xs
xsm
sm
md
lg

ถอดคนแทนด้วยเครื่อง เรื่องวุ่นของ ขสมก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในที่สุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา โครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ก็ผ่านมติ ครม. หลังจากที่คาราคาซังกันมาตั้งแต่สมัยลุงหมัก ไล่มาจนถึงสมัยพี่มาร์ค ซึ่งการจัดหารถเอ็นจีวีมาใช้ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนงานปรับปรุงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทุกระบบเข้าด้วยกัน

หากเป็นเช่นนั้น ในอนาคตอันใกล้ (หรือเปล่าก็ไม่รู้) เราๆ ท่านๆ ก็จะได้ขึ้นรถ ลงเรือ และใช้รถไฟฟ้าด้วยระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อี - ทิกเกต) โดยไม่ต้องง้อแรงคนในการเก็บค่าโดยสารอีกต่อไป

อ้าว...ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พี่กระเป๋ารถเมล์ที่คอยตะโกนบอกให้ชิดในหน่อยเพ่ ๆ จะไปอยู่ที่ไหนกันเล่า...

นั่นทำให้ในเช้าวันที่จะมีการประชุม ครม. เรื่องรถเมล์เอ็นจีวี สหภาพแรงงานฯ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และพนักงาน ขสมก. กว่า 500 ชีวิต ก็ได้เฮโลมาชุมชุมกันที่หน้าทำเนียบ เพื่อยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกสัมปทานการเดินรถ 155 สายให้แก่ภาคเอกชน คัดค้านการแปรรูป ขสมก. และการนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อี - ทิกเกต) มาใช้ แต่สุดท้ายพนักงาน ขสมก. กว่า 500 คนนั้น ก็ยอมสลายตัวไปแต่โดยดี หลังจากพอใจคำตอบเรื่องการสัมปทานให้ภาคเอกชนและเรื่องการแปรรูป ขสมก.

แต่กับเรื่องของอี – ทิกเกตนั้น ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

เออร์ลี รีไทร์ ทางออกของปัญหา

การพยายามลดจำนวนคนของ ขสมก. นั้น ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ก็จะใจไม้ไส้ระกำเอาคนออกกันดื้อๆ หากแต่ ทาง ขสมก. มีวิธีที่นุ่มนวล และน่าจะสร้างความพอใจให้ทั้งลูกจ้างและองค์กร ซึ่งวิธีนั้น ก็คือการเออร์ลี รีไทร์นั่นเอง

“โครงการเออร์ลีฯ เราต้องมีการประกาศไว้ชัดเจน สาระสำคัญที่บอกไว้ก็คือ เป็นโครงการที่ผู้เข้าร่วมต้องมีความสมัครใจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำคราวเดียวแล้วต้องได้ตามเป้าอย่างรวดเร็ว หรือคนของเราที่ไม่อยากไปก็ต้องถูกบังคับให้ไป มันไม่ใช่อย่างนั้น ใครสมัครใจออกก็ได้ แต่ถ้าใครไม่สมัครใจ เราก็ไม่สามารถไปบังคับ เราก็ต้องรอจนกว่าเขาจะเกษียณ”

ปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวถึงโครงการเออร์ลี รีไทร์ พนักงาน ขสมก. เพื่อปูพื้นฐานในการนำเอาระบบ อี - ทิกเกตมาใช้

“ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยากไป มันก็ต้องมีการจูงใจ และมีทางเลือกไปที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ว่ามีเงินให้ก้อนหนึ่งแล้วยังไม่มีหนทางประกอบอาชีพให้ เราเลยมีการทำโครงการฝึกอาชีพให้เขา มีการอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพใหม่ อีกอย่าง คนส่วนหนึ่ง ก็จะได้กลับไปอยู่ที่บ้าน หากินประกอบอาชีพที่นั่น อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องอดทนอยู่ในกรุงเทพฯ”

“เงินที่เขาจะได้ก็คือ 30 เท่าของเงินเดือน ซึ่งแต่เดิมแล้ว ได้เพียงแค่ 20 เท่า คนที่เลือกจะเออร์ลี ก็จะได้เงินก้อนใหญ่ บางคนก็เป็นหลักล้าน ทั่วๆ ไปก็จะอยู่ที่ 5 – 6 แสน”

