ถ้าหากการที่หนุ่มชาคริต แย้มนาม ออกมาครวญคร่ำร่ำไห้หลั่งน้ำตาลูกผู้ชายต่อหน้าสื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น เป็นแค่เพียง "การแสดงปาหี่” หรือ "ลิเกเบิกโรง" ในเกมการโปรโมตหนังอย่างที่หลายๆ คนคิดและเชื่อ...ผมคิดว่า มันน่าจะเป็นการโปรโมตที่ได้ไม่คุ้มเสียเลยสักนิด แน่นอนล่ะ ในประวัติของชาคริต เขาอาจจะไม่ใช่ดาราไร้ข่าวฉาวประเภทสะอาดหมดจด แต่การโปรโมตหนังอย่างนี้ มันกลับจะเป็นการเพิ่ม "รอยด่างดำ" ในอนุกรมชีวิตของเขาเข้าไปอีก นั่นยังไม่นับรวมถึงเจ้าของหนังอย่างอาร์เอส (อาวอง) ที่มองมุมไหน ก็ไม่มีทาง "ได้เครดิต" จากการกระทำเยี่ยงนี้
เพราะพูดก็พูดเถอะ ต่อให้ผมไม่ได้เห็น "น้ำตาชาคริต" หรือต่อให้ไม่มีเรื่องให้คิดว่าชาคริตขยำหน้าอกของโบวี่ (อัฐมา ชีวนิชพันธุ์) จริงหรือเปล่า ผมก็ยังเชื่ออยู่ว่า หนังอย่าง "แฟนเก่า" นั้นมีพลังความน่าสนใจอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุด นอกจาก "ตอกตราผี" ของคุณทิวา เมยไธสง นี่ก็คือหนังผีไทยอีกเรื่องของ พ.ศ.นี้ที่ฉีกตัวเองออกมาจากกลุ่มของ "หนังผีบวกตลกไร้สาระ" ที่ขยันทำขยันสร้างกันเหลือเกิน
และเหนืออื่นใด สิ่งที่ต้องให้เครดิตแก่คนทำหนังเรื่องนี้ก็คือ การนำเอาประสบการณ์ใกล้ตัวที่น่าจะสร้าง "อารมณ์ร่วม" ให้กับคนดูได้ไม่ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกทิ้งหรือเป็นฝ่ายชิ่งหนีเอง คนที่ใช้ชีวิตมาพักใหญ่ๆ ก็น่าจะเคยสัมผัสกับการมี "แฟนเก่า" กันมาบ้างล่ะ
ขณะเดียวกัน ถ้อยคำที่หนังนำมาโปรโมตในโปสเตอร์ อย่าง "คนที่คุณบอกเลิก เขายอมเลิกกับคุณหรือ" ก็เป็นอะไรที่ฟังดูแล้วชวนให้รู้สึก "หลอน" ดีพิลึก จนอดนึกล่วงหน้าไปไม่ได้ว่า นี่คงจะเป็นหนังผีหลอนๆ แห่งปีแน่นอน
แต่ผมก็คิดผิดถนัด เพราะอะไรน่ะหรือ ตามไปดูพร้อมๆ กัน...
โดยแก่นแกนคอนเซ็ปต์ ผลงานชิ้นนี้ของคุณต้อม-ปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ ยังมีเนื้อหาความคิดที่ไม่แตกต่างเท่าไรนักจากหนังเรื่องที่แล้วของเขา เพราะในขณะที่ "ผีไม้จิ้มฟัน" เล่นกับคำสาบานที่ไม่ได้แก้บนของตัวละครวัยซนกลุ่มหนึ่งซึ่งในที่สุดก็ต้องเจอเรื่องยุ่งยาก ใน "แฟนเก่า" ก็ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่อง "คำสัญญาที่ถูกลอยแพ" ซึ่งกลายมาเป็นหายนะแห่งชีวิตของตัวละครเช่นเดียวกัน
หลังจากฝากการแสดงที่ดีๆ ไว้ใน A Moment in June "ชาคริต แย้มนาม" กลับมาอีกครั้งในบทของ "เคน" ดาราหนุ่มชื่อดังที่กำลังคบหาอยู่กับหญิงสาวร่วมวงการอย่าง "พลอย" (กิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์) และทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนว่ากำลังจะไปได้สวยจนถึงขั้นลั่นระฆังวิวาห์ ถ้าเพียงแต่เบื้องหลังชีวิตรักอันสวยหรูของทั้งคู่ จะไม่มีผู้เจ็บช้ำซ่อนตัวอยู่หลังฉาก โดยผู้เจ็บช้ำที่ว่านั้น เป็นหญิงสาวสองคน "มีน" (ออม-นวดี โมกขะเวส) กับ "โบ" (โบวี่-อัฐมา ชีวนิชพันธุ์) ซึ่งต่างก็เคยมีคืนวันดีๆ ร่วมกับ "เคน" มาแล้วทั้งสิ้น ก่อนจะถูกชายหนุ่มเขี่ยทิ้งไม่ไยดี
