xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นยุครถเมล์เขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     'รถเมล์' เป็นระบบขนส่งมวลชนบนท้องถนน ซึ่งมีคนใช้บริการต่อวันมากเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร นั่นเพราะรถเมล์ เป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีค่าบริการไม่แพงและมีเครือข่ายครอบคลุมกว้างขวาง แต่ผู้ใช้บริการรถเมล์หลายๆ คนก็แอบให้นิยามรถเมล์ไว้ว่า ‘รถเมล์ คือพาหนะในการเดินทางของคนที่รักความตื่นเต้นเร้าใจ’

     ซึ่งถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว รถของ ขสมก. นั้น อาจจะไม่เข้าข่ายสักเท่าใด ถึงแม้ว่าจะมีบางสาย บางช่วงเวลาที่คนขับขับแบบสวิงสวายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

     สำหรับคนเดินทางที่รักความตื่นเต้น มินิบัสหรือรถเมล์เขียว คือคำตอบสุดท้ายสำหรับคุณ!!


 
     แต่ในอีกไม่นานรถมินิบัสสีเขียวที่วิ่งอยู่ในทุกวันนี้ก็จะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะรถเขียวรุ่นเก่าส่วนมากครบกำหนดบริการไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2552 ซึ่งหมายความว่า รถเหล่านี้จะไม่สามารถวิ่งในกทม.ได้อีกต่อไป

     ซึ่งตอนนี้ ก็อยู่ในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการไปจัดหารถรุ่นใหม่มาทดแทน (ซึ่งต้องเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน NGV) ดังนั้น ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ปีศาจสีเขียวบนท้องถนนที่ใครๆ หลายคนเคยขยาดก็จะปิดฉากตัวเองไปอย่างถาวร

     แต่อ่านดีๆ ก็จะจับความได้ว่า นี่คือการเปลี่ยนเฉพาะรถเท่านั้น ส่วนพนักงานขับรถ และกระเป๋าก็ยังเป็นคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

     อ้าว... ถ้าอย่างนั้น จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปล่ะ เพราะหลังจากอวสานรถเมล์เขียวไปแล้ว ท้องถนน กทม. ก็อาจจะมีรถเมล์ (ปิศาจ) สีชมพู รถเมล์ (ปิศาจ) สีเหลืองมาแทนที่

แยกแยะ ‘เขียวตีนผี’ เลือกสีตามใจ

     “เพราะมีการขับรถไม่สุภาพไงคะ ดิฉันจึงจะขอเปลี่ยนรถในบริษัทดิฉันให้สีเป็นสีม่วง เมื่อบริษัทไหนทำผิด บริษัทนั้นก็ต้องรับผิดชอบ เช่น บางบริษัท เขาก็ไปเอารถเก่าๆ มาใช้ มาดัดแปลง ซึ่งมันไม่แข็งแรง ถ้าเป็นแบบนี้ ขสมก. ก็ต้องเตือนเขา และเข้าไปดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัย อย่าให้เขาทำแบบนั้น ขณะเดียวกัน ขสมก. ก็ควรมีการส่งนักวิชาการ ไปให้ความรู้ตามอู่ต่างๆ ไปดูว่าเขาเอารถอะไรมาใช้ ถ้าพบว่ามีการนำรถมาดัดแปลง ก็ต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพราะถ้ามีบริษัทใดๆ ทำเสียหาย มันก็คือความเสียหายของรัฐ เพื่อความปลอดภัยของรัฐเอง”

     เป็นความเห็นจาก เจ๊เกียว-สุจินดา เชิดชัย ประธานตัวแทนผู้ประกอบการรถมินิบัส ที่บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาในฐานะเจ้าของกิจการรถมินิบัสคนหนึ่งว่า การที่แต่ละบริษัทเดินรถ สามารถเลือกสีรถของตนเองได้ จะช่วยในการแยกแยะว่ารถคันใด ของบริษัทใด มีพนักงานขับรถที่ไม่สุภาพ จะได้แยกแยะ ออกจากรถมินิบัสคันอื่นๆ ถูกเหมารวมว่าเป็นมีพฤตกรรมเหมือนกันไปทั้งหมดเหมือนเมื่อก่อน
ก่อนเพิ่มเติมถึงรายละเอียด ของการซื้อรถมินิบัสเชื้อเพลิงเอ็นจีวีตามมาตรฐานแบบเจ๊เกียว

     “หลังมีมติจากกระทรวงคมนาคมว่า มินิบัสเขียวรุ่นเก่า จะครบกำหนดให้บริการ ในวันที่ 16 ส.ค. 2552 ฝ่ายผู้ประกอบการรถมินิบัสก็ได้มีการไปต่อสัญญาขอเลื่อนระยะเวลากันไปอีก 6 เดือน ซึ่งกระทรวงฯ ก็ผ่อนผันให้ว่า กำหนดการให้บริการจะไปสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยกลุ่มผู้ประกอบการก็สั่งต่อรถมินิบัสแก๊สกันแล้ว แต่ถ้าไม่ทันกำหนด เราก็ต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ ไปแจ้งกระทรวงคมนาคม”

     ตามความเห็นของเจ๊เกียว เหตุผลที่ขอต่อรอง ยืดระยะเวลาออกไปนั้น เนื่องจากรถมินิบัสรุ่นเชื้อเพลิงเอ็นจีวีที่สั่งต่อ เป็นรถที่ต้องการคุณภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงรถดัดแปลงด้วยความมักง่าย

     “กระทรวงคมนาคม เขาอยากให้เปลี่ยน แต่บริษัทรถผลิตไม่ทันหรอก เพราะรถนี้เป็นรถแก๊ส จะต้องมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร จะต้องเป็นรถแก๊สที่เป็นรถแก๊สจริงๆ ไม่ใช่รถแก๊สที่เป็นรถดัดแปลง เมื่อเราได้สัญญาจากบริษัทรถที่เราทำสัญญาด้วยแล้ว ก็จะนำไปแจ้งกับกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นอุทธรณ์ขอผ่อนผัน แล้วให้ใช้รถเมล์เขียวต่อไปเรื่อยๆ ก่อนจะหมดอายุไปตามสภาพ ไม่เช่นนั้น บริษัทผู้เดินรถก็อาจจะขาดทุน

     “เราต้องสั่งซื้อรถจากเมืองนอก เพราะมันไม่มีขายในประเทศไทย ตรงนี้กระทรวงคมนาคมก็ต้องรับข้ออุทธรณ์ของเรา ซึ่งก็คงไม่มีปัญหา เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็น”

     ไม่เพียงเรียกร้องในฐานะผู้ประกอบการ แต่ เจ๊เกียว ยังฝากความเห็นถึงผู้ประกอบการนถเมล์เขียวและผู้เกี่ยวข้องที่น่าจะมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาของการบริการที่ไม่สุภาพของมินิบัส

     “ขอให้กระทรวงคมนาคม ช่วยดูแลพนักงานขับรถ ด้วยการนำเขามาเข้ารับการฝึกอบรมใหม่ นำมาเข้าระเบียบใหม่ อย่าให้เป็นเช่นที่ใครเขาพูดว่า อย่าไปนั่งรถเมล์เขียวเลย เพราะมันอันตราย”

     ก่อนจะยืนยันทิ้งท้าย ถึง กลเม็ดการแยก 'เขียวตีนผี' ออกจากมินิบัสคันอื่นๆ

     “บริษัทของดิฉันก็จะขอเปลี่ยนสีรถเป็นสีม่วง แม้ ขสมก.เอง จะขอให้ทำเป็นสีส้มๆ เหมือนกับเขาทั้งหมด แต่ดิฉันคิดว่าแต่ละบริษัทควรจะมีเอกสิทธิ์ของตนเอง ที่สามารถขอเปลี่ยนสีรถได้ ให้รู้ว่านี่คือสีรถของบริษัทเรา เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาทำให้เราเสียชื่อ เพราะรถที่วิ่งอยู่มันก็มีทั้งบริษัทดีหนึ่ง ดีสอง ดีสาม แล้วก็เลวสุดๆ น่ะนะ”



เมล์เขียว ทางเลือกสุดท้ายของคนใช้บริการ

     คนใช้รถโดยสารในกรุงเทพฯ คงจะตราตรึงกับฤทธิ์เดชของรถมินิบัสร่วมบริการ หรือพูดให้เจาะจงและเข้าใจไม่ยากก็คือรถเมล์เขียว บางคนก็ไม่มีปัญหา แต่กับบางคนเพราะไม่มีทางเลือก ตามประสาคนเดินดินกินข้าวแกงที่ไม่มีรถขับ อาศัยรถเมล์เดินทาง รถแบบไหนมาก่อน ถ้าไปถึงที่หมายได้ก็ต้องขึ้น

