xs
xsm
sm
md
lg

25 ปีพงษ์เทพ เมื่อ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ สู่เบญจเพส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นานมาแล้ว ณ ที่ห่างไกลจากเมืองหลวงอันจอแจ มีเด็กหนุ่มร่างผอมบางคนหนึ่งทำหน้าที่เคาะกลองโทนสร้างความบันเทิงให้กับคนในละแวกบ้าน โดยที่ไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่า ในอนาคตชีวิตของเด็กหนุ่มผู้นี้จะเกี่ยวยึดผูกติดกับเสียงดนตรีชนิดที่ไม่สามารถพรากจากกันได้แม้แต่วินาทีเดียว

วันเวลาเปลี่ยนเด็กหนุ่มจากที่ราบสูงคนนั้นให้กลายเป็น นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือ น้าหมู ของใครต่อใคร ซึ่งในเวลาต่อมา นายพงษ์เทพคนนี้ก็ได้ซึมซับคำสอนของอาจารย์ศิลปะในรั้ววิทยาลัยที่บ้านเกิด จนวิญญาณของหนุ่มชาวห้วยแถลงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ซึ่งส่งผลต่องานของเขาในกาลต่อมา

“ผมโชคดีที่ได้เรียนศิลปะอยู่ 2-3 ปี เลยมีโครงสร้างทางความคิดจากอาจารย์ที่ถ่ายทอดว่า ถ้าจะทำงานศิลปะต้องออกมาจากข้างใน เพราะมันไม่ใช่การเย็บกระเป๋าเพื่อไปขายให้ใครหิ้ว แกคิดอะไรต้องออกมาอย่างนั้น อย่าไปเสแสร้ง แกจะเขียนรูปอะไร คนอื่นดูไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร แต่มันต้องออกมาจากข้างใน อาจารย์เขาเปิดวิธีคิดตรงนี้ให้ การเขียนเพลงก็เหมือนกัน ต้องเขียนจากข้างใน ไม่ใช่อยู่ๆ เอ้า วันนี้เขามีข่าวอะไรวะ อ๋อ ไข้หวัดหมู เอ้า (ร้องเป็นเพลง) ไข้หวัดหมู อย่าอยู่ใกล้กัน ผมทำอย่างนั้นไม่ได้”

ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ทำให้ ตังเก, คนกับหมา, คิดถึงบ้าน, ยิ้มเหงาๆ และอีกสิบร้อยบทเพลงของพงษ์เทพ ดังติดใจและฮิตติดปากนักฟังเพลงยาวนานข้ามทศวรรษ หลายคนยกย่องว่าเพลงของพงษ์เทพมีเสน่ห์ตรงกลิ่นบ้านไร่ที่อวลอยู่ทุกวรรคตอน บางคนบอกว่าการได้ฟังเพลงของพงษ์เทพเหมือนการได้สดับบทกวีชิ้นดีบทหนึ่ง

แม้แต่ ‘นายผี–อัศนี พลจันทร์’ ปัญญาชนชื่อดังก็ยังกลั้นความชื่นชมที่มีต่อบทเพลงของพงษ์เทพเอาไว้ไม่อยู่ จนต้องยกสมญา ‘กวีศรีชาวไร่’ ให้เขาถือครอง

นับจากวันที่พงษ์เทพยืนรัวกลองในหมู่บ้านเล็กๆ ผ่านวันที่เขากับสมาชิกวงคาราวานพ่ายแรงปืน จนต้องถอยไปเล่นดนตรีกล่อมตัวเองอยู่ในป่าทึบทึม จนถึงวันที่เดินออกจากป่า คืนสู่เมืองที่ไม่เหมือนเดิมแห่งนี้ บทเพลงที่นิยมเรียกกันว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ก็มีพลวัตเคลื่อนไปตลอดเวลา มิได้นิ่งงันอยู่ในบริบทเดิมๆ เหมือนวันแรกที่พวกเขาเดินเข้าป่าอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของเพลงเพื่อชีวิตในยุคคืนเมืองอาจเทียบไม่ได้กับความผันแปรของเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันสมัย เพราะบทเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงการเมืองแบบชัดแจ้งดังที่วงคาราบาวหรือวงคาราวานเคยประพันธ์เอาไว้ในอดีตเริ่มถดหายไป เพลงเพื่อชีวิตในพุทธศักราชนี้กลับมีเนื้อร้องที่ข้องแวะอยู่กับสังคมที่จับต้องได้มากกว่าจะไม่วิพากษ์หรือเปรียบเปรยประชดประชันชนชั้นปกครองเหมือนก่อน

