ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * แม้ไลฟ์สไตล์ผู้คนจะเปลี่ยน เครื่องรับวิทยุกลายเป็นเทคโนโลยีตกยุค แต่สื่อวิทยุยังไม่ถึงจุดจบ
* งบโฆษณาที่เคยถดถอย กลับเดินหน้า ผ่าน 7 เดือน ขยับถึง 10.51% ท่ามกลางความผันผวนรอบทิศ
* 3 ค่ายยักษ์ เอไทม์, สกาย-ไฮ, คลิค ประกาศเกมรุก ยึดหัวแถวผู้นำ
เมื่อวิวัฒนาการของโลกนำเทคโนโลยีมาตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคสมัยนี้ สื่อรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น เพื่อทดแทนสื่อเก่าที่บริโภคกันมายาวนาน เครื่องเล่นเพลง MP3 และสุดยอดประดิษฐกรรมการเล่นเพลงแห่งยุค Ipod เป็นสิ่งแพร่หลายไปทุกหัวระแหง เครื่องรับวิทยุกลายเป็นสื่อโบราณ ส่งสัญญาณถึงธุรกิจสื่อวิทยุที่อาจกลายเป็นสื่อที่มีผู้ฟังลดลงเรื่อยๆ กลุ่มเป้าหมายของสินค้าเล็กลง จนอาจหมดไป
บนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผนวกกับความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ และทั่วโลก ปัญหาการเมืองที่หาทางออกไม่ได้ รวมถึงปัญหาของผู้ประกอบการวิทยุเองที่ธุรกิจยังขาดความมั่นคงจากกฎระเบียบของภาครัฐ แต่ค่ายวิทยุกลับร่วมกันผลักดันให้สื่อวิทยุเติบโตได้ตลอด 7 เดือน มีเม็ดเงินโฆษณาไหลเข้ามาถึงกว่า 3.8 พันล้านบาท เติบโตจากช่วง 7 เดือนแรกของปีก่อนถึง 10.51% พลิกแนวโน้มของสื่อวิทยุว่า สงครามการตลาดบนสื่อเก่าแก่นี้ จะยังคงไม่ปิดฉากลงแน่ แต่จะกลับทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อ 3 ค่ายใหญ่ประกาศชิงตำแหน่งหัวแถว
เศรษฐกิจทำโฆษณาซบ
ปรับบทบาทสื่อโฆษณาลงใต้เส้น
มุมมองของผู้บริหารคลื่นวิทยุต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อวิทยุ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด ผู้บริหารค่ายเอไทม์ มีเดีย กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ ไม่มีปัจจัยบวกอยู่เลย เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและการเมือง ความแปรปรวนที่เกิดขึ้นมายาวนานย่อมมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในสื่อวิทยุ ต้องอยู่ในสภาพแปรปรวนมาก่อนหน้าหลายปี นับตั้งแต่ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. หรือการตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ และดูแลการดำเนินการด้านสื่อ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จึงกล่าวได้ว่า ธุรกิจวิทยุดำเนินอยู่บนความไม่แน่นอนรอบด้าน
"การเติบโตของยอดการใช้โฆษณาวิทยุในปีนี้ไม่มีนัยยะสำคัญอะไร ตัวเลขรายได้ของวิทยุคงไม่เคลื่อนไปกว่านี้ เมื่อดูจากสถานการณ์แวดล้อม โดยเฉพาะที่มีนิวมีเดียเกิดขึ้นมากมาย การที่วิทยุไม่ตกลงไปมากกว่านี้ ถือว่าดีแล้ว"
