xs
xsm
sm
md
lg

ฮูลิแกน-เชิ้ตดำ-สนามแย่ วิบากกรรมไทยลีกเลก 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองเชียร์ของสโมสรต่างๆ เริ่มมากขึ้นทุกขณะ
แม้ว่าศึกลูกหนังไทยแลนด์ลีกจะมีการฟาดแข้งกันมาตั้งแต่ปี 2539 แต่คงไม่มีครั้งไหนที่จะได้รับความนิยมจากแฟนบอลเท่าในฤดูกาลปัจจุบัน อันมีจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียงหลักสิบ หลักร้อย เข้าสู่หลักพัน และมีแนวโน้มที่จะทะลุหลักหมื่นในเร็ววัน

ซึ่งสาเหตุแห่งความนิยมที่เพิ่มขึ้นคงหนีไม่พ้นการปฏิวัติตัวเองตามนโยบายของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ 'เอเอฟซี' ที่ยื่นเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแห่งศึกไทยลีก 2009 เพื่อสร้างฟุตบอลอาชีพ หวังต่อยอดไปถึงการพัฒนาวงการฟุตบอลเอเชียให้เทียบเท่ากับสโมสรยุโรป จนสโมสรต่างๆ รวมทั้งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องลุกมาเดินตามนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง

นอกจากจำนวนแฟนลูกหนังที่เพิ่มขึ้น และการจัดการแข่งขันอย่างมีระบบมากขึ้น รวมไปถึงความพยายามพัฒนาของสโมสรต่างๆ ที่เป็นเรื่องดีของวงการฟุตบอลไทย อย่างไรก็ตามประโยคที่ว่า 'กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว' ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ เมื่อจบการแข่งขันเลกแรกในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ในฟุตบอลลีกของประเทศไทยยังคงตามหลอกหลอนทุกฝ่ายให้เร่งแก้ไขกันต่อไป

เชิ้ตดำคุณภาพแย่

สำหรับศึกฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก 2009 มักเกิดปัญหาระหว่างการแข่งขันอยู่เนืองๆ จากการตัดสินของ 'สิงห์เชิ้ตดำ' ที่ลงทำหน้าที่ในสนาม ซึ่งเรื่องดังกล่าว ผศ.ชูชัย บัวบูชา ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ถูกดึงมาเพื่อแก้ปัญหามาตรฐานของเหล่าบรรดาเชิ้ตดำไทยลีก ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่หนักใจไม่น้อย

"หลังได้รับมอบงานแล้วต้องยอมรับเลยว่าตัวเองก็นอนไม่ค่อยหลับ คิดมากเหมือนกัน อย่างกรรมการบางคนเดินทางไปถึงสนามแล้วทุกทีมส่ายหน้าเลย เพราะจากผลงานที่ผ่านมาทำให้สโมสรต่างๆ เอือมระอาการทำหน้าที่ พูดแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อมเลยคือมันเป็นหายนะของวงการฟุตบอลโดยแท้ สโมสรเขาใช้เงินกันเป็นสิบล้านบาทเพื่อก่อร่างสร้างทีมฟุตบอลทีมหนึ่งขึ้นมา แล้วกว่าจะได้แข่งขันในไทยพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของประเทศมันไม่ง่ายเลย กลับต้องมาพังเพียงเพราะการทำหน้าที่ของกรรมการบางคน

"อย่าคิดว่าผลแพ้ ชนะ หรือ เสมอ เพียงนัดเดียวมันเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะมันมีผลต่อการอยู่รอด หรืออันดับ รวมถึงการลุ้นแชมป์ด้วย บางทีมอาจต้องตกชั้นเพียงเพราะการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินที่ผิดพลาดเพียงเกมเดียว เมื่อจบฤดูกาลด้วยคะแนนที่ตามหลังทีมรอดตกชั้นเพียงคะแนนเดียว ดังนั้นผู้ตัดสินในยุคที่ผมเข้าทำงานจะต้องไม่ผิดพลาด หรือหากผิดแล้วไม่ควรจะผิดซ้ำสอง"

โดยประธานผู้ตัดสินวัย 58 ปี กล่าวถึงการแก้ปัญหาเอาไว้ว่า "ผู้ตัดสินจำเป็นต้องรู้กติกา และก็ไม่ใช่รู้เฉยๆ แต่รู้แล้วต้องถ่องแท้ลึกซึ้ง สามารถนำไปปฏิบัติได้ เรื่องแบบนี้ต้องสอนกัน แน่นอนว่าต้องมีการอบรมเรื่องการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ภิรมย์ อั๋นประเสริฐ หรือว่า ปรัชญา เพิ่มพานิช ที่ต่างก็เคยไปทำหน้าที่ในฟุตบอลโลกกันมาแล้ว จะมาทำหน้าที่นี้"