ซึ่งแผนเออร์ลีรีไทร์ ในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหนักงานเก็บค่าโดยสาร เท่านั้น หากแต่ยังเปิดโอกาสให้แก่พนักงาน ขสมกในทุกตำแหน่ง ซึ่งถ้าตำแหน่งใดว่างลง ทาง ขสมก. ก็จะดึงคนในเข้ามาทำงานก่อนโดยจะมีการอบรมเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่นั้นๆ ให้ ทั้งนี้เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผู้ที่ยังอยู่

“เราไม่ได้คิดที่จะทำร้ายพนักงานในองค์กรของเราเองเลย พนักงานของเรา และสหภาพมีความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะไม่ใช่ว่าเราไม่เคยทำ ที่ผ่านมาก็เคยมีมาแล้วหลายครั้ง คนที่ไปเขาก็ไปด้วยความพอใจ”

เรื่องของพนักงาน เรื่องของสหภาพฯ

สนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงาน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวถึงโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ของรัฐบาลว่า ในข้อเท็จจริงเบื้องต้นรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 4,000 คัน ก็คือรถที่จะเข้ามาทดแทนรถเก่าที่ ขสมก.ใช้งานอยู่ในขณะนี้ 3,500 คัน จึงมีส่วนเพิ่มขึ้นเพียง 500 คัน สรุปแล้วคือเป็นการเปลี่ยนรถและปลดระวางรถเก่า แต่ปัญหาติดตามมาก็คือว่า รถที่จะเข้ามาใหม่ 4,000 คันนี้จะติดตั้งระบบอี- ทิกเกต ซึ่งหมายถึงว่าผู้โดยสารจะต้องใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ในการขึ้นรถ และไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวพนักงานของ ขสมก.

“ผมเรียนว่าโดยหลักการของสหภาพแรงงาน พูดถึงที่มาของรถเรายังยืนยันหลักการว่ามันควรจะเป็นการซื้อหรือเช่าซื้อ แต่เมื่อรัฐบาลบอกว่าให้เช่าก็คงจะต้องเป็นไปตามนั้นก่อน แล้วก็ค่อยมาแก้ปัญหากันในอนาคตว่าการเช่ามันจะโปร่งใสกันมากน้อยขนาดไหน ก็อยู่ที่กระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชนและของสหภาพฯ ขสมก.ด้วย แต่ไม่ว่ากรณีรถจะเช่าหรือซื้อ ก็ยังมีหลักการเดียวกันคือใช้อี - ทิกเกต อย่างไรเสีย ผลกระทบในแง่แก่พนักงานเก็บค่าโดยสารก็ยังมีอยู่”

ประธานสหภาพฯ ขสมก.ชี้แจงต่อว่า ตามแผนการที่จะเออร์ลีรีไทร์ พนักงาน ขสมก. 7,009 คน ไม่ใช่เฉพาะแต่พนักงานเก็บค่าโดยสารเท่านั้น แต่จะรวมทั้งพนักงานฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ของขสมก. อาทิ ฝ่ายธุรการ ฯลฯ อีกประมาณ 1,607 คน ส่วนพนักงาน พขร.และพกส. (พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร) ที่มีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว ไม่พร้อมที่จะทำงานต่อและเตรียมเข้าโครงการเออร์ลีรีไทร์นั้นมีจำนวนประมาณ 5,402 คน

“นี่คือตัวเลขที่ไปปรากฏอยู่บนข้อเสนอของสภาพัฒน์ และครม.รับหลักการ แต่ปัญหาก็คือว่า ในข้อเท็จจริง พกส. ของเรามีอัตรากำลังอยู่ประมาณ 7,000 คน ก็แสดงว่ามีประมาณ 2,000 คนที่ไม่ได้ออกไปไหน”