สำหรับพงษ์เทพ สิ่งที่ทำให้เพลงเพื่อชีวิตของเขาเริ่มถอยห่างไปจากผิวของรัฐ ก็คือความซับซ้อนและขมุกขมัวของสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมือง’ ซึ่งเป็นความพร่าเลือนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในความรู้สึกของเขา

“ผมคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเมืองในวิถีปัจจุบัน ซึ่งมันจะเป็นวิถีไหนก็แล้วแต่ แต่ผมไม่เหมาะกับการเมืองในรูปแบบนี้ แต่ถ้ามีชาวบ้านจากโคกปลากั๊ก มาเดินขบวนเรื่องรัฐไม่ดูแลมันสำปะหลัง แบบนี้ผมเห็นด้วย ผมจะร่วมร้องเพลงให้ฟัง แต่การเมืองในรูปแบบปัจจุบันนี้ผมไม่ถนัด ไม่ได้หมายความว่าใครถูก ใครผิดนะครับ แต่ผมไม่ถนัด แต่ถ้ากรรมกรเดินขบวนเรียกร้องค่าแรง ถูกกดค่าแรง ถูกเอาเปรียบ แบบนี้ผมถนัด มันเป็นภาพที่ชัดเจน เห็นชัด ไม่ซับซ้อน แต่ปัจจุบันนี้มันสลับซับซ้อน เงื่อนไขเยอะมากจนผมรู้สึกว่าตัวเองคงไม่เหมาะ”

แม้จะออกตัวว่าไม่สันทัด แต่การปรากฏตัวบนเวทีพันธมิตรในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ของพงษ์เทพ เกิดจากสำนึกที่สามัญที่สุดของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งไม่ต้องการนับญาติกับความรุนแรง

“วันที่ผมขึ้นไปร่วมกับเขาคือวันที่เขายิงประชาชน แล้วมีคนขาขาด มีคนตาย ที่ผมขึ้นไปไม่ใช่เพราะผมเห็นด้วยกับกลุ่มนั้น แต่ผมแค่อยากจะบอกว่า อย่าฆ่ากันได้ไหม แค่นั้นเอง อย่างอื่นผมไม่ยุ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมายิงใส่ประชาชน ประชาชนเขาก็รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เป็นธรรมดา มีคนรู้ทัน คนโง่ คนฉลาด คนเข้าใจ ไม่เข้าใจ ถ้าคุณแก้ปัญหาโดยการยิงปืนใส่กันเนี่ย ผมว่าใครๆ ก็รับไม่ได้

“ต่อให้เป็นโจร คุณก็ไม่มีสิทธิ์จะไปยิงเขาตาย นอกจากจับมาสอบสวนว่าเขาผิด แล้วก็ติดคุกติดตาราง แล้วนี่คนที่เขามาเดินขบวน เขาไม่ใช่โจร ไม่ใช่ขโมย ฉะนั้นเรื่องรุนแรงนั้นผมไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนโดน ผมก็เข้าใจ และเห็นใจฝ่ายนั้น แต่เรื่องรูปลักษณ์การเมืองทั้งหมดที่จะเคลื่อนไป ผมขอไม่เข้าร่วม เพราะมันซับซ้อนเกินไป”

เมื่อการเมืองเป็นเรื่องที่มีเงื่อนปมขมวดยุ่งกันเกินกว่าที่เขาจะทำความเข้าใจได้ บทเพลงในระยะหลังของพงษ์เทพจึงฟุ้งหอมไปด้วยกลิ่นปรัชญาและการให้กำลังใจ เป็นท่วงทำนองที่เขาประสงค์ให้ใครก็ตามที่ได้ฟังรู้สึกอิ่มใจและมีกำลังต่อสู้กับปัญหาชีวิต

“ตอนนี้หลักๆ ที่ผมเขียนคือเพลงในเชิงปรัชญาชีวิต ในเชิงการให้กำลังใจ การดูแลจิตวิญญาณของกันและกัน อย่างเช่น เพลงอย่าโกรธความมืด ผมมองว่าชีวิตคนเราบางจุดมันมีความมืดมนในจิตใจ ถ้าเรายิ่งไปหงุดหงิดหรือโกรธมัน ความมืดก็จะมืดมิดลงไปเรื่อยๆ มืดจนมองไม่เห็นช่องทางอะไร แต่ถ้าเราไม่โกรธ ตั้งสติแล้วจุดเทียนสักเล่ม หรือเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ช่วยจุดเทียนให้สักเล่มหนึ่ง ซึ่งหนึ่งแรงเทียนบางทีก็สว่างไสวในใจได้ ไม่จำเป็นจะต้องวาดความหวังว่าจะต้องมีสปอตไลต์สักห้าดวงสิบดวงจะได้สว่างทั้งบ้าน ชีวิตเราไม่น่าจะหวังขนาดนั้น แค่เทียนเล่มเดียวก็พอ