ด้านวาสนพงศ์ วิชัยยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลิค -วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด แสดงความเห็นพ้องกันว่า แม้ปีที่แล้วจะถือว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ตลอดทั้งปี แต่ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบากมากกว่าปีก่อน สภาพเศรษฐกิจสะท้อนถึงภาพรวมของธุรกิจสื่อชัดเจน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำไรเริ่มลดน้อยลง คนที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงจะพบว่า วันนี้คนไม่ค่อยใช้เงิน ในมุมของการสร้างรายได้จากการโฆษณาจึงค่อนข้างลำบาก
แต่ในมุมของผู้ฟังรายการวิทยุ วาสนพงศ์เชื่อมั่นว่า สื่อวิทยุยังคงเป็นสื่อหลักของคนกรุงเทพฯ มหานครที่ยังมีปัญหาการจราจรติดขัด ที่ผู้ขับรถส่วนใหญ่จะเปิดวิทยุฟัง ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นอาจมีการเสพสื่อพร้อมกัน ทั้งการเล่นอินเทอร์เน็ต และฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์ไปด้วย แต่ก็ยังไม่ทิ้งวิทยุแน่นอน พิสูจน์ได้จากการจัดกิจกรรมแฟต เฟสติวัล หรือ ทีเชิร์ต เฟสติวัล ของคลื่นแฟต เรดิโอ จะได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ฟังหลักหมื่น ถึงหลักแสนคนทุกครั้ง
ด้านคมสัน เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านพฤติกรรมการซื้อสื่อของลูกค้า ปรับระยะเวลาในการซื้อสื่อสั้นลง จากเดิม 1 ปี เหลือเพียง 6 เดือน หรือซื้อไตรมาสละ 1 เดือน และคาดว่าจะคงสภาพนี้ต่อไปตลอดทั้งปี แม้ตลอด 7 เดือน งบโฆษณาในสื่อวิทยุจะเติบโตขึ้น แต่คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีงบการซื้อสื่อวิทยุจะอยู่ราว 6.4 พันล้านบาทเช่นเดียวกับปีก่อน
คมสันกล่าวว่า เชื่อว่าตลาดผู้ฟังวิทยุในวันนี้ยังมีตลาดแมส คนฟังวิทยุไม่ได้ลดลง อาจมีการเปลี่ยนช่องทางไปบ้าง เป็นการฟังผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือฟังผ่านเว็บไซต์ ปัญหาการจราจรติดขัด ก็ทำให้กลุ่มผู้ขับรถยนต์ยังคงฟังวิทยุอยู่ แต่สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ต้องมีการปรับตัวรองรับ คือการปรับแพคเกจการขายโฆษณาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น กำหนดราคาให้ต่ำลง ซึ่งปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการกิจกรรมบีโลว์ เดอะไลน์ ที่สามารถสร้างยอดขายได้ชัดเจน และเร็วกว่าการซื้อสปอตวิทยุ บริษัทฯ จึงใช้แนวทางการครีเอทกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะเทลเลอร์เมด ที่มีความแตกต่างกันในลูกค้าแต่ละราย
สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า เอไทม์ มีเดีย โดยเฉพาะกรีนเวฟถือเป็นคลื่นวิทยุที่มีการจัดกิจกรรมบีโลว์ เดอะไลน์มากครั้งที่สุดบนหน้าปัทม์วิทยุ โดยมองว่าเป็นเรื่องของการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างคลื่นวิทยุกับลูกค้า การซื้อสปอตลงโฆษณาเพียงอย่างเดียวสำหรับสินค้าบางอย่างอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกระตุ้นยอดขาย ควรใช้กิจกรรมมาช่วยสนับสนุน