แน่นอน คนรักกันแล้วเลิกกัน ไม่ใช่ปรากฏการณ์แปลกประหลาด เพราะมันก็เกิดขึ้นแทบจะทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว แต่หนังทำให้การเลิกกัน "เป็นเรื่องเป็นราว" ขึ้นมา ด้วยการวาดภาพของเคนให้ดูเป็นหนุ่มเจ้าชู้ และเที่ยวสัญญาโน่นนี่กับคนนั้นคนนี้ แต่เขาก็ "ทรยศ" และ "ฉีกสัญญา" ที่ว่านั้นทุกครั้งไป (ความบัดซบสุดๆ อีกอย่างของเคนก็คือ ทั้งๆ ที่เขาใจร้ายกับคนรักเก่าได้ขนาดนั้น แต่เมื่อ "เธอคนเก่า" มาหาเขา เคนก็พร้อมจะเก็บเกี่ยวตักตวงความหรรษาจากเรือนร่างของเธอได้อย่างหน้าตาเฉย ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย)
ในชีวิตจริง ผมเคยเจอคนที่มีความคิดแบบเคนได้เรื่อยๆ คือคนที่คิดว่าชีวิตมีสิทธิ์เลือก เหมือนที่เคนบอก เขามีรักครั้งใหม่ได้ไม่มีปัญหา แต่ประโยคนั้นของเคน ก็มีสองด้านที่ซ้อนทับกันอยู่ หนึ่ง...เราอาจจะเห็นว่ามันเป็นสิทธิ์เสรีของทุกคนที่จะทำแบบนั้นได้ แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นเช่นดังข้ออ้างให้คนเห็นแก่ตัวเอาไว้พูดให้ตัวเองดูเท่เวลาที่บอกเลิกใครสักคน ซึ่งสำหรับเคน เขาดูเหมือนจะจัดอยู่ในแบบที่สองมากกว่า เพราะสิ่งที่เขาทำนั้น เขาอาจจะอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพอะไรก็ได้ แต่มองไปอีกด้าน มันเป็นเสมือนการก่อ "อาชญากรรมทางใจ" ให้กับหญิงสาวคนแล้วคนเล่า นั่นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้า "คนที่ถูกทิ้ง" (ซึ่งก็คือ แฟนเก่า) จะตามมาราวีแบบเอาเป็นเอาตาย...
บอกตามตรงครับว่า ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะชอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเห็น (โดยเฉพาะประโยคนั้นบนโปสเตอร์) แต่เมื่อได้ดูจริงๆ ผมกลับรู้สึกเฉยมากๆ ส่วนหนึ่งนั้น ผมคิดว่า คงเป็นเพราะบทหนังซึ่งแทบไม่มีมิติอะไรเลย เนื้อหาเรื่องราวไม่มีอะไรลึกไปกว่าเรื่องของผู้ชายเจ้าชู้คนหนึ่งซึ่งถูกผีสาวแฟนเก่าตามหลอกตามฆ่า ก็อย่างที่ผมและคุณเห็นครับว่า หนังเปิดเรื่องมา ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งตาย แล้วถัดจากนั้น ก็เป็นเรื่องของการทวงแค้นตามฆ่าอยู่ทั้งเรื่อง
เข้าใจครับว่า หนังต้องการจะเน้นให้เห็นถึง "ผลตอบแทน" ของพฤติกรรมห่วยๆ แต่รู้ไหมครับว่า หนังผีเรื่องนี้ก็เหมือนหนังผีอีกสิบๆ เรื่องที่ไม่สามารถบิวท์ความหลอนได้สำเร็จ คือดูแล้วไม่เห็นว่ามันจะน่ากลัวน่าขนลุกอะไรเลย อย่างมากที่สุดที่ "แฟนเก่า" กระทำกับคนดูได้ก็คือ ทำให้ตกใจได้เป็นช่วงๆ โดยมีซาวด์ประกอบเป็นตัวขับเน้นความตกใจ
