เป็นชื่อที่ถูกถามไถ่เสมอ ๆ กับ “ดร.อ้อ - การดี เลียวไพโรจน์” ในบทบาทพิธีกร และผู้ดำเนินรายการมากความสามารถทางหน้าจอโทรทัศน์หลังเธอยุติบทบาทเหล่านั้นไป อย่างไรก็ดี หนทางที่ทอดยาวเบื้องหน้าสาวเก่งคนนี้ก็มีภารกิจต่าง ๆ ที่ท้าทายรออยู่อีกมาก และเป็นสิ่งที่เธอคนนี้ตัดสินใจว่าเธอจะลงมือทำ ในฐานะที่เป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่ได้นำความรู้ความสามารถมาสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ
จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ทุกวันนี้ นอกจากการเป็นอาจารย์ประจำในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว เธอยังเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเรื่องของ Creative Economy ด้วย
“การได้ลงมาเป็นหนึ่งในทีมที่ทำเกี่ยวกับ Creative Economy ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ ต้องบอกว่าได้เรียนรู้เยอะมากทีเดียว ในแง่ของกระบวนการทางราชการ ตลอดจนการหาแนวทางเพื่อปรับปรุงกระบวนการการทำงานในปัจจุบัน และการวางแผนเพื่อการทำงานในอนาคต เป็นการทำงานร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานทั้ง สภาพัฒน์, TCDC ช่วยกันผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติลงไปในกระทรวงต่าง ๆ”
“เหตุที่ตัดสินใจทำ เพราะที่ผ่านมาเราค่อนข้างเห็นแก่ตัว เราเพลย์เซฟ เราวิจารณ์อย่างเดียว ถ้าจะให้แฟร์กับเขา เราคงต้องลงมือทำบ้าง นี่คือเหตุผลที่ทำให้เฟดออกมาจากรายการ ถ้าเราพอจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติได้บ้าง เราก็น่าจะช่วย”
การเมืองในมุม“การดี”
ด้วยคาแรกเตอร์ที่เฉียบคม และการแสดงความคิดเห็นได้อย่างโดดเด่นทั้งในเชิงวิชาการ และในฐานะพิธีกรรายการข่าว คงไม่แปลกที่จะถูกทาบทามจากพรรคการเมืองน้อยใหญ่ให้ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็คงต้องบอกด้วยว่า ใครที่มองว่าเธอทำไปเพราะต้องการตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นความคิดที่ผิดเสียแล้ว
“อ้อสนใจการเมืองอยู่ตลอด แต่ต้องขอบอกก่อนว่า คำว่าการเมืองสำหรับอ้ออาจจะแตกต่างจากคนอื่น เพราะมันหมายถึง การพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนอนาคตของลูกหลานให้ดีขึ้น ไม่ใช่การถามว่า วันนี้คุณอยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน แต่คือการถามว่า วันนี้คุณอยากทำอะไรเพื่อประเทศชาติมากกว่า ซึ่งวันนี้ ถ้ามีคนมาขอความช่วยเหลือ อ้อไม่รีรอที่จะเข้าไปช่วย ส่วนหนึ่งเกิดจากความมั่นใจในตัวเองด้วยว่า เราอยากจะเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แต่ถ้ามาทาบทามให้ลงสมัคร ส.ส. อย่างนี้ที่อ้อไม่สนใจ เพราะถึงไม่เป็น สส. แต่เราก็พัฒนาประเทศได้ เป็นที่ปรึกษา เป็นเวิร์กกิ้งกรุ๊ปได้ อีกทั้งประสบการณ์ที่เราได้จากงานเหล่านี้ เราสามารถนำมาสอนนักศึกษาได้เยอะมาก แล้วเด็กเขาก็ชอบที่ได้ฟังเรื่องราวจากประสบการณ์จริง ได้รับทราบว่ามันมีอุปสรรคปัญหาอย่างไรบ้าง”