     กิตติศัพท์ความโหดร้ายของบริการเมล์เขียว มีให้ได้ยินได้ฟังอยู่ไม่ขาดหาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการขับรถที่เหมือนกับการแข่งรถเสียมากกว่า ในบางครั้งถนนมีอยู่สองเลนแท้ๆ ก็เบียดออกไปวิ่งในเลนขวาซึ่งเป็นเลนรถสวนได้เป็นกิโล การขับเลยป้าย หรือถึงป้ายก็ไม่ยอมจอดให้สนิท แต่บังคับให้ผู้โดยสารกระโดดลง ฯลฯ นี่ยังไม่นับมารยาทงามๆ ของกระเป๋ารถเมล์ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นผู้ขออาศัยร่วมทางทุกครั้ง ทั้งๆ ที่เราจ่ายสตางค์

     เช่นกรณีของ นันทพร เตชะประเสริฐสกุล เธอเล่าว่า ถ้าไม่จำเป็นและมีทางเลือกอื่นก็จะไม่ใช้รถเมล์เขียว เพราะ...

     “เพราะชอบหยุดรอคนนานๆ และบางคันเวลาจอดก็ดูรีบๆ มากเกินไป กลัวจะเกิดอันตราย แต่ไม่ใช่ทุกคันนะ หลักๆ จะเป็นเรื่องจอดรอมากกว่า”

     ไม่กลัวอันตรายจากการซิ่งของคนขับ?

     “เรื่องการขับซิ่งคิดว่ามันไม่ได้เป็นแค่ที่รถเขียวอย่างเดียว เพราะเจอรถร่วมบางคันก็ขับซิ่งเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นรถของ ขสมก. ส่วนใหญ่จะขับดี ถ้าต้องให้คะแนน รถของ ขสมก. ถือว่าขับดีสุด

     “แต่ว่าที่ได้ยินข่าวเรื่องการขับ คิดว่ามันเป็นที่... คือรถเมล์เขียวหรือรถร่วมมันจำเป็นต้องทำรอบเพื่อทำยอด เพราะเรื่องสวัสดิการการดูแลพนักงานมันอาจจะน้อยกว่าของ ขสมก. ก็เลยคิดว่ามันคงไม่ใช่มีสาเหตุจากคนขับอย่างเดียว แล้วจะมีระบบอะไรที่จะให้คนเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม จะได้ไม่ต้องเร่งทำยอดแล้วก็เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ”

     แต่ถ้าเป็นกรณีของ พิจิตรา ธรรมสถิตย์ นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันแห่งหนึ่ง เธอมีประสบการณ์เลวร้ายกับรถเมล์เขียว เนื่องจากเพื่อนของเธอคนหนึ่งต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนรถเมล์เขียว เธอจึงหลีกเลี่ยงการโดยสารรถเมล์เขียว หรือจะนั่งเฉพาะระยะทางใกล้ๆ เท่านั้น

 
     แต่ในบางครั้ง เมล์เขียวก็มีแง่มุมขำๆ ฮาๆ ที่ดูน่ารักไปอีกแบบ (ถ้าเรารู้จักปล่อยวาง) เช่น บนรถเมล์เขียวสายหนึ่งที่วิ่งอยู่แถวฝั่งธนฯ ถ้าตกกลางคืนก็จะดับไฟหลักบนรถ แล้วเปิดไฟกระพริบแบบดิสโกเธค และเปิดเพลงแดนซ์เสียงดังสนั่น ส่วนกระเป๋าวัยโจ๋ก็จะเต้นตามเพลงอย่างเมามัน หรือกับบางคัน ที่ไปจอดแช่ที่หน้าโรงเรียนพาณิชย์ แล้วตะโกนบอกสาวๆ ให้ขึ้นรถมา พี่จะพาไปฟรี (ซึ่งมีสาวเจ้าหลายคนขึ้นมาจริงๆ และกระเป๋าก็ไม่ได้เก็บสตางค์พวกหล่อนแม้สักบาทจริงๆ)

