ครูสอนภาษา-ช่างเย็บผ้า – ช่างตัดรองเท้า - คนทำกระเป๋า - ช่างภาพ – ช่างแต่งหน้า – นักสะสมแผ่นเสียง – นักเดินทาง - นักทำเบเกอรี - นักจัดรายการวิทยุ – นักฟังเพลง - นักเขียน - Creative โฆษณา - กราฟิกดีไซน์ และเป็น...อื่นๆ อีกมากพะเรอเกวียน
ในบทสัมภาษณ์ที่ว่าด้วยความฝัน “คิดว่าอะไรเป็นตัวเองมากที่สุด” สาวน้อยช่างฝันของ M-Open ยิ้มหวาน และขอเวลาคิด…คิด
ก่อนจะมีคำตอบอยู่ดีๆ ภาพวรรคทองคล้ายๆ กันนี้ ในบทสนทนาของ The Polar Express (ปี 2004) หนังแอนิเมชันเกี่ยวกับรถไฟขบวนหนึ่ง ซึ่งนำพาเด็กๆ ทั่วโลกอย่างขะมักเขม้นก็ทับซ้อนขึ้นมา
“มันไม่สำคัญหรอกนะว่ารถไฟจะพาเธอไปที่ไหน” พนักงานตรวจตั๋วกล่าวกับเด็กชายตัวเอกในเรื่อง “สิ่งสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของเธอต่างหากล่ะว่าจะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนั้นหรือเปล่า”
“ตอบว่าทั้งหมดได้ไหมค่ะ” แม้คำตอบที่ว่าของเธอจะเจือไปด้วยเสียงหัวเราะเล็กๆ คล้ายเย้า ทีเล่นทีจริง แต่ทว่าแววตากลับส่งประกายวิบวับสดใสมากมายไปด้วยความหมายเป็นความรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้นชนิดเดียวกับชุดความรู้สึกเริ่มต้นทุกครั้งของ “นักผจญภัย” ที่แพกกระเป๋าออกเดินทางจากความจำเจไปสู่จุดมุ่งหมาย เพื่อไล่ล่าและตามหาตัวเอง..!
-1-
สาวช่างฝันคนนี้เธอชื่อแนน, ถ้าจะให้ถูกต้องเรียกว่า “สับปะรดแนน” ตามชื่อเล่นที่
ระย้า-ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร” คุณพ่อเจ้าของค่ายรถไฟดนตรีผู้โด่งดังตั้งให้มากกว่า
ณัฐกฤตา เป็นบุตรสาวคนสวยทายาทคนที่ 2 (โดยมีพี่สาวมาดเซอร์ชื่อ “แอปเปิลหน่อย” ส่วน “แตงโมโน้ต” เป็นลูกชายคนสุดท้อง) บุคลิกพูดเก่ง ชอบท่องเที่ยว ช่างคิด เต็มไปด้วยความฝันทั้งยังเป็นนักเล่าเรื่องเรื่องราวเก่งที่สุดในครอบครัว
“นี่ก็เพิ่งกลับมาจากอังกฤษค่ะไปเรียนทำ Bakery และเรียนถ่ายรูปมา 1 ปีเต็มก็สนุกดีค่ะ” แนนเริ่มเล่าการตามหาความฝันของตัวเองครั้งล่าสุดของเธอ “แนนเป็นคนชอบกินค่ะ เลยคิดว่ามันเป็นอาชีพที่มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งก็สมใจเพราะในคลาสเราเรียนตั้งแต่การทำขนมเค้ก ขนมปัง ทำช็อกโกแลต ทำน้ำตาล ซึ่งทั้งวันในคลาสเราจะต้องอบขนมตีแป้งตลอด”
เพื่อนๆ หลายคนบอกว่าฉันไม่ไหวแล้วไม่อยากกิน แต่แนนอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น Happy ตลอดเวลา
“เรื่องถ่ายภาพก็เหมือนกัน คือมันเป็นความทรงจำดีๆ ตั้งแต่เด็กแรกๆ ก็ชอบดูหนังสือภาพถ่ายมากๆ พอโตขึ้นความสนใจมันก็เพิ่มขึ้นมากก็คิดว่าสักวันหนึ่งต้องเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราว จนครั้งนี้ได้โอกาสก็เริ่มไปเข้าคอร์สการถ่ายรูปซับเจ็กต์เบื้องต้นค่ะ”
นับเป็นการตามหาฝันครั้งที่เท่าไหร่...ไม่รู้ค่ะ แต่ถ้านับกันตั้งแต่เด็กๆ แนนบอกว่า เธอยึดสโลแกนทำอะไรก็เต็มที่