อย่างไรก็ตามอดีตผู้ตัดสินฟีฟ่ารายนี้ยอมรับว่าการพัฒนาผู้ตัดสินนั้นคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร "ต่อจากนี้ไปผู้ตัดสินคนไหนทำผิดก็ต้องรับโทษ ทำหน้าที่ดีก็จะได้ทำงานต่อไป ผู้ตัดสินคนไหนทำผิดซ้ำซาก ต้องรู้ตัวเอง ใครไม่พัฒนาต้องออกไป ผมเชื่อว่ามีคนอยากทำงานนี้อีกเยอะ แต่จะให้เห็นผลในชั่วข้ามคืนนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลาให้ความรู้ ให้ประสบการณ์เขา มันไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด ซึ่งยืนยันได้ว่าจากนี้ผมจะกวดขัน และคุมเข้มการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินมากขึ้น เพื่อให้วงการฟุตบอลของเราพัฒนาต่อไปพร้อมๆ กับฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก และการแข่งขันในระดับอื่นๆ ด้วย"

คุมเข้ม 'ฮูลิแกน'

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่น่ากังวลจากการที่มีแฟนลูกหนังจำนวนมากแห่แหนกันเข้าชมเกมลูกหนังไทยพรีเมียร์ลีกในช่วงเลกแรกที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ความรุนแรงจากเหล่าบรรดาแฟนบอลที่พร้อมจะแปลงร่างเป็น 'ฮูลิแกน' ลูกหนังได้ทุกเมื่อ หลังเริ่มมีแฟชั่นการปาขวดน้ำลงสู่สนามแข่งขันเนื่องจากไม่พอใจการตัดสินของ 'สิงห์เชิ้ตดำ' หรือผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เรื่องดังกล่าว 'ดร.ลูกหนัง' วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ยอมรับว่ารู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่น้อยว่าอาจบานปลายถึงขั้นก่อจลาจ]เหมือนที่เคยเห็นในต่างประเทศ

"รู้สึกกังวลมากทีเดียวกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในสนาม ต้องยอมรับในวันนี้ว่ามีแฟนฟุตบอลจำนวนมากเข้าสู่สนามไทยลีก ดังนั้นเราจึงขอความร่วมมือไปยังสโมสรต่างๆ ให้ร่วมกันดูแลเรื่องความปลอดภัยให้แก่แฟนๆ แม้ว่าส่วนตัวจะเป็นห่วงแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วคงห้ามกันยาก เพราะสนามต่างๆ ไม่สามารถจำกัดความจุของแฟนฟุตบอลได้ อย่างเมื่อก่อนสมัยผมยังเป็นนักฟุตบอลลงเล่นฟุตบอลถ้วย ก. ที่สนามศุภชลาศัย ก็เกิดเหตุการณ์สนามแตกนับครั้งไม่ถ้วน เพราะหากไม่ให้แฟนบอลเข้าสนามก็เกิดจลาจลพังรั้ว พังประตูกันอยู่ดี

"ผมถามว่าต่อให้ทุกสนามมีตำรวจดูแลถึง 50 คน แต่หากแฟนฟุตบอลจำนวน 3,000 - 4,000 คน คิดจะตีกันจริงๆ คิดหรือว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะทำอะไรได้ ดังนั้นเมื่อมันเอาไม่อยู่ เราต้องมาคิดแก้ปัญหากันที่จุดเริ่มต้น นั่นคือการสร้างวัฒนธรรมการชมฟุตบอลอย่างไรไม่ให้รุนแรง เรื่องตะโกนด่าทอกันมันธรรมดา แต่ต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะควบคุม ต้องระวังไม่ให้เกิดการยั่วยุรวมถึงการแยกแฟนบอลทั้งสองฝ่ายออกจากกัน"

ขณะเดียวกัน 'ดร.ลูกหนัง' ยืนยันว่าเรื่องการควบคุมแฟนบอลให้อยู่ในกรอบนั้นเป็นหน้าที่ของสโมสร ไม่ใช่เรื่องที่ ไทยพรีเมียร์ลีก จะต้องลงไปปฏิบัติเอง "เราเพิ่งเริ่มต้นพัฒนาลีกสู่ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งไทยพรีเมียร์ลีกเองก็มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้ทุกอย่างเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง แต่การจะให้เราลงไปทำทุกอย่างคงไม่ใช่ หน้าที่ของไทยพรีเมียร์ลีกคือการออกระเบียบ กติกา มารยาทให้เป็นไปในทางเดียวกันทั้งลีก เราวางแผนที่จะออกหนังสือคู่มือเพื่อให้แต่ละสโมสรไปใช้เป็นหลักในการดูแลสนามเหย้าของตัวเอง ว่าแต่ละครั้งควรมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเท่าไร ป้องกันแฟนฟุตบอลอย่างไร แต่จะให้ไทยพรีเมียร์ลีกลงไปสั่งตำรวจอยุธยา 50 นาย มาดูแลที่สนามแข่งขันเหย้าของทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมันทำไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราจะทำคือระบุว่า ที่สนามกีฬากลางจังหวัดอยุธยาต้องมีตำรวจรักษาความปลอดภัย 50 คน ทีมการไฟฟ้าฯ ต้องนำตำรวจมาดูและความสงบตามจำนวนที่ระบุ นั่นเป็นสิ่งที่เขาทำกันทั่วโลก"

สำหรับมาตรการลงโทษหากเกิดความรุนแรงจากการปะทะกันของแฟนฟุตบอลนั้น ดร.วิชิต เปิดเผยว่าต้องมีการลงโทษอย่างหนักแน่นอน "แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการผ่อนปรนเนื่องจากเป็นการจัดฟุตบอลในมาตรฐานใหม่เป็นปีแรก แต่ถ้ามีการตีกันของกองเชียร์ในสนามขึ้นมา บอกได้เลยว่าสโมสรต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นเรื่องเสียหาย เสียชื่อเสียง ทุกคนต้องช่วยกัน สโมสรเองก็มีหน้าที่ต้องดูแลแฟนฟุตบอลของตัวเอง หากปล่อยปละละเลยปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ยืนยันได้เลยว่าโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท ต้องถูกนำมาใช้ เพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบ และเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วย"

สนามแย่ต้องแก้ไข

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่พบในศึกไทยพรีเมียร์ลีก 2009 หลังฟาดแข้งกันไปจนจบเลกแรก คือสภาพสนามเหย้าของบางสโมสรนั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ หรือไม่ก็จัดโปรแกรมแข่งขันในเวลา 17.30 น. ขณะที่สภาพของไฟสนามนั้นกลับมีความสว่างไม่เพียงพอ ซึ่ง ดร.วิชิต กล่าวว่า "ที่ผ่านมาผมเดินทางไปดูมาหลายสนาม ก็ได้รับการร้องเรียนจากบางสโมสรว่าไม่อยากไปแข่งขันที่สนามสถาบันพลศึกษา สมุทรสาคร อันเป็นสนามเหย้าของทีมทีทีเอ็มฯ เนื่องจากสภาพพื้นผิวไม่เรียบ แผ่นหญ้าปุปะ บางช่วงเละเป็นปลัก เราจึงได้ทำหนังสือตักเตือนไป เขาก็ขอเวลา 2 สัปดาห์เพื่อปรับสภาพใหม่พอซ่อมเสร็จฝนก็ดันตกลงมาอีก ส่งผลให้สนามย่ำแย่อย่างที่เห็นๆ กัน

"อย่างไรก็ตามสโมสรทีทีเอ็มฯ ได้รับปากว่าจะมีการปรับปรุงสนามครั้งใหญ่ให้ดีกว่าเดิม เพื่อพร้อมรองรับการแข่งขันในเลกที่ 2 เรื่องนี้ผมทราบดีว่าสนามแห่งนี้เป็นสนามที่เช่าสถาบันพลศึกษาฯ ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของสนาม ที่ผ่านมาเขาใช้สนามนี้ในการแข่งขันกีฬารายการอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะไปห้ามก็คงไม่ได้ แต่ต้องรักษาให้อยู่ในสภาพดีเช่นกัน หากเลก 2 เริ่มแล้วแต่สภาพยังไม่ดีขึ้นอาจมีการขอร้องให้เปลี่ยนสนามเหย้า"

ขณะเดียวกัน ดร.ลูกหนัง เผยว่าที่ผ่านมานั้นเดินทางไปชมเกมในหลายสนามแล้ว "จากสายตาของผมทีมที่มีสนามอยู่ในสภาพดีน่าจะมีหลายทีม อาทิ เมืองทอง ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าส เอฟซี, โอสถสภา เอ็ม 150, ราชนาวี ระยอง และ ชลบุรี เอฟซี กับ ศรีราชา เอฟซี ที่ใช้สนามร่วมกัน รวมถึง ทีโอที ที่ใช้สนามกลีบบัว ในจังหวัดกาญจนบุรี

"ที่ผมบอกว่าสภาพดีนั้นคือพื้นผิวถือว่าอยู่ระดับใช้ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะดีมาก อย่าง ราชนาวี นั้นมีรายงานมาว่าพื้นสนามแข็งมาก ก็มีการแจ้งกลับไปให้ปรับปรุง หรือทีมอย่าง การท่าเรือไทย เอฟซี บางจุดของสนามนั้นมีหญ้าตาย ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อมีรายงานมาก็ขอให้ทุกฝ่าย ทุกสโมสรไปดำเนินการปรับปรุงให้ดีขึ้น"

นอกจากนี้ ดร.วิชิต ยังกล่าวถึงเรื่องของแสงสว่างไม่เพียงพอในสนามแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกช่วงเลกแรกที่ผ่านมาว่า "เรื่องไฟสนามเราได้บอกกล่าวกันตั้งแต่ก่อนเปิดฤดูกาลว่าทางเอเอฟซี หรือสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียวางมาตรฐานความสว่างไว้ที่ 1,200 ลักซ์ แต่พอเอาเข้าจริง การทำให้ทุกสนามมีแสงสว่างมากตามเกณฑ์ของเอเอฟซีเป็นเรื่องยาก เพราะจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลในการติดตั้งระบบไฟส่องสว่างขนาดนั้น อีกทั้งหลายสโมสรก็ยังต้องเช่าสนามในการแข่งขัน ไม่มีสนามเป็นสมบัติส่วนตัว การจะไปยุ่มย่ามปรับปรุงโดยพลการทำไม่ได้ เราจึงยอมผ่อนผันว่า ถ้า 1,200 ลักซ์มันยากเกินไป ผมขอแค่ 600 ลักซ์ก่อน ถือว่าพบกันครึ่งทาง เนื่องจากแสงสว่างที่น้อยเกินไปมันส่งผลเสียหลายประการ"

"หากไฟสนามไม่พอ อย่างแรกที่มีปัญหาคือการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน โอกาสผิดพลาดมีมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ที่ทุกวันนี้เรากำลังพยายามให้มีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี แต่ถ้าแสงสว่างมีน้อยการถ่ายทอดสดก็มีปัญหา ดังนั้นต้องฝากให้ทุกสโมสรให้ความสนใจกับเรื่องนี้ด้วย" ประธานไทยพรีเมียร์ลีกกล่าว

ทั้งนี้ ดร.วิชิต กล่าวยืนยันด้วยว่าไทยพรีเมียร์ลีกไม่ได้จ้องจะจับผิดสโมสรสมาชิกเพียงอย่างเดียว "เราไม่ได้มาจับผิดกัน สนามไหนแย่แล้วจะห้ามแข่งกันอย่างเดียว แต่ผมก็อยากช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลในบ้านเราด้วย เรามีการพูดคุยกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อของบประมาณจากภาครัฐมาใช้ในการปรับปรุงสนามแข่งขันด้วย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพูดคุย ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือวงการกีฬาฟุตบอลเท่าใดนัก เราจึงเห็นว่าตอนนี้น่าจะถึงเวลาที่เขาจะยื่นมือมาช่วยเหลือบ้าง"

ทั้งหมดนี้คือปัญหาหลักๆ ที่มีการร้องเรียนกันมากในช่วงการแข่งขันเลกแรกที่ผ่านมา คงต้องมาติดตามกันว่าศึกไทยพรีเมียร์ลีก 2009 ในเลกที่ 2 ที่จะระเบิดศึกกันในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือไม่?

*********

เรื่อง-เชษฐา บรรจงเกลี้ยง
ผศ.ชูชัย บัวบูชา ประธานผู้ตัดสินระหว่างทำหน้าที่ในสนามแข่งขัน
ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด


การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในไทยพรีเมียร์ลีกเกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง
บางสนามปล่อยกองเชียร์ไปยืนหลังประตูเสี่ยงอันตรายต่อผู้เล่นและกรรมการ
สภาพพื้นสนามของสโมสรทีทีเอ็ม สมุทรสาคร
กำลังโหลดความคิดเห็น