“แสงเทียนเป็นแสงที่บริสุทธิ์ มันสามารถช่วยส่องประกาย ช่วยเติมใจให้สว่างได้ ถ้าคุณทำความคุ้นเคยกับความมืด ทำความเข้าใจกับมัน ยอมรับกับความมืดนั้น เวลามีเทียนขึ้นมาสว่างสักเล่มหนึ่ง มันจะสว่างในใจเลย เพลงของผมจะออกมาโทนนี้”

นอกจากต้องการเพิ่มกำลังใจให้คนท้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ฝังอยู่ในหัวและเวียนว่ายอยู่ในใจของกวีศรีชาวไร่คนนี้มาตลอด หลังจากที่ได้ขับรถเข้าเมืองเพื่อเล่นดนตรีตามผับบาร์ และได้นั่งยันคันเร่งอยู่หลังพวงมาลัยกลับคืนไร่ที่จังหวัดนครราชสีมาก็คือ วิถีชีวิตของคนชนบทซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่บิดเบี้ยวจากอดีตอย่างน่าใจหาย

“ชีวิตคนบ้านเราถูกสังคมที่ใช้จ่ายเกินกำลังเข้ามาครอบงำมากเกินไป ชาวนาไม่จำเป็นจะต้องมีทีวี 45 นิ้วก็ได้ แต่ถ้าเป็นนักธุรกิจเขาอาจจะต้องดูหุ้นดูอะไร เขาจะมีแปดจอสิบจอมันก็เรื่องของเขา ผมว่าตรงนี้ เราน่าจะช่วยกันมองเมืองไทยว่า เมืองไทยควรจะอยู่อย่างไร คนชนบทควรจะอยู่อย่างชนบทแบบไหน ไม่ใช่อยู่อย่างชนบทแร้นแค้น หรือไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นคนนะ อยู่อย่างไม่แร้นแค้นและมีศักดิ์ศรีนั่นแหละ แต่ไม่ใช่อยู่แบบมีรถเท่ากับคนในเมือง

“สังคมชนบทถูกยัดเยียดให้มีความคิดเหมือนคนในเมือง แล้วคนในเมืองก็พยายามจะออกไปซื้อที่ในชนบท ไปซื้อที่ที่เขาใหญ่ ที่เกาะสมุย แต่ว่าไปซื้อที่แล้วก็สร้างบ้านแบบมีแอร์นะ หรืออยากอยู่บนภูเขาก็ต้องไปอยู่บนยอดเขา ลมก็แรง ฝนฟ้าก็ผ่า แล้วก็ต้องติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง แล้วก็นั่งอยู่ในตู้ อยู่ในห้องกระจกเหมือนขังตัวเอง วิธีคิดแบบนี้ มันกลายเป็นว่าคนในเมืองก็อยากได้แบบนี้ คนชนบทก็คิด โอ้ย ถ้ากูถูกลอตเตอรี่กูจะซื้อรถเบ็นซ์สักคัน มันเป็นความคิดเดียวกันที่สวนทางกันน่ะ และนี่คือปัญหา”

ปัญหาที่พงษ์เทพมองเห็นนี้เอง ที่เป็นกระดูกชิ้นโตทอดตัวขวางสะพานไม้เล็กๆ ซึ่งเคยเชื่อมวิญญาณของเพลงเพื่อชีวิตกับเลือดเนื้อของคนชนบทเอาไว้ ทำให้การถ่ายความคิดลงกระดาษของกวีเพลงคนนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเหมือนก่อน

“เวลาเราจะเขียนเพลงให้คนชนบทเขาฟัง เขาก็อาจจะคิด โอ้ย ไม่ใช่หรอกน้าหมู เราก็อยากรวยบ้างแหละ เราก็อยากมีทีวีจอใหญ่ๆ เหมือนคนในเมืองเขาบ้าง กลายเป็นอย่างนั้นไป ดีไม่ดีเราผิดอีก เขียนยากกว่าสมัยก่อนมาก มันซับซ้อน สมัยก่อน เราเขียน (ร้องเป็นเพลง) ชื่อยายพร แกนอนใต้ต้นหูกวาง ก็รู้เลย สมัยนี้ โอ้ย เพลงอะไรดีวะ ชาวบ้านเขาบางทีไม่ฟังเลยนะ (หัวเราะ)