“อย่างชอบหนังสือภาพก็จะเก็บเงินมีเท่าไหร่ซื้อหมด หรืออยากทำรองเท้าแนนก็จะเริ่มศึกษาจากหนังสือว่าเราต้องทำอย่างไร พอรู้ทฤษฎีพอสมควรแล้ว แนนก็ขอพ่อไปอยู่ในโรงงานทำรองเท้าเป็นเดือนกว่าจะทำรองเท้าออกมา 1 คู่ กระเป๋าก็เหมือนกันแนนก็ไปซื้อจักรเย็บผ้าและก็ให้คุณยายสอนจนได้กระเป๋าออกมา”
เห็นทำมาหลายๆ อย่าง แนนบอกว่า ไม่ใช่เป็นคนขี้เบื่อ คือถ้าสนใจอะไรก็จะโฟกัสไปเป็นอย่าง ซึ่งพอลงลึกๆ ก็จะเห็นข้อทั้งดีและไม่ดีของทุกอาชีพ
“อย่างตัดรองเท้าข้อเสียจะอยู่ตรงที่ Size คือมันขายไม่หมดแน่ๆ ไม่เหมือนทำกระเป๋าขาย สมมติทำมา 10 ใบใครก็ซื้อได้ แต่ถ้าทำรองเท้ามา 10 คู่มันก็ไม่ใช่ว่า10 คนจะซื้อของเราได้หมด สมมติ 10 คนใส่เบอร์เดียวกันหมดเราก็จะเห็นข้อเสีย”
แต่อย่างน้อยก็ได้ลอง, ใช่ค่ะ...อย่างฝันครั้งล่าสุดเรื่องทำขนม แนนไม่ใช่แนวหวานๆ นะแค่ชอบกิน ด้วยความที่ชอบมากก็เลยไปศึกษาว่า ถ้าจะดีมันต้องนิ่ม-นุ่มอย่างโน่น-นี้นะ นั่งคิดนั่งฝันว่าจะต้องเอาส่วนผสมกับตัวโน่น-นี่ ซึ่งทั้งหมดเราก็ทำทุกอย่างเอนจอยค่ะ แนนยังแอบคิดเลยว่าเป็นความโชคดีที่มีพ่อ-แม่แบบนี้ เพราะท่านสนับสนุนทุกอย่าง อยากเรียนอะไรก็ได้ ไปไหนก็ได้”
พ่อบอกลูกๆ เสมอว่าไม่ต้องห่วงว่าต้องมาช่วยกิจการพ่อนะ ซึ่งไม่มีคนทำก็ไม่เป็นไร พ่อก็จ้างคนมา และถ้าจ้างแล้วทำไม่ได้ก็ปิดมันซะ
“พ่อเป็นคนไม่ยึดติดอะไร แม้กระทั่งตอนที่เขาโด่งดังคนกรี๊ดมากๆ เชื่อหรือเปล่าลูกๆ แทบจะไม่รู้ เพราะเขาทำตัวธรรมดามากๆ ไปไหน ไปห้าง ไปผับก็ออกอายๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งมันเป็นการสอนแบบทางอ้อมลูกๆ ก็ซึมซับภาพตรงนั้น”
“ผมแค่อยากให้เขาไปในสิ่งที่เขาเป็น โดยมีข้อแม้ว่าสิ่งที่ทำลูกๆ ทำด้วยความเอนจอย ไม่ต้องโด่งดัง หรือรวยก็ได้” ระย้า ผู้เป็นบิดาและเบื้องหลังนักสนับสนุนยิ้มบอกแบบนั้น
-2-
ลูกไม้หล่นไกลต้น เป็นคำที่ฟังจนเบื่อ
“ไกลไหม” ต้องถามคุณพ่อ
“จริงๆ แล้วทั้ง 3 คนไม่มีใคร Copy เราได้ 100 % นิสัยใจคอก็ใกล้ๆ กันทั้งหมด สับปะรดแนนเขาจะได้ความช่างคิดช่างจินตนาการเหมือนผม ส่วนแอปเปิลหน่อยเขาจะได้เรื่องการลุยๆ ลูกผู้ชายก็ได้เรื่องความพยายาม”
“ผมยกตัวอย่างเรื่องเรียนคนแรกเขาเรียนวารสารที่ธรรมศาสตร์ จบแล้วก็ไปต่อ ป.โทมาร์เก็ตติ้งที่ออสเตรียสับปะรดแนนเขาก็จบทางด้านโฆษณา จบแล้วไปต่อกราฟิกดีไซน์ เรียนคอมพ์ เรียนถ่ายรูป เรียนทำอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย คนสุดท้ายผมก็ให้อิสระจนสุดท้ายก็เปิดค่ายเพลง”
“ผมบอกลูกๆ ว่าเรียนตามสบายทำในสิ่งที่ฝัน เราให้สิทธิเต็มที่”สบายๆ อยู่ได้แบบไร้กรอบ ปล่อยให้ธรรมชาติพาไป
เปิดกว้างสบายๆ ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น เรื่องชีวิต หน้าที่การงาน อนาคต แม้กระทั่งคู่ครอง นี่คือการสอนสไตล์ของคุณพ่อระย้า
ดนตรี (ความจริง) สิ่งที่อยู่ในสายเลือด