ทางสหภาพขสมก. จึงได้มีการประชุมตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างประธานสหภาพแรงงานและฝ่ายบริหาร เพื่อหามาตรการรองรับ 5 มาตรการหลักๆ โดยเริ่มจากการเกลี่ยอัตรากำลังพนักงาน และ ขสมก.จะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ จากเดิมที่มีพนักงานบัญชี พนักงานเก็บค่าโดยสาร พนักงานเช็คตั๋ว เมื่อไม่มี พกส.และไม่มีการเก็บค่าโดยสารแบบเดิม โครงสร้างพนักงาน ขสมก.จึงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ โดยพนักงานทั้งหมดจะต้องมุ่งไปสู่ส่วนสนับสนุนและส่วนปฏิบัติ

“เราก็จะเกลี่ยคนที่ไม่เข้าโครงการเออร์ลีฯ มาอยู่ในโครงสร้างใหม่ตรงนี้ โครงสร้างเดิมที่ไม่มีความจำเป็นก็ต้องยุบไป การเกษียณอายุราชการปกติตามแผนอย่างเช่นปีนี้มีพนักงานธุรการเกษียณ 100 คน ก็จะไม่มีการบรรจุแต่งตั้งใหม่ แต่หากว่ามันมีงานจำเป็นก็ต้องเกลี่ยคนมาทำหน้าที่แทนก่อน”

ประธานสหภาพฯ ขสมก. ย้ำว่ามาตรการเออร์ลีรีไทร์นั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของพนักงาน และหากจำเป็นจะเกษียณพนักงานก่อนถึงกำหนดจริงๆ ก็ต้องพิจารณาจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก่อนเป็นหลัก ที่ผ่านมา ขสมก.มีแผนการเออร์ลีรีไทร์เดือนละประมาณ 100 คน แต่งบประมาณไม่เพียงพอจึงทำได้เพียงเดือนละแค่ 10 คน ซึ่งการเกษียณนั้นก็จะเป็นไปตามมาตรฐาน ตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะใช้อัตราค่าจ้างคูณด้วยอายุงานที่เหลืออยู่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 20 เดือน

แต่ถ้าหากเข้าเกษียณตามโครงการรถเมล์ 4 พันคัน ตามข้อตกลงในเบื้องต้น ขสมก.จะจ่ายให้พนักงานไม่เกิน 30 เดือน บวกค่าตอบแทนความชอบตามที่กฎหมายรัฐวิสาหกิจกำหนดอีก 8 เดือน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้แก่พนักงานด้วยผลตอบแทนมากกว่าการเกษียณแบบปกติ

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อพนักงาน ที่จะต้องถูกปลด เนื่องจากปัจจุบันพนักงาน ขสมก.เกือบทั้งหมดจะทำสัญญากู้ซื้อในโครงการบ้านพักอาศัยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฉะนั้น จะต้องสำรวจว่าคนที่จะเข้าโครงการเออร์ลีรีไทร์นั้นมีพันธะหนี้ผูกพันกับธนาคารหรือไม่

“ผมเชื่อว่าประเด็นปัญหาเรื่องบัตรเครดิตก็จะเป็นปัญหาหนึ่ง เพราะว่าทุกวันนี้การจ่ายเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานเดินรถก็จ่ายผ่านธนาคาร หากมีการปลดเกษียณพนักงานจำนวนมากออกไป ผมว่ากระทบแน่นอนครับ” ประธานสหภาพฯ ขสมก. ทิ้งท้าย

เออร์ลีฯ, อี – ทิกเกต เรื่องดีๆ ที่ทำไม่ได้

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่ถูกผลักดันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจากพรรคภูมิใจไทย และมีกระแสตามมาว่าอาจจะต้องมีการปลดพนักงาน ขสมก. ประมาณ 7,000 คน

ลองเดินดุ่มๆ ไปตามท่ารถ พูดคุยกับพนักงาน ขสมก. 2-3 คน น่าสนใจว่าพวกเขาดูจะไม่ค่อยให้ความสลักสำคัญหรือตื่นตระหนกกับข่าวนี้สักเท่าไหร่

“มันเป็นข่าวอย่างนี้ตลอดตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานเมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว เราก็เลยเฉยๆ คิดว่าสิ่งไหนที่ยังไม่เกิดก็ยังไม่ต้องไปคิดมัน ถ้ามันก็คือเกิด สมัยก่อนก็บอกว่าจะให้ กทม. มาดู แล้วก็เงียบไป เรื่องเออร์ลีรีไทร์ก็เห็นมาสองสามปีแล้ว ก็ยังเออร์ลีไม่ได้”

