xs
xsm
sm
md
lg

“ถุงยางอนามัย”…การเดินทางลับสุดยอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์กาเบรียล ฟัลโลปีอุส  “บิดาแห่งถุงยางอนามัย”
เครื่องมือทางการแพทย์เพียงไม่กี่ชนิดที่ใครก็ใช้ได้ แถมยังได้รับความนิยมเป็นที่สุด หนึ่งในนั้นคือ “ถุงยางอนามัย” ด้วยความที่มันมีความสามารถในการป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ อันเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งยังเป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์แล้วว่าเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีทีเดียว

หลายคนเคยเห็น และปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจเคยใช้มัน แต่จะมีใครรู้บ้างว่าเจ้าชิ้นเล็กๆ ที่สีสันสดใส บางชิ้นก็ยังมีกลิ่นหอมเย้ายวนในห่อเล็กๆ เหล่านั้น มีความเป็นมายาวนานก่อนคริสต์ศักราชถึงหลายร้อยปี เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันทำมาจากอะไร วันนี้ M- Feature จะมาไขคำตอบให้ทราบกัน

กว่าจะเรียกว่า “ถุงยางอนามัย” นั้น เจ้าชิ้นเล็กมีชื่อเรียกมาแล้วมากมาย เช่น sheath, prophylactic, French letter, English cape เป็นต้น แต่คำเรียกที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ "คอนดอม" (condom) เนื่องมาจาก 2 ความเชื่อ ทฤษฎีแรกเชื่อว่าชื่อ "condom" มาจากชื่อของ "Dr.Condom" หรือ "Dr.Conton" ซึ่งเป็นคนที่คิดค้นถุงยางอนามัยจากเนื้อเยื่อของลำไส้แกะที่ยืดเหยียดออกและชโลมน้ำมัน ให้แก่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ผู้ซึ่งได้รับการขนานพระนามว่า “พระมหากษัตริย์นักรัก” ในช่วงศตวรรษที่ 16 ส่วนอีกทฤษฎีเชื่อว่า มาจากภาษาละติน โดยคำว่า "condom" ในภาษาละติน หมายถึง "ภาชนะบรรจุของ"

บิดาแห่งถุงยางอนามัย หรือ นายแพทย์กาเบรียล ฟัลโลปีอุส ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาค ชาวอิตาเลียน ผู้คิดค้นถุงยางอนามัยขึ้นมาเอง เขาเป็นผู้สาธิตการใช้ถุงยางอนามัยต่อหน้าสาธารณชนนับพันเป็นคนแรก เมื่อราวศตวรรษที่ 15

ถุงยางอนามัยของเขาถูกเรียกว่า “ปลอกอนามัย” ประดิษฐ์โดย Fallopius ทำจากปลอกผ้าเนื้อลินิน ด้วยความยาวมาตรฐาน 8 นิ้ว ผลงานของเขาพิสูจน์ได้ว่า สามารถป้องกันโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้จริง และในเวลาต่อมา เขายังค้นพบว่า มันสามารถใช้คุมกำเนิดได้ด้วย

นอกเหนือจากผ้าลินินแล้ว ถุงยางอนามัยยังทำขึ้นจากลำไส้ของสัตว์ และเยื่อพังผืดของปลา เนื่องจากความหนาของปลอกอนามัยลดความพึงพอใจจากการมีเพศสัมพันธ์ ประกอบกับไม่ช่วยป้องกันการติดโรคได้เสมอไปนัก เพราะใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้ซ้ำโดยไม่ล้างทำความสะอาดก่อน ปลอกอนามัยของฟัลโลปีอุส จึงไม่ได้รับความนิยม

ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางแข็ง กำเนิดขึ้นในราวปี ค.ศ. 1870 คนในเวลานั้นนิยมเรียกกันว่า “ยาง” (Rubber) ถุงยางชนิดนี้ยังไม่บางเป็นแผ่นฟิลม์ ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค และไม่ใช่แบบใช้แล้วทิ้ง มันสามารถใช้มัน ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะมีรอยปริ หรือฉีกขาด แม้ว่าถุงยางชนิดนี้มีประสิทธิภาพดีและใช้สะดวกขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยม ส่วนถุงยางสมัยใหม่ทำขึ้นจากยางสังเคราะห์แบบที่ใช้กันอยู่ใน

ปัจจุบันกำเนิดขึ้นเมื่อ 60 ปีมานี้เอง การนำวัสดุโพลียูรีเทนที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัว มีความเหนียวกว่ายางดิบถึงสองเท่ามาใช้ จนทำให้สามารถผลิตแผ่นฟิล์มที่บางและไวต่อความรู้สึกได้กว่าเดิม

จากนั้นมา วิวัฒนาการของถุงยางอนามัยก็ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งบริษัทกู๊ดเยียร์ และฮันค็อก ได้เริ่มคิดค้นการผลิตถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติที่มีส่วนผสมของกำมะถัน ออกมาวางขายเป็นเจ้าแรกๆ ก่อนที่จะกลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

กระบวนการผลิตถุงยางอนามัยเริ่มตั้งแต่การนำเอายางพาราดิบจากสวนมาตรวจสอบเสียก่อน ว่ามีคุณภาพหรือไม่ หากคุณภาพยางไม่ผ่าน จะไม่รับยางนั้นเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตเป็นถุงยางอนามัย หลังจากนั้น จะมีการกำหนดรหัสประจำตัวสำหรับทุกขั้นตอนการผลิต ต่อจากนั้นส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นสูตรลับเฉพาะของแต่ละบริษัทจะถูกนำมาผสมกับน้ำยางดิบ

