เนื่องในวาระ ‘วันวิสาขบูชา’ เวียนมาถึงอีกครั้งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 และประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลกครั้งที่ 5 ‘ปริทรรศน์’ จึงขอร่วมทำหน้าที่รายงานความเป็นมา และกิจกรรมที่น่าสนใจ ของวันสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก
วันวิสาขบูชาโลก
เมื่อเดือนธันวาคม 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ องค์การสหประชาชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 54 ได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล ของสหประชาชาติ และให้จัดกิจกรรมในวันดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ประเทศไทยโดยคณะสงฆ์ รัฐบาล และประชาชน จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวมาตลอดทุกปีมิได้ขาด ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จนถึงระดับนานาชาติ
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ได้จัดประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 ก็ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน ณ หอประชุมพุทธมณฑล และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ที่ประชุมได้ลงนาม ในความร่วมมือเพื่อการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชาในปีต่อมา ณ ประเทศไทยอีก
ที่สุดในเดือนเมษายน 2548 มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ณ พุทธมณฑล และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย เป็นครั้งแรก
โดยในปี 2552 นี้ เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้จัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาโลกเป็นปีที่ 5 เนื่องจากประเทศไทยเหมาะสมด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ประการคือ 1) องค์พระประมุขของประเทศเป็นองค์อุปถัมภกและพุทธมามกะ 2) ผู้นำรัฐบาลเป็นพุทธมามกะ 3) ประชาชนภายในประเทศนับถือศาสนาพุทธมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และ 4) มีสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อให้เป็นการสืบสานฉันทมติของชาวพุทธทั่วโลก
เมืองไทย กับ ‘วิสาขบูชาโลก’ ครั้งที่ 5
ประเทศไทยจัดงานวันวิสาขบูชา ในระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2552 มีเป้าหมายเพื่ออาราธนาและเชิญผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจากนานาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามาร่วมจัดกิจกรรมและประชุมนานาชาติ ณ สำนักงานพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเปิดงานที่จัดขึ้นที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม สมเด็จพระพุฒาจารย์ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจะเป็นองค์ประธานเปิดงานในช่วงเช้า และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ เป็นองค์ประธานเปิดงาน โดยมี พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงาน
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จแทนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารฯ มีพระดำรัสเปิดการจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา ณ พุทธมณฑล มีใจความสำคัญว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยทรงนำหลักธรรมมาสั่งสอนแก่ชาวโลก เพื่อความสุขสงบและความเจริญ ทั้งแก่บุคคลผู้ปฏิบัติและแก่สังคมส่วนรวม การที่ชาวพุทธในทุกส่วนทุกภูมิภาคของโลก ได้อุตสาหะมาร่วมประชุมเนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งหาทางเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายยิ่งขึ้น นับเป็นการบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกโดยแท้
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICUNDV) เปิดเผยว่า บทบาทของประเทศไทยในการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก2552ในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การเป็นประเทศเจ้าภาพการจัด งานวันวิสาขบูชาโลก และการเป็นที่ตั้งของคณะกรรมการสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council of United Nations Day of Vesak) โดยทางสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกและสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ได้ร่วมมือกันจัดงานวิสาขบูชาโลก
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ดังนี้ 1.เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลก 1,300 รูป/คน จาก 80 ประเทศ ได้ร่วมมือกันเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลซึ่งสหประชาชาติกำหนดขึ้น โดยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจะแบ่งการสัมมนาออกเป็น 6 หัวข้อ คือ 1.พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม 2.พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ นานาชาติกับภารกิจในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา 3.พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤติการเมืองและพัฒนาสันติภาพ 4.สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาพระพุทธศาสนา 5.โครงการความร่วมมือการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับสากลสำหรับแจกในโรงแรมทั่วโลก 6.สร้างแหล่งข้อมูลและเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 2.เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวพุทธทั่วโลก เข้าร่วมประชุม และร่วมมือกันในการหาทางออกให้แก่วิกฤตการณ์ดังกล่าว และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขวิกฤติการณ์ของโลกใน 3 ด้าน คือด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมืองและสันติภาพ
ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้กล่าวว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามารถนำไปเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกได้ โดยเฉพาะหลักอหิงสา คือการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความเมตตากรุณาต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างน้อยที่สุดถ้าหากรักษาศีล 5 ให้ครบบริบูรณ์ได้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้โลกนี้เกิดสันติสุขและสันติภาพได้ และได้กล่าวต่อไปอีกว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้เเก่ประชาชนชาวไทย ซึ่งเน้นเรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผลและความมีภูมิคุ้มกัน นับว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการแก้วิกฤตทางเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธศาสนา ของพระพุทธศาสนาที่เน้นพัฒนาชีวิตให้ครบมิติทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านศีล ด้านสมาธิและด้านปัญญา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานสัมโมทนียกถาว่า พระธรรมเป็นมรดกที่ล้ำค่า สร้างความร่มเย็น เป็นสุข และความอบอุ่นแก่ชาวโลก รัฐบาลไทยได้จัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้มีการปฏิบัติธรรม เผยแพร่พระธรรม ซึ่งนับเป็นปฏิบัติบูชา จึงขออนุโมทนาที่รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของวันวิสาขบูชา
โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงานพิธีปิดการฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้หวังว่าไม่ใช่เพียงแต่จะให้โอกาสในการซาบซึ้งถึงบุญคุณของพระพุทธเจ้า และระลึกถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องของการยึดหลักสายกลาง การรู้จักประมาณตน และมีความกรุณาหากนำมาประยุกต์ใช้ให้มีความอดกลั้นและมีความเคารพผู้อื่น ปฏิบัติตัวโดยยึดหลักทางสายกลาง เรียนรู้ที่จะมีความเมตตากรุณา ความอดกลั้น การให้อภัยซึ่งกันและกัน ระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จะสามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ และจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมีความสุข
ศาสนา คือหนทางแก้วิกฤติ
พระธรรมโกศาจารย์ เล่าว่า จากการสัมมนาของชาวพุทธทั่วโลกพบว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเกิดจากระบบทุนนิยมที่แผ่ขยายมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้คนเกิดความครอบครองเห็นแก่ตัว มักคิดว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา ล้วนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนขาดจริยธรรม และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จึงนำไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากการแสวงหาความอยากหรือตัณหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด
พระธรรมโกศาจารย์ จึงสรุปว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง จะต้องใช้ อริยสัจ 4 วิเคราะห์ปัญหา ทุกข์ คือตัวปัญหา สาเหตุที่เกิดปัญหา คือความ โลภ โกรธ หลง หากวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยม ส่งเสริมความโลภ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทางด้านสิ่งแวดล้อมพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ก็ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ส่วนปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องของการใช้ความโกรธ ความหลง ความยึดติดกับอำนาจของกลุ่มตนเอง หลงผิด ไม่ได้ดั่งใจก็โกรธ เกิดความหลงผิด ต้องแก้ด้วยความไม่สุดโต่ง เพราะสุดโต่งคือมองมุมเดียว เราต้องมองหลายๆแง่มุม โดยวิเคราะห์ตามหลักสมุทัย
นิโรธ เป้าหมายสังคมที่มีสันติภาพ และใช้วิธีมรรค คืออย่างไร มองสิ่งต่างๆมักอาศัยกันและกัน ไม่มีใครอยู่โดยลำพัง พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการอาศัยกันและกัน ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไม่เอาคณะสงฆ์เข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง
“การดำเนินชีวิตแบบไม่สุดโต่งเดินทางสายกลาง จะเกิดความสมดุลเรื่องเศรษฐกิจ สมดุลสิ่งแวดล้อม ทัศนะทางการเมืองไม่สุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่งให้มองภาพกว้างมองหลายๆมุมให้เกิดความสมดุล ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เดินตามทางสายกลาง ปลอดจากการเมือง และอยู่โดยไม่ให้มีผลประโยชน์ เมื่อผลประโยชน์ส่วนตนรวมกันหลายๆคนก็ เป็นผลประโยชน์ส่วนรวม” ธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย กล่าว
พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขั้นตอนการสร้างสันติภาพมี 3 ขั้น คือ 1.การป้องกัน ไม่ให้เกิดการขัดแย้ง ไม่ให้เรื่องลุกลาม ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ได้พบกันคุยกัน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เรายืนยันชัดเจนกับเพื่อนมุสลิมว่าอย่าให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องศาสนา หากเกิดความเสียหายทางการเมืองก็ให้เป็นเรื่องการเมือง สงฆ์อย่าเป็นเครื่องมือ อย่าหลงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในการทำลายศาสนา 2. แก้ไข เรียกมาประชุมร่วมกัน หาข้อยุติตกลงกัน เจรจากัน ในฝ่ายรัฐบาลก็ต้องหาวิธีแก้ไขทางการเมืองด้วย 3.รักษาเยียวยา เมื่อขัดแย้งกันแล้ว ไม่ส่งเสริมให้เกลียดกัน ความแค้นพยาบาล สมานฉันท์เกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังเจ็บยังแค้นอยู่ถ้าไม่อภัยกัน ไม่คิดว่าเป็นเรื่องคนไทย ก็จะทำให้ปัญหาลุกลามอีก ต้องช่วยเหลือกันและกัน ไม่ว่าความขัดแย้งทางการเมือง หรือศาสนา ก็ต้องใช้ 3 ขั้นตอนนี้เหมือนกัน
“หากเรายังมีวิกฤติแบบนี้ ต้องเกิดการประทะ เรามีวิธีที่จะหาตัวแบบอะไรที่เป็นโมเดลทางการเมืองที่ไม่กระตุ้นความแสวงหา เหมือนเป็นทางเอกที่ใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ การเมือง เราใส่ธรรมมะเข้าไป รถที่วิ่งบนถนนต้องชนกันบ้าง แต่เศรษฐกิจ การเมืองเหมือนรถที่ไม่มีกันชน เวลาปะทะ พัง เพราะฉะนั้นกันชนตรงนี้คือธรรมมะ จริยธรรม เหมือนภูมิคุ้มกันไม่แยกธรรมะออกจากเศรษฐกิจ การเมือง สถานการณ์ทางการเมืองเราขณะนี้ เป็นศาสตร์การปกครองที่ปลอดธรรมมะ ไม่มีถูกไม่มีผิดเมื่อมีการเลือกตั้งขอให้ชนะ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีธรรมมะ ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งต้องแก้โดยจำกัดความเสียหายไม่ให้ลุกลาม ต้องอดทน มีความเข้าใจกัน ทั้งนี้การจัดประชุมวันวิสาขบูชาโลกประจำปี 2553 มีมติให้ประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกัน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย กล่าว
การจัดงานทุกๆ ปีของวันวิสาขาบูชาดูยิ่งใหญ่ งดงามเบ่งบานไปด้วยบุญกุศล และมันจะเบ่งบานในใจเราทุกๆ วัน ไม่เฉพาะแค่วันวิสาขบูชา หากแต่คนไทยที่มีความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ หรือคนที่มีจิตใจเศร้าหมอง มีแต่ความทุกข์ จะนำหลักธรรมมาปฏิบัติสักนิดประเทศเราคงเป็นสุขไม่น้อย
*********
กำเนิดวันวิสาขบูชา
สมหมาย สุภาษิต หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อ 80 ปีก่อนพุทธกาล พระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 มหาบุรุษ ผู้ยิ่งใหญ่ นามว่า สิทธัตถะ ได้ประสูติกาล ณ สวนลุมพินีวัน พร้อมกับทรงเปล่งวาจา เพื่อยืนยันถึงวัตถุประสงค์ในการเกิดอย่างชัดเจนว่า เราเป็นผู้เลิศ ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแก่เราอีกแล้ว
พระองค์ใช้ชีวิตในเพศฆราวาส ถึงอายุ 29 พรรษา จึงเสด็จออกบวช เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น และในที่สุดพระองค์ได้ค้นพบความจริงอันประเสริฐ ที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
จากนั้นพระองค์ ย่ำพระบาททุกย่างก้าว จาริกไปทั่วทุกแว่นแคว้น เพื่อนำหลักธรรมอันประเสริฐ ที่ทรงค้นพบออกโปรดสัตวโลก และเสด็จดับขันธปรินิพพานในราตรีเพ็ญ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ใกล้เมืองกุสินาราขณะเมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา วันวิสาขบูชา เป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ที่จะรำลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี
ในประเทศไทยได้มีการฉลองวันวิสาขบูชาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นราชธานีเป็นต้นมา จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ประเพณีเสื่อมทรามลงไป ในยุคต้นสมัยรัตนโกสินทร์ได้กลับเริ่มฟื้นฟูใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยกำหนดให้มีการสมโภชประจำปีเป็นการใหญ่ยิ่งกว่างานใดๆ อื่น สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ทำหน้าที่ฟื้นฟูฉลองประเพณีวิสาขบูชา จัดงานฉลองถึง 3 วัน ชาวพุทธได้ช่วยกันสืบสานประเพณีฉลองวันวิสาขบูชามาจนถึงปัจจุบัน ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ฉลองวันอันสำคัญยิ่งนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็ร่วมกันเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
*******
เรื่อง-ออรีสา อนันทะวัน
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือวันวิสาขบูชา ส่งเสริมประชาชนเข้าวัดปฏิบัติธรรม