ปัจจุบัน สับปะรดแนน (และแอปเปิลหน่อย) จัดรายการวิทยุที่คลื่นFat Radio ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความฝัน ที่เธอบอกว่าคล้ายว่าจะเดินตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อมากที่สุด…
เช่นเคยความฝันสู่ความจริงในครั้งนี้ ระย้าก็ช่วยแบ็กอัพให้ แต่ไม่ใช่แง่ฝากฝัง ทว่าเป็นการซับพอร์ตหัวใจมากกว่า
วิจารณ์หน่อยพวกเขาทำได้ดีเท่าดีเจระย้าไหม
“ผมว่าเขาเป็นโดยสายเลือดอยู่แล้ว เขาก็ทำได้แต่ว่า 1.ก็ให้กำลังใจ 2.ก็บอกเขาว่าอันไหนพูดเร็วไป หรืออย่างเปิดเพลงอะไรไม่รู้เรื่องเพราะคลื่นที่เขาจัดเป็น Fat Radio ก็แซวๆ ว่าเพลงเปิดอะไรหนวกหูแบบนี้” ในฐานะดีเจรุ่นพ่อ ระย้าบอกว่าผลสอบออกมาน่าพอใจ
"ไม่เพียงเปิดฟัง บ่อยครั้งที่พ่อยังชอบโทรศัพท์ออกอากาศมาแซวเราบ่อยๆ บางทีก็มีโทรมาขอเพลงเช่น “พรหมลิขิต” ที่เขาเอามาทำใหม่ หรือไม่ก็ขอ “เพลงสวรรค์บนทราย” ซึ่งเป็นเพลงที่เขาร้อง รีเควสบ็อกซ์ก็เป็นเพลงรุ่นนี้ทั้งหมดค่ะ”
แล้วเราละคิดว่าเป็นดีเจได้ดีเท่าพ่อไหม“
“ยังค่ะ คือแนนเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่สุดยอดของการเป็นดีเจ คือแนนจะชอบฟังเวลาที่คนโทรศัพท์มาหาคุณพ่อ สิ่งแรกที่เขาพูดก็คือ “ขอโทษนะนี่เสียงคุณระย้าเปล่าค่ะ” เราแบบโอ้โห...มันคือสุดยอดของการเป็นดีเจคนจำเสียงได้ ไปเที่ยวก็เหมือนกัน อย่างซื้อของนี่พ่อจะพูด เขาก็จะถามว่าเสียงนี้ เป็นเสียงคุณระย้าหรือเปล่า”
“เหมือนที่พี่แหม่ม พัชรี พรหมช่วย บอกเขาและคนยุคนั้นจะเปิดคลื่นของคุณระย้าเอาไว้ตลอด ล่าสุดเจอพี่แหม่ม เขาก็บอกว่าต้องจัดรายการให้เหมือนพ่อนะเราก็แบบโอ้โห้..แต่เรายังไม่ถึงขนาดนั้น”เธอพูดแบบถ่อมตัว
มองอนาคตไว้อย่างไร “คุณพ่อสอนไว้ว่าจงมีฝัน ตามหามันและทำวันนี้ให้ดีที่สุด” แนนบอก
“สโลแกนที่ผมบอกกับลุกทุกคนก็คือ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” แล้วไม่ต้องกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ผมเชื่อว่าทุกสายงานมันมีทางไปของมัน อยากทำอะไรก็ทำเรื่อยๆ เราไม่ได้แปลว่าอยากเป็นเศรษฐีร้อยล้าน ขอให้มีความสุขก็พอ ถ้าตั้งใจในสิ่งที่เราฝันก็ทำมันได้อย่างแฮปปี้”
“แนนเขาช่างฝันจินตนาการเยอะที่สุดในบ้าน ถ้าเขาอยากทำอะไรอีก เราไม่จำเป็นต้องทำอาชีพเพื่อจะให้รวย ผมก็มีหน้าที่สนับสนุนฝันของเขาห่างๆ ก็เท่านั้นเอง” ระย้าสรุป
-3-
“มันไม่สำคัญหรอกนะว่ารถไฟจะพาลูกไปที่ไหน” ผู้บังคับรถไฟบอกกับลูกสาวช่างฝันอีกครั้ง
“สิ่งสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของลูกต่างหากล่ะว่าจะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนั้นหรือเปล่า”
หลังเสียงสนทนา ไม่แน่…การเดินทางไล่คว้า “ความฝัน” และทำให้เป็น “ความจริง” ครั้งใหม่ ครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขา-เธอกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง