xs
xsm
sm
md
lg

ลอบสังหาร ‘สนธิ’ สื่อวันนี้ยังคงถูกคุกคาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนร่วม 100 นัดในเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในฐานะที่สนธิคือหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือสื่อมวลชนก็ตาม ล้วนแต่ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจและท้าทายชนิดตบหน้ากฎหมาย ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทำไมกล้อง CCTV ถึงเสียในจุดเกิดเหตุพอดิบพอดี
ทำไมทั้งที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารยังคงรักษาการณ์ตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ แต่กลับไม่สามารถสกัดจับรถของคนร้ายได้ ปล่อยให้คนร้ายหายเข้ากลีบเมฆไปเสียเฉยๆ

ก่อเกิดความสงสัยจากแกนนำพันธมิตรฯ คนอื่นๆ ว่า เหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่รัฐน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และคำถามถึงรัฐบาลว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลไกรัฐในยุคของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หรือนี่คือความพยายามจะจุดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งสงบไปได้ไม่กี่วันของใครบางคน

ถึงที่สุดแล้ว เราคงไม่สามารถแยกบทบาทแกนนำพันธมิตรฯ และสื่อมวลชนของสนธิ ลิ้มทองกุลได้อย่างแจ่มชัด แต่ถ้าพูดถึงในฐานะสื่อมวลชนแล้ว เราคงต้องถือว่านี่เป็นการคุกคามสื่อครั้งร้ายแรงอีกครั้งหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดุเดือดแหลมคมเช่นขณะนี้

เป็นการคุกคามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะด้วยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย การข่มขู่ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง การกดดันด้วยเม็ดเงินโฆษณา การแทรกแซงกองบรรณาธิการข่าว และอื่นๆ ผ่านคนผมขาวที่คนในแวดวงสื่อรู้จักกันเป็นอย่างดี จนถึงยุคของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำไมการคุกคามสื่อจึงยังเกิดขึ้นอีก

1
ในมุมมองของ เทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขาบอกว่า

“ยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจมาก เพราะเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทยยู่ในภาวะวิกฤติมาก ซึ่งคุณสนธิเองนั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ และขณะเดียวกัน คุณสนธิเองก็เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง ถือเป็นการกระทำที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้”

ตัวเทพชัยเองก็ถือเป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านแรงบีบในยุคทักษิณ ซึ่งเป็นยุคที่สื่อถูกคุกคามและริดรอนเสรีภาพ ไม่ต่างจาก จิราภรณ์ เจริญเดช บรรณาธิการเซ็คชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เล่าเรื่องราวในอดีตอันใกล้ ยุคที่สื่อมวลชนถูกกดดันอย่างหนัก เธอถึงขนาดบอกว่าไม่ศรัทธาต่อเสรีภาพสื่อในยุค

“ดิฉันมองว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ตระหนักดีว่าเรารู้ทันระบอบทักษิณในเรื่องการคุกคามและริดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ เรารู้ทันเขา ไม่ว่าเขาจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เขามีอำนาจ เขาควบคุมสื่อไว้ได้หมดเลย ทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและมองไม่เห็น ทั้งใต้ดิน บนดิน ซึ่งในแวดวงคนทำสื่อเราก็คุยกันเสมอว่าเหมือนกับเราถูกมัดมือชกในหลายๆ เรื่อง เพราะคนที่มีอำนาจในการให้โฆษณา กลายเป็นคนที่พูดแล้วบิดเบือนข้อเท็จจริงเสมอ

“สิทธิเสรีภาพของสื่อในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์และทักษิณนั้นต่างกัน เพราะอภิสิทธิ์เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยในความหมายเดียวกับที่สากลเข้าใจ ขณะที่คุณทักษิณ เขามีโลกส่วนตัวสูงมาก เห็นได้จากแต่ละตัวอย่างที่เขาหยิบยกขึ้นมา เหมือนกับว่าเขาจะยกอะไรมาพูดก็ได้ ไม่ว่าแมนดาลาหรือออง ซาน ซูจี เราก็ขำนะ คือหากศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จริงจัง จะสงสัยว่าทำไมเขาจึงนำไปเปรียบกับคนเหล่านั้น”

เธอยังมองว่าการลอบสังหารสนธิกำลังเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกให้รู้ว่า การพยายามเอาชีวิตสื่อมวลชนมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเกิดจากใครเป็นผู้สั่งการก็ตาม

“สื่อมวลชนไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้ององครักษ์ สื่อต้องให้ความจริงเป็นเกราะคุ้มกันตัวเอง”

2
“ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศที่ค่อนข้างผ่อนคลายลง แล้วก็ยังคิดเลยว่าประเทศชาติบ้านเมืองจะสงบไปได้สักพักหนึ่ง แต่พอทราบข่าวก็ตกใจมาก มองในมิติที่คุณสนธิเป็นสื่อมวลชนแล้วก็กำลังไปทำหน้าที่ด้วยความเป็นสื่อก็ต้องถือว่าอันนี้เป็นภัยที่คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่า ด้วยความที่คุณสนธิไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะสื่อสารมวลชนเพียงอย่างเดียว คุณสนธิยังทำหน้าที่ในฐานะผู้นำทางความคิดของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งแน่นอนว่าก็ย่อมต้องมีผู้ที่เป็นศัตรูกับคุณสนธิ ซึ่งก็น่าจะหลายฝ่าย ดังนั้นเราก็ไม่รู้ว่าใครที่มาทำคุณสนธิ

“อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าคุณสนธิจะอยู่ในบทบาทของสื่อมวลชน หรือคุณสนธิจะอยู่ในบทบาทของผู้นำการต่อสู้ของพันธมิตร การลอบสังหารอย่างนี้มันไม่สมควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย ถือว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน”

เป็นความเห็นของ รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน แขนงวิชาการหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ รศ.สดศรี ยังบอกด้วยว่ากรณีการมุ่งร้ายหมายเอาชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือประชาชนคนธรรมดา สิ่งสำคัญที่สุดคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ เพราะที่ผ่านมา เวลาเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้น ก็มักจะจับมือใครดมไม่ได้สักราย

“ในส่วนของสมาคมสื่อ ทุกครั้งที่มีเหตุ สมาคมก็ออกแถลงการณ์ ออกมาประนาม แล้วก็เงียบหาย เหมือนพอถึงเวลาก็ทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีการติดตามอย่างแท้จริง ดังนั้น บทบาทของสมาคมสื่อ เมื่อมีเหตุเกิดกับผู้สื่อข่าวกรณีลอบสังหารหรือว่าประทุศร้ายต่างๆ จำเป็นต้องทำมากกว่าแถลงการณ์ ต้องติดตามอย่างตลอดว่าคดีไปถึงไหนแล้ว ไม่ใช่ว่าถึงเวลาหนึ่งมอบพวงหรีด มอบเงินบริจาค แล้วก็เงียบหายไป และก็กลายเป็นหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น นักข่าวอยู่ในสังกัดหนังสือพิมพ์ฉบับไหนก็ดูแลกันไป”

รศ.สดศรี แนะนำอีกว่า ในส่วนของตัวนักข่าวเองก็ต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังตัวในการทำข่าวด้วยเช่นกัน

3
การลอบสังหารสนธิ ลิ้มทองกุล แม้จะถือเป็นการคุกคามสื่อครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่และภาครัฐจะต้องคลี่คลายคดีให้ได้ท่ามกลางการเฝ้ามองของพันธมิตรฯ แต่เราก็ต้องยอมรับในระดับหนึ่งว่า การคุกคามและแทรกแซงสื่อในยุคนี้ ถึงจะมียังมีอยู่ แต่ก็ไม่เข้มข้นเท่าในยุคทักษิณครองอำนาจ

อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวกันว่าทุกวันนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สื่อกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในการทำหน้าที่ เพราะหลังจากผ่านยุคทักษิณมา ประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง สื่อจึงดูเหมือนต้องกระโจนเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งดังกล่าว จนบางครั้งดูเหมือนสื่อจะกลายเป็นคู่ความขัดแย้งเสียเอง เราจึงขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดของเทพชัย หย่อง ที่ฝากถึงพี่น้อง เพื่อนๆ ในวงการสื่อไว้อย่างน่าฟังว่า

“ผมมองว่าในภาวะของการเผชิญหน้า ในภาวะวิกฤติของบ้านเมืองนั้น บทบาทของสื่อมวลชนมีความสำคัญกว่าภาวะปรกติเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นสื่อต้องมองตัวเองด้วยว่าบทบาทที่คุณกำลังเล่นอยู่นั้น มันช่วยเสริมให้ประชาชนมีความมั่นใจ มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นี้มากน้อยแค่ไหน

“สื่อมวลชนกำลังสู้กับหลายๆ อย่าง แต่ลำดับแรกสุด ผมมองว่าสื่อกำลังสู้กับความคาดหวังของประชาชน เพราะความจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ สื่อถูกประชาชนจำนวนไม่น้อยมองด้วยความคลางแคลงใจว่าสื่อตกเป็นเครื่องมือของใครหรือเปล่า สื่อแบ่งค่ายหรือเปล่า แบ่งสีหรือเปล่า ผมว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าสื่อทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ตรงไปตรงมา รายงานข่าวอย่างเที่ยงธรรม ไม่เลือกข้าง ผมมั่นใจว่าสื่อสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

“ส่วนคำถามที่ว่าสื่อจะสู้กับใครเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้น ผมว่าเป็นเรื่องปรกติที่สื่อต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐ ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เข้ามาครอบงำสังคม ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ตัวละครอาจจะเปลี่ยนไป ความรุนแรงอาจจะเปลี่ยนไป แต่บทบาทของสื่อมวลชนจะไม่เปลี่ยน ผมว่าสื่อต้องมองตัวเองด้วยว่ายึดหลักจริยธรรมไว้มั่นคงแค่ไหน”

****************************************

ลำดับเหตุการณ์การคุกคามและแทรกแซงสื่อในเครือ ASTVผู้จัดการ

26 ม.ค. 2549
บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึง บริษัท อินเตอร์เนต เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด ให้ระงับการส่งสัญญาณดาวเทียมของ ASTV และการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นการชั่วคราว ซึ่งทางบริษัท ไทยเดย์ดอทคอม จำกัด ได้นำประเด็นนี้ฟ้องต่อศาลในเวลาต่อมา

2 กุมภาพันธ์ 2549
ที่ศาลปกครองกลาง ถนนสาทรใต้ ประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครอง เจ้าของสำนวนคดีการระงับปิดสัญญาณดาวเทียม ASTV ของบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ได้มีคำสั่งออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยห้าม บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สั่งปิดสัญญาณดาวเทียม ASTV และการส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตของเว็บไซด์ผู้จัดการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้

26 กุมภาพันธ์ 2549
สัญญาน ASTV ในจังหวัดสระบุรี-นครพนม-ชลบุรี ถูกตัดและรบกวนอย่างหนักจนไม่อาจรับชมได้

31 มีนาคม 2549
ม็อบจักรยานยนต์รับจ้างกว่า 500 คน ยกขบวนบุกสำนักงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เพื่อวางหรีดประท้วง สนธิ ลิ้มทองกุล แต่ถูกรุมโห่ไล่และหวิดปะทะกันจนต้องหนีไม่เป็นขบวน

4 เมษายน 2549
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้มอบอำนาจให้ นายชาตรี ถริปภัสสโร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