“มีหลายพรรคมาถามว่าสนใจการเมืองหรือเปล่า คืออ้อสนใจ อ้อเกาะติดการเมืองมาตลอด อ้อบอกได้เลยว่าใครทำอะไร แต่จะให้มาเลือกตั้ง บอกได้เลยว่าขี้เกียจค่ะ มันต้องทุ่มเทมากพอสมควรในการจะเป็นนักการเมืองที่ดี ซึ่งอ้อคงไม่สามารถบาลานซ์กับการเป็นแม่ที่ดีได้ เพราะอย่างไร อ้อก็ต้องให้ความสำคัญกับน้องขิม (ด.ญ.พอดี ปรีชานนท์) ก่อน”
ครอบครัวของ Working Mom
แม้สังคมสมัยใหม่จะเปิดกว้าง และยอมรับว่า ผู้หญิงในปัจจุบันเก่งขึ้น โอกาสและความก้าวหน้าต่าง ๆ ก็วิ่งหาผู้หญิงมากขึ้น เหมือนเช่นที่เกิดกับ ดร.การดี แต่ในฐานะ “แม่” การแบ่งเวลาในแต่ละช่วงของชีวิตให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า
“การเลี้ยงดูลูกของอ้อก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุของลูก โดยในช่วง 0 - 3 ขวบอ้อเลี้ยงเอง และมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายเป็นผู้ช่วย ในช่วงนั้นอาจจะมีไปทำงานบ้าง แต่ไม่เยอะนัก พองานเลิกเราก็กลับมาเลี้ยงเขาแล้ว จนลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล จึงค่อยเริ่มรับงานมากขึ้น”
“เวลาที่เขาเป็นเด็ก การเลี้ยงลูกก็คือการที่เรา Explore โลกไปด้วยกัน อ่านหนังสือ วาดรูประบายสี เดินเล่นในสวน พอถึงช่วงชั้นอนุบาลก็ยังเป็นคอนเซ็ปต์สายลมแสงแดด ปั้นดินเป็นตุ๊กตุ่นตุ๊กตา (น้องขิมเรียนที่โรงเรียนอนุบาลช้างเผือก-แนวเตรียมความพร้อม) แต่พอลูกเข้า ป.1 เรารู้เลยว่า ชีวิตเล่นของลูกกลายเป็นการเรียนในเชิงวิชาการ การบ้านของลูก พ่อแม่ต้องมีส่วนเยอะมาก เป็นโลกแห่งการเรียนจริง ๆ และเป็นครั้งแรกที่ลูกพูดกับอ้อว่า เขาเครียดค่ะ”
จากเด็กอนุบาลคนเก่งในสายตาแม่ มีความมั่นใจ และมีภาวะผู้นำสูง เมื่อเปลี่ยนโรงเรียน เปลี่ยนระบบการเรียนการสอน ก็ทำให้คนเป็นแม่เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาขึ้นเช่นกัน
“ยกตัวอย่าง ตอนเรียนอนุบาล ขิมอ่านคำว่า ปู ไม่ได้ ขิมรู้ว่า ปอ สระอู แต่ขิมตอบว่า เต่า คือเขาไม่มีแนวคิดของการอ่านเลย ในขณะที่เพื่อนนั่งข้าง ๆ เขาเขียนคำว่า กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช ได้แล้ว” (หัวเราะ)
“รูปแบบการศึกษาเหล่านี้มันทำให้เราตั้งคำถามว่า แล้วหลักการการเลี้ยงลูกของเราที่เหมาะสมคืออะไรเหมือนกัน เพราะอย่างภาษาอังกฤษ อ้อก็พูดกับเขาเป็นภาษาอังกฤษ เขาก็ฟังรู้เรื่อง แต่อ้อไม่เคยสอนอ่าน พอเข้าโรงเรียน จากที่เขาเคยมั่นใจว่าเขาเป็นเด็กที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ แต่มันไม่ใช่แล้ว เขาต้องเขียนให้ได้ด้วย”
