยรวมด้วย อย่างการถ่ายภาพสารคดีในป่า ไม่ควรที่จะให้มีแต่โทนสีเขียวของผืนป่าใบหญ้าเพียงอย่างเดียว แต่ควรนำเสนอในความหลากหลายของสีสันของดอกไม้ หรือสัตว์หลากหลายชนิด ในมุมมองที่แปลกใหม่ ให้เกิดความโดดเด่น และไม่น่าเบื่อจำเจจนเกินไป

สุดท้ายคือ “ภาพจบ” เป็นภาพปิดเรื่อง ซึ่งต้องกำหนดว่าต้องการจะจบแบบไหน อาจจบแบบทิ้งคำถามให้ผู้อ่านได้คิด หรือจบแบบสวยชวนฝัน หรือทิ้งท้ายให้นึกถึงอนาคตที่สดใสหรือไม่ตามเนื้อเรื่อง หรือจะจบในแบบเชิงสถานการณ์ก็ได้

เสริมด้วยเทคนิคการถ่ายภาพสไตล์ Wildlife จากคุณบารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ได้แนะนำว่า ช่างถ่ายภาพที่ดีนั้นจะต้องรู้จักสถานที่ที่จะไปถ่ายเสียก่อน ทั้งประวัติความเป็นมา ลักษณะของพื้นที่ทางธรรมชาติ และรู้จักเรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อให้รู้ว่าจะมีโอกาสได้เจอสัตว์ที่ไหน เวลาไหน โดยส่วนใหญ่สัตว์จะออกมาหากินตามโป่งเกลือช่วงเช้ามืดและพลบค่ำ

นอกจากนี้ การจะเป็นนักถ่ายภาพที่ดีได้จะต้องมี “ทักษะ” ในการควบคุมกล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพอื่นๆ ให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างที่เรานึกคิดเอาไว้ได้ไหม จะต้องใช้อุปกรณ์เสริมอะไรบ้างเพื่อให้ได้ภาพมา ซึ่งจะเกิดจากการฝึกฝนและพัฒนาอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงทักษะจากการเรียนรู้ถึงสิ่งที่ต้องการถ่าย ต้องรู้จักพฤติกรรม ลักษณะนิสัย เข้าถึง มีลูกล่อลูกชน อย่างการถ่ายภาพบุคคลจะทำอย่างไรให้แสดงตัวตนออกมา

อีกหนึ่งองค์ประกอบคือ “ประสบการณ์” หมายถึงการออกถ่ายภาพ หรือลงพื้นที่บ่อยๆ ก็จะสามารถพัฒนาทักษะ รวมถึงรู้จักที่จะเลือกมุมมองให้แตกต่าง เลือกถ่ายจากหลายช่วงเวลาในสถานที่เดิม

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ ต้องหมั่นศึกษาดูภาพถ่ายเยอะๆ จะทำให้เกิดการเสริมสร้างทาง “จินตนาการ” ทำความเข้าใจว่าผู้ถ่ายต้องการจะสื่ออะไรจากภาพนั้น รวมทั้งฝึกนึกสร้างสรรค์ว่าจากภาพๆ หนึ่ง จะสามารถถ่ายทอดในมุมใดได้อีก ให้ดียิ่งขึ้น แตกต่าง และโดดเด่นในรูปแบบ มุมมอง ตามจินตนาการของตนเอง

การบรรยายให้ความรู้ในการถ่ายภาพเชิงสารคดีครั้งนี้ ได้จัดขึ้นในการอบรมการถ่ายภาพ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างภาพไทยได้ก้าวไปสู่โครงการ National Geographic International Photography Contest 2009 ด้วยการส่งภาพถ่ายประกวดใน 3 หัวข้อคือ บุคคล ธรรมชาติ และสถานที่ ซึ่งหมดเขตการรับผลงานในวันที่ 30 ตุลาคม 2552

ใครสนใจเป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยกับประสบการณ์หายากครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งภาพถ่ายของคุณอาจได้รับการเผยแพร่ในเวทีภาพถ่ายระดับโลกด้วยการร่วมโครงการนี้ ก็สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ngthai.com

เรื่องและภาพ : ณัฏฐนิช ศิริศันสนียวงศ์
 ผีเสื้อที่มาดื่มน้ำบริเวณน้ำตกเหวสุวัต
ลูกกวางออกมาเดินเล่นบนลานหญ้าในอุทยานฯ
โขลงช้างป่าออกหากินที่โป่งเกือบยามพลบค่ำ
เห็ดที่เกิดตามธรรมชาติของป่าดิบชื้น
เห็ดสีสันจัดจ้านที่มีให้เห็นทั่วไปในเขตอุทยานฯ
สายน้ำทวีความแรงขึ้นในฤดูฝนที่น้ำตกเหวสุวัต
พืชปกคลุมผิวดินสีเขียวสดแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
ต้นมอสและตะไคร่ขึ้นปกคลุมก้อนหินอยู่หนาแน่น
 วิวทิวทัศน์ระหว่างทางเดินสู่น้ำตกเหวนรก
ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น
คุณบารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพ Wildlife ชั้นแนวหน้าของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น