     ดังนั้น ตะวัน พงศ์แพทย์ จึงบอกกับเราว่าเฉยๆ กับการขึ้นรถเมล์เขียว เพราะจะเจอคนขับกับกระเป๋ารถเมล์แบบไหนก็แล้วแต่โชค

     “บางคันก็บริการดี บางคันก็ไม่ แต่ผมว่าเรื่องความปลอดภัยน่าจะต้องระวังมากกว่านี้ แต่บางทีผมก็ชอบนะ เร็วดี สนุกดี”

     ถามทั้งสามคนว่า คิดอย่างไรกับการโละรถเมล์เขียวออกแล้วนำรถที่มีสภาพดีกว่าเข้ามาวิ่งแทน นันทพรบอกว่า

     “คงไม่คุ้นตา เพราะเราก็คุ้นเคยกับรถเขียว ก็อาจจะมีความรู้สึกผูกพัน อีกทางหนึ่งถ้าเปลี่ยนใหม่แล้วมันจะดีขึ้นกว่าเดิมก็น่าจะยอมรับได้ เพียงแต่ว่ามันจะมีหลักประกันอะไรว่า สภาพรถจะดีกว่าเดิมจริงๆ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วดีขึ้น โปร่งใส ดูแลพนักงานได้ก็โอเคนะ ส่วนเรื่องขับซิ่งมันต้องไปแก้ที่บริษัท ถ้าเขาโดนบังคับให้ทำยอดเพื่อความอยู่รอด อันนี้ก็โทษคนขับอย่างเดียวไม่ได้”

     ส่วนพิจิตราและตะวันมีความเห็นคล้ายๆ กันต่อเรื่องนี้ว่าต่อให้เปลี่ยนรถ แต่ถ้าการบริการยังเหมือนเดิม เปลี่ยนรถไปก็เท่านั้น

     “ปรับปรุงบริการดีกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนหรอกรถเมล์เขียว ควรจะจัดอบรม พัฒนาการบริการ โดยเฉพาะเรื่อง มารยาท และความมีน้ำใจในการบริการ และควรคำนึงถึง ผู้โดยสารด้วย ควรให้ความสำคัญกับผู้ด้วยสาร” พิจิตรากล่าวทิ้งท้าย

*****ล้อมกรอบ*****

    'อภิธานศัพท์’ เกี่ยวกับรถโดยสารในเมืองไทย

1. รถเมล์ = ก. รถประจำทาง พาหนะสำหรับผู้รักการผจญภัย
                 ข. พาหนะที่มักจะไม่มาเมื่อคุณรอ และวิ่งให้ว่อนเมื่อไม่ต้องการ
2. พขร. = พนักงานแข่งรถ
3. พกส. = พนักงานเก็บเงินผู้ใหญ่ที่สุด มีอำนาจสั่งการให้ผู้โดยสารไปไหนก็ได้และ เป็นคนเดียวที่คุยกับ พขร. รู้เรื่อง
4. ผู้โดยสาร = บุคคลที่มีอำนาจน้อยที่สุดบนรถ
5. นายตรวจ = คนคนเดียวที่ พกส. กลัว
6. ค่าโดยสาร = จำนวนเงินที่ต้องจ่าย กรุณาจ่ายเป็นเศษสตางค์เท่านั้น ไม่รับเหรียญสลึงและแบงค์ใหญ่กว่า 100 หากฝ่าฝืนอาจโดนดุโดย พกส.
7. ป้าย = ไป (แปลว่าเลยไปเลย สังเกตจาก พสก.จะพูดคำนี้ทุกครั้งที่ถึงป้ายและเมื่อคนขับได้ยินก็จะออกตัวทันที)
8. กริ่ง = ห้ามกดสองที ไม่งั้นฟรีสองป้าย
9. มินิบัส = เร็วแรงทะลุนรก เหมาะสำหรับคนที่รีบร้อนและรักการเสี่ยงภัย

              ************
             เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
             ภาพ : พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร

-หมายเหตุ คุณพี่โชเฟอร์ในภาพบทความ ไม่ใช่โชเฟอร์ตีนผีที่เอ่ยถึงแต่อย่างใด จึงขอเรียนให้ทราบ มา ณ ที่นี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด 

กำลังโหลดความคิดเห็น