xs
xsm
sm
md
lg

“ชายฝั่งกัดเซาะ” วิกฤติทะเลกลืนแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชายฝั่งคือพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของโลก เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นดินและท้องทะเล เป็นระบบนิเวศสำคัญ และเป็นกันชนภัยพิบัติธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ แต่ทุกวันนี้เรากำลังสูญเสียพื้นที่แสนสำคัญนี้ไปจากการถูกทะเลกัดเซาะ

ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะไปแล้วกว่าหนึ่งแสนไร่ ทะเลค่อยๆ รุกคืบเข้ามาหาเราอย่างเชื่องช้า ทว่าเกรี้ยวกราด ชุมชนหนึ่งที่ได้รับเคราะห์กรรมนี้อย่างแสนสาหัสคือ “ชุมชนขุนสมุทรจีน” จังหวัดสมุทรปราการ ที่นี่ถูกกัดเซาะด้วยอัตรา 30 เมตรต่อปี

สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านชาวขุนสมุทรจีนเล่าให้ฟัง ทั้งน้ำตาว่า ชุมชนบ้านเกิดของเธอถูกทะเลรุกคืบจนหายไปร่วมห้ากิโลเมตรแล้ว แม้ว่าเธอได้พยายามต่อกรอย่างถึงที่สุด ตั้งแต่ทิ้งเขื่อนหิน สร้างกำแพง ไปจนถึงปักเสาไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถทานพละกำลังของธรรมชาติได้เลย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางการจะกำหนดให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นวาระระดับชาติ แต่ปัญหาที่น่ารำคาญใจมากกว่าคือหน่วยงานที่มีอำนาจทับซ้อน ไม่เบ็ดเสร็จ และงบประมาณขยักขย่อน เวลาที่ผ่านไปพร้อมกับธรรมชาติรุกคืบ ยิ่งประทับความเจ็บปวดให้ชาวบ้านอย่างสมร “ถามว่านี่ประเทศไทยหรือเปล่า ไม่ตกใจกันบ้างหรือ หมู่บ้านหายไปขนาดนี้แล้ว” สมรตัดพ้อ

เมื่อมองในภาพรวม ประเทศไทยมีชายฝั่งรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,600 กิโลเมตร แยกเป็นฝั่งอ่าวไทยประมาณ 1,650 กิโลเมตร และฝั่งอันดามันประมาณ 950 กิโลเมตร มีพื้นที่เสี่ยงภัยระดับวิกฤติมากมายหลายจุด อัตราการกัดเซาะและสูญเสียพื้นที่มีตั้งแต่ 5 เมตร ไปจนถึง 30 เมตรต่อปี ประเมินมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินมากกว่าแสนล้านบาท ตัวเลขความเสียหายระดับนี้ ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งถูกนิยามว่าเป็น “ภัย” เงียบ แต่แท้จริงแล้วภาวะดังกล่าวเป็นเพียงการวิ่งกลับสู่จุดสมดุลของธรรมชาติ แต่ปัญหาคือภาวะคืนสมดุลเหล่านั้นบังเอิญไปกระทบกับมนุษย์ จิระพงศ์ จีวรงคกุล นักนิเวศวิทยาทางทะเลกล่าวว่า “ที่เดือดร้อนก็เพราะมนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่นั่นแหละครับ”

มีปัจจัยมากมายที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ในหาดโคลน ซึ่งสมดุลด้วยตะกอนปากแม่น้ำและการกัดเซาะ ทุกวันนี้เสียสมดุลไปเนื่องจากตะกอนปากแม่น้ำที่ลดลงอย่างน่าวิตก ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้เฝ้าวิจัยติดตามการกัดเซาะชายฝั่งมากว่า 20 ปี ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค้นพบว่า ตะกอนปากแม่น้ำจากลุ่มเจ้าพระยาลดลงกว่าร้อยละ 70 สืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนต้นน้ำและการชลประทาน ส่งผลให้ปริมาณตะกอนปากแม่น้ำพอกพูนน้อยลง ปัจจัยนี้ทำให้สมดุลตะกอนผิดเพี้ยนและนำไปสู่การกัดเซาะในที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว การทรุดตัวของแผ่นดินบนพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ยังทำให้ปัจจัยการกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น สาเหตุเนื่องมาจากการระดมสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมในทศวรรษที่ผ่านมา “ไม่ต้องรอน้ำขึ้นหรอกครับ เพราะแผ่นดินทรุดนี่ไม่ต่างอะไรกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแล้ว” ดร.ธนวัฒน์ ชี้ส่วนในหาดทราย ปัญหาการกัดเซาะแตกต่างออกไป สัณฐานชายฝั่งดังกล่าวสมดุลอยู่ด้วยตะกอนทรายซึ่งถูก พัดพาด้วยกระแสน้ำและลมมรสุมประจำฤดูกาลขนานไปกับชายฝั่งกลับไปกลับมาอย่างสมดุล ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักสมุทรศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จริงๆแล้วชายฝั่งแต่ละที่ยืดหดตามฤดูกาลเป็นปกติครับ เพียงแต่ถ้าหดแล้วยืดกลับไม่เท่าเดิม นั่นแหละคือปัญหา”