“ในฐานะแม่ เราจึงพยายามเลือกทางสายกลางให้ลูก แม้ว่าเราจะไม่อยากให้ลูกเครียด แต่ลูกก็ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนรอบข้างด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าเขาแตกต่างจากเพื่อนในกลุ่ม เขาก็จะเกิดปมด้อย ไม่รักเรียน แต่ถ้าเรามามุ่งติวให้ลูกเก่ง เพื่อให้ลูกมั่นใจ เด็กเขาก็จะเครียด เพราะฉะนั้น การเลี้ยงลูกของอ้อก็คือการพยายามหาจุดที่สมดุลที่สุดค่ะ”
นอกจากนั้น เทคนิคในการเลี้ยงลูกให้ดี และมีมุมมองที่กว้างไกล ดร.การดีบอกว่า จำเป็นที่พ่อแม่จะต้องเป็นคนเปิดหน้าต่างทุกบานเหล่านั้นให้ลูกได้สัมผัส ซึ่งสำหรับครอบครัว ดร.การดี ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จึงกลายเป็นวันแห่งการเปิดหน้าต่างเหล่านั้น
“เสาร์อาทิตย์เป็นช่วงเวลาที่เราจะอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน อ้อจะให้ลูกเลือกเองว่าเขาสนใจอะไร แล้วเราจะสนับสนุนเขาต่อ อย่างตอนนี้เขาเรียนเปียโน เพราะเขาเห็นแม่เล่น เขาก็อยากเล่นเป็นบ้าง หรือเรียนขี่ม้า อันนี้เขามาโน้มน้าวอ้อเองเลย ว่าเขาอยากเรียน เขารักสัตว์ แต่อ้อจะไม่ส่งเสริมให้ลูกไปติววิชาการค่ะ เพราะจันทร์-ศุกร์ก็เยอะมากแล้ว”
แง่คิดในการเป็นแม่’09
อาจมีผู้หญิงเก่งหลายคนที่มองว่าชีวิตและความก้าวหน้าของตนเองต้องสะดุดหยุดลงเมื่อผันตัวมาเลี้ยงลูก หรือแม้จะเต็มใจพักงานมาทุ่มเทให้ลูกอย่างเต็มที่ แต่ก็มีหลายคนที่ยังคงเฝ้ามองเพื่อนร่วมรุ่นเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ในจุดนี้ ดร.การดี ให้กำลังใจว่า
“อ้อว่าชีวิตมันจัดการได้ค่ะ อยากให้ใจเย็น ๆ เราอาจจะมองว่าเราช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่น เขาไปถึงไหนต่อไหน แต่ชีวิตเรามันนานกว่าปีสองปี เรามีช่วงเวลาเลี้ยงลูก แต่อีกไม่นานเราก็กลับมาวิ่งบนรันเวย์ของเราได้เหมือนกัน ก็ขอให้คุณแม่ที่เป็นเวิร์กกิ้งมัม - ซิงเกิลมัมทุกท่านค่ะ”
“นอกจากนั้น ในมุมมองของตัวเอง อ้อยังสนับสนุนผู้หญิงให้ออกมาทำงาน และสามารถพึ่งตัวเองได้นะคะ อย่าทิ้งความฝันของตัวเองไป เพราะว่าหากจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราโดนลบไปแล้ว มันก็อาจทำให้เราหดหู่ กลายเป็นคนอีกคนซึ่งก็จะไม่เกิดผลดีกับลูกด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันก็อย่าเอาความฝันตัวเองเป็นที่ตั้งมากนัก ให้นึกถึงชีวิตของลูกที่จะอยู่ยาวกว่าเรามาเป็นองค์ประกอบด้วย อยากให้หาจุดสมดุลเหล่านี้ให้เจอ ให้เรากับลูกโตไปด้วยกัน ถึงจุดหมายปลายทางพร้อม ๆ กัน”
และนี่คือทางเดินที่ผู้หญิงเก่งคนหนึ่งในชื่อ “ดร.การดี เลียวไพโรจน์” เลือกเดิน เลือกมอง และเลือกเป็น
****************************
ภาพโดย อดิศร ฉาบสูงเนิน