ด้านอดีตดีเจวิทยุชื่อดัง วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู มิวสิค เรดิโอ จำกัด ผู้บริหารคลื่นวิทยุทรู มิวสิค กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่ชัดเจน มีผลกระทบต่อธุรกิจวิทยุโดยรวมอย่างมาก คาดว่าตลอดทั้งปีธุรกิจวิทยุโดยรวมจะมีมูลค่าราว 6 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนราว 5-10%
"วิทยุวันนี้หมดยุคการซื้อสปอตแล้ว หลายค่ายวิทยุออกไปทำทัวร์ จัดคอนเสิร์ต สร้างกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่จับต้องได้ คืนกำไรให้ผู้ฟังได้ ลูกค้าได้พบกลุ่มเป้าหมายตัวจริงก็มีความมั่นใจที่จะใช้เงิน"
3 ค่ายยักษ์ชิงแท่นผู้นำ
สกาย-ไฮ จูนคลื่นวัยรุ่น ยึดเบอร์ 1
ผู้บริหารคลื่นวิทยุในเครืออาร์เอส คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ของการบริหารสถานีวิทยุในวันนี้ ค่ายเล็กที่ยืนอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีการสนับสนุนจากใคร จะอยู่อย่างลำบาก เพราะการดำเนินธุรกิจต้องมีต้นทุนสูงกว่า ทั้งการเสียค่าลิขสิทธิ์เพลง หรือการนำศิลปินมาร่วมกิจกรรม ขณะเดียวกันการสร้างแบรนด์ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะใช้ผู้ฟังเชื่อมั่น อาจใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งก็อาจครบสัญญาสัมปทาน เมื่อไม่มีฐานผู้ฟังที่แข็งแกร่ง ทำให้เอเยนซีโฆษณาไม่เชื่อมั่นที่จะลงโฆษณา สถานีนั้นก็อยู่ไม่ได้ ในส่วนของสกาย-ไฮ ที่เป็นบริษัทในเครืออาร์เอส ทำให้ต้นทุนคอนเทนต์ไม่ต้องลงทุนมากนัก ประกอบกับการอยู่ในธุรกิจมาเป็นเวลานาน สร้างคลื่นวิทยุ 2 คลื่นหลัก Max 94.5 และ Cool 93 ให้กลายเป็นคลื่นเพลงที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟัง โดยเฉพาะ Cool 93 ถือเป็นคลื่นเพลงสบาย(Easy Listening)ที่มีเรตติ้งอันดับ 1 ของเมืองไทย
ในส่วนของการพัฒนาคลื่นวิทยุทั้ง 2 เพื่อรับการแข่งขัน คมสันต์กล่าวว่า ในส่วนของ Max 94.5 มีการรีเฟรสคลื่นเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ฟังในยุคดิจิตอลไลฟ์สไตล์ ชูกลยุทธของ Emotion Marketing ที่วาง 3 แกนหลักในการนำเสนอ คือ ความทันสมัยเป็นเทรนเซตเตอร์, มีความแตกต่าง และมีสไตล์ของตนเอง โดยมีการปรับเปลี่ยนที่ผู้ดำเนินรายการหรือ PJ(Program Jockey) เพื่อได้ผู้มีบุคลิกสอดคล้องกับแนวคิดของคลื่น เน้นการเปิดเพลงอินเทรนด์ทั้งเพลงไทยและสากลทุกค่ายทุกแนว รวมไปถึงเพลงเอเชียนที่ได้รับความนิยม
เป้าหมายของการรีเฟรสคลื่นนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมายของคลื่น นักเรียน นักศึกษา อายุ 12-21 ปี และกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ อายุ 22-24 ปี โดยจะมีการใช้งบประมาณกว่า 6.5 ล้านบาทในการจัดอีเวนต์ใหญ่ในปีนี้ คือ คอนเสิร์ต Big Max The Rock Star และ Max Change มหกรรมแลกสินค้าทุกชนิดโดยไม่ใช้เงิน