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการกัดเซาะในหาดทราย คือการที่ตะกอนถูกรบกวนด้วยโครงสร้างซึ่งรุกล้ำลงไปในทะเล และเป็นตัวดักตะกอนไปโดยปริยาย หนึ่งในโครงสร้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอยู่บ่อยครั้งคือ เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (jetty) ที่สร้างขึ้นสำหรับป้องกันตะกอนทรายพัดมาปิดปากคลองหรือแม่น้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรือประมงขนาดใหญ่ให้สามารถเข้าออกปากแม่น้ำได้สะดวกทั้งปี มีที่จอดหลบคลื่นลมในฤดูมรสุมได้อย่างปลอดภัย

หากมองเผินๆ นี่คือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่หารู้ไม่ว่า ผลกระทบจากการรุกล้ำทะเล ทำให้ตะกอนที่พัดพาในฤดูกาลถูกกักไว้บริเวณสันเขื่อน ส่งผลให้ชายหาดที่อยู่ใกล้เคียงได้รับตะกอนทรายลดลงและ ถูกทะเลกัดเซาะชายฝั่งลึกเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อทวงคืนตะกอนทรายส่วนที่หายไป จนวันหนึ่งลามมาถึงถนนหนทางและบ้านเรือน

ทางการท้องถิ่นหลายแห่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะ อย่างเขื่อนหินทิ้ง รอดักทราย และกำแพงกันคลื่น นั่นเพราะพวกเขาเชื่อว่า การกัดเซาะเกิดจากคลื่นลมในทะเล แต่ความเข้าใจเพียงครึ่งๆกลางๆ เช่นนั้นทำให้โครงสร้างที่เกิดใหม่กลายเป็นตัวเร่งทำลายมากกว่าการป้องกันที่ถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างวิศวกรรมป้องกันชายฝั่ง หาใช่จะเป็นการทำลายเสียทั้งหมด งานวิจัยของ ผศ.พยอม รัตนมณี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้แวดวงวิชาการฮือฮา เมื่อแนวคิดโครงสร้าง “ปะการังเทียม” ที่เขาและทีมงานออกแบบ ค่อนข้างได้ผลดีในห้องปฏิบัติการ ความคิดบรรเจิดของเขาเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายด้วยการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ชายฝั่งแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย ซึ่งอุดมไปด้วยปะการังธรรมชาติและปลอดภัยจากการกัดเซาะ เขาเชื่อว่าปะการังคือโครงสร้างวิศวกรรมธรรมชาติที่ช่วยซับแรงกัดเซาะแต่ไม่รบกวนกระแสน้ำชายฝั่ง แม้จะยังเร็วไปหากจะบอกว่า ปะการังเทียมของเขาสลายคลื่นได้ในสมรภูมิจริง เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเป็นมาตรวัด “พลังธรรมชาติมหาศาลมากครับ เราสลายเขาไม่ได้หรอก ทำเพียงแต่เพียงร้องขอให้เราอยู่ร่วมกันให้ได้” ผศ.พยอม ทิ้งท้าย

ขณะที่นักวิจัยเลือดสะตออย่างพยอมกำลังหาทางช่วยกอบกู้หาดทราย แต่หากนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ในหาดโคลน ปะการังเทียมของเขาคงต้องยกธงขาวอย่างไร้ทางสู้ เพราะในระยะยาวปราการทางวิศวกรรมจะถูกกัดเซาะไปถึง ฐานรากจนพังทลาย ปัญหาในหาดโคลนดูจะซับซ้อนกว่ามาก นอกจากต้องลดความแรงของคลื่นแล้ว ยังอยู่ที่การดักจับตะกอนเลน ซึ่งมีน้ำหนักเบา และใช้เวลาพอกพูนนานกว่าในหาดทราย