“แต่เพลงแบบ (ร้องเสียงเลียนแบบนักร้องวัยรุ่น) ร้ากเธอ เข้าใจม้าย ช้านมีความฝัน โอ้ย บ้านนอกนี่ฟังกันเต็มเลย เพราะเขาอยากมีความฝันแบบคนในเมือง หรือถ้าเกาหลีมา ผมแดง เอียงไปข้างนึง บ้านนอกนี่มีเต็มไปหมดเลยนะ ฝุ่นเกรอะเต็มเลย (หัวเราะ) มันไม่ได้ไง ผมว่าเราต้องสังคายนาเรื่องวัฒนธรรมกันครั้งใหญ่เลยว่า เมืองไทยควรจะให้คนมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแบบไหน”

หลังจากได้ฟังถ้อยคำของศิลปินในตำนาน ที่ทางของเพลงเพื่อชีวิตในจินตภาพก็ตีบแคบลงทุกขณะ จนรู้สึกว่าคงไม่มีใครสนใจฟังเพลงเพื่อชีวิตกันต่อไปแล้ว แต่พงษ์เทพกลับหัวเราะร่วนแล้วบอกว่า แม้เพลงเพื่อชีวิตในวิถีปัจจุบันจะไม่ได้รับใช้สังคมในฐานะเพลงการเมืองหรือเพลงยกระดับสังคมชนบท แต่เพลงเพื่อชีวิตก็ยังมีที่ทางที่สวยงามอยู่ในร้านอาหาร ผับ และบาร์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ภัตตาคารหรูหรา แต่ก็เป็นแหล่งรวมพลของคนคอเดียวกันไปแล้ว

“ตอนนี้ในบาร์ ในผับ เพลงเพื่อชีวิตขึ้นป้ายทั่วประเทศเลย มากกว่าเพลงทั่วไปด้วยซ้ำ แล้วร้านที่เป็นตำนานเพลงเพื่อชีวิตก็เปิดกัน ตะวันแดง ตะวันขาว ร้านหมูกระทะก็มี ร้านลาบ ร้านก้อยยังมีเพลงเพื่อชีวิต ฉะนั้น ผมว่าแต่ก่อนมันรับใช้สังคมทางด้านการเมืองหรือด้านจิตสำนึกทางด้านการเมืองเป็นหลัก พอมาถึงตรงนี้คนรุ่นนั้นเขาโตแล้ว มีงานมีการทำกันแล้ว เขาก็อาจจะ แหม อยากย้อนอดีต อยากฟังเพลงคนกับควายจังเลย แต่ว่าฟังแบบเต้นไปด้วยนะ ไม่ได้ฟังแบบ โอ้ย พรุ่งนี้เราจะต้องไปล้มรัฐบาล ไม่ใช่แบบนั้น แต่ว่าฟังแล้วรู้สึกอุ่นใจว่า เออ แต่ก่อน เราฟังเพลงนี้ตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่เลยนะ

“ตอนนี้ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่เหลืออยู่ทั้งหมด มีไม่กี่วงหรอก เป็นเพลงเพื่อชีวิตที่ปลอบโยนจิตวิญญาณของคนที่ทำงาน แล้วเหนื่อยล้าอยู่ เพราะคนที่ฟังเพลงเพื่อชีวิตส่วนมากจะเป็นคนที่ทำงานแล้ว บางคนเริ่มฟัง อายุ 25, 28, 30 พอได้ฟังเพลงเพื่อชีวิต เฮ้ย มีกำลังใจว่ะ มีแรงจัง บางคนบอกผมนะ พอได้ฟังเพลงลมรำเพย โห น้า นี่ชีวิตผมเลยนะ หรือบางคนเพิ่งอกหัก ฉะนั้นเพลงเหล่านี้มันตอบสนองอารมณ์ของคนที่ทำงาน ของคนที่อยากมีกำลังใจ แต่ไม่ใช่ตอบสนองอารมณ์ของสังคมทางการเมืองเหมือนสมัยก่อนแล้ว ยุคมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว”