คมสันมั่นใจว่า การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ Max 94.5 จะช่วยสร้างจุดเด่นและแตกต่างจากคลื่นวิทยุอื่นๆ รวมถึงสามารถขยายฐานเข้าสู่กลุ่มผู้ฟังใหม่ๆ ที่มีไลฟ์สไตล์ชัดเจน ซึ่งจากการวิจัยของเอซีนีลเส็นพบว่า Max 94.5 เป็นคลื่นที่มีผู้ฟังใช้เวลาในการฟังอยู่กับคลื่นยาวนานที่สุดถึง 7-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยขณะนี้สามารถขายโฆษณาได้ราว 80% คาดว่าจะสามารถผลักดันได้ถึง 90%ได้ในปีนี้ ขณะเดียวกันคลื่น Cool FM ที่มียอดโฆษณาเต็ม 100% ก็ได้วางเป้าให้เป็นคลื่นเพลงสบายอันดับ 1 ยาวนานที่สุด โดยตามติดพฤติกรรมของผู้ฟังไปในช่องทางอื่นๆ เช่นทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงสามารถรับฟังผ่านทรูวิชั่นส์ได้
เอไทม์ฯ มั่นใจทิศทางธุรกิจ
จูง 4 คลื่นรวบกลุ่มเป้าหมาย
สายทิพย์ ชี้ความสำเร็จในธุรกิจวิทยุของเอไทม์ มีเดีย กว่าทศวรรษที่ผ่านมาว่า เอไทม์ มีเดีย ถูกวางตำแหน่งให้เป็นองค์กรที่สามารถทำกำไรมาตั้งแต่วันแรก แม้จะเป็นบริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีคอนเทนต์บันเทิงมากมาย แต่ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารแกรมมี่ มองว่าไม่ต้องการทำธุรกิจแบบพิงกันไปมา ไม่ต้องการให้นำงบประมาณจากบริษัทแม่มาสนับสนุน การเกื้อหนุนกันเป็นเรื่องของคอนเทนต์เพลง หรือตัวศิลปิน ที่เอไทม์ต้องใช้ แกรมมี่จะให้การสนับสนุน ขณะเดียวกันแกรมมี่ก็มีการใช้เอไทม์ฯ ในการเผยแพร่เพลง ข่าวสาร แต่การลงโฆษณาทุกครั้งก็ต้องมีการจ่ายเงินตามจริง ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนการลงโฆษณาของแกรมมี่ในคลื่นวิทยุของเอไทม์ฯ ถือว่าน้อยมากไม่ถึง 1%
สายทิพย์กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ในการทำธุรกิจวิทยุของเอไทม์ฯ มองว่า ธุรกิจมีทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพเศรษฐกิจ หรือความไม่ชัดเจนของกฎหมาย และปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น คุณภาพของงาน คอนเทนต์เนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ ตัวบุคลากร รวมถึงสิ่งที่จะทำให้กับลูกค้า กลยุทธต่างๆ ที่จะตอบสนองเงินที่ลูกค้าจ่ายให้กับคลื่น การดึงอีเวนต์มาร์เก็ตติ้งมาใช้ ดังนั้นในส่วนของปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ต้องวางไว้ แล้วหันมาพัฒนาปัจจัยที่ควบคุมได้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จนถึงวันนี้ความสำเร็จของคลื่นทั้ง 4 แสดงให้เห็นแล้วว่า แนวทางที่ได้ดำเนินมาถูกต้อง ตัวเลขรายได้ของสื่อวิทยุไม่ตกในปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ช่วง 6 เดือนแรกมีการเติบโตถึง 20% ในขณะที่ตลาดซบเซา ถือว่าเอไทม์ฯตั้งหลักได้แม่นยำ และมั่นคงขึ้น
