xs
xsm
sm
md
lg

วิธีโปรโมตหนังไทย มุกตบหน้าคนดูที่มีแต่ "ความแรง" ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แน่นอนว่าเรื่องราวของ "ชาคริต แย้มนาม" และการประชาสัมพันธ์หนัง ถูกนำมาถกเถียงมากมายเหลือเกินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นกระแสข่าวว่าสรุปแล้ว คือการประชาสัมพันธ์ หรือโปรโมตหนังในแนวนี้ไปแล้วหรือ!?

หากแต่นี่คงไม่ใช่ครั้งแรก ที่อาร์เอสฯ กับกระแสข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และการที่บุคคลในข่าวกำลังจะมีผลงานออกมาอย่างชาคริต ในช่วงเวลาที่พอดิบพอดี แน่นอนว่าคนหมู่มากมองเรื่องนี้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ของ "ข่าว" และ รายได้ ที่ ณ ถึงวันนี้ก็ทะลุ 50 ล้านไปแล้วเรียบร้อย

แต่ไม่ว่าจะเป็นการแหกตาหรือไม่..แน่นอนว่าการประชาสัมพันธ์แนวนี้ "เสี่ยง" เพราะ "ภาพลักษณ์" ขององค์กร กับ "เงินตรา" ที่ได้จากการตลาดครั้งนี้อาจสวนทางกัน

"ทำไมไม่สนใจว่าหนังดีหรือไม่ดี ไปสนใจทำไมชาคริตโด่จริงมั้ย บีบนมเขาจริงหรือเปล่า" อดีตประชาสัมพันธ์คนหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์จะเอ่ยนามเผย แถมบอกให้เราย้อนไปดูข่าวบันเทิงในสมัยก่อนว่าทิศทางข่าวช่างต่างไปจากข่าวบันเทิงในยุคนี้อย่างสิ้นเชิง

"ไม่ได้บอกว่าสื่อผิดนะ แต่ว่าทุกคนเป็นเหยื่อหมด ประชาสัมพันธ์ก็ขายข่าว นักข่าวก็รายงานข่าวแบบนั้น คนอ่านก็ต้องอ่านแบบนั้นไป แล้วคิดว่าคนอ่านต้องการแบบนั้นจริงๆหรือ " ..ประชาสัมพันธ์คนเดิมกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง และย้ำว่าสไตล์การประชาสัมพันธ์ของแต่ละค่ายย่อมแตกต่างกัน แต่ยอมรับว่าในการทำข่าวประชาสัมพันธ์เพื่อการตลาด "ภาพลักษณ์" กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ค่ายต้องคำนึงถึงเมื่อแลกกับข่าวฉาว

สำหรับการทำงานของทีมประชาสัมพันธ์ในค่ายหนังบ้านเรานั้น จะแบ่งออกเป็นในแต่ละสายสื่อ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ นิตยสาร โดยประชาสัมพันธ์สาวสวยจากค่ายหนังต่างๆก็จะจัดการส่งข่าวในหลายๆ ด้าน โดยการจัดส่งข่าวนั้นแน่นอนที่สุด ต้องการให้มีข่าวลงในสื่อมากที่สุด หากแต่ข่าวที่เกิดขึ้น ฉากหวือหวา เลิฟซีน ความดุเดือด ภาพหวาดเสียวในหนัง กลายเป็นจุดขายที่ประชาสัมพันธ์เลือกใช้แทบทุกค่าย คุ้มหรือไม่? ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เราเห็นไม่น้อย

“หม่ำ จ๊กมก” ลงทุนแก้ผ้าวิ่งรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ โดนปรับเล็กน้อย แต่บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยมของเขากลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เฉกเช่นการที่เขาโวยวายลงหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์หลายฉบับ กับการเป็นแขกรับเชิญในหนังเรื่องสาระแนห้าวเป้ง จนรายได้หนังเรื่องนี้ถล่มทลายทีเดียว องค์บาก 2 หนังที่จา พนม (ทัชชกร) ยีรัมย์ กำกับเอง แสดงเอง แต่มีเรื่องราวบาดหมางกับทางค่ายสหมงคลฯ จนโดนวิจารณ์ว่ามีหลายเรื่องน่าเคลือบแคลงสงสัยว่าคือการโปรโมตหรือไม่ เรื่องนี้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ และพูดถึงนานนับเดือนจนคนลืมไปว่าเนื้อหนังขององค์บาก 2 เป็นเช่นไร แต่กลับจำเรื่องราวของจา พนมได้มากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปเสียทุกเรื่อง บุปผาราตรี ทั้ง 3.1 และ 3.2 ของค่ายสหมงคลฟิล์ม รวมไปถึงจีจ้า ดื้อสวยดุ การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งมีกิจกรรมมากมาย ก็อาจไม่ได้ทำให้รายได้หนังกระเตื้องเท่าใดนัก

อาวอง ค่ายหนังของอาร์เอสฯ จะมีทีมงานประชาสัมพันธ์เอง ซึ่งแน่นอนว่าสไตล์การส่งข่าวประชาสัมพันธ์นั้น ฉาวหรือไม่ คือความตั้งใจในการส่งข่าวอยู่แล้ว การเผยแพร่ภาพ ข้อความในกองถ่ายย่อมเกิดมาจากการประชาสัมพันธ์ล้วนๆ กรณี ชาคริตกับหนังเรื่องแฟนเก่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาร์เอสฯกลายเป็นค่ายที่มีการประชาสัมพันธ์ที่หวือหวามากในเวลานี้

จีทีเอช ค่ายหนังที่ตั้งตัวเป็นค่ายทำหนังตลาดแบบอารมณ์ดีตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผี รัก วัยรุ่น ตลก ครบทุกรส สไตล์ข่าวของข่าวประชาสัมพันธ์ของค่ายนี้ ประชาสัมพันธ์คนหนึ่งบอกกับ M Entertain ว่า เส้นทางการทำข่าวประชาสัมพันธ์ของจีทีเอช เกิดจากการประชุมหลายๆฝ่าย ด้วยกันทั้งทีมครีเอทีฟ ผลิต และผู้บริหาร และหลักประการหนึ่งของทางบริษัทคือ จะไม่นำข่าวฉาว หรือเรื่องส่วนตัวของนักแสดงในเรื่องมาโปรโมตโดยเด็ดขาด

"ทิศทางการทำงานประชาสัมพันธ์ของจีทีเอช ไม่ได้เน้นความฉาวเป็นหลัก ขั้นตอนง่ายๆในการทำงานคือออกไปกอง เสนอกันด้วยเนื้องาน เริ่มสัมภาษณ์กันตั้งแต่ความรู้สึกของนักแสดงตั้งแต่มาทำงานกับเรา เอาเนื้องานมาเสนอไม่ว่านักแสดงรุ่นใหญ่แค่ไหน ก็ไม่มีการมาสั่งว่าต้องโปรโมตแบบนี้แบบนั้น"

จำนวนข่าวนั้นไม่ได้ถูกกำหนดกฎเกณฑ์จากทางผู้ใหญ่ว่าต้องออกสื่อจำนวนมาก แต่มีการทำงานเป็นทีมเวิร์กที่เชื่อใจว่าทุกฝ่ายต่างทำดีที่สุดแล้ว

"ไม่เคยมานั่งจับผิดหรือต้องรายงานว่าช่องนั้นช่องนี้ออกไปเท่าไหร่แล้ว กี่ช่อง กี่เล่ม เอาเป็นว่าทุกคนทำเต็มความสามารถ แต่สิ่งที่ต้องดูคือ ต้องดูว่าสื่อแต่ละเล่มสไตล์ไหน จะไม่ไปยัดเยียดอะไรที่มันฉาวลงไป แต่ถามว่าค่ายอื่นมีวิธีการโปรโมตแบบอื่น ถามว่าผิดมั้ย ก็ไม่ผิดนะ ต้องบอกว่านี่คือสไตล์มากกว่า สไตล์ใครสไตล์มัน”

ส่วนค่ายไฟว์สตาร์ เป็นค่ายที่ไม่มีนักแสดงในค่ายแบบประจำ ความหวือหวามาจากข่าว และซีนในภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้มีภาพข่าวการเลิฟซีนของปีเตอร์ ชัยนาม และกิ๊บซี่ วนิดา ในฉากเลิฟซีน และภาพประชาสัมพันธ์กับเอก ชมะนันท์ และกิ๊บซี่ที่เริ่มตั้งแต่ปลายเท้า ก็ทำให้นางไม้กลายเป็นหนังตลาดไปได้ในบางฉากจากเหตุประชาสัมพันธ์ และค่ายพระนครฟิล์มมุกเดิมของอีส้มสมหวัง ชะชะช่า ข่าวประชาสัมพันธ์และหนังตัวอย่าง แม้ไม่ได้มีฉากเลิฟซีนหวือหวา ตามประสาหนังตลก แต่หนังก็ยิงตัวอย่างจากคำพูด และคำหยาบบางคำเพื่อขายความฮา รวมไปถึงเรื่องหอแต๋วแตก แหกกระเจิง หนังของ พจน์ อานนท์ นำ “ตุ๊กกี้ ชิงร้อยชิงล้าน” มารับบทผี โดยมีนักแสดงตัวเดิมอย่างโก๊ะตี๋,จตุรงค์,อ.ยิ่งศักดิ์ และเอกชัย ศรีวิชัย มาเป็นจุดขาย ซึ่งต้องบอกว่ากลยุทธ์ประการหนึ่งของหนังพจน์ อานนท์ ที่สังเกตได้คือล้วนแล้วแต่เป็นคนที่อยู่ในกระแส นี่ไม่ใช่มุกโปรโมตของทีมงานประชาสัมพันธ์ค่ายหนัง แต่คือ "สไตล์" ที่ผู้กำกับคนนี้เลือกใช้

หนังดีหรือไม่ คนดูควรเข้าไปตัดสินเอง แต่ไม่ควร “หลอก” คนดูก่อนเข้าโรง บางค่ายใช้คำหยาบ ฉากลามก ขายคนดูทั้งที่เนื้อในหนังกลวง บางค่ายใช้เรื่องเพศล่อกระแสคนดู ผ่านทาง "สื่อ" กว่าหนังจะฉายแถลงข่าว ขัดแย้งผิดใจ คุ้มกับหน้าหนึ่งทุกฉบับ สิ่งต่างๆเหล่านี้ เกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ตาม แน่นอนว่ามุกการประชาสัมพันธ์หนังไทยตอนนี้ “แรง” ทั้งวิธีการและผลตอบรับ ทำให้น้ำหนักของข่าวบันเทิง โดนมองว่า "แหกตา" ไปเสียแล้ว หรืออาจถึงเวลาที่สื่อบันเทิงไทยต้องเลิกเป็น "เหยื่อ" เสียเอง เพราะแท้จริงแล้วคนที่ได้ประโยชน์จากข่าว ไม่ใช่คนดู แต่กลับเป็นเจ้าของทุนหนังเสียมากกว่า...






กำลังโหลดความคิดเห็น