แม้จะดูเหมือนว่าไม่มีโครงสร้างใดช่วยเหลือหาดโคลนในระยะยาวได้ แต่หนึ่งในโครงสร้างอัจฉริยะที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะและดักจับตะกอนได้อย่างชาญฉลาด เรารู้จักกันมานานแล้วในนาม “ป่าชายเลน” แต่การฟื้นฟูป่าชายเลนซึ่งลดจำนวนลงมหาศาลไม่ใช่งานง่าย นักวิทยาศาสตร์อย่าง ดร.ธนวัฒน์ จารุงพงษ์สกุล เล่าว่า ความลำบากส่วนหนึ่ง เกิดจากการสูญเสียตะกอนเลนหน้าหาดจากการกัดเซาะ วิธีฟื้นฟูที่ดีที่สุด ต้องคืนตะกอนเลนหน้าหาดกลับมาให้ได้เสียก่อน

หลังจากทดลองในสมการบนหน้ากระดาษ แบบจำลองคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงแล็บจำลองคลื่น สุดท้ายธนวัฒน์ ก็ได้โครงสร้างเรียบง่ายมาชุดหนึ่ง เขาตั้งชื่อให้ว่า “เขื่อนขุนสมุทรจีน 49A2” ซึ่งสามารถสลายกำลังคลื่นได้ตามหลักฟิสิกส์ และทำให้พื้นที่หลังเขื่อนเป็นที่ทับถมของตะกอนเลนหน้าหาด

แม้ขั้นตอนต่อไปคือการฟื้นฟูป่าชายเลน แต่ ดร.สมศักดิ์ บรมธนรัตน์ ประธานมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง แห่งเอเชีย ก็เตือนว่า “นอกจากการปลูกแล้ว เราต้องดูเรื่องความหลากหลายของพรรณพืชด้วยครับ ทุกวันนี้เราเลือกแต่โกงกางเพราะปลูกง่าย ซึ่งไม่ถูกต้องนัก นอกจากนี้ เรายังต้องระวังเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ดินเลนงอกใหม่ซึ่งอาจมีผลต่อกระแสน้ำ และทำให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่อื่นได้อีกครับ”

แม้หลายฝ่ายกำลังตื่นตัวกับภัยเงียบนี้ แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งกลับไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของโครงสร้างทางวิศวกรรมหรือระบบนิเวศเท่านั้น เพราะยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างชุมชน ข้อกฎหมาย วิถีชีวิต ปากท้องและความเป็นอยู่ของผู้คน ไปจนถึงการเมือง ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาเชื่อว่า แม้เราจะแก้ปัญหาทางด้านวิศวกรรมหรือระบบนิเวศได้ แต่ถ้ายังแก้ปัญหาทางสังคมไม่ได้ ละครก็ยังไม่จบ “เราเพิ่งทำการบ้านเสร็จไปครึ่งเดียวเองครับ”

ทุกวันนี้ แม้เราจะเห็นภาพการสูญเสียพื้นที่จากการกัดเซาะชายฝั่ง และรับรู้ถึงคำพยากรณ์ที่น่าสะพรึงกลัวบ่อยๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ตราบใดที่ภัยพิบัติไม่มาเคาะเรียกที่ประตูบ้าน เราก็คงยังไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่นักวิชาการวงในอย่างดร.ธนวัฒน์มองว่า คงไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้น เพราะผลกระทบค่อยๆคืบคลานมาเป็นปัญหาในทางอ้อม

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่มีอาชีพประมงประมาณหนึ่งล้านคนที่อยู่ปากแม่น้ำ ถ้าหาดหาย แผ่นดินหาย ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีอาชีพ พวกเขาอาจต้องย้ายเข้ามาในเมือง ถ้าไม่มีงานทำ หลายคนอาจลงเอยด้วยการลักเล็กขโมยน้อย และอาจถึงขั้นอาชญากรรม กระทบกับคุณแน่นอน วันนี้อาจยังไม่กระทบกับคุณ แต่ลูกหลานคุณล่ะ”

เรื่อง : ราชศักดิ์ นิลศิริ / ภาพถ่าย : คัมภีร์ ผาติเสนะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : National Geographic




กำลังโหลดความคิดเห็น