เป็นอารมณ์เฉยๆ จาก อาทิตย์ ชัยแสนหาญ ซึ่งไม่รู้ว่าจะกังวลไปทำไม เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของข่าวการปลดพนักงาน

แต่กับพนักงานเก็บค่าโดยสารคนนี้ (เขาไม่ขอเอ่ยชื่อ) เขาตอบคำถามเรื่องรถเมล์เอ็นจีวีและการเออร์ลีรีไทร์แบบแฝงการท้าทายและฉุนเฉียวต่อนโยบายนี้ของรัฐบาล

“ที่ว่าจะต้องปลดพนักงาน เพราะจะใช้ระบบอี-ทิกเกตนั่น ไม่คิดว่าจะทำไปได้ ก็ประชาชนจะเข้าแถวได้เหรอ อยากจะรู้เหมือนกันว่าประชาชนจะขึ้นแล้วใช้บัตรสมาร์ทการ์ดรูดขึ้นเหมือนบีทีเอสได้มั้ย

“ผมก็เลยเฉยๆ อยากจะรู้ไงว่าจะทำได้มั้ย แล้วถ้าเขาจะเอาคนออก เขาก็ต้องหาเงินทดแทนมาให้เรา ก็มีรัฐบาลชุดนี้ชุดเดียวที่ทำแบบนี้ รัฐบาลก่อนเขามีแต่สนับสนุนองค์การ เพราะรถเมล์บริการประชาชน เพื่อประชาชนอยู่แล้ว”

พนักงานรายนี้รู้สึกไม่ต่างจากอาทิตย์ ไม่ตื่นเต้น ไม่กังวล เราเลยถามเขาว่าถ้ามีโครงการให้เออร์ลีรีไทร์จะเข้าร่วมโครงการหรือไม่

“พนักงานเอาทุกคนแหละ แต่ว่าตอนนี้ขอให้มีเถอะ ไม่มีวิตกกังวลหรอก เพราะรู้ว่ามันทำไม่ได้ จะเอาเงินที่ไหนมา ขนาดรถเมล์ยังอ้างว่าขาดทุนๆ ก็มีแต่รัฐบาลชุดนี้แหละที่เสนอ ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่รู้กี่สมัยแล้ว”

ถึงกระนั้น พวกเขาก็รู้สึกว่าการปลดพนักงานในภาวะเศรษฐกิจซบเซาไม่น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมนักกับคนหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเขา พนักงานขับรถของ ขสมก. คนหนึ่ง บอกว่า

“ผมมองแล้ว ไม่รู้สินะ ถ้าปลดออกแล้วเขาจะทำยังไงล่ะ ก็ต้องว่างงานกัน มีเงินชดเชยจริง แต่ว่าคนเคยทำงานก็อยากทำงาน เขาก็ต้องหางาน แต่โอเค เงินที่ได้เออร์ลีมาอาจจะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูก แต่เขาก็อยู่ว่างเฉยๆ ไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครกังวลอะไร”

สำหรับอาทิตย์ ถ้ามีการปลดคนออกจริง เขาเป็นห่วงเพื่อนพนักงานที่อายุสี่สิบห้าสิบปีขึ้นไป เพราะคนอายุมาก การหางานใหม่ก็ยิ่งยากขึ้นตามอายุ

ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป ตามประสาประชาชนตัวเล็กๆ ที่มีปากมีเสียงน้อย ว่าโครงการปรับปรุงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนจะเป็นไปได้จริงไหม พนักงานที่เลือกเออร์ลีรีไทร์ออกจากขสมก. จะมีชีวิตต่อไปอย่างไร และที่สำคัญก็คือ ประชาชนไทยจะมีโอกาสได้ใช้ อี – ทิกเกตที่สุดแสนทันสมัย เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทันช่วงชีวิตนี้รึเปล่า

ช่างเป็นเรื่องที่น่าลุ้นดีแท้…

************
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ



กำลังโหลดความคิดเห็น