เอไทม์ มีเดีย แบ่งคลื่นวิทยุออกเป็น 4 กลุ่ม ฮอตเวฟ เป็นคลื่นเพลงวัยรุ่น อีเอฟเอ็ม คลื่นบันเทิง บานาน่าเอฟเอ็ม คลื่นเพลงเพราะ เน้นการฟังเพลงต่อเนื่อง และกรีนเวฟ คลื่นสิ่งแวดล้อม เพลงฟังสบาย ซึ่งสายทิพย์กล่าวว่า การสร้างเซกเมนต์คลื่นที่ครอบคลุมคนฟังต่อเนื่องจากกลุ่มหนึ่งสู่กลุ่มหนึ่งนั้น ทำให้เอไทม์ฯ สามารถยึดกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม ผลการสำรวจผู้ฟังล่าสุดพบว่า แบรนด์รอยัลตี้ของคนฟังไม่ได้มีแค่ในตัวคลื่น แต่มีไปถึงตังองค์กรเอไทม์ฯ ที่แม้ผู้ฟังจะโตขึ้นจากการฟังฮอตเวฟ ก็จะเข้าสู่คลื่นอื่น เช่น อีเอฟเอ็ม ไปสู่บานาน่า เอฟเอ็ม และกรีนเวฟ ไม่หลุดหลายไปไหน
"วิทยุวันนี้ต้องสร้างเซกเมนต์ เพียงแต่เซกเมนต์นั้นต้องไม่แคบเกินไปจนกระทั่งคลื่นวิทยุนั้นไม่สามารถเติบโตได้ จะเห็นว่าในอดีตมีคลื่นวิทยุบางคลื่นที่พยายามเจาะเซกเมนต์ลึกๆ เช่นคลื่นเพลงร็อกแอนด์โรล ที่ตลาดผู้ฟังในเมืองไทย ไม่มีการแยกลึกเช่นนั้น ทำให้ตลาดเล็กมาก คลื่นวิทยุนั้นก็ต้องปิดตัวลง แต่เซกเมนต์ของเอไทม์ฯ มีตลาดที่กว้างมาก คลื่นสิ่งแวดล้อม เพลงฟังสบาย เป็นคลื่นเพลงของผู้ใหญ่ แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในวัยผู้ใหญ่ สามารถฟังคลื่นนี้ได้ คลื่นสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้นำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมเข้มจัด แต่มีเนื้อหากลางๆ ที่สามารถขยายผู้ฟังได้กว้าง"
ความสำเร็จของการสร้างแบรนด์กรีนเวฟ มาเป็นเวลา 16 ปี ทำให้วันนี้กรีนเวฟ เป็นคลื่นวิทยุที่มีความแข็งแกร่งที่สุดบนแผงหน้าปัทม์วิทยุ สายทิพย์กล่าวว่า กรีนเวฟมีการพัฒนาสร้าง Emotional ให้ผู้ฟังได้ค่อนข้างสูง เป็นคลื่นวิทยุที่มีกิจกรรมมากครั้งที่สุด แต่ก็สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายได้หนาแน่นทำครั้ง ทั้ง กรีนคอนเสิร์ต และกรีน ชาริตี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมทำบุญ ซึ่งเป็นการยืนยันความเป็นคลื่นเพลงอันดับ 1 ในใจผู้ฟังได้เป็นอย่างดี
คลิคฯ โตสวนกระแส
ชูค่ายเล็กแต่เข้าถึงผู้ฟังถึงรากหญ้า
หนึ่งในค่ายผู้นำในธุรกิจวิทยุ คลิค เรดิโอฯ ที่ยืนอยู่โดยไม่มีค่ายเพลงหนุนหลัง วาสนพงศ์ กล่าวว่า นโยบายของบริษัทคือการทำงานขนาดเล็ก แต่มีความคล่องตัว เน้นการให้บริการที่ดี ปรับตัวง่าย บริการที่มีต่อลูกค้าสามารถยืดหยุ่นได้ และมีครีเอทิวิตี้ที่แตกต่าง ทำให้สามารถยืนอยู่ในธุรกิจอย่างมั่นคงได้
คลิคฯ มีคลื่นวิทยุที่ดำเนินการอยู่ 4 คลื่น ซึ่งวาสนพงศ์กล่าวว่า แต่ละคลื่นมีความแตกต่างกัน ทำให้ไม่มีการแย่งลูกค้ากันเอง และสามารถเกื้อหนุนกันในขณะที่บางคลื่นอาจถดถอย แต่บางอื่นเติบโตขึ้น ทำให้ภาพรวมของคลิคฯ มั่นคงมาโดยตลอด
