เศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่เก้าถูกครอบงำโดยสองมหาอำนาจทางการค้า รายแรกคือจีนภายใต้การปกครองของจักรพรรดิราชวงศ์ถัง ซึ่งอ้าแขนรับผู้คนมากหน้าหลายตาสู่เมืองหลวงฉางอันหรือที่ตั้งเมืองซีอันในปัจจุบัน ส่วนมหาอำนาจทางการค้าอีกรายในตอนนั้นคือแบกแดด เมืองหลวงแห่งราชวงศ์อับบาซิดนับตั้งแต่ ค.ศ. 762 เป็นต้นมา
เส้นทางที่เชื่อมโยงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจากสองซีกโลกเข้าด้วยกันคือ เส้นทางสายไหม (Silk Road) และเส้นทางการค้าทางน้ำที่เรียกว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Route) แม้เส้นทางสายไหมบนแผ่นดินจะเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่เรือสินค้าน้อยใหญ่อาจท่องทะเลระหว่างจีนและอ่าวเปอร์เซียมาตั้งแต่สมัยคริสตกาลแล้ว เครือข่ายเส้นทางเดินเรือและอ่าวทั้งหลายได้อาศัยวัฏจักรของลมมรสุมในการเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและความคิดวิทยาการอย่างต่อเนื่อง
ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถังต้องการสินค้าอย่างสิ่งทอเนื้อดี ไข่มุก หินปะการัง และไม้หอมจากเปอร์เซีย แอฟริกาตะวันออก และอินเดีย ในทางกลับกัน จีนได้ส่งออกกระดาษ หมึก และสินค้าที่สำคัญที่สุดอย่างผ้าไหม ความที่มีน้ำหนักเบาและม้วนเก็บได้ง่าย ทำให้ผ้าไหมสามารถขนส่งทางบกได้สะดวก แต่เมื่อถึงศตวรรษที่เก้า เครื่องเคลือบดินเผาจากจีนก็ได้รับความนิยมอย่างสูงแล้ว และพาหนะอย่างอูฐคงไม่เหมาะในการขนส่งสินค้าที่เปราะบางเหล่านี้ ดังนั้นถ้วยโถโอชามบนโต๊ะอาหารของพ่อค้าชาวเปอร์เซียผู้มั่งคั่งจึงถูกขนถ่ายลงเรือสินค้าอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดีย มากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ไหนแต่ไรมา เรือน้อยใหญ่ต่างเผชิญอันตรายในช่องแคบเกลาซามาแล้วทั้งนั้น เส้นทางคอขวดระหว่างเกาะเล็กๆ อย่างบังกาและเบลีตุงของอินโดนีเซียสายนี้มีน้ำทะเลสีเทอร์คอยส์ที่ซุกซ่อนแนวกองหินใต้น้ำและหินโสโครกระเกะระกะไว้เบื้องล่าง แต่แม้จะมีอันตรายสารพัด ชาวประมงพื้นบ้านที่ดำน้ำหาปลิงทะเลก็ได้อาศัยน่านน้ำแถบนี้เป็นที่หากินมาช้านาน เมื่อราวสิบปีก่อน พวกเขาพบหินปะการังซึ่งมีเซรามิกฝังอยู่โดยบังเอิญที่ระดับความลึก 16 เมตร พวกเขาดึงถ้วยชามสภาพสมบูรณ์หลายใบออกจากไหขนาดใหญ่ใบหนึ่งและนำขึ้นฝั่งไปขาย
ปรากฏว่าชาวประมงเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ค้นพบทางโบราณคดีใต้น้ำครั้งสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือซากเรือสินค้าอาหรับสมัยศตวรรษที่เก้าพร้อมศิลปวัตถุสมัยราชวงศ์ถังกว่า 60,000 ชิ้น ซึ่งมีทั้งทองคำ เงิน และ เซรามิก ตัวเรือและระวางสินค้าซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อซากเรือเบลีตุง (Belitung wreck) เป็นประจักษ์พยานว่า แผ่นดินมังกรสมัยราชวงศ์ถังเป็นผู้ผลิตสินค้าปริมาณมหาศาลและส่งออกไปขายทางทะเล ไม่ต่างไปจากจีนในปัจจุบัน
ทว่า สมบัติส่วนมากที่พบกลับกลายเป็นข้าวของที่เทียบได้กับสินค้าโรงงานที่ผลิตยกโหล นั่นคือถ้วยชามฉางชา ที่ได้ชื่อตามเตาเผาเมืองฉางชาในมณฑลหูหนันอันเป็นสถานที่ผลิต นักวิชาการรู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่าถ้วยชาที่ดูเรียบๆ และใช้งานได้จริงนั้นเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่แปดถึงสิบ เพราะมีการค้นพบเศษถ้วยในแหล่งโบราณคดีที่อยู่ไกลจากจีนอย่างอินโดนีเซียและเปอร์เซีย แต่ที่ผ่านมานักโบราณคดีพบถ้วยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพียงไม่กี่ใบเท่านั้น
ผลการศึกษาด้วยการจำลองแบบชี้ว่า เรือสินค้าอาหรับที่พบมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรือใบที่ยังพบเห็นได้อยู่ในประเทศโอมานในปัจจุบัน ซึ่งเรียกกันว่า ไบตลกอริบ (baitl qarib) สำหรับท่าเรือที่เรือสินค้าอาหรับลำนี้ออกเดินทางมาและจุดหมายปลายทางยังไม่เป็นที่แน่ชัด ไม่มีปูมเดินเรือหลงเหลือ รายการสินค้าหรือแผนที่ก็ไม่ปรากฏ แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า เรือมีจุดหมายอยู่ที่ตะวันออกกลาง อาจเป็นเมืองท่าของอิรักชื่ออัลบัสเราะห์ (ปัจจุบันคือบัสรา) เป็นไปได้ว่าเรือออกเดินทางจากกว่างโจว ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางสายไหมทางทะเล
ในบรรดาถ้วยชามฉางชาหลายหมื่นใบที่พบในซากเรือนั้น ใบหนึ่งมีข้อความจารึกว่า “วันที่สิบหก เดือนเจ็ด ปีที่สองในรัชศกเป่าลี่” หรือตรงกับ ค.ศ. 826 ตามปฏิทินตะวันตก และน่าจะเป็นวันเวลาที่ถ้วยใบนี้ถูกผลิตขึ้น เรือจึงอาจออกเดินทางหลังจากนั้นไม่นาน
ระวางสินค้าที่มีลักษณะซ้ำๆกัน อีกทั้งยังมาจากแหล่งผลิตแตกต่างกันหลายแห่ง บ่งบอกว่าสินค้าเหล่านี้น่าจะเป็นสินค้าส่งออกที่ผลิตตามคำสั่งซื้อ ลวดลายและการประดับตกแต่งสินค้าสะท้อนรสนิยมอันหลากหลายของตลาดโลก พูดง่ายๆ ก็คือมีทุกสิ่งที่คนต้องการ ตั้งแต่สัญลักษณ์ดอกบัวในคติพุทธศาสนา ไปจนถึงลวดลายจากเอเชียกลางและเปอร์เซีย
ข้าวของที่กู้ขึ้นมาจากเรือสินค้าอาหรับลำนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออก ไม่ต่างจากรองเท้าผ้าใบและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตีตราว่า “เมดอินไชน่า” หรือผลิตในประเทศจีน ที่ขายกันเป็นลำเรือในปัจจุบัน แต่นักดำน้ำยังพบขุมทรัพย์ที่ท้ายเรือเป็นเงินและทองคำ รวมทั้งเซรามิกเนื้อดี ซึ่งเรายังไม่ทราบความสำคัญอย่างแน่ชัด
นับตั้งแต่จีนเริ่มค้าขายกับชาวโลกเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน มหาอำนาจทางการค้าแห่งนี้ก็มีทั้งช่วงที่เปิดและปิดประเทศ ในสมัยราชวงศ์ถังการค้าขายเปิดกว้างอย่างเต็มที่เป็นระยะเวลาหลายร้อยปี สิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย อาทิ ดินปืน กระดาษ แท่นพิมพ์ และเหล็กหล่อ ล้วนหนุนนำให้จีนพร้อมผงาดขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก การค้าขายกับโลกตะวันตกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยนักเดินเรือชาวจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ
เมื่อแม่ทัพเจิ้งเหอผู้ยิ่งยงออกเดินเรือในปี 1405 พร้อมกองเรือ 317 ลำนั้น จีนก็เป็นมหาอำนาจทางทะเลเต็มตัวแล้ว แต่ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน กลับมีพลังอีกด้านหนึ่งที่ทรงอำนาจพอๆ กันดำเนินควบคู่ไปด้วย นั่นคือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเหล่าพ่อค้าวาณิช และความคลางแคลงในอิทธิพลวัฒนธรรมต่างชาติที่มาพร้อมกับสินค้านำเข้า แนวคิดนี้ย้อนกลับไปถึงยุคของขงจื๊อ ผู้เชื่อมั่นว่าการแลกเปลี่ยนค้าขายไม่ควรชี้นำหรือครอบงำวัฒนธรรมและค่านิยมของชาวจีน
ครั้นล่วงถึงปี 878 ผู้นำกบฏนามหวงเฉาได้ลุกฮือขึ้นเผาบ้านเรือนและปล้นสะดมเมืองกว่างโจว สังหารชาวมุสลิม ยิว คริสต์ และปาร์ซี ไปหลายหมื่นคน และไม่นานนักหลังสมุทรยาตราหลายครั้งของเจิ้งเหอ และการค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัส โลกทัศน์ของขงจื๊อก็เข้าครอบงำวัฒนธรรมจีน จักรพรรดิมังกรรับสั่งให้เผาทัพเรือของตนและปิดประเทศ เส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เคยเชื่อมโยงจีนกับโลกภายนอกกลับกลายเป็นเส้นทางรกร้าง นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางมายังมหาสมุทรอินเดีย และพอถึงปลายศตวรรษที่สิบเจ็ดและต้นศตวรรษที่สิบแปด มหาอำนาจยุโรปก็เริ่มครอบงำการค้าโลก จอห์น มิกซิก จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า “ประวัติศาสตร์โลกคงเปลี่ยนโฉมหน้าไปหมด หากจีนไม่ปิดประเทศนานถึง 500 ปี”
ปัจจุบันจีนกำลังแข่งขันกับอินเดียในการเป็นเจ้าโรงงานของโลก พญามังกรเปิดประตูการค้าอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน และหันกลับไปค้าขายกับคู่ค้าแต่เก่าก่อนอย่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง “เครือข่ายการค้าในโลกยุคโบราณกลับฟื้นคืนผ่านอุตสาหกรรมและโรงงานในโลกยุคโลกาภิวัตน์” หวังเกิงอู่ นักประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว
แต่คราวนี้จะยืนยงได้นานเพียงใดนั้น คงต้องรอดูกันต่อไป
เรื่อง ไซมอน วอร์รอลล์ • ภาพถ่าย โทนี ลอว์
ขอบคุณข้อมูลจาก : National Geographic