พูดง่ายๆ ก็คือ ดีกรีความหลอนที่ซ่อนอยู่ในเวิร์ดดิ้งบนโปสเตอร์ (คนที่คุณบอกเลิก เขายอมเลิกกับคุณหรือ) ผมว่ายังฟังดู "หลอน" ยิ่งกว่าตัวหนังจริงๆ เสียด้วยซ้ำ
และที่สำคัญ วิธีการซึ่งหนังใช้เล่นกับความตกใจของคนดูก็ไม่มีอะไรพิเศษพิสดาร และเดาได้ง่ายดายมาก จากซาวด์ประกอบที่ "ทึงๆๆ" นำทางมาก่อนแทบทุกครั้ง เหมือนกลัวคนดูจะไม่รู้ว่า ได้เวลาปล่อยผีแล้วนะ แล้วก็มีผีออกมาจริงๆ ในฉากนั้นๆ ซะอีกด้วย ไม่มีจังหวะในการหลอกแบบก๊อกหนึ่ง-สอง-สามเลย ส่วนมุกไฟดับพรึ่บพรั่บนั่น ก็เป็นวิธีการของหนังผีที่ใช้กันมาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีแล้ว
จากตรงนี้ ผมรู้สึกว่า วิธีคิดของคนทำหนังผีไทยส่วนใหญ่ ดูเหมือนจะถูกจองจำอยู่ในกรอบวิธีการง่ายๆ เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ คือจะพอใจอยู่แค่การทำให้คนดูตกใจแป๊บเดียวในโรงหนัง พอเดินออกมาก็ลืมหมด ก็คงเหมือนกับชาคริตในหนังเรื่องนี้นั่นแหละครับที่ตั้งแต่จนจนจบ ดูเหมือนเขาจะไม่เคยได้เรียนรู้เลยว่า รักแท้กับใครสักคนนั้นมันงดงามและน่าจดจำยิ่งกว่าการหลอก Fun คนนั้นทีคนนี้ทีไปวันๆ
ผมคิดว่า ในส่วนของคนทำหนังผีบ้านเรา ส่วนหนึ่งก็ดูเหมือนจะยังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว "ความตกใจ" นั้นเป็นเรื่องชั่วคราว (คือตกใจในโรงหนัง ออกมาก็ลืมหมด อย่างที่บอก) แต่ "ความหลอน" นั่นต่างหากที่จะอยู่ในความทรงจำของผู้คน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนทำหนังไทยจะพากันผลิตแต่หนังผีที่มุ่งทำให้คนดู "ตกใจแล้วก็จบกัน" เป็นส่วนใหญ่
ไม่ปฏิเสธครับว่า ที่ผ่านๆ มา ก็มีหนังผีหนังสยองขวัญบ้านเราหลายๆ เรื่องซึ่งทำออกมาได้หลอนน่ากลัวและน่าจดจำ เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด, ลองของ, เปนชู้กับผี หรือแม้แต่ 4 แพร่ง และ นางนาก ฯลฯ เพียงแต่เมื่อคิดเป็นอัตราส่วน ถือว่ายังน้อย และสำหรับแฟนเก่า ที่มันดูไม่หลอน ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับตัวละครอย่างเคนเป็นหลัก เพราะแม้แต่ตัวเขาเอง ยังไม่รู้สึกสะทกสะท้านหรือหวาดหวั่นจริงๆ กับ "สิ่งแปลกๆ" ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเลย โอเคล่ะ มันมีอยู่บ้างบางจังหวะที่เคนดูเหมือนจะ "รู้สึก" ถึงเหตุการณ์ประหลาดๆ เหล่านั้นบ้าง แต่นั่นก็เพียงผิวเผิน แล้วหนังก็ปล่อยให้ผ่านไป พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเขาไม่สะทกสะท้านหวาดหวั่นซะอย่าง แล้วเราคนดูจะกลัวอะไรล่ะ จริงไหม?