วาสนพงศ์กล่าวว่า แนวทางการบริหารคลื่นแต่ละคลื่นมีลักษณะแตกต่างกันไป โดยในส่วนของตลาดแมส คลื่น FM One 103.5 ใช้เรตติ้งเป็นจุดขาย โดยปัจจุบันเรตติ้งในส่วนของวิทยุอยู่ในอันดับ 1-2 เมื่อผสานกับจำนวนผู้ฟังทางบัสซาวน์ที่เชื่อมสัญญาณถ่ายทอดบนรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ ทำให้เอเยนซีมองเห็นความคุ้มค่าที่มีมากกว่า ขณะที่ Fat Radio เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องใช้อีเวนต์ในการสร้างความสำเร็จให้กับลูกค้า ขณะที่คลื่นข่าว 101 ใช้กลยุทธการทำประชาสัมพันธ์ มีการสัมภาษณ์ และขายสปอต เป็นตัวสร้างรายได้ควบคู่กันไป ส่วน Get 102 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฟังเพลงสากล ใช้การทำประชาสัมพันธ์ และการขายสปอต
วาสนพงศ์กล่าวว่า วันนี้สปอตวิทยุก็ยังคงขายได้ อยู่ที่การมองกลุ่มเป้าหมายของแต่ละคลื่น บางคลื่นผู้ฟังมีไลฟ์สไตล์เคลื่อนที่เช่นกลุ่มวัยรุ่น ของ Fat Radio ก็เน้นการจัดอีเวนต์ ขณะที่คลื่นผู้ฟังแนวกว้าง ตลาดแมส เช่นผู้ฟัง FM One ก็ยังคงใช้สปอตวิทยุเป็นเครื่องมือกระตุ้นการขาย
"สปอตวิทยุถ้ามีครีเอทิวิตี้ที่ดี ใช้เวลาความถี่ที่เหมาะสม เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และเป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จัก กลุ่มเป้าหมายเมื่อได้ยินก็สามารถกระตุ้นการขายได้ วันนี้สปอตยังมีประสิทธิภาพอยู่ ถ้าสปอตขายไม่ได้เมื่อไหร่ สื่อวิทยุก็คงตาย"
วินิจ นำธงทรูมิวสิก
เดินหน้าเทียบชั้นผู้นำ
หลังจากซวนเซมากเป็นเวลาเกือบปี คลื่นวิทยุ 93.5 ทรู มิวสิก ของค่ายทรูคอร์ปอเรชั่น ที่รับสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์แบบเดือนต่อเดือน สร้างผลขาดทุนกว่า 30 ล้านบาท ก็ได้รับการต่อสัญญายาว 1 ปีเมื่อต้นเดือนสิงหาคม
วินิจ เลิศรัตนชัย ผู้บริหารคลื่น ทรู มิวสิก กล่าวยอมรับว่า การบริหารคลื่นวิทยุในช่วงที่ผ่านมาที่โดนปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน หากไม่มีการสนับสนุนจากทรูคอร์ปอเรชั่น ตนก็คงโบกมือลาไปแล้ว แต่เมื่อสามารถผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก สามารถวางแผนธุรกิจได้ยาวนานถึงปี ทำให้บริษัทมีความมั่นใจที่จะรุกธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยเริ่มจากการใช้งบ 10 ล้านบาท สร้างสตูดิโอออกอากาศแห่งที่ 2 ที่ทรูช้อป สยามสแควร์ นอกเหนือจากสตูดิโอแห่งแรกที่ตั้งอยู่ที่อาร์ซีเอ เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้ฟังกลุ่มเป้าหมาย และในปีนี้จะมีงบการตลาดเพิ่มอีก 50 ล้านบาท วางกลยุทธ Communitainment สร้างสังคมร่วมกันภายในสตูดิโอแห่งใหม่ โดยนำแนวคิดคอนเวอร์เจนซ์ จากทรู ที่ดึงสื่อภายในมือทั้งเคเบิลทีวี วิทยุ เว็บไซต์ มาร่วมสร้างศักยภาพในการเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังที่มีอายุ 18-25 ปี สร้างการเติบโตได้รายได้ในปีนี้ให้ถึง 60 ล้านบาท
"วันนี้เรตติ้งของเราขยับใกล้ ท้อป 5 แล้ว เรามั่นใจว่าแผนการรุกตลาดที่วางไว้ จะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ฟังได้ถูกทาง และสามารถขยายกลุ่มผู้ฟังให้เพิ่มขึ้นจนเข้าอยู่ในกลุ่มทอป 5 ได้ในเร็วนี้"