การรำลึกอดีตของพงษ์เทพไม่ต่างอะไรกับคนที่เดินผ่านคืนวันมาจนเมื่อยเท้า แม้อายุของผู้แต่งจะเริ่มยื่นเข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัยแล้ว แต่บทเพลงของเขาเพิ่งจะมีอายุครบเบญจเพสไปเมื่อปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า ถ้าเป็นคน 25 ปีคือวัยหนุ่มจัดที่เพิ่งจะเริ่มสร้างตัว แต่สำหรับการทำงานเพลงอย่างต่อเนื่องจริงจัง 25 ปีคือช่วงเวลาที่เนิ่นนานหนักแน่น และมีค่าเพียงพอที่จะทำอะไรพิเศษเพื่อฉลองให้กับวาระดังกล่าว

“พอทำงานครบ 25 ปี เราก็คิดว่ามันเป็นตัวเลขสากลที่น่าจะบันทึกความทรงจำหรือคุยกันไว้บ้าง แล้วรุ่นผมเขาก็จัดกันไปหลายคนแล้วนะ ก็คงคิดคล้ายๆ กันว่ารุ่นพวกเราก็ประมาณนี้ ทีนี้ 25 ปีมันก็เป็นเวลาที่เหมาะสมพอสมควร ที่งานมันทำมาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าไม่ใช่น้อย ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะชวนเพื่อนๆ มาหรือประกาศบอก บางคนอาจจะไม่รู้ว่าเราทำงานมา 25 ปี บางคนอาจจะจำไม่ได้ หรือบางคนอาจจะคิดไม่ถึง เฮ้ย แป๊บเดียว 25 ปีแล้วเหรอ ก็อยากจะบอกว่า ฉันทำงานมา 25 ปีแล้วนะเพื่อนนะ แล้วจะคัดเพลงที่ทำมาทั้งหมด ทุกอัลบั้ม อัลบั้มละเพลงสองเพลง มาร้องให้ฟัง บางเพลงอาจไม่เคยได้ฟังเลย มีหลายเพลงที่ไม่เคยได้เล่นเลย เพราะว่ามันเล่นตามงานทั่วไปไม่ได้ ต้องเฉพาะ ต้องนั่งลง ตั้งใจฟัง อะไรแบบนั้น”

25 ปีจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Exclusive Acoustic Concert พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ Live in Bangkok คอนเสิร์ตชื่อฝรั่งที่ศิลปินไทยชาวไร่จะบรรทุกบทเพลงกว่า 40 บทและบทกวีอีกจำนวนหนึ่งไปขับขานบนยกพื้นที่อยู่ไม่ไกลจากที่นั่งผู้ชมของหอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันพุธที่ 13 และ พฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

“ผมอยากบอกเพื่อนว่า ผมทำงานมา 25 ปีแล้วนะ อันไหนไม่ดีก็ขออภัยแล้วกัน อันไหนดีก็ยินดีให้เพื่อนเก็บซึมซับเข้าไปในความฝัน ความคิด หรือว่าต่อเนื่องอะไรได้ก็ต่อไป ถ้าเพลงผมทำให้เพื่อนรู้สึกคลายเหงา คลายกังวลได้บางเวลา ก็มีความสุขแล้ว ถ้ายิ่งเพลงบางเพลงทำให้เพื่อนรู้สึกว่า หลุดออกจากความทุกข์ความโศกได้ ยิ่งดีใจ แต่ไม่ได้หวังว่าต้องให้ทุกคนพอใจในผลงานทุกเพลง เพียงแต่ว่า 25 ปีนี่ตั้งใจจะร้องเพลงให้เพื่อนฟัง ให้มากเพลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และร้องอย่างตั้งใจด้วยครับ”

อดีตเด็กชายชาวโคราชจบเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทเพลงของตัวเองด้วยรอยยิ้มที่หลายคนคุ้นเคย ถัดจากบรรทัดนี้ เรื่องที่เขาจะเล่าต่อไป จะกระหึ่มอยู่บนเวทีที่หอประชุมเล็กๆ แห่งนั้น หลังจากโมงยามแห่งการรอคอยได้เคลื่อนตัวผ่านพ้นเราไปแล้ว

************

Exclusive Acoustic Concert พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ Live in Bangkok บัตรราคา 1,000 บาท ทุกที่นั่ง จองบัตรได้ที่กลุ่มดินสอสี โทรศัพท์ 0-2623-2838-9 พิเศษ! รับ ‘สมุดภาพเพลง 25 ปีกวีศรีชาวไร่’ ทุกที่นั่ง

************

เรื่อง-เวสารัช โทณผลิน





กำลังโหลดความคิดเห็น