อาจเป็นเพราะแนวทางของคุณปิยะพันธุ์ ชูเพ็ชร์ ที่ไม่ว่าจะทำ "จอมขมังเวทย์" หรือ "ผีไม้จิ้มฟัน" มาจนถึง "แฟนเก่า" เขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับการ "เล่าเรื่อง" มากกว่าจะ "ลงลึก" ถึงมิติทางความรู้สึกของตัวละคร คือทั้งๆ ที่พยายามจะมี "ปม" แต่ปมที่ว่านั้นก็ถูกฆ่าด้วย "เนื้อเรื่อง" ของหนังเอง (เนื้อเรื่องธรรมดาๆ ที่ไม่มีอะไรมากกว่าการตามฆ่าและตามหลอก)
ผีสาว ถูกทำให้กลายเป็นเพียง "ผู้ถูกทิ้ง" ที่เจ้าคิดเจ้าแค้น ยังดูไม่น่ากลัวและไม่น่าสงสาร โอเคล่ะ เราอาจจะ "ตกอกตกใจ" กับสิ่งที่ผีแฟนเก่ากระทำ (คือตามฆ่าล้างแค้น) แต่ในฐานะของคนที่โดนทิ้ง เรากลับไม่ค่อยจะรู้สึกสงสารหรือเห็นอกเห็นใจเธอเลย (นอกจากสะใจเล็กๆ น้อยๆ กับวิธีการที่เธอ "โต้ตอบ" คนเจ้าชู้) ซึ่งความสงสารและเห็นอกเห็นใจนี้เป็นแบบไหน ลองนึกถึงหนังเรื่อง "นางนาก" ของคุณนนทรีย์ นิมิบุตร ก็ได้ครับว่า ผีที่น่ากลัว กลายเป็นผีที่น่าสงสารเห็นใจได้อย่างไร
ในฝ่ายของชายหนุ่ม อย่างเคน ก็เป็นตัวละครแบบแบนๆ (Type Character) ที่ไม่ได้มีด้านลึกอะไรเลย ทั้งที่จริงๆ หนังสามารถที่จะใส่อารมณ์แบบ...ถูกความรู้สึกผิดเล่นงาน...ลงไปในตัวละครตัวนี้ได้ และแน่นอนที่สุด ผมเชื่อว่า จะกลัวหรือไม่กลัว จะหลอนหรือไม่หลอน มันก็เริ่มต้นมาจากจุดนี้นี่เอง...คือจุดที่รู้สึกว่าตัวเองผิดและระแวงระวังว่ากำลังจะโดน "เอาคืน" โดยอะไรบางอย่าง
ซึ่งจริงๆ ผมว่า หนังสามารถใส่อารมณ์แบบนี้เข้าไปในตัวละครของชาคริตได้ตั้งแต่เขาถูกพ่นสีรถแล้ว แต่หนังกลับไม่สานต่อและพัฒนา "อารมณ์หวาดหวั่น" ของเขา คือโดยปกติ คนทั่วๆ ไป พอมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นกับตัวเองซักอย่างสองอย่าง มันก็น่าจะมีอาการ "เอ๊ะๆๆ" แล้วอยากสืบค้นหาคำตอบบ้าง แต่เคนกลับปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ และมันก็กลายมาเป็น "จุดด้อย" ของหนังไปโดยปริยาย อยากให้ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ครับ กับหนังอีกเรื่องอย่าง "แฝด" เราจะเห็นว่า ที่มันดูหลอน ก็เพราะพอหนังให้ตัวละครอย่าง "พิม" (มาช่า วัฒนพานิช) จับ "เหตุการณ์ลึกลับ" บางอย่างได้แล้ว หนังก็ค่อยๆ ใส่อารมณ์หวาดระแวงลงไปในตัวของพิมจนคนดูเองก็สัมผัสได้ถึง "ความเครียดความกดดัน" ที่กดทับจิตใจเธอมากขึ้นทุกขณะ และเจ้าสิ่งที่เป็นความเครียดความกดดันของตัวละครแบบนี้นี่แหละครับที่จะไปขับเน้นความเครียดความกลัวในใจคนดูอีกต่อหนึ่ง ซึ่งก็จะกลายเป็นตัวเร่งความหลอนไปด้วยในตัว
ไม่รู้สิครับ ในความคิดของผม หนังผีที่ดีและน่าจดจำ ต้องไม่ใช่แค่มาทำให้คนดูตกใจวี้ดว้ายเพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นอะไรที่ดูไปเครียดไป คนดูรู้สึกบีบคั้นหัวใจร่วมไปด้วย หนังดีๆ อย่าง The Sixth Sense, The Ring, A Tale of Two Sister หรือแม้แต่ "แฝด" และ "ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ" เมื่อหนังดำเนินเรื่องไปๆ เราจะรู้สึกว่า มันเหมือนกับจะมีมวลแห่งความน่ากลัวและความน่าหวาดระแวงแฝงฝังอยู่ในบรรยากาศของหนังตลอดทั้งเรื่อง แต่ "แฟนเก่า" ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
คือถ้าคุณอยากตกอกตกใจ หรือหลับตาซุกไหล่คนข้างๆ เวลาที่หนังปล่อยผี.."แฟนเก่า" น่าจะเป็นหนังที่ตอบสนองคุณได้ดีระดับหนึ่งแน่ๆ แต่ถ้าถามถึงความซึ้ง ความอิน หรือความหลอนน่าจดจำประทับใจ ผมว่าหนังเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น...
น้องคนหนึ่งอยู่ภูเก็ต หลังจากโทรมาบ่นกับผมว่า "เบื่อจังหนังไทย" ก็ยังไม่วายที่จะแถมท้ายสำทับเพิ่มเติมว่า "แฟนเก่า" มันคือ "หนังสะดุ้ง"...อันนี้ ผมว่าถูกต้องที่สุดเลย