เพื่อความความคงตัวและทนทานของยาง จะใช้เวลาบ่มตัวมากกว่า 10 วัน เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีอย่างสมบูรณ์ ซึ่งส่วนผสมนี้จะถูกนำไปใช้ในขั้นตอนการผลิตต่อไป ถัดมาคือการ "จุ่มขึ้นรูป" ขั้นตอนนี้จะต้องทำภายในห้องปลอดฝุ่นละออง ซึ่งติดตั้งระบบกรองอากาศไฟฟ้าสถิต โดยแท่งแก้วสำหรับขึ้นรูปที่เรียงต่อกันเป็นแถวจะค่อยๆ เคลื่อนตัวลงจุ่มในถังที่มีส่วนผสมน้ำยางธรรมชาติที่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม

แท่งแก้วแต่ละแท่งจะหมุนไปรอบๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ส่วนผสมนี้กระจายตัวติดแท่งแก้วด้วยความหนาเท่าๆ กันทั้งชิ้น จากนั้นแท่งแก้วจะเคลื่อนตัวผ่านเข้าตู้อบอินฟราเรดเพื่อให้น้ำยางแห้ง เมื่อออกจากตู้อบ แท่งแก้วจะต้องจุ่มน้ำยางอีกเป็นครั้งที่สอง เพื่อให้ถุงยางอนามัย มีความหนาและทนทานเพียงพอ และเมื่ออบแห้งครั้งที่สองแล้วแท่งแก้วจะเคลื่อนที่ผ่านแปรงขนนุ่มที่ทำหน้าที่ม้วนขอบถุงยาง ก่อนที่จะผ่านเข้าสู่ตู้อบครั้งสุดท้ายเพื่อให้สารประกอบต่างๆ ในส่วนผสมน้ำยางธรรมชาติทำปฏิกิริยากันอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งทำให้ชั้นของ น้ำยางธรรมชาติที่เกิดจากการจุ่มครั้งที่สองหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้น แท่งแก้วจะผ่านขั้นตอนการล้างน้ำที่ผสมสารเคมีเพื่อให้ถุงยางอนามัย ลื่นหลุดออกได้โดยง่าย

ในระหว่างนั้นถุงยางจะถูกนำไปล้างสารเคมีต่างๆ ให้หลุดออกจากผิวยางถุงยางอนามัยให้หมด พร้อมทั้งใส่แป้งเข้าไปเพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อน เมื่อล้างเสร็จก็จะนำไปเข้าตู้อบให้แห้งต่อไป ขณะเดียวกัน ถุงยางบางส่วนจะถูกสุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาตรวจสอบคุณภาพใน 3 ส่วนด้วยกันคือ ตรวจความรั่ว ด้วยการเติมน้ำเข้าไป 300 ซีซี แขวนทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที แล้วนำมาคลึงบนกระดาษสีซับน้ำ ถ้าถุงยางเกิดรอยรั่ว จะสามารถสังเกตุเห็นรอยน้ำรั่วซึมบนกระดาษสีได้ชัดเจน

จากนั้น ถุงยางก็จะถูกส่งต่อไปยังส่วนที่ทำการทดสอบแรงดันอากาศ อากาศจะถูกอัดเข้าไปในถุงยาง โดยมาตรฐานกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องทนแรงอัดอากาศได้ไม่ต่ำกว่า 18 ลิตรก่อนที่จะระเบิดแตกออก บางส่วนจะนำไปทดสอบความทนทาน ด้วยการยืดชิ้นส่วนถุงยางอนามัยที่ตัดเป็น ชิ้นกว้างประมาณ 20 มิลลิเมตร ชิ้นส่วนถุงยางจะต้องยืดออกได้ยาวถึง 8 เท่าของความ ยาวปกติก่อนที่จะขาด

ถุงยางทุกชิ้นจะต้องผ่านการตรวจสอบด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตรวจหารอยรั่วหรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ อีกครั้งถุงยางแต่ละชิ้นจะถูกครอบลงบนแท่งโครเมียม จากนั้นจะปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงดันสูงขนาด 2,000 โวลต์เข้าไปสู่แท่งโลหะนี้ และจะมีสัญญาณเตือนให้ทราบเมื่อถุงยางอนามัยชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีรอยรั่วหรือสิ่งผิดปกติ (ปกติทั่วไปแล้วมาตรฐานของอย.กำหนดเปอร์เซ็นต์การรั่วเอาไว้ที่ 0.25%) แล้วถุงยางอนามัยชิ้นนั้นจะถูกแยกออกมาต่างหากเพื่อคัดทิ้งต่อไป

ขั้นตอนสุดท้าย ถุงยางอนามัยที่ตรวจสอบคุณภาพแล้วจะถูกนำไปบรรจุฟอยล์และเติมสารฆ่าเชื้อหรือกลิ่นต่างๆ เป็นอันได้ถุงยางอนามัยมาตรฐานเสร็จเรียบร้อย

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก deedeejang

Did you know
ในประเทศไทย เริ่มมีการนำเข้าถุงยางอนามัยมาจำหน่ายครั้งแรกโดยชาวญี่ปุ่น และชาวอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 มีโรงงานผลิตถุงยางอนามัยแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อบริษัท Royal Industry of Thailand




กำลังโหลดความคิดเห็น