30 กรกฎาคม 2549
พนักงานในเครือผู้จัดการซึ่งเป็นผู้หญิง (ขอสงวนนาม) ถูกทุบรถยนต์ขณะที่จอดรถไว้ด้านหน้าบ้าน และได้ยินเสียงสัญญาณกันขโมยในรถยนต์ที่ติดไว้ดังขึ้น จึงได้วิ่งออกไปดู พบว่ารถถูกทุบกระจกแตกทั้งด้านหน้าและด้านข้าง และมีค้อนตกอยู่ข้างๆ รถจึงหยิบค้อนขึ้นมาดูก็พบข้อความติดไว้กับค้อนว่า ถึง...ไอ้ชั่วชาติสารเลวสนธิและพวกมึงเหล่าบริวารทั้งหลาย จงหยุดเขียน หยุดพูดจาบจ้วง ในหลวงของพวกกูได้แล้ว พวกกูจะเตือนมึงเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าพวกมึงทั้งหลายไม่เข้าใจคำว่าอย่าดึงฟ้าต่ำ พวกมึงทั้งหลายเตรียมตัวตายซะ!!! คำเตือนครั้งสุดท้าย

1 มิถุนายน 2550
ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกราว 100 คนได้ชุมนุมล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด

15 มิถุนายน 2551
มีการขว้างระเบิดปิงปองเข้าใส่สำนักงานซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านพระอาทิตย์ จนเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จำนวน 2 ครั้ง เมื่อเวลา 22.15 น. ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่อุกอาจ มุ่งหวังข่มขู่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นับเป็นการท้าทายต่ออำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการที่จะให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สันติสุขของประชาชน

16 กุมภาพันธ์ 2552
ต่อพงษ์ เศวตามร์ บรรณาธิการข่าวบันเทิง หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน และ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ถูกคนร้าย ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ

17 เมษายน 2552
เวลา 05.45 น. สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเอเอสทีวีผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกคนร้ายกราดยิงเกือบ 100 นัด ที่บริเวณปั๊มคาลเท็กซ์ หน้าวัดเอี่ยมวรนุช สี่แยกบางขุนพรหม ถนนสามเสน แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร ส่งผลให้ นายสนธิ ได้ถูกกระสุนฝั่งลึกในขมับด้านขวาครึ่ง ซม.จำนวน 4 ชิ้น ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้าด้านขวายาว 3 ซม. บาดแผลฉีกขาดเล็กน้อยทั่วไปบริเวณข้อมือขวา และบาดแผลถลอกเล็กน้อยทั่วไปบริเวณลำตัวด้านข้างแถบขวา โดยในที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืนอาก้าจำนวน 64 นัด กระสุนเอสเค 17 นัด เอ็ม 16 จำนวน 3 นัด นอกจากนี้ยังพบรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 53 ที่วิ่งอยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุถูกกระสุนปืนได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และรถร่วมบริการฯ สาย 30 ถูกกระสุนปืนเอ็ม 79 จำนวน 1 นัด แต่ไม่ระเบิด

***************************************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์







จี้เร่งล่าสัตว์นรกลอบยิง “สนธิ” มารับกรรม พันธมิตรฯบุรีรัมย์เชื่อปมการเมือง/ฝีมือคนมีสี
จี้เร่งล่าสัตว์นรกลอบยิง “สนธิ” มารับกรรม พันธมิตรฯบุรีรัมย์เชื่อปมการเมือง/ฝีมือคนมีสี
บุรีรัมย์- พันธมิตรฯบุรีรัมย์ นำโดย ภรรยา “สารวัตรจ๊าบ” วีรชนกู้ชาติ ร่วมเรียกร้องรัฐบาล-ตร.เร่งจับกุมคนร้าย และ “สัตว์นรก” ผู้บงการลอบสังหาร “สนธิ” มาดำเนินคดีตาม กม.อย่างเด็ดขาดโดยเร็ว มั่นใจปมเหตุลอบสังหารมาจากการเมือง และเป็นฝีมือคนมีสีแน่นอน ด้านพันธมิตรฯ สารคาม-ร้อยเอ็ดเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนบุคคลที่รับผิดชอบด้านความมั่นคง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และรับมือกับการก่อการร้าย เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก และควบคุมสื่อที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ยุยง และให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแก่ประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น